“21–27 กุมภาพันธ์ ปฐมกาล 24–27: ต่อพันธสัญญา” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“21–27 กุมภาพันธ์ ปฐมกาล 24–27” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
21–27 กุมภาพันธ์
ปฐมกาล 24–27
ต่อพันธสัญญา
ขณะที่ท่านอ่าน ปฐมกาล 24–27 และเตรียมสอน ให้นึกถึงเด็กในชั้นเรียนของท่าน พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้อะไร? กิจกรรมใดในกิจกรรมเหล่านี้จะมีความหมายต่อพวกเขา? ท่านสามารถปรับกิจกรรมที่รวมไว้ในบทนี้หรือที่พบใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ตามความต้องการของพวกเขา
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ใต้เก้าอี้ของเด็กแต่ละคนให้ติดคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือหลักธรรมหนึ่งข้อใน ปฐมกาล 24–27 ให้เด็กตอบคำถามถ้าพวกเขาตอบได้ หรือเชื้อเชิญให้พวกเขาฟังคำตอบระหว่างบทเรียน
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถมีเมตตาต่อผู้อื่น
คนใช้ของอับราฮัมประทับใจในความเมตตาอย่างน่าทึ่งที่เรเบคาห์แสดงต่อเขาโดยไม่เพียงให้น้ำเขาเท่านั้นแต่ให้อูฐ 10 ตัวของเขาด้วย แบบอย่างของเธอสามารถเป็นสิ่งเตือนใจให้เด็กมีเมตตาต่อผู้อื่นอยู่เสมอ
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพเรเบคาห์ในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ชี้ให้เห็นรายละเอียดในภาพขณะท่านสรุปเรื่องราวใน ปฐมกาล 24:10–21 ซึ่งเรเบคาห์แสดงความเมตตาต่อคนใช้ของอับราฮัม ชี้ให้เห็นว่าคำพูดและการกระทำด้วยความเมตตาของเธอเป็นสัญญาณว่าเรเบคาห์เป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้แต่งงานกับอิสอัคบุตรชายของอับราฮัม เชื้อเชิญให้เด็กแสร้งทำเป็นคนใช้ที่มากับอูฐหรือเรเบคาห์เอาน้ำให้อูฐกิน แจกวลีให้พวกเขาท่องจากพระคัมภีร์ เช่น “ขอน้ำ … ให้ฉันดื่มสักหน่อย” (ข้อ 17) และ “ดิฉันจะตักน้ำให้อูฐของท่านกินจนอิ่มด้วย” (ข้อ 19) เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องมีเมตตาต่อผู้อื่น?
-
เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความเมตตาต่อใครบางคน เชิญเด็กบางคนเล่าประสบการณ์ของพวกเขาเรื่องการแสดงความเมตตา
-
เสนอหลายๆ สถานการณ์ซึ่งเด็กสามารถแสดงความเมตตาได้ เช่น เล่นกับเพื่อนๆ หรือพบเพื่อนใหม่ที่โรงเรียน ถามพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีเมตตาในสถานการณ์เหล่านี้
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับความเมตตา เช่น “ความเมตตาเริ่มที่เรา” หรือ “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 83, 40–41) เชื้อเชิญให้เด็กฟังคำว่า “เมตตา” (หรือคำคล้ายกัน) และยืนเมื่อได้ยินคำนั้น ฉันจะแสดงความเตตาต่อผู้อื่นได้อย่างไร? หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้อาจช่วยเรื่องการสนทนานี้
ฉันสามารถเลือกสิ่งสำคัญที่สุด
เพราะเอซาวเป็นบุตรคนโตของครอบครัว เขาจึงควรได้ความรับผิดชอบพิเศษและสิทธิพิเศษที่เรียกว่าสิทธิบุตรหัวปี วันหนึ่งเมื่อเอซาวหิว เขาแลกสิทธิบุตรหัวปีกับยาโคบน้องชายเพื่อให้ได้อาหาร เรื่องนี้สามารถสอนเด็กว่าเราควรเลือกสิ่งที่ยั่งยืนก่อนความพึงพอใจชั่วคราว
กิจกรรมที่ทำได้
-
นำของบางอย่างมาชั้นเรียนที่จะช่วยเล่าเรื่องเอซาวขายสิทธิบุตรหัวปี เช่น ชามและภาพคนได้รับพรฐานะปุโรหิต ให้เด็กใช้ของเหล่านั้นขณะพวกเขาบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ยาโคบและเอซาว” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) จะช่วยได้ อ่าน ปฐมกาล 25:34 ด้วยกันและอธิบายว่าคนมีสิทธิบุตรหัวปีจะมีสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบพิเศษในการดูแลคนที่เหลือในครอบครัว
-
ให้เด็กดูภาพสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพสิ่งที่มีค่ามากทางวิญญาณ (เช่นพระคัมภีร์) และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขชั่วคราวเท่านั้น (เช่น เกม ของเล่น หรือขนม) ขอให้พวกเขาเลือกสิ่งซึ่งจะช่วยให้เรากลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ได้ดีกว่า ทำซ้ำกับภาพอื่น
