“24–30 เมษายน ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“24–30 เมษายน ยอห์น 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์ 2023
24–30 เมษายน
ยอห์น 7–10
“เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี”
ท่านและสมาชิกชั้นเรียนของท่านจะได้ข้อคิดขณะอ่าน ยอห์น 7–10 สัปดาห์นี้ พึงจดจำว่าแนวคิดในโครงร่างนี้ควรเสริมไม่ใช่แทนที่การดลใจที่ท่านได้จากการศึกษาพระคัมภีร์
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เตือนให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงความสำคัญของการทำบ้านของพวกเขาให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้พระกิตติคุณ ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนพวกเขาขณะศึกษา ยอห์น 7–10 ที่บ้านด้วยตนเองหรือกับครอบครัว
สอนหลักคำสอน
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก
-
ทั่วทั้ง ยอห์น 7–10 พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศหลายเรื่องที่สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจพระพันธกิจของพระองค์ดีขึ้นและเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้และแบ่งปันสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับพระพันธกิจอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอด พระคริสต์ทรงทำบทบาทเหล่านี้ให้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตเราอย่างไร?
-
ยอห์น 7:37–39: ที่มาของ “น้ำดำรงชีวิต”
-
ยอห์น 8:12; 9:4–5: “ความสว่างของโลก”
-
ยอห์น 9:8–10, 35–38: “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”
-
ยอห์น 10:7–9: “ประตู”
-
ยอห์น 10:11–14: “ผู้เลี้ยงที่ดี”
-
เมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราจะรู้ว่าคำสอนเหล่านั้นจริง
-
ในบางกรณี การได้รับประจักษ์พยานก็เหมือนการเรียนรู้ทักษะ—ทั้งสองอย่างต้องมีการฝึกฝนและประสบการณ์ เพื่อแสดงให้เห็นสิ่งนี้ ท่านอาจเชิญสมาชิกชั้นเรียนที่มีทักษะเฉพาะ เช่น การเล่นกลหรือเล่นเครื่องดนตรี ให้อธิบายว่าพวกเขาพัฒนาทักษะของตนอย่างไร เหตุใดการอ่านเกี่ยวกับทักษะหรือดูคนอื่นทำจึงไม่เพียงพอ? ให้ชั้นเรียนสนทนาว่าการพยายามฝึกฝนทักษะอย่างหนึ่งคล้ายกับรูปแบบทางวิญญาณที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายไว้ใน ยอห์น 7:14–17 อย่างไร ต่างกันอย่างไร?
-
บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งการดำเนินชีวิตตามความจริงของพระกิตติคุณช่วยให้พวกเขาได้รับประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนนึกถึงหลักธรรมพระกิตติคุณข้อหนึ่งที่พวกเขาต้องการมีประจักษ์พยานเข้มแข็งขึ้นเกี่ยวกับหลักธรรมนั้น และกระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายจำเพาะเจาะจงเพื่อดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนั้นอย่างเต็มที่มากขึ้น
พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดเผื่อแผ่ถึงทุกคนที่กลับใจ
-
กับคนที่รู้สึกถูกกล่าวโทษเพราะบาปของพวกเขา เรื่องราวของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานความเมตตาและการกลับใจให้หญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีจะให้กำลังใจคนนั้นได้ หรือถ้าสมาชิกชั้นเรียนรู้สึกถูกล่อลวงให้กล่าวโทษผู้อื่นเพราะบาปของคนเหล่านั้น เรื่องนี้ใช้เป็นคำเตือนได้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน ยอห์น 8:1–11 โดยมองหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: เรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด? การได้รับพระเมตตาของพระองค์เมื่อเราทำบาปจะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเรารู้สึกถูกล่อลวงให้ตัดสินผู้อื่น? (ดู แอลมา 29:9–10)
-
เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนพบความเชื่อมโยงส่วนตัวใน ยอห์น 8:1–11 ท่านอาจจะแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม—กลุ่มหนึ่งเน้นคำพูดและการกระทำของพวกฟาริสี กลุ่มหนึ่งเน้นพระดำรัสและการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอด และกลุ่มหนึ่งเน้นคำพูดและการกระทำของหญิงคนนั้น เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มแจกแจงความจริงทางวิญญาณที่พวกเขาเรียนรู้จากการอ่านเรื่องราวในส่วนของตนออกมาเป็นข้อๆ
-
บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังตัดสินผู้อื่น ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเอาชนะแนวโน้มดังกล่าว: ขอให้ชั้นเรียนช่วยท่านเขียนด้านต่างๆ ที่เราตัดสินผู้อื่น (รูปลักษณ์ภายนอก พฤติกรรม ภูมิหลัง และอื่นๆ) แจกกระดาษให้สมาชิกชั้นเรียนตัดเป็นรูปก้อนหิน และขอให้พวกเขาเลือกวิธีหนึ่งของการตัดสินผู้อื่นที่พวกเขารู้สึกผิดและเขียนบนก้อนหินกระดาษ เราเรียนรู้อะไรจากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกฟาริสีใน ยอห์น 8:1–11? เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนเขียนบางอย่างที่จะเตือนพวกเขาว่าอย่าตัดสินไว้บนก้อนหินกระดาษอีกด้านหนึ่ง (อาจเป็นวลีหนึ่งจาก ยอห์น 8 ก็ได้)
เมื่อเรารู้จักพระเยซูคริสต์ เท่ากับเรารู้จักพระบิดา
-
พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 8:18–19, 26–29 สอนอะไรเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างพระองค์กับพระบิดาของพระองค์? หลังจากอ่านและสนทนาข้อเหล่านี้แล้ว สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนบางอย่างที่พระเยซูทรงทำ ตรัส หรือทรงสอนไว้บนกระดาน เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาจากสิ่งเหล่านี้?