“17–23 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15: ‘พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“17–23 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
17–23 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 10–15
“พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป”
การศึกษา กิจการของอัครทูต 10–15 ร่วมกับการสวดอ้อนวอนก่อนอ่านโครงร่างนี้จะช่วยให้ท่านรับความประทับใจจากพระเจ้า แนวคิดด้านล่างนี้เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชิญสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่พระวิญญาณทรงสอนพวกเขาขณะอ่าน กิจการของอัครทูต 10–15 กับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแบ่งปันข้อคิดของพวกเขากับทั้งชั้นเรียน
สอนหลักคำสอน
กิจการของอัครทูต 10; 11:1–18; 15:1–25
พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนเราเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดผ่านการเปิดเผย
-
สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขั้นตอนของการได้รับการเปิดเผย อาจช่วยพวกเขาสนทนาว่าการเปิดเผยมาสู่เปโตรอย่างไรและพวกเขาจะดำเนินต่อไปโดย “อย่าลังเลใจ” (กิจการของอัครทูต 10:20) เมื่อการเปิดเผยดูไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนได้อย่างไร ท่านอาจลากเส้นหนึ่งเส้นบนกระดานและเขียนที่ปลายเส้นด้านหนึ่งว่า ต้องสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ ทบทวน กิจการของอัครทูต 10 และ 11:1–18 เป็นชั้นเรียนแล้วใส่จุดบนเส้นที่จะแสดงวิธีที่พระเจ้าทรงเปิดเผยทีละขั้นทีละตอนแก่เปโตรว่าเวลาสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติมาถึงแล้ว ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเริ่มด้วยจุดแรกที่เขียนว่า “โครเนลิอัสเห็นนิมิต” (กิจการของอัครทูต 10:1–6) หรือแม้แต่เริ่มด้วยพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดต่อสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “(สอน) ชนทุกชาติ” ใน มัทธิว 28:19 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการเปิดเผยจากประสบการณ์ของเปโตร? คำสอนของนีไฟเกี่ยวกับการเปิดเผยใน 2 นีไฟ 28:30 และคำสอนจากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เสริมความเข้าใจของเราอย่างไร?
-
ท่านอาจศึกษาตัวอย่างในพระคัมภีร์ซึ่งพระเจ้าทรงสอนผู้คนเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด นอกจากประสบการณ์ของเปโตรใน กิจการของอัครทูต 10 สมาชิกชั้นเรียนอาจทบทวนประสบการณ์ของนีไฟ (1 นีไฟ 18:1–3); แอลมา (แอลมา 7:8; 16:20); และมอรมอน (3 นีไฟ 28:17, 36–40) มีตัวอย่างใดอีกที่สมาชิกชั้นเรียนนึกได้เกี่ยวกับคนที่ได้รับการนำทางทางวิญญาณ “ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย”? (2 นีไฟ 28:30) เหตุใดบางครั้งพระเจ้าจึงทรงเลือกเปิดเผยบางสิ่งในวิธีนี้แทนที่จะให้คำตอบกับเราทั้งหมดในคราวเดียว? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:40; 98:12)
-
บางครั้งสมาชิกมีคำถามหรือข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือโปรแกรมในศาสนจักร อาจมีประโยชน์ที่จะสนทนาว่าการเปิดเผยให้เริ่มสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ (ดู กิจการของอัครทูต 10) มาแทนพระดำรัสแนะนำก่อนหน้านั้นที่พระเจ้าประทานแก่สานุศิษย์ของพระองค์อย่างไร (ดู มัทธิว 10:1, 5–6) สมาชิกชั้นเรียนอาจตอบบางคนในสมัยของเปโตรที่ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของเปโตรเนื่องจากขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติก่อนหน้านั้นอย่างไร? การเปิดเผยใน กิจการของอัครทูต 10 ช่วยให้เราเอาใจใส่การเปิดเผยอันต่อเนื่องของพระเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ได้อย่างไร?
“พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง”
-
สมาชิกชั้นเรียนของท่านจะได้ประโยชน์จากการสนทนาถึงความหมายของคำว่า “ไม่ทรงลำเอียง” หรือไม่? ท่านอาจต้องการเริ่มโดยการเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนอ่านพระคัมภีร์ที่สอนว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง เช่น โรม 2:1–11; 1 นีไฟ 17:34–40; 2 นีไฟ 26:32–33; แอลมา 5:33; โมโรไน 8:12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:34–35 ขอให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนคำนิยามที่เป็นไปได้ของ “ไม่ทรงลำเอียง” ตามที่พวกเขาอ่านแล้วแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน เหตุการณ์และหลักธรรมใน กิจการของอัครทูต 10:34–48 แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงลำเอียงอย่างไร? คนที่ชอบธรรมเป็นที่ “ชอบพระทัย” และ “เป็นที่โปรดปราน” ของพระเจ้าแม้พระองค์ไม่ทรงลำเอียงอย่างไร? (ดู กิจการของอัครทูต 10:34–35; 1 นีไฟ 17:35)
ท่านอาจจำเป็นต้องช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจว่าการ “ไม่ทรงลำเอียง” ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าประทานพรทุกคนเท่ากันไม่ว่าการกระทำของพวกเราจะเป็นอย่างไร พระองค์ทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์ยอมรับพระกิตติคุณของพระองค์ แต่ความสมบูรณ์ของพรจากพระกิตติคุณมีไว้ให้คนที่ทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
การได้รับการเปิดเผยเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “โดยทั่วไปเราหลายคนคิดไปเองว่าเราจะได้รับคำตอบ ทีเดียว หรือการกระตุ้นเตือน ครั้งเดียว สำหรับการสวดอ้อนวอนและการทูลขออย่างจริงใจ บ่อยครั้งเราคาดหวังว่าคำตอบหรือการกระตุ้นเตือนเช่นนั้นจะมาทันทีและ มาทั้งหมดทีเดียว ดังนั้น เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าพระเจ้าจะประทาน คำตอบใหญ่อย่างรวดเร็วและทั้งหมดในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่บรรยายไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพระคัมภีร์บอกว่าเราจะได้รับ ‘บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์’ หรืออีกนัยหนึ่ง คำตอบทีละเล็กละน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง การรับรู้และเข้าใจรูปแบบนี้เป็นกุญแจสำคัญต่อการได้รับการดลใจและความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“Line upon Line, Precept upon Precept,” New Era, Sept. 2010, 3–4)