“16–22 มกราคม ยอห์น 1: เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“16–22 มกราคม ยอห์น 1,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
16–22 มกราคม
ยอห์น 1
เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง ยอห์น 1 ให้สวดอ้อนวอนขอการนำทางทางวิญญาณเกี่ยวกับความรับผิดชอบของท่านในการสอนเกี่ยวกับประจักษ์พยานของยอห์น บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว แนวคิดในโครงร่างนี้จะช่วยท่านสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชั้นเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักคำสอนในบทนี้
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเขียนคำถาม ความเห็น หรือข้อคิดจากการอ่านไว้บนกระดาษและใส่ไว้ในภาชนะ หยิบกระดาษออกจากภาชนะเพื่อให้ชั้นเรียนสนทนากัน
สอนหลักคำสอน
ในปฐมกาล พระเยซูคริสต์ “ทรงอยู่กับพระเจ้า”
-
ยอห์นสอนอะไรเกี่ยวกับพระคริสต์ก่อนพระชนม์ชีพมรรตัย? เหตุใดการรู้เกี่ยวกับบทบาทก่อนพระชนม์ชีพมรรตัยของพระคริสต์จึงสำคัญ? อาจจะช่วยได้ถ้าเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานและขอให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาคำตอบใน ยอห์น 1:1–5 (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–5 [ใน คู่มือพระคัมภีร์]; โมเสส 1:32–33 ) สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทก่อนพระชนม์ชีพมรรตัยของพระคริสต์จาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” (ChurchofJesusChrist.org)
-
ถ้าท่านต้องการใช้ข้อเหล่านี้พูดถึงงานสร้างของพระเจ้า ท่านอาจจะอ่าน ยอห์น 1:3 และให้ดูภาพที่แสดงให้เห็นความสวยงามของแผ่นดินโลก เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่างานสร้างของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระองค์อย่างไร
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่าง
-
ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาทุกที่ซึ่งมีคำว่า ความสว่าง ใน ยอห์น 1:1–14 เหตุใด ความสว่าง จึงเป็นคำที่ใช้บรรยายพระลักษณะของพระเยซูคริสต์ได้ดี? สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ให้ความสว่างทางวิญญาณในชีวิตพวกเขาอย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านเรื่องความสว่างของพระคริสต์เพิ่มเติมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:45–46; 88:11–13 หรือท่านอาจจะให้พวกเขาดู “แสงสว่างของพระคริสต์” ในคู่มือพระคัมภีร์ เราจะแบ่งปันแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดกับผู้อื่นได้อย่างไร?
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนนึกภาพสิ่งที่สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 1 ท่านอาจแสดงภาพหลายๆ ภาพ (รวมทั้งภาพหนึ่งจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ที่แสดงให้เห็นพระชนม์ชีพและพระพันธกิจด้านต่างๆ ของพระเยซูคริสต์ สมาชิกชั้นเรียนสามารถค้นคว้า ยอห์น 1:1–14 โดยมองหาคำหรือวลีที่จะใช้เป็นชื่อภาพเหล่านี้ได้
เราสามารถได้รับพยานของเราเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดูเถิด”
-
ใน ยอห์น 1 พระดำรัสเชื้อเชิญให้ “มาดูเถิด” ปรากฏสองครั้ง (ดู ข้อ 39, 46) เราอาจไม่มีโอกาสเห็นพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ แบบที่อันดรูว์กับนาธานาเอลเห็น แต่เราสามารถตอบรับพระดำรัสเชื้อเชิญดังกล่าวได้ การ “มาดูเถิด” ในสมัยของเราอาจหมายความว่าอย่างไร?
-
สมาชิกชั้นเรียนสามารถอ่าน ยอห์น 1:35–51 และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการเชิญผู้อื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระคริสต์ได้ (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย ) พวกเขายังอาจแบ่งปันว่าตนพบวิธีที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติในการเชื้อเชิญผู้อื่นให้ “มาดูเถิด” ได้อย่างไร
1:17
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เราสามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่น “มาดูเถิด” ได้
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นสอนว่า
“พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราถึงวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ ข้าพเจ้าชอบเรื่องของอันดรูว์ผู้ถามว่า ‘รับบี ท่านพักอยู่ที่ไหน?’ [ยอห์น 1:38] พระเยซูทรงตอบได้ว่าพระองค์อยู่ที่ไหน แต่แทนที่จะตอบอย่างนั้น พระองค์กลับตรัสกับอันดรูว์ว่า ‘มาดูเถิด’ [ยอห์น 1:39] ข้าพเจ้าชอบคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะตรัสว่า ‘มาและดูไม่ใช่แค่เราอยู่ที่ไหนแต่ดูว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไร มาและดูว่าเราเป็นใคร มาและสัมผัสพระวิญญาณ’ เราไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับวันนั้น แต่เรารู้ว่าเมื่ออันดรูว์เจอซีโมนพี่ชายของเขา เขาประกาศว่า ‘เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว’ [ยอห์น 1:41]
“แก่คนที่สนใจการสนทนาของเรา เราก็สามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยเชิญเขา ‘มาและดู’ บางคนจะตอบรับการเชื้อเชิญของเราและคนอื่นอาจจะไม่ เราทุกคนจะรู้จักบางคนที่ถูกเชิญหลายครั้งแล้วก่อนจะยอมรับการเชิญให้ ‘มาและดู’ (“นี่คือปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 79)