จงตามเรามา
24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30: “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”


“24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30: ‘งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์ให้หญิงคนหนึ่ง

พระองค์จะทรงจูงมือนำเจ้าไป โดย แซนดรา ราสต์

24 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม

2 นีไฟ 26–30

“งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”

ศึกษา 2 นีไฟ 26–30 ก่อนท่านเริ่มวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กในชั้นเรียนของท่าน การศึกษาจะอัญเชิญพระวิญญาณให้นำทางการวางแผนของท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ชูพระคัมภีร์มอรมอนเล่มหนึ่ง และอธิบายว่านีไฟเห็นล่วงหน้าว่าพระคัมภีร์มอรมอนจะสำคัญในสมัยของเรา ขอให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนปีนี้

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

2 นีไฟ 26:33

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ทุกคนมาหาพระองค์

นีไฟเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักทุกคน ไม่ว่าพวกเขาเป็นใคร และทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนมา “รับส่วนพระคุณความดีของพระองค์”

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพคนที่มีภูมิหลังด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างกัน (ท่านอาจหาภาพบางภาพได้จากนิตยสารศาสนจักร) ขอให้เด็กบอกรายละเอียดบางอย่างที่พวกเขาเห็นในภาพ เปิดพระคัมภีร์ไปที่ 2 นีไฟ 26:33 และอ่าน “[พระเยซูคริสต์] ทรงเชื้อเชิญพวกเขาทั้งหมดให้มาหาพระองค์” พูดทวนวลีนี้กับเด็กขณะท่านชี้ไปที่ภาพแต่ละภาพ จากนั้นชี้ไปที่เด็กแต่ละคนและพูดว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญหนูให้มาหาพระองค์” เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการรักทุกคน เช่น “ฉันเดินกับเธอ” หรือ “We Are Different” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79, 263 [ภาษาอังกฤษ]) ชี้ให้เห็นคำหรือวลีในเพลงที่ท่านรู้สึกว่าเสริมข่าวสารของ 2 นีไฟ 26:33

2 นีไฟ 28:2; 30:6

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพร

พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กในชั้นเรียนรู้สึกว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็น “พรต่อพวกเขาจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” อย่างไร (2 นีไฟ 30:6)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูพระคัมภีร์มอรมอนที่ห่อเป็นของขวัญ และบอกพวกเขาว่ามีของล้ำค่าบางอย่างอยู่ในนั้น ให้เด็กจับของขวัญ และบอกใบ้เพื่อช่วยพวกเขาทายว่าคืออะไร ตัวอย่างเช่น ของในนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา จะช่วยให้เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ เป็นต้น อ่านจาก 2 นีไฟ 30:6: “นี่เป็นพรต่อพวกเขาจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” ให้เด็กแกะของขวัญ แล้วอธิบายว่าเราต้องเปิดพระคัมภีร์มอรมอนและอ่านจึงจะได้รับพรที่อยู่ในนั้น

  • อ่าน 2 นีไฟ 28:2 ให้เด็กฟัง อธิบายว่านีไฟเห็นว่าพระคัมภีร์มอรมอนจะ “มีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง” ต่อเรา ซึ่งหมายความว่าจะช่วยและเป็นพรแก่เรา บอกเด็กว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงมีคุณค่าใหญ่หลวงต่อท่าน แบ่งปันข้อที่ท่านชื่นชอบหรือเรื่องราวที่ท่านชอบเป็นพิเศษจากพระคัมภีร์มอรมอน และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันข้อความและเรื่องราวที่พวกเขาชื่นชอบเช่นกัน ให้ดูภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ เพื่อให้แนวคิดแก่พวกเขา

2 นีไฟ 28:30

พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนฉันทีละเล็กละน้อย

ท่านอาจจะนึกถึงบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงหรือกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กเห็นว่าการเรียนรู้ “บรรทัดมาเติมบรรทัด” หมายความว่าอย่างไร ข้อเสนอแนะด้านล่างอาจจุดประกายความคิดบางอย่าง

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กต่อภาพปริศนาง่ายๆ หรือสร้างบางอย่างจากไม้บล็อก แจกภาพปริศนาหรือตัวต่อทีละชิ้น และขณะพวกเขากำลังต่อ อธิบายว่านี่เป็นวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนเรา—สอนความจริงทีละอย่าง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราพยายามต่อทุกชิ้นพร้อมกันในคราวเดียว

  • สอนทักษะอย่างหนึ่งให้เด็กทีละขั้น เช่น ผูกโบว์หรือวาดภาพ อ่านจาก 2 นีไฟ 28:30: “เราจะให้แก่ลูกหลานมนุษย์บรรทัดมาเติมบรรทัด, … ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสอนเราทีละเล็กละน้อย

