พันธสัญญาเดิม 2022
20–26 มิถุนายน 2 ซามูเอล 5–7; 11–12; 1 พงศ์กษัตริย์ 3; 8; 11: “​อาณา‌จักร​ของ​เจ้า​จะ​ตั้ง‍มั่นนิ‌รัน‌ดร”


“20–26 มิถุนายน 2 ซามูเอล 5–7; 11–12; 1 พงศ์กษัตริย์ 3; 8; 11: ‘อาณา‌จักร​ของ​เจ้า​จะ​ตั้ง‍มั่นนิ‌รัน‌ดร’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“20–26 มิถุนายน 2 ซามูเอล 5–7; 11–12; 1 พงศ์กษัตริย์ 3; 8; 11” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

กษัตริย์ดาวิดนั่งอยู่บนบัลลังก์

กษัตริย์ดาวิดบนบัลลังก์ โดย เจอร์รีย์ ไมลส์ ฮาร์สตัน

20–26 มิถุนายน

2 ซามูเอล 5–7; 11–12; 1 พงศ์กษัตริย์ 3; 8; 11

“อาณา‌จักร​ของ​เจ้า​จะ​ตั้ง‍มั่นนิ‌รัน‌ดร”

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์อาจทำให้ท่านประทับใจและดลใจให้ท่านรู้ว่าสิ่งใดจะมีความหมายที่สุดต่อเด็กที่ท่านสอน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ขอให้เด็กสองสามคนพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ในการอ่านพระคัมภีร์ (เป็นส่วนตัว กับครอบครัว หรือที่โบสถ์) พวกเขาอ่านพระคัมภีร์เมื่อใดและที่ใด? พวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่ออ่านพระคัมภีร์? พวกเขาได้รับพรอะไรบ้างจากการเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนี้?

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

2 ซามูเอล 5:19, 23

หากฉันต้องการการนำทาง ฉันสามารถทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ได้

ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้อธิบายถึงวิธีที่ดาวิดสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทางและการชี้นำในฐานะกษัตริย์ของอิสราเอล ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนเมื่อพวกเขาเดือดร้อนได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อธิบายกับเด็กว่าเมื่อดาวิดต้องการความช่วยเหลือ เขา “ทูลถาม” หรือสวดอ้อนวอนเพื่อหาคำตอบ ขณะที่ท่านอ่าน 2 ซามูเอล 5:19, 23 เชื้อเชิญให้เด็กฟังคำว่า “ทูลถาม” และกอดอกเมื่อได้ยินคำนี้ เป็นพยานว่าเราสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์ได้เสมอเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ

  • เพื่อช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาอาจพูดเมื่อสวดอ้อนวอน ท่านอาจถามพวกเขาว่าจะจบประโยคเช่นนี้ได้อย่างไร: “เราขอบพระทัยสำหรับ …” และ “เราทูลขอพระองค์สำหรับ …” ให้เด็กวาดรูปสิ่งที่พวกเขาอาจขอบพระทัยหรือทูลขอในคำสวดอ้อนวอน

    เด็กหญิงสวดอ้อนวอน

    เราสามารถสวดอ้อนวอนทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยเหลือและนำทางเรา

  • เล่าให้เด็กฟังถึงช่วงเวลาที่ท่านสวดอ้อนวอนทูลขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านอย่างไร? การมีพระองค์ช่วยท่านทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไร? เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

2 ซามูเอล 7:16

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของเรา

เมื่อดาวิดเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล พระเจ้าตรัสกับเขาว่า “​บัล‌ลังก์​ของเจ้า​จะ​มั่น‍คง​นิ‌รัน‌ดร” (2 ซามูเอล 7:16) คำสัญญานี้กล่าวถึงพระเยซูคริสต์ กษัตริย์นิรันดร์ของเรา ผู้ประสูติมาจากลูกหลานของดาวิด

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญเด็กคนหนึ่งแสดงเป็นกษัตริย์หรือราชินี หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เด็กถืออุปกรณ์ประกอบฉากง่ายๆ กษัตริย์หรือราชินีคือใคร? พวกเขาทำอะไร? บอกเด็กว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ และเขาเป็นบรรพชนของพระเยซูคริสต์ผู้ที่เราเรียกว่า “กษัตริย์​เหนือ​กษัตริย์​ทั้ง‍หลาย​” (วิวรณ์ 19:16) ช่วยเด็กคิดวิธีที่เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์นิรันดร์ของเรา

  • เมื่อเด็กทำหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้เสร็จแล้ว ให้ร้องเพลงหรือเล่นเพลงที่กล่าวถึงพระคริสต์ในฐานะกษัตริย์ของเรา เช่น “พระองค์ทรงสิ้นเพื่อเรามีชีวินอีกครา” “ถูกเรียกให้รับใช้” “จงยินดีพระเจ้าทรงเป็นราชัน!” หรือ “ฉันเชื่อในพระคริสต์” (เลียโฮนา, เม.ย 2005, พ13; เพลงสวด บทเพลงที่ 27, 57, 126) ขอให้เด็กคอยฟังคำว่า “กษัตริย์” และชูภาพพระเยซูขึ้นเมื่อได้ยินคำนั้น เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราร้องเพลงเกี่ยวกับพระเยซู?

1 พงศ์กษัตริย์ 8:57–58

ฉันสามารถเดินในทางของพระผู้เป็นเจ้า

สำหรับชาวอิสราเอล การสร้างและการอุทิศพระวิหารเป็นโอกาสที่จะหันใจพวกเขาไปหาพระเจ้าและให้คำมั่นสัญญาอีกครั้งว่าจะ “ดำเนินในทางทั้งสิ้นของพระองค์” (1 พงศ์กษัตริย์ 8:58) ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอน “​ดำเนิน​ในทาง​ทั้ง‍สิ้น​​ของ​พระ‍องค์” ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูภาพพระวิหารในสมัยปัจจุบันและภาพพระวิหารที่ซาโลมอนสร้าง (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) อธิบายว่าเมื่อซาโลมอนสร้างพระวิหารให้ชาวอิสราเอล เขากระตุ้นให้พวกเขา “ดำ‌เนิน​ใน​ทาง​ทั้ง‍สิ้น​​ [ของพระ‍เจ้า]” (1 พงศ์กษัตริย์ 8:58) บอกเด็กว่าพระวิหารช่วยให้ท่านดำเนินในทางของพระเจ้าอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระวิหาร ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับพระวิหารกับเด็ก เช่น “ฉันชอบมองดูพระวิหาร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99)

  • แจกหัวใจกระดาษให้เด็กบางคนและแจกรอยเท้ากระดาษให้เด็กคนอื่นๆ อ่าน 1 พงศ์กษัตริย์ 8:58 และขอให้เด็กชูหัวใจขึ้นเมื่อท่านพูดคำว่า “หัวใจ” และชูรอยเท้าขึ้นเมื่อท่านพูดวลี “ดำเนิน​ในทาง​ทั้ง‍สิ้น​​ของ​พระ‍องค์” ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเราดำเนินในทางของพระเจ้าเมื่อเราทำตามพระเยซูและพยายามเป็นเหมือนพระองค์ ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อดำเนินในทางของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการทำตามพระเยซู เช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41)

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

2 ซามูเอล 7:16–17

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์ของเรา

กษัตริย์ที่เราอ่านในพันธสัญญาเดิมล้วนมีข้อบกพร่องและทำผิดพลาด—แม้แต่กษัตริย์ที่ดี แต่กษัตริย์ที่พยากรณ์ไว้ว่าจะมาจากเชื้อสายของดาวิด พระเยซูคริสต์นั้นทรงดีพร้อมและจะครองราชย์ตลอดไป

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่านสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์นาธันบอกกษัตริย์ดาวิดใน 2 ซามูเอล 7:16–17 และถามว่าพวกเขาคิดว่าคำพยากรณ์นี้อาจหมายถึงอะไร อาณาจักรของดาวิดจะไม่สูญสิ้นได้อย่างไร? ช่วยเด็กค้นหาและอ่านข้อพระคัมภีร์ที่สอนว่าพระเยซูคริสต์ ผู้สืบเชื้อสายของดาวิดเป็นกษัตริย์ เช่น ลูกา 1:32–33; ยอห์น 18:33–37; และ วิวรณ์ 19:16 พระเยซูคริสต์เปรียบเสมือนกษัตริย์อย่างไร? มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถแสดงให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นกษัตริย์นิรันดร์ของเรา?

  • ร้องเพลงสวดที่กล่าวถึงพระคริสต์ในฐานะกษัตริย์ของเรา เช่น “มาเถิดเจ้าแห่งราชา” “จงยินดีพระเจ้าทรงเป็นราชัน!” หรือ “ครั้งหนึ่งเยซูเกิดต่ำต้อย” (เพลงสวด บทเพลงที่ 21, 27, 91) เพลงสวดเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความหมายของการมีพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์ของเรา?

2 ซามูเอล 11

ฉันสามารถเอาชนะการล่อลวงได้

เด็กที่ท่านสอนตัดสินใจเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญทุกวัน ท่านจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญของการเลือกสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ทบทวน 2 ซามูเอล 11 กับเด็กโดยชี้ให้เห็นถึงการเลือกของดาวิด ถามเด็กว่าอะไรเป็นการเลือกที่ดีซึ่งดาวิดควรทำ เราจะทำอะไรได้บ้างเมื่อถูกล่อลวงซึ่งจะช่วยให้เราเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้?

  • เพื่อแบ่งปันแบบอย่างของผู้ที่ต้านทานการล่อลวง ซึ่งต่างจากดาวิด ให้ถามเด็กว่าพวกเขาจำเรื่องราวของโยเซฟและภรรยาของโป‌ทิ‌ฟาร์ได้หรือไม่ (ดู ปฐมกาล 39:7–12) ท่านอาจทบทวนเรื่องนี้กับเด็กและช่วยให้พวกเขาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของดาวิด เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องราวของดาวิดและโยเซฟเกี่ยวกับวิธีต้านทานการล่อลวง?

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ จากนั้นกระตุ้นให้พวกเขาทำตามแผนของตน

ปรับปรุงการสอนของเรา

ติดตามผลการเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ เมื่อท่านเชื้อเชิญให้เด็กปฏิบัติสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ให้ติดตามผลการเชื้อเชิญในช่วงชั้นเรียนคราวต่อไป สิ่งนี้แสดงให้เด็กเห็นว่าท่านใส่ใจว่าพระกิตติคุณกำลังเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร ขณะพวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ พวกเขาจะเข้มแข็งขึ้นและจะช่วยกันดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