“16–22 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา: ‘เพิ่มพูนความเชื่อของท่านในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“16–22 ตุลาคม 1 และ 2 เธสะโลนิกา,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
16–22 ตุลาคม
1 และ 2 เธสะโลนิกา
“เพิ่มพูนความเชื่อของท่านในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์”
ถ้าเราไม่บันทึกความประทับใจที่เราได้รับจากพระวิญญาณ เราอาจจะลืม พระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนให้ท่านบันทึกอะไรขณะท่านอ่าน 1 และ 2 เธสะโลนิกา?
บันทึกความประทับใจของท่าน
ในเมืองเธสะโลนิกา เปาโลกับสิลาสถูกกล่าวหาว่า “ก่อความวุ่นวายทั่วโลก” (กิจการของอัครทูต 17:6) การสั่งสอนของพวกเขาทำให้ผู้นำบางคนในบรรดาชาวยิวโกรธ และผู้นำเหล่านี้ยั่วยุผู้คนให้ก่อจลาจล (ดู กิจการของอัครทูต 17:1–10) ด้วยเหตุนี้เปาโลกับสิลาสจึงได้รับคำแนะนำให้ออกจากเมืองเธสะโลนิกา เปาโลเป็นห่วงผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ชาวเธสะโลนิกาและการข่มเหงที่คนเหล่านั้นกำลังประสบ แต่เขาไม่สามารถกลับไปเยี่ยมได้ “เมื่อข้าพเจ้าทนต่อไปอีกไม่ได้” เขาเขียน “จึงใช้คนไปเพื่อจะได้ทราบถึงความเชื่อของท่าน” ทิโมธีผู้ช่วยของเปาโลที่รับใช้ในเมืองเธสะโลนิกามาตลอดได้ “แจ้งข่าวดีเรื่องความเชื่อและความรักของท่าน” (1 เธสะโลนิกา 3:5–6) อันที่จริง วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่าง “แก่คนที่เชื่อ” (1 เธสะโลนิกา 1:7) และข่าวเรื่องความเชื่อของพวกเขาเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ ลองนึกถึงปีติและความโล่งอกของเปาโลเมื่อได้ข่าวว่างานของเขาในบรรดาคนเหล่านั้น “ไม่ไร้ประโยชน์” (1 เธสะโลนิกา 2:1) แต่เปาโลรู้ว่าความซื่อสัตย์ในอดีตไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดทางวิญญาณในอนาคต และเขาเฝ้าระวังอิทธิพลของผู้สอนปลอมในหมู่วิสุทธิชน (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:2–3) ข่าวสารของเขาถึงคนเหล่านั้นและถึงเราคือ จง “เพิ่มพูนความเชื่อ [ของเรา] ในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์” ต่อไปและ “ทำอย่างนี้มากขึ้นอีก” ในความรัก (ดู 1 เธสะโลนิกา 3:10; 4:10)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
สานุศิษย์ของพระคริสต์รับใช้ผู้อื่นด้วยความจริงใจและความรัก
ใน 1 เธสะโลนิกา ถ้อยคำของเปาโลเผยให้ทราบทั้งความกังวลและปีติของคนที่ได้สละทั้งหมดเพื่อรับใช้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองบทแรกของ 1 เธสะโลนิกา ท่านจะพบคำและวลีที่บรรยายเจตคติและการกระทำของสานุศิษย์ของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ท่านเรียนรู้อะไรจาก 1 เธสะโลนิกา 1:5–8; 2:1–13 เกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้า?
นึกถึงโอกาสของท่านเองในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์ ท่านพบอะไรในบทเหล่านี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านปรับปรุงการรับใช้ของท่าน? ลองถามตัวเองตามสิ่งที่ท่านพบ เช่น “ฉันเป็นแบบอย่างแก่คนที่เชื่อแล้วหรือยัง?” (ดู 1 เธสะโลนิกา 1:7)
“จำเริญและบริบูรณ์ในการรัก”
เปาโลชื่นชมยินดีในความซื่อสัตย์ของวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกา (ดู 1 เธสะโลนิกา 3:7–9) แต่พระองค์ยังทรงต้องการให้พวกเขา “จงดำเนินให้ดียิ่งขึ้นอีก” ในความสัตย์ซื่อนั้น (1 เธสะโลนิกา 4:1) ขณะที่ท่านอ่าน 1 เธสะโลนิกา 3:7–13; 4:1–12 ให้ไตร่ตรองวิธีต่างๆ ที่ท่านสามารถ “มากขึ้นอีก” ทางวิญญาณ (1 เธสะโลนิกา 4:10) ตัวอย่างเช่น สังเกตว่าเปาโลใช้คำอย่างเช่น “คนบริสุทธิ์” และ “เป็นคนบริสุทธิ์” ท่านเรียนรู้อะไรจากงานเขียนของเปาโลเกี่ยวกับความหมายของคำเหล่านี้? พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้ท่านบริสุทธิ์และชำระให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “บริสุทธิ์ (ความ), ศักดิ์สิทธิ์ (ความ),” “ทำ (ชำระ) ให้บริสุทธิ์ (การ)” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย
1 เธสะโลนิกา 4:16–18; 5:1–10; 2 เธสะโลนิกา 1:4–10
หากฉันซื่อสัตย์และระมัดระวัง ฉันจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด
ใน 1 เธสะโลนิกา 5:1–10 เปาโลใช้อุปลักษณ์หลายอย่างสอนเกี่ยวกับเวลาที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาแผ่นดินโลก ขณะที่ท่านศึกษาอุปลักษณ์เหล่านี้ ท่านอาจจะจดความประทับใจที่มาถึงท่านเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์:
-
“ขโมยที่มาในเวลากลางคืน”:
-
“ความเจ็บปวดมาถึงหญิงมีครรภ์”:
-
อุปลักษณ์อื่นที่ท่านพบ:
ท่านเรียนรู้ความจริงเพิ่มเติมอะไรบ้างจาก 1 เธสะโลนิกา 4:16–18; 5:1–10; 2 เธสะโลนิกา 1:4–10? ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไรเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด?
ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เตรียมรับการเสด็จกลับมาของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 81–84 ด้วย
การละทิ้งความเชื่อหรือการกบฏจากความจริงมีพยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง
ท่ามกลางการข่มเหงที่เพิ่มขึ้น วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาจำนวนมากเชื่อว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่เปาโลรู้ว่าก่อนพระเยซูเสด็จกลับมาแผ่นดินโลกจะมีการละทิ้งความเชื่อ—การทรยศหรือ “กบฏ” จากความจริง (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:1–4) ท่านจะเข้าใจเรื่องการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ลึกซึ้งขึ้น—และสำนึกคุณต่อการฟื้นฟู—โดยไตร่ตรองสิ่งต่อไปนี้
-
ข้อพระคัมภีร์ที่บอกล่วงหน้าเรื่องการละทิ้งความเชื่อ: อิสยาห์ 24:5; อาโมส 8:11–12; มัทธิว 24:4–14; 2 ทิโมธี 4:3–4
-
ข้อพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่าการละทิ้งความเชื่อเริ่มเกิดขึ้นแล้วในสมัยของเปาโล: กิจการของอัครทูต 20:28–30; กาลาเทีย 1:6–7; 1 ทิโมธี 1:5–7
-
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่โดยนักปฏิรูปชาวคริสต์:
มาร์ติน ลูเธอร์กล่าวว่า “ผมไม่ได้มุ่งหมายสิ่งใดนอกจากปฏิรูปศาสนจักรให้สอดคล้องกับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ … ผมพูดเพียงว่าศาสนาคริสต์ไม่ดำรงอยู่ในหมู่คนที่ควรอนุรักษ์ไว้” (ใน E. G. Schweibert, Luther and His Times: The Reformation from a New Perspective [1950], 590)
โรเจอร์ วิลเลียมส์กล่าวว่า “การละทิ้งความเชื่อ … ทำลายทั้งหมดที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาจากการละทิ้งความเชื่อนั้นได้จนกระทั่งพระคริสต์ทรงส่งอัครสาวกคนใหม่ออกไปตั้งคริสตจักรอีกครั้ง” (ใน Philip Schaff, The Creeds of Christendom [1877], 851)
ดู 2 นีไฟ 28
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
1 เธสะโลนิกา 3:9–13ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับความรู้สึกที่เปาโลมีต่อมิตรสหายของเขา? เราจะ “จำเริญและบริบูรณ์ในการรักซึ่งกันและกัน” ได้อย่างไร (ข้อ 12)
-
1 เธสะโลนิกา 4:13–18วลีใดในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ที่ปลอบโยนท่าน?
-
1 เธสะโลนิกา 5:14–25ขณะที่ท่านทบทวนคำแนะนำของเปาโลใน 1 เธสะโลนิกา 5:14–25 ให้เชิญสมาชิกครอบครัวแต่ละคนหาวลีที่ครอบครัวสามารถมุ่งความสนใจไปที่วลีนั้น ค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์ในการแสดงวลีเหล่านี้ในบ้านของท่านเพื่อเป็นการเตือนความจำ ตัวอย่างเช่น แต่ละคนอาจพบหรือวาดภาพที่แสดงหรือเน้นย้ำวลีที่เขาเลือก
-
2 เธสะโลนิกา 3:13เราเคยรู้สึก “อ่อนใจที่จะทำความดี”—หรืออาจจะหนักใจกับข้อเรียกร้องของการเป็นสานุศิษย์หรือไม่? อะไรช่วยเราเมื่อเรารู้สึกแบบนี้? (ดู กาลาเทีย 6:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33) เราจะสนับสนุนกันเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ได้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41