พันธสัญญาเดิม 2022
21–27 พฤศจิกายน โยนาห์; มีคาห์: “พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง”


“21–27 พฤศจิกายน โยนาห์; มีคาห์: ‘พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“21–27 พฤศจิกายน โยนาห์; มีคาห์,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
ผู้ชายคลานบนชายหาดมีปลาวาฬอยู่ในทะเลด้านหลัง

โยนาห์บนชายหาดที่นีนะเวห์, โดย แดเนียล เอ. ลูอิส

21–27 พฤศจิกายน

โยนาห์; มีคาห์

“พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง”

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันยั่งยืนเรียกร้องมากกว่าบทเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่สร้างแรงบันดาลใจสัปดาห์เว้นสัปดาห์ จงกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสวงหาประสบการณ์ส่วนตัวทางวิญญาณตลอดชีวิต

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้พิจารณาการเขียนวลีทำนองนี้บนกระดาน: ความจริงที่เตือนฉันให้นึกถึง, สิ่งใหม่ที่ฉันเรียนรู้, และ สิ่งที่ฉันอยากศึกษาต่อไป ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนทบทวนสิ่งที่พวกเขาศึกษาในโยนาห์และมีคาห์ที่เกี่ยวข้องกับวลีใดวลีหนึ่งบนกระดาน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

โยนาห์ 1–4; มีคาห์ 7:18–19

พระเจ้าทรงเมตตาทุกคนที่หันมาหาพระองค์

การเตือนชั้นเรียนของท่านให้นึกถึงพระเมตตาของพระเจ้าสามารถช่วยให้รู้สึกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขาและเป็นแรงบันดาลใจให้กลับใจ ท่านอาจเชิญให้ชั้นเรียนอ่าน มีคาห์ 7:18–19 แล้วเขียนรายการเหตุการณ์บางอย่างจาก โยนาห์ 1–4 ที่แสดงว่าพระเจ้าพอพระทัยในความรักมั่นคง [พระเมตตา] บนกระดาน เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์อื่นๆ อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า—จากพระคัมภีร์หรือชีวิตเราเอง?

การมีประสบการณ์เรื่องพระเมตตาของพระเจ้าสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เรามีเมตตามากขึ้น ต่อไปคือแนวคิดอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนของท่านเรียนรู้เกี่ยวกับความเมตตาจากหนังสือของโยนาห์ ท่านอาจเขียนคำถามทำนองนี้บนกระดาน: พระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าดังที่แสดงไว้ใน โยนาห์ 1–4 สอนอะไรฉันเกี่ยวกับการมีเมตตามากขึ้น? สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนอาจเลือกบทใดบทหนึ่งเพื่อทบทวนและหาคำตอบของคำถาม ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนเล่าถึงโอกาสที่พวกเขาต้องแทนที่เจตคติแห่งการตัดสินด้วยเจตคติแห่งความเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น

ภาพ
คนสองคนคุยกันริมแม่น้ำ

เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณให้กับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

โยนาห์ 1; 3–4

บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจำเป็นต้องได้ยินพระกิตติคุณ

  • วิธีหนึ่งที่จะดึงบทเรียนจากเรื่องราวของโยนาห์คือการเปรียบเทียบเรื่องนี้กับเรื่องราวของผู้สอนศาสนาในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจขีดเส้นแบ่งกระดานเป็นสองช่องโดยมีหัวข้อว่า โยนาห์ และ แอลมากับพวกบุตรของโมไซยาห์ เชิญให้ชั้นเรียนเปรียบเทียบเจตคติเกี่ยวกับการสอนชาวนีนะเวห์ของโยนาห์ (ดู โยนาห์ 1; 3–4) กับเจตคติเกี่ยวกับการสอนชาวเลมันของพวกบุตรของโมไซยาห์ (ดู โมไซยาห์ 28:1–5; แอลมา 17:23–25) จากแบบฝึกหัดนี้ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณกับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า?

  • เช่นเดียวกับโยนาห์ พวกเราหลายคนอาจลังเลที่จะเชิญผู้อื่นให้หันไปหาพระเจ้า อะไรคือเหตุผลบางอย่างที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้โยนาห์หนีจากการเรียกให้เตือนชาวนีนะเวห์? เหตุใดบางครั้งเราจึงลังเลที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณ? สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยให้พวกเขาเอาชนะความลังเล คำแนะนำโดยประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” อาจช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนระบุหลักธรรมที่สามารถเสริมพลังให้กับความพยายามในการแบ่งปันพระกิตติคุณของเรา

มีคาห์ 6:6–8

“พระยาห์เวห์ทรงประสงค์อะไรจากเจ้า?”

  • มีคาห์ 6:6–7 กล่าวถึงความสำคัญของพิธีกรรมของชาวยิวโบราณหลายข้อ แต่มีบางสิ่งสำคัญต่อพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าพิธีกรรมภายนอก เชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหาสิ่งสำคัญเหล่านั้นใน ข้อ 8 สมาชิกชั้นเรียนอาจระบุวลีสำคัญในข้อนี้แล้วสนทนาว่าแต่ละวลีหมายความว่าอย่างไร จากนั้นพวกเขาอาจเลือกวลีที่ชื่นชอบจำนวนหนึ่ง เพื่อหาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องใน คู่มือพระคัมภีร์ หรือเพลงสวดที่เกี่ยวข้องใน หนังสือเพลงสวด แล้วแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ เหตุใดหลักธรรมเหล่านี้จึงสำคัญต่อพระเจ้า?

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ความรัก แบบอย่าง และประจักษ์พยาน

หลังจากสนทนาคำเตือนของโยนาห์ที่เตือนชาวนีนะเวห์ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์เล่าประสบการณ์ที่คุณแม่ของท่านเตือนท่าน:

“ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าครั้งหนึ่งคุณแม่พูดกับข้าพเจ้าอย่างนุ่มนวลในบ่ายวันเสาร์เมื่อ ข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นเป็นเด็กชายตัวน้อยขออนุญาตท่านที่จะทำบางอย่างที่คิดว่าสมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิงแต่คุณแม่รู้ว่าอันตราย ข้าพเจ้ายังทึ่งไม่หายถึงพลังอำนาจที่คุณแม่ได้รับ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่ามาจากพระเจ้า และทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนใจได้ด้วยคำพูดเพียงสองสามคำ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ท่านพูดว่า ‘โอ แม่คิดว่าลูก อาจ ทำอย่างนั้นได้ แต่ การเลือก เป็นของลูก’ การเตือนนั้นเป็นเพียงการที่คุณแม่เน้นคำว่า อาจ และ การเลือก แต่ก็เพียงพอสำหรับข้าพเจ้า

“พลังอำนาจที่คุณแม่เตือนด้วยคำสองสามคำงอกงามมาจากสามสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้เกี่ยวกับท่าน สิ่งแรก ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านรักข้าพเจ้า สอง ข้าพเจ้ารู้ว่าคุณแม่ทำมาแล้วในสิ่งที่ท่านต้องการให้ข้าพเจ้าทำและได้รับพรจากการกระทำนั้น และสาม เธอได้ถ่ายทอดประจักษ์พยานอันมั่นคงแก่ข้าพเจ้าว่าการเลือกที่ข้าพเจ้าจะทำนั้นสำคัญมากจนพระเจ้าจะตรัสบอกข้าพเจ้าว่าจะทำอย่างไรหากข้าพเจ้าทูลถามพระองค์ ความรัก แบบอย่าง และประจักษ์พยาน: คือสิ่งสำคัญในวันนั้น” (“A Voice of Warning,” Ensign, Nov. 1998,32)

ปรับปรุงการสอนของเรา

เตรียมตัวเอง การสอนพระกิตติคุณอันทรงพลังเริ่มที่การเตรียมตัวเราเอง ก่อนเตรียมบทเรียน ท่านควรจดจ่อกับการเติมเต็มใจท่านด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการศึกษาค้นคว้าอย่างมีความหมายและสวดอ้อนวอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)

พิมพ์