“20–26 มีนาคม มัทธิว 13; ลูกา 8; 13: ‘ใครมีหูจงฟังเถิด,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“20–26 มีนาคม มัทธิว 13; ลูกา 8; 13,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
20–26 มีนาคม
มัทธิว 13; ลูกา 8; 13
“ใครมีหูจงฟังเถิด”
ขณะที่ท่านอ่าน ให้นึกถึงคำถามที่สมาชิกในชั้นเรียนของท่านอาจมีขณะพวกเขาพยายามเข้าใจข่าวสารของอุปมา อะไรอาจจะเข้าใจยาก? การศึกษาของท่านจะเตรียมท่านให้พร้อมตอบคำถามของพวกเขาได้อย่างไร?
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ทบทวน “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว กับชั้นเรียน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันวิธีที่พวกเขาใช้ศึกษา มัทธิว 13 และ ลูกา 8; 13
สอนหลักคำสอน
ใจเราต้องพร้อมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
-
ท่านจะใช้อุปมาเรื่องผู้หว่านพืชสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนเตรียมใจพวกเขาให้พร้อมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร ท่านอาจจะเขียนว่า เหล่าสาวก และ คนอื่นๆ บนกระดาน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน มัทธิว 13:10–17 และดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายความแตกต่างระหว่างเหล่าสาวกกับคนอื่นๆ ที่ได้ยินอุปมาของพระองค์อย่างไร จากนั้นขอให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้า ข้อ 18–23 โดยมองหาว่าอะไรอาจเป็นเหตุให้หูของเรา “ตึง” หรือตาของเราปิดรับเรื่องทางวิญญาณ เรากำลังได้รับคำแนะนำอะไรในสมัยของเราจากพระผู้เป็นเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์? เราจะเตรียม “ดินดี” เพื่อรับการชี้นำจากพระองค์และผู้รับใช้พระองค์ได้อย่างไร? (ข้อ 23)
-
ท่านอาจเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเตรียมมาสอนหัวข้อหนึ่งจากข่าวสารของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช” (เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 32–35) ข่าวสารของประธานโอ๊คส์เพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอุปมาอย่างไร?
อุปมาของพระเยซูช่วยให้เราเข้าใจการเติบโต จุดหมาย และคุณค่าของศาสนจักรของพระองค์
-
ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจความจริงเกี่ยวกับศาสนจักรที่สอนไว้ในอุปมาของพระเยซูใน มัทธิว 13 ได้อย่างไร? ท่านอาจจะเขียนชื่ออุปมาสองสามเรื่องไว้บนกระดาน (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และ คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 317–330) สมาชิกชั้นเรียนสามารถศึกษาอุปมาหนึ่งเรื่องขึ้นไปเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการเติบโตและจุดหมายของศาสนจักรของพระคริสต์
-
เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคุณค่าของการเป็นสมาชิกศาสนจักรจากอุปมาเรื่องขุมทรัพย์ในทุ่งนาและไข่มุกมีค่ามากที่พบใน มัทธิว 13:44–46? สมาชิกบางคนในชั้นเรียนของท่าน (หรือคนที่พวกเขารู้จัก) อาจเคยทำการเสียสละ—ใหญ่หรือเล็ก—เพื่อเป็นสมาชิกของศาสนจักร เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนพูดถึงการเสียสละที่พวกเขาเคยทำหรือเคยเห็นคนอื่นทำเพื่อเป็นสมาชิกของศาสนจักร พรใดเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้? เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาได้รับการกระตุ้นเตือนให้เสียสละอะไรเพื่อพระผู้ช่วยให้รอดบ้าง
เมื่อสิ้นโลก พระเจ้าจะทรงรวบรวมคนชอบธรรมและทำลายคนชั่วร้าย
-
ท่านจะช่วยชั้นเรียนดึงบทเรียนจากอุปมาเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมานมาช่วยให้พวกเขาเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ได้อย่างไร? เริ่มโดยเชิญสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งสรุปอุปมาและอธิบายความหมาย ในอุปมานี้มีบทเรียนอะไรบ้างสำหรับยุคสมัยของเรา? เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระเจ้าทรงยอมให้วิสุทธิชนของพระองค์ “เติบโตไปด้วยกัน” (มัทธิว 13:30) กับคนชั่วจนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว? เราจะรักษาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ให้เข้มแข็งได้อย่างไรเมื่อความชั่วร้ายอยู่รายรอบตัวเรา? พระคริสต์จะทรงช่วยเราได้อย่างไร? หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:1–7 และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สามารถให้ข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้อุปมายุคสุดท้ายนี้ได้
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เราควรบำรุงเลี้ยงความดี
เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์สอนว่า “ศัตรูเก่าแก่ของมนุษยชาติทั้งปวงค้นหาวิธีการมากมายตามที่เขาจะคิดได้เพื่อหว่านข้าวละมานให้กระจัดกระจายกว้างไกล เขาพบวิธีที่จะให้ข้าวละมานเข้าสู่แม้ความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเรา วิธีที่ชั่วร้ายและเป็นของโลกได้แผ่ขยายออกไปมากจนดูเหมือนไม่มีทางถอนออกได้ มันมากับสายไฟและผ่านอากาศเข้ามาสู่อุปกรณ์ที่เราคิดค้นขึ้นสำหรับให้การศึกษาและความบันเทิงแก่เรา ข้าวสาลีกับข้าวละมานงอกงามใกล้ชิดกันมาก ด้วยสุดกำลังของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลไร่นา เขาหรือเธอต้องบำรุงเลี้ยงสิ่งที่ดีและทำให้สิ่งนั้นแข็งแรงสวยงามจนข้าวละมานจะไม่เป็นที่ดึงดูดไม่ว่าตาหรือหู” (“ค้นหาสันติสุขที่ยั่งยืนและสร้างครอบครัวนิรันดร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 44)