“24–30 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 16–21: ‘พระเจ้าทรงเรียกเราไปประกาศข่าวประเสริฐ,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“24–30 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 16–21,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
24–30 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 16–21
“พระเจ้าทรงเรียกเราไปประกาศข่าวประเสริฐ”
ก่อนดูโครงร่างนี้ ให้อ่าน กิจการของอัครทูต 16–21 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนโดยนึกถึงสมาชิกชั้นเรียนของท่าน แนวคิดต่อไปนี้อาจเสริมการดลใจที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณ
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อหนึ่งจาก กิจการของอัครทูต 16–21 ซึ่งช่วยให้นึกถึงประสบการณ์ที่พวกเขามีในการแบ่งปันพระกิตติคุณ
สอนหลักคำสอน
ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด เราเป็นพยานถึงพระองค์และแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์
-
ข่าวสารเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นใน กิจการของอัครทูต 16–21 คือความสำคัญของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ตัวอย่างหนึ่งเช่น สมาชิกชั้นเรียนอาจอ่านวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเปาโลและสิลาสใน กิจการของอัครทูต 16:6–15 เหตุใดเราจึงต้องการพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณ? (ดู 2 นีไฟ 33:1; หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:8–10; 42:14; 100:5–8) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางความพยายามของพวกเขาในการแบ่งปันพระกิตติคุณ
-
ประสบการณ์ของเปาโลจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนมีความกล้าหาญเมื่อพวกเขาได้รับการกระตุ้นเตือนให้แบ่งปันประจักษ์พยานของตนเองได้อย่างไร? ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนทบทวนเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไปนี้: กิจการของอัครทูต 16:16–34; 17:16–34; 18:1–11 ขอให้พวกเขาแบ่งปันหลักฐานที่พบเกี่ยวกับความกล้าหาญของเปาโล ความจริงใดที่เปาโลสอน (และเข้าใจ) ซึ่งทำให้เขามีความมั่นใจในข่าวสารของเขา? เหตุใดบางครั้งเราจึงลังเลที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณ พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเราอย่างไร? กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำตามแบบอย่างของเปาโลและแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคริสต์ให้บ่อยขึ้น
เราเป็นเชื้อสายของพระเจ้า
-
บนเนินเขามาร์ส เปาโลสอนเรื่องพระบิดาบนสวรรค์แก่คนกลุ่มหนึ่งที่รู้เล็กน้อยเกี่ยวกับพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อสำรวจคำสอนนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน กิจการของอัครทูต 17:24–31 และเขียนความจริงที่พวกเขาพบเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน บนกระดาน จากนั้นพวกเขาสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาสัมผัสได้ถึงความจริงตามคำกล่าวของเปาโลที่ว่าพระผู้เป็นเจ้า “ไม่ทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย” (ข้อ 27)
-
เมื่อท่านพิจารณาข้อเหล่านี้ด้วยกัน ท่านอาจสนทนาความจริงที่สอนใน ข้อ 29: “เราเป็นเชื้อสายของพระเจ้า” ท่านสามารถเขียนบนกระดานว่า เพราะเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า … และ หากเราไม่ทราบว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า … เชิญสมาชิกชั้นเรียนเสนอวิธีเติมประโยคเหล่านี้ให้สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่าเราเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าสอนอะไรเราเกี่ยวกับตัวเราและวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อกัน? ชีวิตเราจะต่างไปจากนี้อย่างไรถ้าเราไม่ทราบความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับพระผู้เป็นเจ้า? คำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจจะเสริมอะไรในการสนทนานี้?
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า
“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” แบ่งปันความจริงนิรันดร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าว่า “มนุษย์ทั้งหลาย—ชายกับหญิง—ได้รับการสร้างในรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนเป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ และด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงมีลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์” (ChurchofJesusChrist.org)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์พูดถึงความสำคัญของการมองตัวเราเองว่าเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าก่อนสิ่งอื่นใดดังนี้
“จงระวังวิธีที่ท่านบอกลักษณะตัวท่านเอง อย่าบอกลักษณะหรือนิยามตัวท่านเองโดยใช้คุณสมบัติที่ไม่ถาวร คุณสมบัติ เดียว ที่ควรบอกลักษณะเราคือเราเป็นบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ข้อเท็จจริงนั้นอยู่เหนือคุณลักษณะอื่นทั้งปวง รวมถึงเชื้อชาติ อาชีพ ลักษณะทางร่างกาย เกียรติยศ หรือแม้แต่ศาสนา …
“เรามีสิทธิ์เสรีของเรา และเราสามารถเลือกคุณลักษณะใดก็ได้เพื่อนิยามตนเอง แต่เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อเราเลือกนิยามตัวเราเองหรือนำเสนอตนเองโดยใช้คุณลักษณะที่ไม่ถาวรหรือไม่สำคัญในคำศัพท์นิรันดร์ เราลดความสำคัญของสิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรา และเราให้ความสำคัญเกินไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ นี่อาจนำเราไปสู่หนทางที่ไม่ถูกต้องและขัดขวางความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา” (“Be Wise” [Brigham Young University–Idaho devotional, Nov.7, 2006], byui.edu)