พันธสัญญาใหม่ 2023
10–16 เมษายน มัทธิว 15–17; มาระโก 7–9: “พระองค์เป็นพระคริสต์”


“10–16 เมษายน มัทธิว 15–17; มาระโก 7–9: ‘พระองค์เป็นพระคริสต์,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“10–16 เมษายน มัทธิว 15–17; มาระโก 7–9,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023

การเปลี่ยนสภาพของพระคริสต์

การเปลี่ยนสภาพ โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

10–16 เมษายน

มัทธิว 15–17; มาระโก 7–9

“พระองค์เป็นพระคริสต์”

วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของท่านในฐานะผู้สอนคือการช่วยให้ผู้อื่นสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ นึกถึงสิ่งนี้เสมอขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ในสัปดาห์นี้ ท่านพบอะไรบ้างที่สามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเชื่อในพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น?

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

วิธีหนึ่งที่ท่านสามารถกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวคือเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันทุกสัปดาห์ว่าการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาช่วยให้พวกเขาได้รับการเปิดเผยและเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น การศึกษาบทเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเลือกที่พวกเขาทำในสัปดาห์นี้อย่างไร?

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 16:13–17

ประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์มาโดยการเปิดเผย

  • สมาชิกชั้นเรียนคนใดของท่านเคยอธิบายให้คนอื่นฟังว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง? ใน มัทธิว 16:13–17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับประจักษ์พยาน? ท่านอาจจะแบ่งปันว่าแอลมาได้รับประจักษ์พยานอย่างไร (ดู แอลมา 5:45–46) หรือพระเจ้าทรงสอนอะไรออลิเวอร์ คาวเดอรีเกี่ยวกับการเปิดเผย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:14–15, 22–23; 8:2–3) ท่านคิดว่าเปโตรหรือแอลมาหรือออลิเวอร์ คาวเดอรีจะพูดอะไรถ้ามีคนถามว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง?

  • อาจจะมีคนในชั้นเรียนของท่านที่กำลังสวดอ้อนวอนขอการเปิดเผยส่วนตัวแต่ไม่รู้เมื่อการเปิดเผยมา ที่ HearHim.ChurchofJesusChrist.org ท่านจะพบวีดิทัศน์ที่ผู้นำศาสนจักรแบ่งปันว่าพวกเขารู้จักสุรเสียงของพระเจ้าอย่างไร ท่านอาจดูวีดิทัศน์เหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งเรื่องกับชั้นเรียนและพูดคุยถึงสิ่งที่วีดิทัศน์สอนเกี่ยวกับการได้รับการเปิดเผย ชั้นเรียนของท่านคิดว่าคำสอนหรือพระคัมภีร์ใดอีกบ้างที่จะช่วยให้คนบางคนรับรู้การเปิดเผยส่วนตัว? (ตัวอย่างเช่น ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11–12; กาลาเทีย 5:22–23; อีนัส 1:1–8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:22–24; 8:2–3; 9:7–9)

มัทธิว 16:13–19; 17:1–9

กุญแจฐานะปุโรหิตจำเป็นอย่างยิ่งต่อความรอดของเรา

  • เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิต ท่านอาจเขียนข้ออ้างอิงทำนองนี้ไว้บนกระดาน: มัทธิว 16:19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18–20; 128:8–11; 132:18–19, 59; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:72; และ “กุญแจของฐานะปุโรหิต” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) จากนั้นให้เชิญสมาชิกชั้นเรียนอ่านหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นและแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิต เหตุใดเราจึงต้องการกุญแจฐานะปุโรหิต?

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตในยุคสุดท้าย ท่านอาจจะขอให้นักเรียนครึ่งหนึ่งศึกษา มัทธิว 17:1–9 และอีกครึ่งหนึ่งศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 110 จากนั้นพวกเขาอาจแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ให้กันและสังเกตความคล้ายคลึงระหว่างสองเรื่องนี้

2:3
รูปปั้นเปโตรถือกุญแจ

กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจในการกำกับดูแลการใช้ฐานะปุโรหิต

มาระโก 9:14–30

เมื่อแสวงหาศรัทธาที่มากขึ้น เราจะเริ่มด้วยศรัทธาที่เรามี

  • เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใช้เรื่องราวของพ่อที่หาทางรักษาลูกชายสอนว่าเราควรพึ่งพระเจ้าอย่างไรเมื่อเรารู้สึกว่าศรัทธาของเราไม่มากพอ (ดู “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–95) หลังจากอ่าน มาระโก 9:14–30 ในชั้นเรียนแล้ว ท่านอาจจะสนทนาข้อสังเกตสามข้อของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ด้วยกัน (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”)

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อสังเกตสามประการจะช่วยให้เรามีศรัทธามากขึ้น

หลังจากเล่าเรื่องที่พบใน มาระโก 9:14–29 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า

“ข้อสังเกตข้อแรกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเมื่อเผชิญความท้าทายเรื่องศรัทธา บิดาคนนี้ประเมินกำลังของเขาก่อน แล้วเมื่อนั้นเขาจึงได้รับรู้ถึงข้อจำกัดของตน คำกล่าวแรกของเขายืนยันความจริงโดยปราศจากความลังเลว่า ‘ข้าพเจ้าเชื่อ’ ข้าพเจ้าต้องการบอกทุกคนผู้ปรารถนาจะมีศรัทธามากขึ้นว่า จงจดจำชายผู้นี้! ในช่วงเวลาที่ท่านหวาดกลัว หรือสงสัย หรือว้าวุ่นใจ จงยึดฐานที่มั่นซึ่งท่านชนะมาแล้ว แม้จะมีพื้นที่จำกัดก็ตาม …

“ข้อสังเกตข้อที่สองคือสิ่งที่แปรผันมาจากข้อแรก เมื่อปัญหาเกิดขึ้นและมีคำถาม อย่าเริ่มต้นด้วยการพูดเกี่ยวกับศรัทธาว่าท่าน ไม่ มีศรัทธามากเท่าไร ราวกับให้ ‘ความไม่เชื่อ’ ของท่านเป็นตัวนำ … ข้าพเจ้าไม่ได้ขอให้ท่านแสร้งมีศรัทธาที่ท่านไม่มี ข้าพเจ้า กำลัง ขอให้ท่านแน่วแน่ต่อศรัทธาที่ท่าน มี อยู่แล้ว …

“ข้อสังเกตสุดท้ายคือ เมื่อความสงสัยหรือความยากลำบากเกิดขึ้น อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ หากเราต้องการความช่วยเหลืออย่างอ่อนน้อมจริงใจเท่าบิดาคนนี้ เราจะได้รับ” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–94)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ถามคำถามที่เชื้อเชิญประจักษ์พยาน การถามคำถามที่กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสดงประจักษ์พยานเป็นวิธีอัญเชิญพระวิญญาณที่ใช้ได้ผล ตัวอย่างเช่น เมื่อสนทนา มัทธิว 16:13–17 ท่านอาจจะถามว่า “ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด?” (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 32)