พันธสัญญาใหม่ 2023
23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: “จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”


“23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3: ‘จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“23–29 มกราคม มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาถวายบัพติศมาพระเยซู

หน้าต่างกระจกสีของพระวิหารนอวู อิลลินอยส์ โดย ทอม โฮลด์แมน

23–29 มกราคม

มัทธิว 3; มาระโก 1; ลูกา 3

“จงเตรียมมรรคาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า”

ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 3; มาระโก 1; และ ลูกา 3 ให้บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ การทำเช่นนี้จะเป็นการอัญเชิญพระวิญญาณขณะที่ท่านเตรียมการสอน นอกจากแนวคิดการสอนในโครงร่างนี้แล้ว แนวคิดการศึกษาใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ยังสามารถปรับใช้กับชั้นเรียนของท่านได้

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าการเรียนรู้จากพันธสัญญาใหม่เป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร ท่านอาจจะเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ท่านทำอะไรบ้างเพราะสิ่งที่ท่านอ่านในพันธสัญญาใหม่สัปดาห์นี้? เชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันคำตอบของพวกเขา

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 3:1–12; ลูกา 3:2–18

เหล่าสาวกเตรียมตนเองและผู้อื่นให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์

  • เราเตรียมรับการเยือนของแขกคนสำคัญอย่างไร? คำถามทำนองนี้จะช่วยท่านนำเข้าสู่การสนทนาว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์อย่างไร จากนั้นท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มสามารถอ่าน มัทธิว 3:1–6; มัทธิว 3:7–12; หรือ ลูกา 3:10–15 อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยดูว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตพวกเขาอย่างไร ให้แต่ละกลุ่มผลัดกันแบ่งปันสิ่งที่พบ

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังสั่งสอน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสั่งสอนในถิ่นทุรกันดาร โดย โรเบิร์ต ที. บาร์เรตต์

ลูกา 3:2–14

เราจำเป็นต้องทำให้เกิด “การกลับใจด้วยผลที่เกิดขึ้น”

  • ใน ลูกา 3:8 ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนผู้คนว่าก่อนพวกเขาจะรับบัพติศมา พวกเขาต้องแสดงให้เห็น “ผล” หรือหลักฐานยืนยันการกลับใจของพวกเขา ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนมองเห็นหลักฐานยืนยันการกลับใจของพวกเขาเองได้อย่างไร? ท่านอาจจะขอให้พวกเขาค้นคว้า ลูกา 3:8–14 และมองหาสิ่งที่ยอห์นถือว่าเป็น “ผล” ของการกลับใจ พวกเขาอาจจะทบทวน โมโรไน 6:1–3 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 ด้วย ท่านอาจจะวาดรูปไม้ผลบนกระดานและให้สมาชิกชั้นเรียนเขียน “ผล” ของการกลับใจที่พวกเขาพบไว้ที่ผลไม้บนต้น อาจจะเป็นเวลาเหมาะจะพูดถึงความหมายของการกลับใจอย่างแท้จริง

มัทธิว 3:13–17

เราทำตามพระเยซูคริสต์โดยรับบัพติศมาและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เพื่อทบทวนเรื่องบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ ให้ลองแนวคิดนี้: ถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะใช้ มัทธิว 3:13–17 สอนคนบางคนเช่นเด็กหรือคนที่นับถือศาสนาอื่นเกี่ยวกับบัพติศมาได้อย่างไร (พวกเขาอาจจะใช้ภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ด้วยก็ได้) พวกเขาจะเน้นองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้างของบัพติศมา พวกเขาอาจจะฝึกแนวคิดของพวกเขาโดยสอนกัน

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาบัพติศมา ท่านอาจเชิญให้บางคนอ่านคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สมาชิกชั้นเรียนอาจจะชอบแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับบัพติศมาของตนและพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขา พวกเขาอาจร้องเพลงสวดเกี่ยวกับการทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “จงตามเรามา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 48)

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรับบัพติศมา “ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” (มัทธิว 3:11) บัพติศมาด้วยไฟเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับการยืนยันและเรารับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เหตุใดเราต้องมีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะก้าวหน้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า? บัพติศมาด้วยไฟและพระวิญญาณบริสุทธิ์มีผลอะไรต่อเรา? (ดู แอลมา 5:14)

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

พันธสัญญาบัพติศมาของเรา

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “พันธสัญญาบัพติศมาประกอบด้วยคำมั่นสัญญาพื้นฐานสามข้อคือ (1) เต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตนเอง (2) ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และ (3) รักษาพระบัญญัติของพระองค์ พรที่สัญญาไว้จากการให้เกียรติพันธสัญญานี้คือ “เพื่อ [เรา] จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77] ดังนั้นบัพติศมาเป็นการเตรียมที่จำเป็นเพื่อรับโอกาสการเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนจากสมาชิกองค์ที่สามของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์” (“การปลดบาปของท่านจะมีอยู่เสมอ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 60)

ปรับปรุงการสอนของเรา

สอนหลักคำสอนพื้นฐาน ไฮรัม สมิธสอนว่า “จงสั่งสอนหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ—สั่งสอนครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านจะพบแนวคิดใหม่และความสว่างเพิ่มขึ้นทุกวันเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านั้นที่จะเปิดเผยต่อท่าน ท่านจะขยายความจนเข้าใจแจ่มแจ้ง จากนั้นท่านจะสามารถทำให้คนที่ท่านสอนเข้าใจชัดเจนขึ้น” (in History, 1838–1856 [Manuscript History of the Church], volume E-1, 1994, josephsmithpapers.org)