พันธสัญญาใหม่ 2023
9–15 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี: “ข้าพ‌เจ้าเผชิญได้ทุก‍อย่างโดยพระ‍องค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพ‌เจ้า”


“9–15 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี: ‘ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“9–15 ตุลาคม ฟีลิปปี; โคโลสี,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

เปาโลกำลังเขียนสาส์นจากเรือนจำ

9–15 ตุลาคม

ฟีลิปปี; โคโลสี

“ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า”

ครั้งสุดท้ายที่ท่านอ่านความประทับใจทางวิญญาณที่บันทึกไว้ระหว่างศึกษาพันธสัญญาใหม่คือเมื่อใด? นั่นอาจจะช่วยทบทวนการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับมาตลอด

บันทึกความประทับใจของท่าน

เปาโลเขียนสาส์นถึงชาวฟีลิปปีและชาวโคโลสีขณะที่เขาเป็นนักโทษอยู่ในกรุงโรม แต่จดหมายเหล่านี้อ่านแล้วไม่เหมือนเขียนโดยคนที่ท่านคิดว่าเขาถูกคุมขัง เปาโลพูดเกี่ยวกับปีติ การชื่นชมยินดี และการขอบพระทัยมากกว่าพูดเรื่องความทุกข์และการทดลอง “พระคริสต์ก็ถูกประกาศไปทุกที่” เขากล่าว “เรื่องนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้ายินดี และข้าพเจ้ายังจะมีความยินดีต่อไป” (ฟีลิปปี 1:18) และ “เพราะ‍ว่าถึง‍แม้ตัวข้าพ‌เจ้าไม่อยู่แต่ใจก็อยู่กับท่าน‍ทั้ง‍หลาย และมีความชื่น‍ชมยินดีที่เห็น … ความเชื่อ‍มั่น‍คงของพวก‍ท่านในพระ‍คริสต์” (โคโลสี 2:5) แน่นอนว่า “สันติสุขของพระเจ้า” ที่เปาโลประสบในสภาวการณ์ยุ่งยากทั้งหลาย “เกินความเข้าใจ” (ฟีลิปปี 4:7) แต่กระนั้นก็เป็นความจริง ในการทดลองของเราเอง เราสามารถรู้สึกถึงสันติสุขเดียวกันนี้และ “ชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา” (ฟีลิปปี 4:4) เราสามารถวางใจพระเยซูคริสต์ได้อย่างสมบูรณ์เฉกเช่นเปาโลวางใจ “ในพระบุตรนั้นเราได้รับการไถ่” (โคโลสี 1:14) เราสามารถกล่าวได้เช่นเดียวกับเปาโลว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13; ดู โคโลสี 1:11 ด้วย)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ฟีลิปปี 2:5–11; โคโลสี 1:12–23

ศรัทธาของฉันตั้งอยู่บนพระเยซูคริสต์

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่าเมื่อท่านเน้นการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ สิ่งนั้นมีผลกระทบต่อท่านมากจนท่านรู้สึกเหมือน “เป็นคนละคน!” (“ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 39) ท่านอาจทำตามแบบอย่างของประธานเนลสันขณะที่ท่านอ่านฟีลิปปีและโคโลสี (ดู ฟีลิปปี 2:5–11; โคโลสี 1:12–23 โดยเฉพาะ) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด? ความจริงเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเป็น “คนละคน” ได้อย่างไร?

ฟีลิปปี 2:12–13

เรา “ประพฤติอย่างสมกับความรอด [ของเรา]” หรือไม่?

บางคนใช้วลี “ประพฤติอย่างสมกับความรอดของท่านทั้งหลาย” (ฟีลิปปี 2:12) เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเรารอดด้วยความพยายามของเราเท่านั้น คนอื่นๆ ใช้คำสอนของเปาโล “​ท่าน​ทั้ง‍หลาย​ได้​รับ​ความ​รอด​แล้ว​ด้วยพระคุณโดยทางความเชื่อ” (เอเฟซัส 2:8) เพื่ออ้างว่าไม่จำเป็นต้องทำงานใดเพื่อได้รับความรอด อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ รวมทั้งงานเขียนของเปาโล สอนชัดเจนว่าต้องมีทั้งพระคุณของพระเยซูคริสต์และความพยายามส่วนตัวจึงจะได้รับความรอด และแม้เมื่อเราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะประพฤติอย่างสมกับความรอดของเรา แต่ “พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำการอยู่ภายในพวกท่าน” (ฟีลิปปี 2:13; ดู ฟีลิปปี 1:6; 2 นีไฟ 25:23; คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ” ด้วย)

ฟีลิปปี 3:4–14

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คุ้มกับการเสียสละทุกอย่าง

เปาโลยอมทิ้งหลายสิ่งหลายอย่างเมื่อเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ รวมทั้งตำแหน่งอันทรงอิทธิพลในสังคมชาวยิวในฐานะฟาริสีคนหนึ่ง ใน ฟีลิปปี 3:4–14 ให้มองหาสิ่งที่เปาโลได้รับเพราะเขาเต็มใจเสียสละเพื่อพระกิตติคุณ เขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเสียสละของเขา?

