“13–19 มีนาคม มัทธิว 11–12; ลูกา 11: “เราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“13–19 มีนาคม มัทธิว 11–12; ลูกา 11,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
13–19 มีนาคม
มัทธิว 11–12; ลูกา 11
“เราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก”
อ่าน มัทธิว 11–12 และ ลูกา 11 ระหว่างสัปดาห์ก่อนที่ท่านจะสอน การทำเช่นนี้จะทำให้ท่านมีเวลาไตร่ตรองและได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่ควรเน้นในชั้นเรียน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
การนำหลักธรรมที่เราพบในพระคัมภีร์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตเราเป็นวิธีสำคัญที่จะสัมผัสพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบในการศึกษาพระคัมภีร์ในสัปดาห์นี้ที่พวกเขาสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ การแบ่งปันตัวอย่างวิธีที่ท่านประยุกต์ใช้พระคัมภีร์สามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันตัวอย่างของพวกเขาเองได้
สอนหลักคำสอน
พระเยซูคริสต์จะทรงทำให้เราได้หยุดพักเมื่อเราพึ่งพาพระองค์
-
ใน มัทธิว 11:28–30 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าพระองค์จะทรงช่วยเราแบกภาระหนักหากเรายอมรับพระดำรัสเชิญของพระองค์ “จงเอาแอกของเราแบกไว้” (ข้อ 29) เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจคำสัญญานี้ดีขึ้น ท่านอาจให้ดูภาพแอก (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) และแบ่งปันข้อเท็จจริงดังนี้: แอกออกแบบมาเพื่อช่วยให้สัตว์บรรทุกของหนักหรือทำงานให้เสร็จ และแอกมักใส่ได้พอดีกับสัตว์ตัวนั้นๆ รายละเอียดเหล่านี้เพิ่มอะไรให้แก่ความเข้าใจ มัทธิว 11:28–30 ของเรา? เราพบคำเชื้อเชิญอะไรบ้างในข้อเหล่านี้? เราได้รับพรที่สัญญาไว้อะไรบ้าง? ท่านอาจแบ่งปันคำสัญญาของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันที่พบใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”
-
เราทุกคนมีภาระที่เบาลงได้ผ่านเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ เพื่อกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอาจเชิญสมาชิกชั้นเรียนอ่านและสนทนา มัทธิว 11:28–30 กับคนอื่นในชั้นเรียน พวกเขาสามารถรวมคำถามเช่นนี้ไว้ในการสนทนาได้: มีตัวอย่างภาระอะไรบ้างที่บุคคลต้องแบกไว้? เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อมาหาพระคริสต์? การเอาแอกของพระผู้ช่วยให้รอดแบกไว้กับตัวเราหมายความว่าอย่างไร? ท่านรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแบ่งเบาภาระของท่านอย่างไรเมื่อท่านหันไปหาพระองค์? สมาชิกชั้นเรียนอาจพบข้อคิดเพิ่มเติมในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย” (เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 87–90)
สะบาโตเป็นวันทำดี
-
ด้วยความกระตือรือร้นที่จะรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ พวกฟาริสีปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดและประเพณีที่มนุษย์กำหนดไว้ ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้ความเข้าใจของพวกเขาคลุมเครือเกี่ยวกับจุดประสงค์แท้จริงของสะบาโต เพื่อเริ่มการสนทนาว่าเหตุใดพระเจ้าจึงประทานวันสะบาโตแก่เรา ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน มัทธิว 12:1–13 เรื่องราวเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของวันสะบาโต? เราได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างเกี่ยวกับวันสะบาโตจาก อพยพ 31:16–17; อิสยาห์ 58:13–14; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:9–13? ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเราพยายามรักษาวันของพระองค์ให้ศักดิ์สิทธิ์?
-
แม้พวกฟาริสีจะเน้นกฎระเบียบละเอียดยิบมากมายเกี่ยวกับสะบาโต แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมอันเรียบง่ายว่า “อนุญาตให้ทำการดีได้ในวันสะบาโต” (มัทธิว 12:12) หลักธรรมอะไรอีกบ้างที่ช่วยให้เรารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์? (ดูคำกล่าวของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ) เหตุใดหลักธรรมจึงมีประสิทธิภาพมากกว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ เมื่อเราพยายามพัฒนาการพึ่งพาตนเองทางวิญญาณ?
-
ข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “สะบาโตคือวันปีติยินดี” (เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 129–132) ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจเสริมการสนทนาเรื่องวันสะบาโต
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เทียมแอกกับพระเยซูคริสต์
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “ท่านมาหาพระคริสต์เพื่อเทียมแอกกับพระองค์และกับพลังอำนาจของพระองค์ เพื่อว่าท่านจะไม่แบกภาระของชีวิตด้วยตัวท่านเองคนเดียว ท่านแบกภาระของชีวิตโดยเทียมแอกกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของโลก และทันใดนั้นปัญหาของท่าน ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใดก็เบาลง” (“The Mission and Ministry of the Savior: A Discussion with Elder Russell M. Nelson,” Ensign, June 2005, 18)
“ข้าพเจ้าต้องการส่ง สัญญาณ อะไรให้พระผู้เป็นเจ้า”
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เมื่อข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่ากิจกรรมนี้เหมาะสมสำหรับวันสะบาโตหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงถามตนเองว่า “ข้าพเจ้าต้องการส่ง สัญญาณ อะไรให้พระผู้เป็นเจ้า?” คำถามนั้นทำให้การเลือกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตชัดเจนมาก” (“สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 130)