พันธสัญญาเดิม 2022
3–9 ตุลาคม อิสยาห์ 58–66: “องค์พระผู้ไถ่จะเสด็จมายังศิโยน”


“3–9 ตุลาคม อิสยาห์ 58–66: ‘องค์พระผู้ไถ่จะเสด็จมายังศิโยน’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“3–9 ตุลาคม อิสยาห์ 58–66” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
พระเยซูทรงสอนในธรรมศาลา

พระเยซูในธรรมศาลาที่นาซาเร็ธ โดย เกรก เค. โอลเซ็น

3–9 ตุลาคม

อิสยาห์ 58–66

“องค์พระผู้ไถ่จะเสด็จมายังศิโยน”

ขณะท่านศึกษาหลักคำสอนที่งดงามในบทเหล่านี้ จงอัญเชิญพระวิญญาณให้ทรงนำทางท่านไปสู่ข่าวสารที่จะมีความหมายที่สุดต่อสมาชิกชั้นเรียน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านอาจเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนการอ้างอิงสำหรับข้อต่างๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ในสัปดาห์นี้ไว้บนกระดาน จากนั้น ท่านอาจดูที่ข้อเหล่านั้นแล้วพูดคุยถึงความจริงที่พบด้วยกันเป็นชั้นเรียน ข้อคิดเหล่านี้อาจนำไปสู่การสนทนาเชิงลึกของหลักธรรมหนึ่งข้อหรือมากกว่าที่ทำรายการไว้ด้านล่าง

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

อิสยาห์ 58:3–12

การอดอาหารนำมาซึ่งพร

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาถึงเหตุผลที่พระเจ้าทรงบัญชาให้เราอดอาหาร ท่านอาจขีดเส้นแบ่งเป็นสองคอลัมน์บนกระดานโดยมีหัวข้อว่า “เจ้าจะไม่อดอาหารอย่างเจ้าในวันนี้” และ “เรา​เลือก​การ​อด‍อาหาร​อย่าง‍นี้​” จากนั้นสมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน อิสยาห์ 58:3–7 แล้วเติมคอลัมน์แรกด้วยคำอธิบายวิธีอดอาหารของชาวอิสราเอล และเติมคอลัมน์ที่สองด้วยคำอธิบายการอดอาหารที่พระเจ้าทรงประสงค์ คำอธิบายเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีที่เรามองการอดอาหารอย่างไร? นอกจากนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันจากประสบการณ์ของตนเองถึงวิธีที่การอดอาหารนำไปสู่พรที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ใน ข้อ 8–12

  • สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจมีประสบการณ์เคยอธิบายเหตุผลที่เราอดอาหารกับคนอื่น เชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พูด นอกจากนี้ท่านอาจเชิญสมาชิกในฝ่ายอธิการมาพูดเกี่ยวกับการใช้เงินบริจาคอดอาหารด้วย หรือท่านอาจแบ่งปันแบบอย่างหนึ่งเรื่องจากข่าวสารของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ “เราเลือกการอดอาหารอย่างนี้ไม่ใช่หรือ?” (เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 22–25) การอดอาหารและการบริจาคเงินอดอาหารช่วย “แก้สายรัดของแอก” ของตัวเราเองและผู้อื่นอย่างไร? (อิสยาห์ 58:6)

อิสยาห์ 61:1–3; 63:7–9

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา

  • เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงประกาศแก่ชาวนาซาเร็ธว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ ทรงยกข้อความจาก อิสยาห์ 61:1–3 (ดู ลูกา 4:16–21; ดูวีดิทัศน์ “Jesus Declares He Is the Messiah,” ChurchofJesusChrist.org ด้วย) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน อิสยาห์ 61:1–3 แล้วพูดคุยกันว่าเหตุใดข้อเหล่านี้จึงเป็นคำอธิบายที่ดีสำหรับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเขียนบนกระดานเป็นข้อๆ เรื่องที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงได้รับการเจิมให้ทำ แล้วสนทนาถึงความหมายของแต่ละข้อ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้งานเหล่านี้ซึ่งเป็นพันธกิจของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลในพระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์อย่างไร? พระองค์ทรงทำให้งานเหล่านี้ในชีวิตเราเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร?

  • นอกจากนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจจะอ่าน อิสยาห์ 63:7–9 แล้วแบ่งปันวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงอวยพรพวกเขาในวิธีเหล่านี้

  • อิสยาห์ 61:1–3 ใช้ภาษากวีที่ไพเราะอธิบายเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการไถ่สิ่งที่ดูเหมือนปรักหักพัง เพื่อช่วยให้เห็นภาพของข้อเหล่านี้ ให้พิจารณาการแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับบางสิ่งที่คิดว่าสูญเสียหรือถูกทำลายลงแล้วแต่กลับเปลี่ยนเป็นบางสิ่งที่สวยงามกว่าเดิมได้ ตัวอย่างเช่น การดูวีดิทัศน์เรื่อง “Provo City Center Temple” (ChurchofJesusChrist.org; ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) หรือเรื่องราวในช่วงเริ่มต้นของข่าวสารจากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “พระองค์จะทรงแบกท่านไว้และพาท่านกลับบ้าน” (เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 101–104) สมาชิกชั้นเรียนอาจพูดคุยกันถึงวิธีที่พวกเขาได้เห็นพระเจ้าประทานสิ่งสวยงามแก่ผู้คนเมื่อคนเหล่านั้นคิดว่าชีวิตพวกเขาถูกทำลายลงแล้ว

อิสยาห์ 65:17–25

ในการเสด็จมาครั้งที่สอง พระเจ้าจะทรง “สร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”

  • อิสยาห์ 65:17–25 บรรยายสภาวะบนแผ่นดินโลกหลังการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนข้อเหล่านี้เพื่อค้นคว้าหาคำตอบของคำถามทำนองนี้: ชีวิตบน “แผ่นดินโลกใหม่” จะแตกต่างจากวิถีชีวิตปัจจุบันบนแผ่นดินโลกอย่างไร? ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ทำให้ท่าน​เปรม‍ปรีดิ์?

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

พระเจ้า “ไม่ทรงทิ้งเราไว้ในกองเถ้าถ่าน”

หลังจากเล่าว่าไฟที่เกือบทำลายโพรโวแทเบอร์นาเคิลเปิดโอกาสให้สร้างอาคารหลังนั้นขึ้นใหม่ซึ่งต่อมากลายเป็นพระวิหารโพรโวซิตี้ เซ็นเตอร์อย่างไร ซิสเตอร์ลินดา เอส. รีฟส์กล่าวว่า“พระเจ้าทรงยอมให้เราถูกทดลองและถูกทดสอบ บางครั้งจนถึงที่สุดของเรา เราได้เห็นชีวิตของคนที่เรารัก—และอาจจะชีวิตของเราด้วย—เปรียบเสมือนมอดไหม้เป็นผุยผงและข้องใจว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักและความเอาใจใส่จึงทรงปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พระองค์ไม่ทรงทิ้งเราไว้ในกองเถ้าถ่าน พระองค์ทรงยืนกางพระพาหุเชื้อเชิญเราอย่างกระตือรือร้นให้มาหาพระองค์ พระองค์ทรงกำลังสร้างชีวิตเราให้เป็นพระวิหารที่สง่างามที่พระวิญญาณของพระองค์จะทรงดำรงอยู่นิรันดร์” (“จงมารับพรแห่งพันธสัญญาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013,119)

ปรับปรุงการสอนของเรา

รู้จักคนที่ท่านสอน แต่ละคนที่ท่านสอนมีภูมิหลัง มุมมอง และความสามารถเฉพาะตัว ให้พิจารณาข้อแตกต่างเหล่านี้ขณะท่านแสวงหาวิธีช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ในวิธีที่มีความหมายและน่าจดจำ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 7)

พิมพ์