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

2 นีไฟ 26:23–28, 33

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ทุกคนมาหาพระองค์

ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าคำเชื้อเชิญให้มาหาพระคริสต์ส่งตรงมาถึงพวกเขาและถึงทุกคน

กิจกรรมที่ทำได้

  • พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาชวนเพื่อนหรือครอบครัวมางานพิเศษ เช่นงานฉลองวันเกิด พวกเขาทำอะไรเพื่อกระตุ้นให้คนเหล่านั้นมา อ่าน 2 นีไฟ 26:23–28, 30 กับเด็กและช่วยพวกเขาหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราทำ ขอให้เด็กทำการ์ดหรือเขียนจดหมายเชิญคนบางคนมาหาพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขาใช้วลีหนึ่งจากข้อเหล่านี้ในคำเชิญของพวกเขา (หากจำเป็นให้เขียนบางวลีไว้บนกระดานเพื่อช่วย)

  • อ่าน 2 นีไฟ 26:33 กับเด็ก และช่วยพวกเขาเขียนรายชื่อคนที่ได้รับเชิญให้ “รับส่วนพระคุณความดี [ของพระเจ้า]” ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ (ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่า “คนนอกศาสนา” คือคนที่ไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า) เชื้อเชิญให้พวกเขาเพิ่มชื่อของพวกเขาเองเข้าไปในรายชื่อเหล่านั้น เรารับส่วนพระคุณความดีของพระเจ้าอย่างไร

  • พูดคุยกับเด็กพอสังเขปว่าเด็กทั่วโลกต่างกันอย่างไร และเป็นพยานว่าพระเจ้าทรงรักเด็กทุกคน (ดู 2 นีไฟ 26:24, 33) เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพพระเยซูกับเด็กหลายๆ คน

2 นีไฟ 28:27–30

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเปิดเผยความจริง “บรรทัดมาเติมบรรทัด”

นีไฟเตือนให้ระวังเจตคติที่ว่าเราไม่ต้องการความจริงจากพระผู้เป็นเจ้าอีก ช่วยให้เด็กเห็นว่าการเรียนพระกิตติคุณเป็นการแสวงหาทีละนิดชั่วชีวิต

กิจกรรมที่ทำได้

  • เลือกวลีหนึ่งจาก 2 นีไฟ 28:30 และขอให้เด็กคนหนึ่งเขียนคำแรกบนกระดาน จากนั้นให้เด็กอีกคนเขียนคำถัดไป ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเขียนครบทั้งวลี กิจกรรมนี้คล้ายกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าประทานความจริงแก่เราอย่างไร

  • ช่วยให้เด็กอ่านและทำความเข้าใจ 2 นีไฟ 28:27–30 โดยมองหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับคนที่เชื่อว่าพวกเขามีความจริงมากพอแล้วและไม่ต้องการอีก ขอให้เด็กบอกวิธีที่เราจะแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเราต้องการได้รับความจริงจากพระองค์มากขึ้น

2 นีไฟ 29:7–11

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลทำงานด้วยกัน

เพราะเรามีพระคัมภีร์ไบเบิล บางคนจึงเชื่อว่าพระคัมภีร์มอรมอนไม่จำเป็น ข้อเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจ และอธิบายให้คนอื่นๆ ฟังได้ว่าเหตุใดเราจึงขอบพระทัยสำหรับพระคัมภีร์ทั้งสองเล่ม

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้พระคัมภีร์มอรมอนเล่มหนึ่งแก่เด็กคนหนึ่งและให้พระคัมภีร์ไบเบิลแก่เด็กอีกคนหนึ่ง ถามพวกเขาว่าสองเล่มนี้คล้ายกันอย่างไรและต่างกันอย่างไร ให้เด็กดูแผนที่โลก และช่วยพวกเขาจับคู่พระคัมภีร์แต่ละเล่มกับภูมิภาคของโลกที่พระคัมภีร์เล่มนั้นจากมา อ่านและสนทนา 2 นีไฟ 29:8 เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าประทาน “ประจักษ์พยาน” หรือพระคัมภีร์สองเล่มที่สอนเราเกี่ยวกับพระองค์

  • ขอให้เด็กสมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งบอกพวกเขาว่า “ฉันไม่จำเป็นต้องอ่านพระคัมภีร์มอรมอน เพราะฉันอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลแล้ว” อ่าน 2 นีไฟ 29:7–11 ด้วยกันโดยอธิบายวลีและแนวความคิดตามความจำเป็น จากนั้นขอให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะพูดกับเพื่อน

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กอธิบายให้ครอบครัวฟังว่าพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนทำงานด้วยกันเพื่อเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์อย่างไร

ปรับปรุงการสอนของเรา

เน้นคน ไม่ใช่บทเรียน แนวคิดในโครงร่างนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น ปรับข้อเสนอตามความต้องการและความสามารถของเด็กที่ท่านสอนได้ตามสบาย