“27 มีนาคม–2 เมษายน มัทธิว 14; มาระโก 6; ยอห์น 5–6: ‘อย่ากลัวเลย,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“27 มีนาคม–2 เมษายน มัทธิว 14; มาระโก 6; ยอห์น 5–6,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
27 มีนาคม–2 เมษายน
มัทธิว 14; มาระโก 6; ยอห์น 5–6
“อย่ากลัวเลย”
ขณะที่ท่านเตรียมสอนจาก มัทธิว 14; มาระโก 6; และ ยอห์น 5–6 ให้มองหาข่าวสารที่เหมาะกับชั้นเรียนของท่าน ขณะทำเช่นนั้น ลองคิดหาวิธีให้สมาชิกชั้นเรียนมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับพระคัมภีร์
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
วิธีหนึ่งที่จะเริ่มการสนทนาคือขอให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเลือกคนละบทจากที่อ่านมาและแบ่งปันข่าวสารจากบทนั้นที่มีความหมายต่อพวกเขา ขณะพวกเขาแบ่งปัน สมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ อาจจะถามคำถามหรือเพิ่มข้อคิด
สอนหลักคำสอน
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรที่รักของพระบิดาบนสวรรค์
-
ใน ยอห์น 5 พระเยซูทรงให้ข้อคิดหลายประการเกี่ยวกับพระองค์เอง พระบิดา และความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระบิดา เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบข้อคิดเหล่านี้ ลองแบ่งพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆ และให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเขียนความจริงเป็นข้อๆ เท่าที่พวกเขาจะหาได้ใน ข้อ 16–47 เกี่ยวกับพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ รวมถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มผลัดกันอ่านความจริงจากรายการของพวกเขา ความจริงเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์ดีขึ้นอย่างไร? เราจะทำตามแบบอย่างการเชื่อฟังพระบิดาของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
-
กิจกรรมใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว แนะนำให้สังเกตทุกครั้งที่พระเยซูทรงใช้คำว่า พระบิดา ใน ยอห์น 5:16–47 เชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ขณะทำกิจกรรมนี้ ขอให้พวกเขาแบ่งปันข้อคิดที่ได้รับเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์
มัทธิว 14:15–21; มาระโก 6:33–44; ยอห์น 6:5–14
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถขยายเครื่องถวายอันต่ำต้อยของเราเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์
-
อะไรจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนพบความหมายส่วนตัวในปาฏิหาริย์การเลี้ยงอาหารคนห้าพันคนของพระเยซู? ท่านอาจจะถามว่าการอ่านเรื่องปาฏิหาริย์นี้เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขาในพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้พรพวกเขาเป็นส่วนตัวอย่างไร พวกเขาอาจพูดคุยถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงขยายหรือทวีความพยายามของพวกเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่ดูเหมือนสุดวิสัยให้สำเร็จ นอกจากนี้ ก่อนชั้นเรียน ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนนำภาพหรือสิ่งของที่แสดงถึงประสบการณ์ของพวกเขามาที่ชั้นเรียน
-
ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงปาฏิหาริย์ที่บรรยายไว้ในข้อนี้อย่างไร? รายละเอียดอะไรบ้างในเรื่องนี้ที่เพิ่มพูนศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด? พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเลี้ยงเราทางวิญญาณด้วยวิธีใด? พระเยซูคริสต์ทรงเลี้ยงและทรงค้ำจุนเราเมื่อใด?
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราขจัดความกลัวและความสงสัยเพื่อเราจะมาหาพระองค์ได้เต็มที่มากขึ้น
-
เรื่องราวใน มัทธิว 14:22–33 สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเพิ่มพูนศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาจะติดตามพระองค์ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านเรื่องนี้ โดยเอาใจใส่เป็นพิเศษกับคำที่พระคริสต์ตรัสและคำที่เปโตรกับอัครสาวกคนอื่นๆ พูด พระดำรัสของพระเยซูช่วยให้เปโตรมีศรัทธาที่จะทิ้งเรือและเดินบนน้ำอย่างไร? พระดำรัสเตือนของพระเยซูให้ “ทำใจดีดีเถิด” และ “อย่ากลัวเลย” (ข้อ 27) ประยุกต์ใช้กับเราทุกวันนี้ได้อย่างไร? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเปโตรเกี่ยวกับความหมายของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์และวางใจพระองค์? ท่านอาจกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงและแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาลงมือปฏิบัติเช่นเดียวกับเปโตรเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอดแม้เมื่อผลลัพธ์ไม่แน่นอน ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์นั้น พระเยซูคริสต์เสด็จมาช่วยเราในชั่วขณะที่เรากลัวหรือสงสัยอย่างไร?
ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ เราต้องเต็มใจเชื่อและยอมรับความจริงแม้เมื่อเรายอมรับได้ยาก
-
เหตุการณ์ต่างๆ ใน ยอห์น 6 สามารถให้มุมมองที่เป็นประโยชน์เมื่อผู้คนมีคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอน ประวัติ หรือนโยบายของศาสนจักรของพระคริสต์ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจเหตุการณ์เหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนคำถามทำนองนี้ไว้บนกระดานให้พวกเขาตอบ: ผู้คนคาดหวังอะไร? (ดู ข้อ 26) พระคริสต์ทรงมอบอะไรให้พวกเขาแทน? (ดู ข้อ 51) ผู้คนเข้าใจอะไรผิดไป? (ดู ข้อ 41–42, 52) ท่านอาจถามคำถามเหล่านี้เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนประยุกต์ใช้เรื่องราวนี้กับชีวิตพวกเขา: มีทางใดบ้างที่เราสามารถเลือกเดินกับพระคริสต์แม้เมื่อเรามีคำถามหรือข้อสงสัย? (ดู ข้อ 66) หลักคำสอน ศาสนพิธี หรือ “ถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์” อะไรบ้างที่พบได้ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระคริสต์เท่านั้น? (ดู ข้อ 67–69) สำหรับข้อคิดจากอัครสาวกสมัยใหม่ โปรดดูข้อความของประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด “พวกข้าพระองค์จะจากไปหาใครได้” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 90–92)