“23–29 ตุลาคม 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน: ‘จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“23–29 ตุลาคม 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
23–29 ตุลาคม
1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน
“จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”
บางครั้งการศึกษาพระคัมภีร์โดยมีคำถามหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นอยู่ในใจจะช่วยได้ อัญเชิญพระวิญญาณให้นำทางท่านไปพบคำตอบขณะท่านศึกษา และบันทึกการดลใจที่ท่านได้รับ
บันทึกความประทับใจของท่าน
ในสาส์นที่เปาโลเขียนถึงทิโมธี ทิตัส และฟีเลโมนทำให้เราเข้าใจจิตใจผู้รับใช้ของพระเจ้าขึ้นมาบ้าง ไม่เหมือนสาส์นฉบับอื่นที่เปาโลเขียนถึงทุกคนในที่ประชุม จดหมายเหล่านี้เขียนให้เป็นรายบุคคล—เพื่อนสนิทมิตรสหายของเปาโลในงานของพระผู้เป็นเจ้า—และการอ่านจดหมายก็เหมือนกับการได้ฟังคำสนทนา เราเห็นเปาโลให้กำลังใจทิโมธีกับทิตัสผู้นำสองคนของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมในการรับใช้ศาสนจักรของพวกเขา เราเห็นเขาขอร้องฟีเลโมนเพื่อนของเขาให้คืนดีกับเพื่อนวิสุทธิชนคนหนึ่งและปฏิบัติต่อคนนั้นเหมือนเป็นพี่น้องในพระกิตติคุณ ถ้อยคำของเปาโลไม่ได้กล่าวกับเราโดยตรง และเขาอาจคาดไม่ถึงว่าสักวันคนมากมายจะอ่าน แต่เราพบคำแนะนำและกำลังใจในสาส์นเหล่านี้ ไม่ว่าการปฏิบัติศาสนกิจส่วนตัวของเราในการรับใช้ศาสนจักรจะเป็นอะไรก็ตาม
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ทิโมธีกับทิตัสเป็นใคร?
ทิโมธีกับทิตัสเคยรับใช้กับเปาโลในการเดินทางเผยแผ่ศาสนาบางครั้ง ระหว่างการรับใช้พวกเขาได้รับความเคารพและความไว้วางใจจากเปาโล ทิโมธีได้รับเรียกในเวลาต่อมาให้เป็นผู้นำศาสนจักรในเมืองเอเฟซัส ส่วนทิตัสได้รับเรียกให้เป็นผู้นำในเกาะครีต ในสาส์นเหล่านี้ เปาโลให้คำแนะนำและกำลังใจแก่ทิโมธีและทิตัสเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการสั่งสอนพระกิตติคุณและการเรียกชายทั้งหลายให้รับใช้เป็นอธิการ
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล,” “ทิโมธี,” “ทิตัส” ด้วย
“จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”
ทิโมธีอายุค่อนข้างน้อย แต่เปาโลรู้ว่าเขาจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของศาสนักรในวัยหนุ่มของเขา เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่ทิโมธีใน 1 ทิโมธี 4:10–16? คำแนะนำนี้จะช่วยให้ท่านนำผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ได้อย่างไร?
ดู แอลมา 17:11 ด้วย
“พระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา”
เชื่อกันว่า 2 ทิโมธี เป็นสาส์นฉบับสุดท้ายที่เปาโลเขียน และดูเหมือนเขาจะรู้ว่าเวลาบนแผ่นดินโลกของเขาเหลืออีกไม่มาก (ดู 2 ทิโมธี 4:6–8) ทิโมธีอาจรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าอีกไม่นานเขาอาจจะไม่มีครูพี่เลี้ยงและผู้นำที่ไว้ใจได้? เปาโลพูดอะไรเพื่อให้กำลังใจเขา? ท่านอาจจะอ่านโดยคำนึงถึงความท้าทายและความกลัวของตัวเองด้วย พระเจ้ามีข่าวสารแห่งความหวังและกำลังใจอะไรให้ท่านบ้างใน 2 ทิโมธี?
