“30 มกราคม–5 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5: ‘พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้า สถิตกับข้าพเจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“30 มกราคม–5 กุมภาพันธ์ มัทธิว 4; ลูกา 4–5,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
30 มกราคม–5 กุมภาพันธ์
มัทธิว 4; ลูกา 4–5
“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้า สถิตกับข้าพเจ้า”
ขณะที่ท่านศึกษา มัทธิว 4 และ ลูกา 4–5 ให้บันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน การทำเช่นนี้จะเชื้อเชิญการดลใจเกี่ยวกับวิธีตอบรับความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนให้ดีที่สุด ท่านอาจจะใช้ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้เพื่อหาแนวคิดเพิ่มเติมได้เช่นกัน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
การอ่านของสัปดาห์นี้รวมถึงข้อความนี้: “เขาก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสอนของพระองค์ เพราะพระดำรัสของพระองค์ประกอบด้วยสิทธิอำนาจ” (ลูกา 4:32; ดู มาระโก 1:22 ด้วย) เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อพระคัมภีร์จาก มัทธิว 4 และ ลูกา 4–5 ที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพลังแห่งหลักคำสอนนั้นสำหรับตนเอง
สอนหลักคำสอน
พระบิดาบนสวรรค์ประทานพลังและวิธีให้เราต่อต้านการล่อลวง
-
เรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดทรงต่อต้านซาตานอาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรู้จักวิธีที่ซาตานพยายามล่อลวงพวกเขา สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเลือกการล่อลวงหนึ่งอย่างใน มัทธิว 4:1–11 หรือ ลูกา 4:1–13 และนึกถึงการล่อลวงยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง (ข้อความใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยได้) เหตุใดการรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบการล่อลวงคล้ายกับที่เราประสบในปัจจุบันจึงเป็นประโยชน์? เหตุใดพระคริสต์จึงทรงสามารถต่อต้านการล่อลวงได้? ดูตัวอย่างอื่นในพระคัมภีร์ของคนต่อต้านซาตานได้ที่ ปฐมกาล 39:7–20; 2 นีไฟ 4:16–35; และ โมเสส 1:10–22
-
อะไรจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านต่อต้านการล่อลวงได้? ท่านอาจขอให้พวกเขาทบทวน มัทธิว 4:1–11 หรือ ลูกา 4:1–13 เพื่อเรียนรู้ว่าความรู้ของพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์ช่วยให้พระองค์รับมือกับซาตานอย่างไร ดังที่พระองค์ทรงทำเมื่อตรัสว่า “มีพระคัมภีร์เขียนไว้”
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านเข้าใจเรื่องราวใน ลูกา 4:16–32 มากขึ้น ท่านอาจจะอธิบายว่าพระนามทั้งพระเมสสิยาห์และพระคริสต์หมายถึง “ผู้ได้รับการเจิม” ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนอ่าน ลูกา 4:18–21 ขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าการพูดว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ พระเมสสิยาห์ หรือพระผู้ได้รับการเจิมหมายความว่าอย่างไร พวกเขาอาจจะพบว่าการอ่าน “ผู้ได้รับการเจิม” ในคู่มือพระคัมภีร์เป็นประโยชน์เช่นกัน พระเยซูทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ในทุกวันนี้อย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา
-
อาจมีบทเรียนที่เป็นประโยชน์บางบทให้เรียนรู้โดยสำรวจว่าเหตุใดชาวนาซาเร็ธจึงไม่ยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้ ตัวอย่างเช่น มีเหตุผลใดบ้างที่บอกไว้ใน ลูกา 4:22–24? สมาชิกชั้นเรียนสามารถเปรียบเทียบเจตคติเหล่านี้กับเจตคติของหญิงม่ายแห่งศาเรฟัทและนาอามานในพันธสัญญาเดิม คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล (ดู ลูกา 4:25–27) ท่านอาจจะติดต่อสมาชิกชั้นเรียนบางคนล่วงหน้าและขอให้พวกเขาเตรียมมาสรุปแต่ละเรื่องนี้ (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 17:8–24; 2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–17; ลูกา 4:16–30) เรื่องราวเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์? เราเห็นข่าวสารสำหรับเราในพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่ชาวนาซาเร็ธหรือไม่?
การติดตามพระคริสต์หมายถึงการละทิ้งความประสงค์ของเราและยอมรับพระประสงค์ของพระองค์
-
บางครั้งคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เราอาจไม่สมเหตุสมผลในตอนแรก สมาชิกชั้นเรียนอาจจะค้นคว้า ลูกา 5:1–11 โดยดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เปโตรทำอะไรและเหตุใดเปโตรจึงสงสัยพระดำรัสสั่งของพระองค์ ประสบการณ์นี้อาจส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของเปโตรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและตัวเขาเอง? ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาแสดงศรัทธาในการนำทางจากเบื้องบนแม้ไม่เข้าใจถ่องแท้ เกิดผลอะไรเมื่อพวกเขาใช้ศรัทธา?
-
เฉกเช่นคนหาปลา “สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง” เพื่อติดตามพระเยซูคริสต์ (ลูกา 5:11) มีหลายสิ่งที่เราต้องสละทิ้งเพื่อเป็นสานุศิษย์ของพระองค์เช่นกัน เราเรียนรู้อะไรจาก มัทธิว 4:18–22 เกี่ยวกับเจตคติและศรัทธาของเปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์น? อาจจะเป็นประโยชน์ถ้านำแหมาที่ชั้นเรียน จากนั้นเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนจดสิ่งที่พวกเขายินดีสละทิ้งหรือสละทิ้งไปแล้วเพื่อติดตามพระคริสต์และใส่ไว้ในแห ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อพวกเขาเลือกสละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอด
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ประเภทของการล่อลวง
หลังจากพูดถึงการล่อลวงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเผชิญในแดนทุรกันดาร ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ระบุการล่อลวงไว้สามประเภทดังนี้
“(1) การล่อลวงเรื่องความอยากหรือกิเลสตัณหา;
“(2) การยอมจำนนต่อความหยิ่งจองหอง แฟชั่น และความฟุ้งเฟ้อ;
“(3) ความปรารถนาในความร่ำรวยทางโลก หรืออำนาจหรือการครอบครองที่ดินหรือทรัพย์ทางโลกของมนุษย์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์ [2003], 82)