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับการเลือกที่ดี เช่น “เลือกทางที่ถูก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 82) เป็นพยานว่าเราได้รับพรและมีความสุขเมื่อเราเลือกสิ่งถูกต้อง
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
ฉันจะได้รับพรเมื่อฉันลงมือทำด้วยศรัทธาและแสดงความเมตตาต่อผู้อื่น
คนใช้ของอับราฮัมแสดงศรัทธาโดยวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางไปหาภรรยาให้อิสอัค เรเบคาห์แสดงความเมตตาในวิธีที่เธอปฏิบัติต่อคนใช้ของอับราฮัม ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนทำตามแบบอย่างคนใช้ของอับราฮัมและเรเบคาห์ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน ปฐมกาล 24:1–28 ด้วยกัน และช่วยเด็กระบุตัวอย่างของศรัทธาและความเมตตา (ดูตัวอย่างใน ข้อ 12–14 และ 17–20) คนใช้ของอับราฮัมและเรเบคาห์ได้รับพรอย่างไรจากการแสดงศรัทธาและความเมตตา? เขียนบนกระดานว่า เราสามารถแสดงศรัทธาโดย … และ เราสามารถแสดงความเมตตาโดย … และให้เด็กเสนอวิธีเติมประโยคเหล่านี้ให้สมบูรณ์
-
เขียนสิ่งที่คนใช้ของอับราฮัมพูดหรือทำและสิ่งที่เรเบคาห์พูดหรือทำใน ปฐมกาล 24:1–28 ลงในแถบกระดาษ เชื้อเชิญให้เด็กเลือกคนละแผ่นและทำงานด้วยกันเพื่อทายว่าใครพูดหรือทำสิ่งเหล่านี้ (พวกเขาสามารถดูพระคัมภีร์ได้ถ้าต้องการความช่วยเหลือ) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความเมตตา? เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับศรัทธา? ตัวอย่างอื่นของความเมตตาและศรัทธามีอยู่ใน ปฐมกาล 24:29–33, 58–61
-
เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงการกระทำด้วยความเมตตาที่พวกเขาเคยเห็น เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนและแบ่งปันกับชั้นเรียนหรือครอบครัวที่บ้าน เรารู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนเมตตาเรา?
ฉันจะให้คุณค่ากับสิ่งที่อยู่ชั่วนิรันดร์แทนสิ่งที่อยู่ชั่วคราว
เอซาวเลือกแลกสิ่งที่มีค่ามากคือสิทธิบุตรหัวปีของเขากับสิ่งที่มีค่าน้อยกว่าคือขนมปังกับถั่วแดงต้มหนึ่งถ้วย ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยเด็กจัดลำดับสิ่งที่มีความสำคัญชั่วนิรันดร์ได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่านเรื่องราวของยาโคบกับเอซาวด้วยกันใน ปฐมกาล 25:21–34 ขณะที่ท่านอ่าน ให้เด็กแต่ละคนเลือกวาดภาพบางอย่างจากเรื่อง จากนั้นให้พวกเขาใช้ภาพเหล่านั้นเล่าเรื่องด้วยคำพูดของพวกเขาเอง ถ้าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือเพื่อเข้าใจว่าสิทธิบุตรหัวปีคืออะไร ให้พวกเขาอ่าน “สิทธิบุตรหัวปี” ใน คู่มือพระคัมภีร์ (ChurchofJesusChrist.org) เชื้อเชิญให้เด็กสมมติว่าเอซาวขอคำแนะนำจากเราว่าเขาควรแลกสิทธิบุตรหัวปีกับถั่วแดงต้มหรือไม่ เราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร?
-
เล่าตอนที่ท่านต้องเสียสละสิ่งดีบางอย่างเพื่อสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่า หรือฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Continue in Patience” (ChurchofJesusChrist.org) เรื่องราวของท่านหรือเรื่องราวในวีดิทัศน์เกี่ยวข้องกับการเลือกของเอซาวใน ปฐมกาล 25:29–34 อย่างไร? ช่วยให้เด็กๆ นึกถึงพรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์จะประทานแก่พวกเขา (เช่น ประจักษ์พยานที่เข้มแข็งขึ้น พรพระวิหาร หรือชีวิตนิรันดร์กับพระองค์) กระตุ้นให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะยอมเสียสละเพื่อให้ได้รับพรที่มีค่าเหล่านี้
2:3
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงเป้าหมายที่พวกเขาสามารถตั้งให้ตนเองเกี่ยวกับหลักธรรมที่ได้เรียนรู้ในปฐมวัยวันนี้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถตั้งเป้าหมายว่าจะเมตตาคนที่บ้าน