ดู เคลลีย์ อาร์. จอห์นสัน, “พลังอำนาจอันยั่งยืน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 112–114 ด้วย
การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณให้ความปลอดภัยจากอันตรายทางวิญญาณของวาระสุดท้าย
เรามีชีวิตอยู่ใน “วาระสุดท้าย” ที่เปาโลพูดถึงและ “เวลาที่น่ากลัว” มาถึงแล้ว (2 ทิโมธี 3:1) ขณะที่ท่านอ่าน 2 ทิโมธี 3 ให้จดความน่ากลัวของวาระสุดท้ายที่เปาโลกล่าวถึง (ดู 1 ทิโมธี 4:1–3):
ท่านนึกตัวอย่างความกลัวเหล่านี้ในโลกรอบตัวท่าน—หรือในชีวิตท่านเองออกหรือไม่? ความน่ากลัวเหล่านี้ “แอบไปตาม [บ้านของท่าน] แล้วครอบงำ [ท่าน]” เหมือนผู้คนที่บรรยายไว้ใน ข้อ 6 อย่างไร? ท่านพบคำแนะนำอะไรใน 2 ทิโมธี 3 และข้ออื่นในสาส์นฉบับนี้ที่จะทำให้ท่านและครอบครัวปลอดภัยจากอันตรายทางวิญญาณเหล่านี้? (ดูตัวอย่างเช่น 1 ทิโมธี 1:3–11; 2 ทิโมธี 2:15–16; ทิตัส 2:1–8)
ฟีเลโมนเป็นใคร?
ฟีเลโมนเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณโดยเปาโล ฟีเลโมนเป็นเจ้าของทาสชื่อโอเนสิมัส ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาหลบหนีไปยังกรุงโรม ที่นั่นโอเนสิมัสพบเปาโลและเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณ เปาโลส่งโอเนสิมัสกลับไปหาฟีเลโมนพร้อมกับจดหมายที่ให้กำลังใจฟีเลโมนให้รับโอเนสิมัส “ไม่ได้เป็นทาสอีกต่อไป แต่ดียิ่งกว่าทาสคือเป็นพี่น้องที่รัก” (ฟีเลโมน 1:16)
สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ปฏิบัติต่อกันเหมือนพี่น้อง
ขณะที่ท่านอ่านสาส์นของเปาโลถึงฟีเลโมน ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำของเขากับความสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่นได้อย่างไร ด้านล่างนี้คือคำถามบางข้อที่ท่านควรพิจารณา:
-
ข้อ 1–7: คำว่า “ผู้ร่วมงาน” และ “เพื่อนทหาร” แนะนำอะไรให้ท่านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวิสุทธิชน ท่านเคยรู้สึก “แช่มชื่นเนื่องจาก” พี่น้องในพระคริสต์เมื่อใด?
-
ข้อ 8–16: “สั่ง” และ “ขอร้อง” หมายความว่าอย่างไร? เหตุใดเปาโลจึงเลือกที่จะ ขอร้อง ฟีเลโมนแทนที่จะ สั่ง เขา? เปาโลหวังว่าจะบรรลุผลอะไรโดยส่งโอเนสิมัสกลับไปหาฟีเลโมน?
-
ข้อ 16: การเป็น “พี่น้องชาย [หรือพี่น้องสาว] อันเป็นที่รัก … ในพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร? ท่านรู้จักใครที่ต้องรับด้วยวิธีนี้หรือไม่?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
1 ทิโมธี 2:9–10การ “ประดับ [ตัวเรา] … ด้วยการกระทำดี” หมายความว่าอย่างไร? ครอบครัวเราจะทำดีอะไรได้บ้างในสัปดาห์นี้? ท่านอาจจะร้องเพลงร่วมกันเกี่ยวกับการทำความดี เช่น “ฉันทำความดีบ้างหรือไม่?” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 109)
-
1 ทิโมธี 4:12เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวท่านปรารถนาจะเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดรูปคนที่เป็นแบบอย่างอันดีต่อพวกเขา คนเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำตามพระเยซูคริสต์อย่างไร? ข่าวสารของประธานโธมัส เอส. มอนสันเรื่อง “จงเป็นแบบอย่างและแสงสว่าง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 86–88) สามารถให้แนวคิดบางประการเกี่ยวกับวิธีเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นได้
-
1 ทิโมธี 6:7–12ท่านคิดว่าเหตุใด “การรักเงินทองจึงเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด”? อะไรคืออันตรายของการให้ชีวิตเราจดจ่ออยู่กับเงินทองหรือทรัพย์สิน? เราจะพอใจกับพรที่เรามีได้อย่างไร?
-
2 ทิโมธี 3:14–17ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พรใดมาถึงคนที่รู้และศึกษาพระคัมภีร์? บางทีสมาชิกครอบครัวอาจจะแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาพบว่าเป็น “ประโยชน์” อย่างยิ่ง
-
ฟีเลโมน 1:17–21เปาโลเต็มใจทำอะไรเพื่อโอเนสิมัส? สิ่งนี้คล้ายกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเต็มใจทำเพื่อเราอย่างไร? (ดู 1 ทิโมธี 2:5–6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:3–5) เราจะทำตามแบบอย่างของเปาโลและพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ส่องไป” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 96