เซมินารี
บทที่ 61—หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6: “เจ้าจะไม่ขับพวกเขาออกไป”


“บทที่ 61—หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6: ‘เจ้าจะไม่ขับพวกเขาออกไป’” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 61: หลักคำสอนและพันธสัญญา 46–48

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6

“เจ้าจะไม่ขับพวกเขาออกไป”

ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน

ในปี 1831 เนื่องจากมีการข่มเหงและการก่อกวน วิสุทธิชนบางคนเริ่มใช้แนวปฏิบัติในการอนุญาตให้เฉพาะสมาชิกศาสนจักรเข้าร่วมการประชุมนมัสการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทางและรับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46 ในการเปิดเผยนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้สมาชิกศาสนจักรต้อนรับทุกคนที่ “กำลังมุ่งแสวงหาอาณาจักรอย่างตั้งใจจริง (หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:5) เข้าร่วมพิธีนมัสการ บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนปรับปรุงความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นในการประชุมศาสนจักร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ยินดีต้อนรับทุกคน

ท่านอาจให้ดูภาพอาคารศาสนจักรในท้องที่พร้อมป้ายที่มีคำว่า “ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน” ท่านอาจให้ดูคำเหล่านี้บนกระดานด้วย วีดิทัศน์ “ยินดีต้อนรับ” (1:05) อาจเป็นประโยชน์และเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการสนทนาวันนี้

1:17

พิจารณาว่าเหตุใดท่านจึงคิดว่าป้ายนี้มักพบในอาคารประชุมของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

  • ความรู้สึกถึงการต้อนรับที่โบสถ์ส่งผลต่อประสบการณ์การนมัสการของคนๆ หนึ่งอย่างไร?

    ท่านอาจแสดงคำถามต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนให้คะแนนตนเองในใจในระดับ 1 (ไม่เคย) ถึง 5 (ตลอดเวลา) พวกเขาอาจบันทึกคำตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ท่านรู้สึกถึงการต้อนรับมากน้อยเพียงใดในวอร์ด สาขา หรือชั้นเรียนเซมินารี?

  • ท่านพยายามทำความรู้จักกับผู้อื่นให้มากขึ้นที่โบสถ์บ่อยเพียงใด?

  • ท่านรู้สึกว่าเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ในละแวกจะรู้สึกถึงการต้อนรับในพิธีนมัสการที่โบสถ์หรือไม่?

ขณะศึกษาในวันนี้ ให้มองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ท่านอาจใช้เพื่อช่วยให้ท่านและผู้อื่นรู้สึกถึงการต้อนรับที่โบสถ์

คำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับการต้อนรับผู้อื่น

แบ่งปันบทสรุปต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของข้อพระคัมภีร์ที่จะศึกษาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46

ในปี 1831 มีข้อกังวลว่าสมาชิกบางคนในศาสนจักรปฏิเสธที่จะให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้าร่วมการประชุมนมัสการของศาสนจักร การปฏิบัตินี้เกิดขึ้นเนื่องจากศัตรูของศาสนจักรขัดขวางพิธีนมัสการ หลังจากโจเซฟ สมิธ สวดอ้อนวอนทูลขอการนำทาง พระเจ้าทรงเปิดเผยคำสอนสำคัญเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนพึงปฏิบัติในการประชุม

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:1–6 โดยมองหาคำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่นในการประชุมที่โบสถ์?

    นักเรียนอาจระบุความจริงที่คล้ายกันนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้เราต้อนรับทุกคนเข้าสู่การประชุมที่โบสถ์

    อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 18:22–25 เพื่อเน้นความสำคัญของความจริงนี้ ท่านอาจให้นักเรียนอ่านย่อหน้าใต้หัวข้อ “ปฏิบัติต่อทุกคนดังลูกคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า” ในหมวด “รักพระผู้เป็นเจ้า รักเพื่อนบ้านของท่าน” ของ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก ([2022], 12)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการต้อนรับผู้อื่นจึงสำคัญยิ่งต่อพระผู้ช่วยให้รอดในศาสนจักรของพระองค์?

  • ในยุคสมัยของเรามีความท้าทายอะไรบ้างที่อาจทำให้บางคนรู้สึกถึงการต้อนรับในการประชุมที่โบสถ์ได้ยาก?

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างที่ช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงการต้อนรับในการประชุมที่โบสถ์?

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเกี่ยวกับคำถามก่อนหน้านี้ ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “เชื้อเชิญให้ผู้อื่น ‘มาอยู่’” (1:39) ที่ ChurchofJesusChrist.org

1:39

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของการต้อนรับทุกคน

ยินดีต้อนรับทุกคน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมในการเชื้อเชิญและต้อนรับทุกคน ค้นหาตัวอย่างอย่างน้อยหนึ่งข้อจากพระคัมภีร์ที่พระเยซูทรงต้อนรับและทรงรักทุกคน

หากนักเรียนต้องการการชี้แนะเพิ่มเติม ท่านอาจพูดถึงข้อพระคัมภีร์ เช่น มัทธิว 9:9–13; 19:13–15; ลูกา 19:1–10; หรือ 3 นีไฟ 11:12–15 ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบและพูดคุยถึงคำตอบของคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษา โดยมีแนวคิดว่าพวกเขาอาจทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร

ไอคอนการอบรม เน้นแบบอย่างของพระเยซูคริสต์: หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เชื้อเชิญให้นักเรียนดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้อย่างไรโดยดูการอบรมในหัวข้อ “เน้นแบบอย่างของพระเยซูคริสต์” ใน ทักษะการพัฒนาครู: มุ่งเน้นที่พระเยซูคริสต์

ท่านอาจใช้คำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึก

  • ขณะศึกษาแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ความรักของพระองค์สร้างความแตกต่างให้กับผู้คนที่พระองค์ทรงมีปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างไร?

  • จากสิ่งที่ท่านศึกษา มีสิ่งใดบ้างที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งท่านอาจพยายามเลียนแบบในชีวิตของท่านเอง?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงและแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เห็นข้อดีมาจากการช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกเป็นที่ต้อนรับในการประชุมที่โบสถ์ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองด้วยก็ได้

การประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

วางแผนที่จะประยุกต์ใช้พระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยให้ทุกคนรู้สึกถึงการต้อนรับในการประชุมที่โบสถ์ บันทึกแผนของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา พิจารณาคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยในแผนของท่าน:

  • มีวิธีใดบ้างที่ท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดจากที่ท่านศึกษาในวันนี้?

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตัวท่านเองรู้สึกถึงการต้อนรับมากขึ้นในการประชุมที่โบสถ์?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนพยายามเต็มที่ที่จะทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาอาจมีและแผนที่วางไว้ในวันนี้ กระตุ้นให้นักเรียนพยายามคำนึงถึงความต้องการของคนรอบข้าง อาจเป็นการเหมาะสมที่จะเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์การต้อนรับผู้อื่นกับชั้นเรียนในบทเรียนถัดไป