“9–15 มกราคม ลูกา 2; มัทธิว 2: เรามานมัสการพระองค์,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“9–15 มกราคม มัทธิว 2; ลูกา 2,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
9–15 มกราคม
มัทธิว 2; ลูกา 2
เรามานมัสการพระองค์
ก่อนท่านอ่านแนวคิดในโครงร่างนี้ ให้ศึกษา มัทธิว 2 และ ลูกา 2 บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ท่านได้รับการเปิดเผยว่าจะตอบรับความต้องการของชั้นเรียนให้ดีที่สุดอย่างไร
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีขณะศึกษาพระคัมภีร์นี้เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวได้อย่างไร? ถึงแม้พวกเขาจะคุ้นเคยกับเรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 2 และ ลูกา 2 แต่พวกเขาสามารถได้ข้อคิดใหม่ๆ ทางวิญญาณเสมอ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันข่าวสารที่พวกเขาพบที่ประทับใจพวกเขาในรูปแบบใหม่
สอนหลักคำสอน
มีพยานหลายคนยืนยันการประสูติของพระคริสต์
-
เรื่องราวของผู้นมัสการใน มัทธิว 2:1–12 และ ลูกา 2:1–38 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด ทบทวนแผนภูมิเกี่ยวกับพยานการประสูติของพระคริสต์ใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว บางคนในชั้นเรียนของท่านอาจมีข้อคิดให้แบ่งปันจากกิจกรรมนี้ หรือท่านอาจจะให้ชั้นเรียนทำกิจกรรมก็ได้ เหตุใดจึงสำคัญที่พยานเหล่านี้ของพระคริสต์ต้องมาจากทุกชนชั้นทางสังคม? เราจะทำตามแบบอย่างของพวกเขาได้อย่างไร?
-
ก่อนพยานเหล่านี้มานมัสการพระกุมารพระคริสต์ พวกเขาเสาะหาพระองค์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากตัวอย่างเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: คนเลี้ยงแกะ อันนา สิเมโอน และ นักปราชญ์ จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนสามารถค้นคว้า มัทธิว 2 และ ลูกา 2 และเขียนสิ่งที่คนเหล่านี้ทำเพื่อแสวงหาพระผู้ช่วยให้รอดไว้บนกระดาน เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะแสวงหาพระคริสต์
บิดามารดาสามารถรับการเปิดเผยเพื่อคุ้มครองครอบครัวของพวกเขา
-
เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงนำทางโจเซฟและมารีย์ในบทบาทของพวกเขาในฐานะบิดามารดาของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนรายการสิ่งอันตรายบางอย่างที่เราเผชิญในปัจจุบันไว้บนกระดาน เราเรียนรู้อะไรจาก มัทธิว 2:13–23 เกี่ยวกับวิธีหาทางป้องกันอันตรายเหล่านี้? การเปิดเผยส่วนตัวช่วยเราคุ้มครองครอบครัวเราหรือคนที่เรารักให้พ้นจากอันตรายอย่างไร? ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยให้เราพบความปลอดภัยทางวิญญาณ?
แม้ทรงพระเยาว์ แต่พระเยซูทรงมุ่งทำตามพระประสงค์ของพระบิดา
-
เรื่องราวที่พระเยซูทรงสอนในพระวิหารเมื่อพระชนมายุเพียง 12 พรรษาจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อเยาวชนผู้สงสัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ที่พวกเขาจะทำเพื่องานของพระผู้เป็นเจ้าได้ ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนเป็นคู่ๆ เพื่ออ่าน ลูกา 2:40–52 ด้วยกัน แต่ละคู่จะใช้เวลาสองสามนาทีแบ่งปันกันว่าอะไรสร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามีโอกาสใดบ้างให้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณ? เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้าง?
-
ลูกา 2:40–52 สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูเมื่อทรงพระเยาว์? รูปแบบสำหรับการเติบโตส่วนตัวที่แนะนำไว้ใน ลูกา 2:52 อาจสร้างแรงบันดาลใจให้สนทนาว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ท่านอาจจะเสนอแนะให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขากำลังเจริญขึ้นในด้านสติปัญญา ร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า (ทางวิญญาณ) และเป็นที่ชอบต่อผู้อื่น (ทางสังคม) อย่างไร พวกเขาอาจจะตั้งเป้าหมายในด้านเหล่านี้สักหนึ่งด้านหรือมากกว่านั้น หากท่านต้องการสนทนาเกี่ยวกับการเป็นเหมือนพระคริสต์ในด้านเหล่านี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านสอนเยาวชน ให้พิจารณาใช้ข้อความใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้น “ในด้านสติปัญญาและด้านร่างกายเป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย”
ประธานสตีเวน เจ. ลันด์บรรยายโปรแกรมเด็กและเยาวชน ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก ลูกา 2:52 ในลักษณะนี้
“โปรแกรมเด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือช่วยเด็กปฐมวัยและเยาวชนทุกคนให้เติบโตในการเป็นสานุศิษย์และรับวิสัยทัศน์อันเปี่ยมศรัทธาว่าทางแห่งความสุขเป็นอย่างไร พวกเขาสามารถคาดหวังและปรารถนาจุดแวะพักและป้ายบอกทางตามเส้นทางพันธสัญญา ที่ซึ่งพวกเขาจะรับบัพติศมาและการยืนยันด้วยของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และไม่นานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของโควรัมและชั้นเรียนเยาวชนหญิง ที่นั่นพวกเขาจะรู้สึกถึงปีติจากการช่วยเหลือผู้อื่นผ่านการรับใช้แบบพระคริสต์ที่รับช่วงต่อกันมา พวกเขาจะตั้งเป้าหมายไม่ว่าใหญ่หรือเล็กที่จะนำมาซึ่งสมดุลในชีวิตขณะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น” (“ค้นพบปีติในพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 36–37)