จากนั้นให้พิจารณาการเป็นสานุศิษย์ของท่านเอง ท่านเสียสละอะไรบ้างเพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์? ท่านได้รับอะไรแล้วบ้าง? มีการเสียสละเพิ่มเติมอะไรบ้างหรือไม่ที่ท่านรู้สึกว่าต้องทำเพื่อจะเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนมากขึ้นของพระผู้ช่วยให้รอด?

ดู 3 นีไฟ 9:19–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:2–5; เทย์เลอร์ จี. โกดอย, “อีกหนึ่งวัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 34–36 ด้วย

ฟีลิปปี 4:1–13

ฉันสามารถพบปีติในพระคริสต์ไม่ว่าสภาวการณ์ของฉันเป็นเช่นไร

ชีวิตของเปาโลเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนถึงความจริงที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “เมื่อศูนย์กลางชีวิตเราอยู่ที่พระเยซูคริสต์กับพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้สึกปีติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น—หรือไม่เกิดขึ้น—ในชีวิตเรา ปีติมาจากพระองค์และมาเพราะพระองค์” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82)

ขณะที่ท่านอ่านฟีลิปปี—โดยเฉพาะ บทที่ 4—ให้ค้นหาข้อความที่สามารถช่วยให้ท่านพบปีติในทุกสภาวการณ์ของชีวิตท่าน ท่านเคยประสบ “สันติสุขของพระเจ้า” ในช่วงเวลาท้าทายเมื่อใด? (ข้อ 7) ท่านเคยพบพลังทำเรื่องยากๆ “โดย [ผ่าน] พระองค์” เมื่อใด? (ข้อ 13) ท่านคิดว่าเหตุใดความ “พอใจ” ในสภาวการณ์ทุกอย่างจึงสำคัญ? (ข้อ 11) การฝึกฝนคุณลักษณะใน ข้อ 8 จะช่วยให้ท่านพบปีติในสภาวการณ์ของท่านได้อย่างไร?

ดู แอลมา 33:23; ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สำนึกคุณในทุกสภาวการณ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 70–77

โคโลสี 3:1–17

สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นคน “ใหม่” เมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์

ท่านจะบอกได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กำลังช่วยให้ท่านเป็น “[ชายหรือหญิงคน] ใหม่” หรือไม่? วิธีหนึ่งที่จะไตร่ตรองเรื่องนี้คือสำรวจ โคโลสี 3:1–17 และเขียนรายการเจตคติ คุณลักษณะ และการกระทำของ “มนุษย์เก่า” และอีกรายการหนึ่งเขียนเจตคติ คุณลักษณะ และการกระทำของ “มนุษย์ใหม่”

บันทึกความคิดของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดกำลังเปลี่ยนแปลงท่านอย่างไร เพื่อเอาไว้ทบทวนในอนาคตและไตร่ตรองว่าท่านกำลังก้าวหน้าอย่างไร

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

ฟีลิปปีครอบครัวท่านอาจสังเกตเห็นคำว่า ปีติ หรือ ชื่นชมยินดี ซ้ำบ่อยๆ ในฟีลิปปี แต่ละครั้งที่ท่านพบคำใดคำหนึ่งเหล่านี้ ท่านอาจจะหยุดและสนทนาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับวิธีพบปีติ

ฟีลิปปี 2:14–16เราจะส่องสว่าง “ดุจดวงสว่างต่างๆ ในโลก” ได้อย่างไร?

ฟิลิปปี 4:8สมาชิกครอบครัวอาจระบุสิ่งที่ต้อง “ใคร่ครวญ” ซึ่งตรงกับคำอธิบายในข้อนี้ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:13 ด้วย) ครอบครัวท่านจะได้รับพรจากการทำตามคำแนะนำของเปาโลอย่างไร?

โคโลสี 1:23; 2:7บางทีครอบครัวท่านอาจจะอ่านข้อเหล่านี้หรือนั่งล้อมต้นไม้หรือขณะดูภาพต้นไม้ (เช่น ภาพที่มากับโครงร่างนี้) การเป็นคน “แน่วแน่” และ “หยั่งราก” ในพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร? เราจะช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งให้รากทางวิญญาณของเราได้อย่างไร?

โคโลสี 2:2–3ครอบครัวของท่านอาจชอบเติม “หีบสมบัติ” ด้วยสิ่งของที่แสดงถึง “(การ) เปี่ยม” และ “คลังสติปัญญาและความรู้” ที่ท่านพบในพระกิตติคุณ

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงสวดที่แนะนำ: “จงยินดีพระเจ้าทรงเป็นราชัน!เพลงสวด บทเพลงที่ 27

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตตามประจักษ์พยานของท่าน “ท่านสอนสิ่งที่ท่านเป็น” เอ็ลเดอร์นีล เอ. แมกซ์เวลล์สอน “คุณลักษณะของท่านจะเป็นที่จดจำมาก … กว่าความจริงข้อหนึ่งในบทเรียนบทหนึ่ง” (ใน การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13)

ต้นไม้ที่มีรากมากมาย

เปาโลสอนว่าศรัทธาของเราควร “หยั่งราก” ในพระเยซูคริสต์ (โคโลสี 2:7)