“หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ส่วนที่ 1: ‘เอ็มมา สมิธ, ธิดาของเรา’” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี, (2025)
“หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ส่วนที่ 1” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี
บทที่ 39: หลักคำสอนและพันธสัญญา 23–26
หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 ส่วนที่ 1
“เอ็มมา สมิธ, ธิดาของเรา”
ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำเอ็มมา สมิธว่าจะทำพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของเธอให้เกิดสัมฤทธิผลเหมือนพระองค์ได้อย่างไร บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีที่จะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้
“เจ้าเป็นสตรีที่เราเลือกไว้, ผู้ที่เราเรียก”
จินตนาการว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรที่ได้ประสบเหตุการณ์เหล่านี้จากชีวิตของเอ็มมา สมิธ (เรื่องราวเหล่านี้อยู่ใน วิสุทธิชน, เล่ม 1, มาตรฐานแห่งความจริง, 1815–1846 [2018], 37–38, 46, 52, 94–96)
-
เอ็มมารออยู่ที่รถม้าด้านล่างของเนินเขาคาโมราห์ขณะโจเซฟได้รับคำแนะนำสุดท้ายและแผ่นจารึกทองคำจากโมโรไน
-
เอ็มมารับใช้เป็นผู้จดคำแปลพระคัมภีร์มอรมอนคนแรกของโจเซฟและต่อมาหน้าต้นฉบับเหล่านั้นหายไป
-
ลูกคนแรกของเอ็มมาและโจเซฟมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง และเอ็มมาป่วยจนเกือบเสียชีวิต
-
เอ็มมาเข้าไปสู่ผืนน้ำแห่งบัพติศมาภายใต้การคุกคามจากกลุ่มคนร้าย เย็นวันนั้นโจเซฟถูกจับในข้อหาเท็จ ทำให้การยืนยันของเอ็มมาล่าช้า
ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 24 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่าโจเซฟ สมิธจะ “อุทิศการรับใช้ทั้งหมด [ของท่าน] ในไซอัน” (ข้อ 7) การเปิดเผยนี้สร้างความไม่แน่นอนให้กับชีวิตของเอ็มมา สมิธ เพราะเป็นการบอกเป็นนัยว่าโจเซฟจะไม่มีเวลามากนักในการหาเลี้ยงชีพและหาเลี้ยงครอบครัวในทางโลก (ดู วิสุทธิชน, 1:96) พระเจ้าทรงเปิดเผย หลักคำสอนและพันธสัญญา 25 เมื่อรู้ถึงความปรารถนาของเอ็มมาที่จะได้รับการนำทาง คำแนะนำนี้จากพระผู้ช่วยให้รอดสามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:16)
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:1–3 โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเอ็มมา
-
เอ็มมาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับพระเจ้า?
-
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงสิ่งต้องทำเพื่อเป็นบุตรหรือธิดาในอาณาจักรของพระองค์ว่าอย่างไร?
-
ท่านคิดว่าการได้รับคำแนะนำนี้อาจมีความหมายต่อเอ็มมาอย่างไร?
-
การได้รับพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านรู้สึกใกล้ชิดพระองค์ในฐานะธิดาหรือบุตรของพระองค์อย่างไร?
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4–9 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้เอ็มมาทำ
-
ท่านค้นพบอะไรบ้าง?
-
การขยายการเรียกอย่างซื่อสัตย์จะช่วยให้เอ็มมาเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร?
การประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอด
“อย่าพร่ำบ่น” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:4)
จากชีวิตของเอ็มมา สมิธ
โจเซฟ สมิธได้รับนิมิตจากสวรรค์ ได้รับการมาเยือนจากสวรรค์ และขั้นตอนการแปลพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์ไบเบิล และข้อความศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เอ็มมา สมิธเสียสละชีวิตของเธอกับโจเซฟเป็นอย่างมาก แต่มีบางสิ่งที่ท่านเห็นแต่เธอไม่เห็น
จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด
แบ่งปันช่วงเวลาจากพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะพร่ำบ่น (ตัวอย่างเช่น ดู อิสยาห์ 53:7; มัทธิว 27:12)
การละเว้นจากการพร่ำบ่นอาจช่วยให้เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาไม่ให้เราพร่ำบ่นเกี่ยวกับสิ่งที่เราอาจยังไม่เข้าใจ?
-
บางคนที่ไม่เข้าใจพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระเจ้าจะกระทำด้วยศรัทธาได้อย่างไร?
“เป็นการปลอบโยน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:5)
จากชีวิตของเอ็มมา สมิธ
แม้ว่าชีวิตของเอ็มมากับโจเซฟมักจะยากลำบาก แต่เธอรักและสนับสนุนท่านตลอดทุกการทดลอง ในปี 1835 ฝูงชนที่โกรธแค้นโจมตีบ้านที่โจเซฟกับเอ็มมาพักอาศัยอยู่ และลากโจเซฟเข้าไปในความมืด โจเซฟกลับบ้านในคืนนั้น ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกทุบตีอย่างทารุณ ราดด้วยน้ำมันดิน แล้วโปรยขนนก เอ็มมาใช้เวลาทั้งคืนลอกและขูดน้ำมันดินออกจากร่างกายของโจเซฟ ทารกฝาแฝดคนหนึ่งของโจเซฟกับเอ็มมาเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยหลังจากคืนอันเลวร้ายนั้น (ดู วิสุทธิชน, 1:150–153)
จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด
นึกถึงเวลาที่พระเยซูคริสต์ทรงปลอบโยนคนรอบข้างพระองค์ (ตัวอย่างเช่น ดู มัทธิว 9:20–22; ยอห์น 14:18, 27; 3 นีไฟ 17:5–7)
เราจะปลอบโยนผู้อื่นและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
-
แบ่งปันสิ่งที่บางคนทำเพื่อปลอบโยนท่านในยามยากลำบาก
-
ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านอาจทำได้เพื่อเป็นการปลอบโยนเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว ท่านจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?
-
เขียนบันทึกหรือข้อความที่อาจยกระดับวิญญาณของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน และช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด
“อรรถาธิบายพระคัมภีร์และ … แนะนำศาสนจักร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 25:7)
จากชีวิตของเอ็มมา สมิธ
ในปี 1842 เอ็มมาได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสมาคมสงเคราะห์คนแรก ความเป็นผู้นำของเอ็มมามีความสำคัญต่อการจัดตั้งรูปแบบองค์กร เอ็มมาแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจทางวิญญาณโดยการให้กำลังใจและสอนวิสุทธิชน เอ็มมาเชื้อเชิญให้สตรีในสมาคมสงเคราะห์มีจิตกุศล บรรเทาทุกข์ด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดา เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กันและกัน กลับใจ และให้อภัย (ดู วิสุทธิชน, 1:448–451)
จากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด
แบ่งปันตัวอย่างเรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายพระคัมภีร์หรือทรงสอนผู้ที่ติดตามพระองค์ (ตัวอย่างเช่น ดู มัทธิว 5:21–25; 3 นีไฟ 23:1–3; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:19)
ฝึกอธิบายพระคัมภีร์
-
เลือกข้อพระคัมภีร์ที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมต่อระหว่างท่านกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น
-
แบ่งปันสิ่งที่ท่านเลือกและอธิบายว่าสิ่งนั้นมีความหมายต่อท่านอย่างไร
-
สนทนาว่าความเข้าใจและการสอนพระคัมภีร์จะช่วยให้เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร