เซมินารี
บทเรียนที่ 125—หลักคําสอนและพันธสัญญา 111: “เราจะสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า”


“บทเรียนที่ 125—หลักคําสอนและพันธสัญญา 111: ‘เราจะสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า’” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 111” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียนที่ 125: หลักคําสอนและพันธสัญญา 111–114

หลักคําสอนและพันธสัญญา 111

“เราจะสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า”

เซเล็ม, รัฐแมสซาชูเซตส์

ในปี 1836 ศาสนจักรมีหนี้สินมากมาย ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเดินทางไปเมืองเซเล็ม รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ซึ่งพวกท่านหวังว่าจะได้เงินมาชำระหนี้ของศาสนจักร ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1836 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 111 ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าทรงให้ความมั่นใจกับเขาเกี่ยวกับหนี้สินของศาสนจักรและความเป็นอยู่ของไซอัน บทนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

สถานการณ์จะออกมาเป็นอย่างไร?

เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความท้าทายที่วัยรุ่นทั่วไปเผชิญซึ่งอาจทําให้พวกเขารู้สึกท้อแท้หรือกลัวว่าสิ่งต่างๆ จะไม่ดีขึ้น จากนั้นท่านอาจวาดระดับคะแนนดังต่อไปนี้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนใช้ระดับคะแนนตอบคําถามด้านล่าง

ระดับคะแนน 1 ถึง 5
  • ท่านคิดว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มั่นใจเพียงใดว่าสถานการณ์จะออกมาดีสําหรับพวกเขา?

ไตร่ตรองว่าท่านจะประเมินตนเองตามระดับคะแนนนี้อย่างไรเกี่ยวกับปัญหาหรือความท้าทายที่ท่านกําลังเผชิญอยู่หรืออาจเผชิญในอนาคต

ช่วงเวลาที่ยากลําบากสําหรับโจเซฟและคนอื่นๆ

ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งให้อ่านภูมิหลังตามบริบทต่อไปนี้ หรือท่านอาจสรุปด้วยคําพูดของท่านเอง หรือท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน บทที่ 22 ของ วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย, เล่ม 1, มาตรฐานแห่งความจริง, 1815–1846 ([2018], 258–259) หรือท่านอาจเปิดไฟล์เสียงของบทนั้น (สามารถดูได้ที่ saints.ChurchofJesusChrist.org) ตั้งแต่รหัสเวลา 16:14 ถึง 17:00 ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราเผชิญความท้าทายในชีวิตที่อาจทําให้ท้อใจ โจเซฟ สมิธและผู้นําศาสนจักรคนอื่นๆ เผชิญความท้าทายในปี 1836 ซึ่งทําให้พวกเขากังวลมากเกี่ยวกับอนาคตของไซอัน

แผนที่ของสหรัฐตะวันออก

ราวๆ ปี 1836 ศาสนจักรมีหนี้ก้อนใหญ่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์และการซื้อที่ดินในโอไฮโอและมิสซูรี ขณะเดียวกันวิสุทธิชนในเทศมณฑลเคลย์ มิสซูรีถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในปลายเดือนกรกฎาคมปี 1836 ความกังวลเหล่านี้ทําให้โจเซฟกับไฮรัม สมิธ, ออลิเวอร์ คาวเดอรี และซิดนีย์ ริกดันเดินทางมากกว่า 600 ไมล์ (965 กิโลเมตร) จากเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอไปยังเซเล็ม แมสซาชูเซตส์ แม้เหตุผลในการเดินทางของพวกเขาจะไม่แน่นอน แต่พวกเขาทําตามข้อมูลที่คิดว่าจะช่วยบรรเทาหนี้ของศาสนจักรได้ เรื่องราวหนึ่งระบุว่าสมาชิกศาสนจักรบอกโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับบ้านหลังหนึ่งในเซเล็มซึ่งซ่อนเงินไว้จํานวนมาก (ดู historical introduction to “Revelation, 6 August 1836 [D&C 111]” 35, josephsmithpapers.org)

  • ท่านคิดว่าโจเซฟ สมิธมั่นใจเพียงใดว่าปัญหาที่ศาสนจักรกําลังเผชิญอยู่จะเป็นไปได้ด้วยดี?

ขณะนักเรียนศึกษา หลักคําสอนและพันธสัญญา 111 เชื้อเชิญให้พวกเขาแสวงหาการเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะทรงช่วยเราเพิ่มความเชื่อมั่นว่าปัญหาและความท้าทายของเราเกิดขึ้นเพื่อความดีของเรา

“ถึงแม้จะเป็นความเบาปัญญาของเจ้าก็ตาม”

ท่านอาจเขียนกลุ่มของข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน วิธีหนึ่งที่จะศึกษาข้อเหล่านี้คืออ่านกลุ่มแรก แล้วเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคําตอบของคําถามสองข้อลงในกระดาษแผ่นหนึ่งแล้วส่งต่อให้เพื่อนร่วมชั้นอีกคนหนึ่ง สนทนาสิ่งที่นักเรียนเขียน ทํากิจกรรมนี้ซํ้ากับกลุ่มข้อพระคัมภีร์อีกสองกลุ่มที่เหลือ การทําเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากําลังเรียนรู้และได้รับการสอนจากเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา

หากจําเป็น ให้อธิบายว่าความเบาปัญญาคือความผิดพลาดหรือข้อผิดพลาดในการตัดสิน

ไอคอนการอบรมจดจ่ออยู่กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์: ดูการฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมในเรื่องนี้ที่การอบรม “สอนเกี่ยวกับพระสมญานาม บทบาท และพระคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์” ใน ทักษะการพัฒนาครู: มุ่งเน้นที่พระเยซูคริสต์ ท่านอาจฝึกทักษะ “ตั้งคําถามชวนค้นหาเพื่อช่วยนักเรียนระบุบทบาท พระสมญานาม สัญลักษณ์ พระคุณลักษณะ และพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์” หลังจากทบทวนการอบรมแล้ว ท่านอาจต้องการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มคําถามที่ท่านถามนักเรียนเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้

อ่านกลุ่มข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ และสําหรับแต่ละกลุ่ม ให้ตอบคําถามสองข้อต่อไปนี้:

  • ท่านมีคําถามอะไรบ้างเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?

ในคําตอบของคําถามข้อสอง นักเรียนอาจกล่าวถึงความจริงหรือพระคุณลักษณะหลายประการของพระผู้เป็นเจ้า สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงความจริงดังต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาต่อความเบาปัญญาของเรา (ดู ข้อ 1); พระผู้เป็นเจ้าทรงสื่อสารกับเราผ่านสันติสุขและเดชานุภาพของพระวิญญาณของพระองค์ (ดู ข้อ 8); พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเรา (ดู ข้อ 11)

  • ความจริงที่ท่านระบุอาจช่วยโจเซฟ สมิธรับมือกับความท้าทายและข้อกังวลที่เขามีอย่างไร?

  • สิ่งเหล่านั้นอาจช่วยท่านได้อย่างไร?

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเรา

ทําตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณว่าความจริงใดจะเป็นประโยชน์สําหรับนักเรียนที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ส่วนที่เหลือของบทเรียนนี้จะเน้นย้ำความจริงที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเรา ท่านอาจเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนทําเครื่องหมายคําใน ข้อ 11 ที่สอนความจริงนั้น

หากจําเป็น ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคําว่า สั่ง ในข้อพระคัมภีร์นี้หมายถึง “จัดเตรียม” ท่านอาจพูดถึงระดับคะแนนบนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขามั่นใจเพียงใดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถจัดเตรียม “สิ่งทั้งปวง” เพื่อประโยชน์ของพวกเขา

ท่านอาจสนทนากับนักเรียนว่าหากพวกเขาต้องการเชื่อความจริงนี้มากขึ้น พวกเขาจะสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือเพื่อให้ความเข้าใจและความเชื่อของพวกเขาลึกซึ้งขึ้นในพระคุณลักษณะนี้ของพระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 เราต้องทําอะไรบ้างเพื่อที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงจัดเตรียมสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเรา?

หากจําเป็น ให้อธิบายว่าการ “ฉลาดดังงู ทว่าปราศจากบาป” (ข้อ 11) หมายถึงแนวคิดที่ว่าสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดควรผสมผสานปัญญากับความใสซื่อและความบริสุทธิ์

สําหรับกิจกรรมต่อไปนี้ ท่านอาจจัดนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละสามคน ขอให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มอ่านข้อความที่แตกต่างกันด้านล่าง หลังจากนักเรียนอ่านและสนทนาแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขามาที่กระดานและเขียนบางสิ่งที่พวกเขาพบ พวกเขาอาจเขียนไว้รอบๆ ความจริงบนกระดาน โดยมีลูกศรชี้ไปที่ความจริง

ศึกษาข้อต่อไปนี้ โดยมองหาสิ่งที่เราต้องทําเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเรา ท่านอาจเชื่อมโยงข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้กับ หลักคําสอนและพันธสัญญา 111:11

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านคํากล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์แล้วเพิ่มสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ลงในรายการบนกระดาน:

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) เป็นพยานว่า:

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ทุกอย่างจบลงด้วยดี อย่าวิตก ข้าพเจ้าพูดกับตนเองแบบนี้ทุกเช้า ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ถ้าท่านทำดีที่สุด ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี จงวางใจในพระผู้เป็นเจ้า ก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธาและด้วยความมั่นใจในอนาคต พระเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งเรา พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเรา (“Latter-day Counsel: Excerpts from Addresses of President Gordon B. HinckleyEnsign, Oct. 2000, 73)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสอนกันเองเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเขียนบนกระดาน พวกเขาอาจอธิบายว่าเหตุใดสิ่งนั้นจึงมีความหมายต่อพวกเขา คําถามบางข้อต่อไปนี้จะยกระดับการสนทนาได้:

  • ท่านพบอะไรที่สามารถเสริมสร้างความเชื่อมั่นของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของท่าน?

  • การมีมุมมองนิรันดร์ช่วยให้ท่านวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของท่านได้อย่างไร?

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งดีๆ ในชีวิตท่านหรือชีวิตคนที่ท่านรู้จักเมื่อใดหรืออย่างไร?

กิจกรรมต่อไปนี้ให้เวลานักเรียนพิจารณาว่าสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึกวันนี้จะมีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาและความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร หลังจากนักเรียนเขียนบันทึกการศึกษาเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันกับชั้นเรียน

ทํากิจกรรมต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่างลงในสมุดบันทึก:

  • ความเชื่อมั่นของฉันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของฉันเข้มแข็งขึ้นในวันนี้โดย …
    สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้วันนี้สามารถช่วยฉันแก้ปัญหาที่ฉันกําลังเผชิญโดย …
    เมื่อฉันเผชิญความยากลําบากในอนาคต ฉันต้องการจดจําว่า …