เซมินารี
บทที่ 28: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–16: “ปีติของเจ้าจะใหญ่หลวงสักเพียงใด”


“หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–16: ‘ปีติของเจ้าจะใหญ่หลวงสักเพียงใด’” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–16” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 28: หลักคำสอนและพันธสัญญา 18

หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–16

“ปีติของเจ้าจะใหญ่หลวงสักเพียงใด”

เยาวชนชายกำลังแบ่งปันพระกิตติคุณ

ขณะที่พระเจ้าทรงยังคงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับศาสนจักร พระองค์ตรัสกับโจเซฟ สมิธ, ออลิเวอร์ คาวเดอรี และเดวิด วิตเมอร์เกี่ยวกับปีติที่มาจากการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์ บทเรียนนี้ช่วยเพิ่มความปรารถนาของนักเรียนในการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดกับผู้อื่น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

มีอะไรบ้างที่นำมาซึ่งปีติ?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานเป็นคู่เป็นเวลาหนึ่งถึงสองนาที โดยระบุทุกสิ่งที่จะนำมาซึ่งปีติตามที่นึกออก หรือจัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และแจกปากกาไวท์บอร์ดให้แต่ละกลุ่มโดยที่สีไม่ซ้ำกัน อาจให้แต่ละคนในกลุ่มผลัดกันเขียนบางอย่างที่นำมาซึ่งปีติบนกระดานเป็นเวลาหนึ่งถึงสองนาที

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันรายการที่เขียน พร้อมเหตุผลที่สิ่งนั้นทำให้พวกเขามีปีติ

พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เรามีปีติ (ดู 2 นีไฟ 2:25) ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18 พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศเกี่ยวกับสิ่งที่นำมาซึ่งปีติ และทรงอธิบายว่าเราจะประสบปีติเช่นนั้นได้อย่างไร

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าปัจจุบันพวกเขามีปีติในชีวิตมากน้อยเพียงใด และเหตุใดจึงต้องการมีปีติมากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขามองหาคำสอนขณะศึกษาวันนี้ว่าพวกเขาจะประสบปีติมากขึ้นในชีวิตอย่างไร

ปีติของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดอาจตรัสหากพวกเขาถามพระองค์ว่ามีอะไรบ้างที่นำมาซึ่งปีติสำหรับพระองค์

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:11–13 โดยมองหาสิ่งที่นำปีติอันใหญ่หลวงมาสู่พระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามสองข้อถัดไปก่อนตอบ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษาก่อนขอให้พวกเขาแบ่งปัน และอาจเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่จะอ่าน ลูกา 15:1–10 ก่อนถามคำถาม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงมีปีติอันใหญ่หลวงเมื่อเรากลับใจ?

  • การรู้เรื่องนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจะมีผลต่อการกระทำและความปรารถนาของท่านอย่างไร?

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15–16 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:14–16 แล้วทำเครื่องหมายวลีที่แสดงถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้เรา

  • ข้อเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาที่พระองค์ทรงมีต่อเราอย่างไร?

หากจำเป็น ให้อธิบายว่าความจริงข้อหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้คือ พระเยซูคริสต์ทรงประสงค์ให้เรามีปีติที่มาจากการนำผู้อื่นมาหาพระองค์ ท่านอาจเขียนความจริงนี้บนกระดาน

เอ็ลเดอร์มาร์คัส บี. แนช แห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวถึงปีติที่มาจากการแบ่งปันพระกิตติคุณ:

10:28
เอ็ลเดอร์มาร์คัส บี. แนช

เมื่อบุคคลหนึ่งเรียนรู้จุดประสงค์อันงดงามของชีวิต เข้าใจว่าพระคริสต์ทรงให้อภัยและทรงช่วยเหลือผู้ติดตามพระองค์ จากนั้นเลือกติดตามพระคริสต์ไปสู่น้ำบัพติศมา ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น—แม้เมื่อสภาวการณ์ภายนอกของชีวิตไม่เป็นเช่นนั้น

สตรีสดใสคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบที่โอนิตชา ไนจีเรีย บอกข้าพเจ้าว่านับตั้งแต่เธอเรียนรู้พระกิตติคุณและรับบัพติศมา (และข้าพเจ้าขอใช้คำพูดของเธอ) “ทุกอย่างในชีวิตดีไปหมด ดิฉันมีความสุข เหมือนอยู่ในสวรรค์” การแบ่งปันพระกิตติคุณจุดประกายปีติและความหวังในจิตวิญญาณของทั้งผู้ให้และผู้รับ แท้จริงแล้ว “ปีติของท่านจะใหญ่หลวงเพียงใด” เมื่อท่านแบ่งปันพระกิตติคุณ! การแบ่งปันพระกิตติคุณเป็นปีติมาเติมปีติ ความหวังมาเติมความหวัง (มาร์คัส บี. แนช, “ชูแสงสว่างของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 71)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการแนะนำให้ผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์จึงนำมาซึ่งปีติได้อย่างมาก?

  • ท่านเคยมี (หรือทราบถึง) ประสบการณ์อะไรบ้างที่เห็นปีติของการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น?

เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามก่อนหน้านี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นหาตัวอย่างจากพระคัมภีร์ ท่านอาจให้พวกเขาอ่านถ้อยคำของแอมัน (ใน แอลมา 26:1–16) และแอลมา (ใน แอลมา 29:9–17) ท่านอาจฉาย “เชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์: การแบ่งปันพระกิตติคุณ” (4:30) มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org

เอาชนะอุปสรรค

อธิบายว่าแม้สัญญาเหล่านี้จากพระเจ้าจะช่วยกระตุ้นให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์ แต่บางครั้งมีอุปสรรคหรือข้อกังวลต่างๆ ที่อาจทำให้เราไม่สามารถแบ่งปัน เชื้อเชิญให้นักเรียนตั้งชื่ออุปสรรคบางอย่างและเขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้ โดยจินตนาการว่าพวกเขารู้จักใครบางคน (หรือนึกถึงคนที่พวกเขารู้จัก) ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านั้น

เขียนสิ่งที่ท่านอาจแบ่งปันกับบุคคลที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเขียนดังนี้:

  1. สิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่อาจเพิ่มความปรารถนาของท่านในการพาผู้อื่นมาหาพระองค์ (และพระคัมภีร์ที่เป็นพยานถึงสิ่งที่ท่านรู้ หากเป็นไปได้)

  2. การเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดนำมาซึ่งปีติแก่ท่านอย่างไร และเหตุใดท่านจึงต้องการให้ผู้อื่นได้รับพรนั้นเช่นกัน

  3. ประสบการณ์การนำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์ที่ท่านหรือคนอื่นที่ท่านรู้จักเคยมี และประสบการณ์เหล่านั้นนำมาซึ่งปีติอย่างไร

หลังจากให้เวลานักเรียนเขียนคำตอบพอสมควรแล้ว ให้โอกาสพวกเขาในการแบ่งปันสิ่งที่เขียน วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ เชื้อเชิญให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนมาแสดงบทบาทสมมติเป็นคนที่มีความกังวลเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ นักเรียนคนอื่นๆ อาจแบ่งปันสิ่งที่คิดว่าอาจช่วยได้

หลังจากพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนทำดังนี้:

ใช้เวลาทบทวนสิ่งที่เรียนรู้และรู้สึกจากบทเรียนนี้ เขียนความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ และพยายามพาผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ แล้วเขียนทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องการจดจำเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

ท่านอาจปิดท้ายด้วยการเชื้อเชิญให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้หรือต้องการจดจำ เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนากันในวันนี้

ท่องจำ

ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนและวลีสำคัญในพระคัมภีร์ระหว่างบทเรียนนี้ และทบทวนในบทเรียนต่อไป วลีสำคัญในพระคัมภีร์จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15–16 คือ “ปีติของเจ้าจะใหญ่หลวงสักเพียงใดหากเจ้าจะนำจิตวิญญาณมากมายมาหาเรา!” แนวคิดสำหรับกิจกรรมการท่องจำอยู่ในเอกสารภาคผนวกใต้ “กิจกรรมทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน”