“10–16 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9: ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าทำสิ่งใด?,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“10–16 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 6–9,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
10–16 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 6–9
“พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าทำสิ่งใด?”
ศึกษา กิจการของอัครทูต 6–9 และบันทึกความประทับใจของท่าน สิ่งนี้จะช่วยให้ท่านได้รับการเปิดเผยว่าจะช่วยสมาชิกชั้นเรียนเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านการศึกษาบทต่างๆ เหล่านี้อย่างไร
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เขียนชื่อของคนบางคนที่กล่าวถึงใน กิจการของอัครทูต 6–9 เช่น สเทเฟน เซาโล ฟีลิป อานาเนีย เปโตร และ ทาบิธา หรือ โดรคัส บนกระดาน เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากหนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้จากการศึกษาของพวกเขาสัปดาห์นี้
สอนหลักคำสอน
การขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำไปสู่การปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดและผู้รับใช้ของพระองค์
-
ท่านอาจเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับประสบการณ์ของสเทเฟนโดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนคำพูดของสเทเฟนใน กิจการของอัครทูต 7:37–53 คำพูดของเขามีคำเตือนอะไรสำหรับเราในทุกวันนี้? ท่านอาจมุ่งเน้นถ้อยคำของสเทเฟนใน กิจการของอัครทูต 7:51 “ขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความว่าอย่างไร? เพื่อให้เข้าใจคำเหล่านี้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น สมาชิกชั้นเรียนอาจสนทนาข้อเหล่านี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น: 2 นีไฟ 28:3–6; 33:1–2; โมไซยาห์ 2:36–37; แอลมา 10:5–6; และ แอลมา 34:37–38 เหตุใดบางครั้งเราจึง “ขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์”? เราจะทำอะไรเพื่อรับรู้และทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ดีขึ้น?
ใจเราต้อง “ซื่อตรงต่อพระเจ้า”
-
เพื่อศึกษาเรื่องราวของซีโมนเป็นชั้นเรียน ท่านอาจจะเขียนคำถามว่า ซีโมนคือใคร? บนกระดาน เขาต้องการอะไร? และ เขาพยายามจะได้รับสิ่งนั้นอย่างไร? มอบหมายให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนอ่าน กิจการของอัครทูต 8:9–24 โดยมองหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ความจริงอะไรบ้างที่ซีโมนยังไม่เข้าใจ? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของซีโมน? เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าใจของเรา “ซื่อตรงต่อพระเจ้า”? (ข้อ 21)
-
ระหว่างการศึกษาส่วนตัว สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจสังเกตเห็นคุณสมบัติที่สเทเฟนและฟิลิปมีซึ่งซีโมนไม่มี (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ถ้าพวกเขาเห็น ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ สมาชิกชั้นเรียนอาจยกตัวอย่างอื่นๆ ของคนที่มีใจซื่อตรงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าจาก กิจการของอัครทูต 6–9 เช่น ฟีลิปและชายจากเอธิโอป (ดู กิจการของอัครทูต 8:26–40) เซาโล (ดู กิจการของอัครทูต 9:1–22) และทาบิธา (ดู กิจการของอัครทูต 9:36–39)
พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยนำทางผู้อื่นไปหาพระเยซูคริสต์
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าพวกเขาจะนำทางผู้อื่นไปหาพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร (ดู กิจการของอัครทูต 8:31) ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองคนนั่งหันหน้าเข้าหากันและอ่านบทสนทนาระหว่างฟีลิปกับชายชาวเอธิโอป กิจการของอัครทูต 8:26–39 สมาชิกชั้นเรียนคนที่สามอาจอ่านส่วนที่ไม่ใช่บทพูด เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของฟีลิปเกี่ยวกับการสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น?
-
เพื่อสำรวจแบบอย่างยุคปัจจุบันของเรื่องราวใน กิจการของอัครทูต 8:26–39 สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขามีเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณหรือการเข้าร่วมศาสนจักร พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยพวกเขาอย่างไร? บางคนทำอะไรเพื่อเป็นผู้นำทางของพวกเขา? เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาอาจนำทางใครมาสู่พระกิตติคุณ
เมื่อเรายอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์ได้
-
สมาชิกชั้นเรียนจะเรียนรู้ความจริงอันทรงพลังเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาเองโดยการศึกษาประสบการณ์ของเซาโล รวมถึงความจริงที่ว่าทุกคนสามารถกลับใจและเปลี่ยนหากพวกเขาเต็มใจ ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนเปรียบเทียบประสบการณ์ของเซาโลกับประสบการณ์ของแอลมา (ดู โมไซยาห์ 17:1–4; 18; 26:15–21) และของชาวแอนไท–นีไฟ–ลีไฮ (ดู แอลมา 24:7–12) พระเจ้าทรงทำสิ่งใดเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้เปลี่ยนใจเลื่อมใส? พวกเขาแสดงความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร? เราพบข่าวสารใดสำหรับชีวิตของเราเองจากเรื่องราวเหล่านี้?
-
เพื่อกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับประสบการณ์ของเซาโล ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนเตรียมมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากแต่ละหมวดในข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “รอคอยบนถนนสู่ดามัสกัส” (เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 70–77) บางครั้งเรารอคอยบนถนนสู่ดามัสกัสของเราเองอย่างไร? ตามที่ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าว เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะได้ยินสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าได้ดีขึ้น? บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการแสวงหาและทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า