เซมินารี
บทเรียนที่ 160—ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ส่วนที่ 3: ความสุขในชีวิตครอบครัว


“บทเรียนที่ 160—ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ส่วนที่ 3: ความสุขในชีวิตครอบครัว” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ส่วนที่ 3” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทเรียนที่ 160: “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”

ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ส่วนที่ 3

ความสุขในชีวิตครอบครัว

ครอบครัวเเสนสุข

เหตุผลหนึ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งเรามายังโลกในครอบครัวคือช่วยให้เราได้รับความสุข ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว พระเจ้าทรงเปิดเผยวิธีที่เราจะได้รับสันติสุขและความสุขทั้งส่วนตัวและเป็นครอบครัว บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้คําสอนของพระเยซูคริสต์ในความสัมพันธ์ของครอบครัวพวกเขา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทําได้

เหตุและผล

ท่านอาจเขียนประโยคเหตุและผลที่ยังไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน เติมช่องว่างช่องแรกด้วยวลี เช่น “ได้เกรดดี” จากนั้นให้นักเรียนเติมวลีในช่องว่างช่องที่สองเพื่อเติมประโยคให้สมบูรณ์ เช่น “เราทําการบ้าน” ท่านอาจทําขั้นตอนนี้ซํ้าสองสามครั้งโดยใช้วลีที่แตกต่างกัน

มักจะสําเร็จได้เมื่อ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ย่อหน้าที่ 7 ของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวโดยมองหาวิธีเติมวลีบนกระดานให้สมบูรณ์ ช่วยนักเรียนรับรู้ความจริงต่อไปนี้: ความสุขในชีวิตครอบครัวมักจะสําเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคําสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เพื่อช่วยให้นักเรียนตรึกตรองว่าการดําเนินชีวิตตามคําสอนของพระคริสต์จะนําไปสู่ความสุขในชีวิตครอบครัวอย่างไร ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคําถามทํานองนี้:

  • ท่านคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงเพิ่มความสุขให้ครอบครัวท่านอย่างไร?

  • ความพยายามของท่านในการดําเนินชีวิตตามคําสอนของทั้งสองพระองค์มีส่วนทําให้เกิดความสุขนั้นอย่างไร?

แจ้งให้นักเรียนทราบว่าในตอนท้ายของบทเรียนนี้ ท่านจะเชื้อเชิญพวกเขาให้ปฏิบัติตามคําสอนหนึ่งอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่อาจเพิ่มความสุขของครอบครัวพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนแสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ในระหว่างบทเรียนที่เหลือเพื่อรู้ว่าหลักธรรมใดที่พวกเขาควรมุ่งเน้น กระตุ้นให้นักเรียนใส่ใจกับความคิดหรือความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

คําสอนของพระเยซูคริสต์

ท่านอาจติดภาพของพระเยซูคริสต์ไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนอ่าน ย่อหน้าที่ 7 อีกครั้ง คราวนี้ให้ทําเครื่องหมายคําสอนแต่ละอย่างที่สามารถเพิ่มความสุขในครอบครัว เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พบบนกระดานรอบๆ ภาพพระเยซูคริสต์ จากนั้นให้นักเรียนจัดกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นคู่เพื่อทํากิจกรรมต่อไปนี้:

  1. เลือกคําสอนหนึ่งอย่างของพระเยซูคริสต์ที่ท่านพบใน ย่อหน้าที่ 7

  2. ค้นหาพระคัมภีร์หรือคํากล่าวจากผู้นําศาสนจักรที่ช่วยให้เราเข้าใจคําสอนนั้นมากขึ้น

  3. อธิบายว่าการทําตามคําสอนนั้นจะเพิ่มความสุขในครอบครัวได้อย่างไร

    หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ ท่านสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขาใช้คู่มือพระคัมภีร์หรือค้นหาในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ต่อไปนี้เป็นพระคัมภีร์บางข้อที่นักเรียนอาจพบเกี่ยวข้องกับคําสอนจาก ย่อหน้า 7: 3 นีไฟ 18:15–16, 21 (การสวดอ้อนวอน); โมโรไน 7:45–48 (ความรัก); หลักคําสอนและพันธสัญญา 58:42–43 (การกลับใจ); หลักคําสอนและพันธสัญญา 64:9–11 (การให้อภัย)

    หากทําได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า “ความสุขในชีวิตครอบครัว” ที่ ChurchofJesusChrist.org เพื่อหาคําสอนจากผู้นําศาสนจักรเกี่ยวกับหลักธรรมใน ย่อหน้าที่ 7

    หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน ขณะที่กลุ่มแบ่งปัน ขอให้พวกเขาเขียนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์หรือคํากล่าวส่วนหนึ่งของผู้นําศาสนจักรที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจคําสอนของพระเยซูคริสต์ไว้บนกระดาน

    จากนั้นท่านอาจใช้คําถามดังต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองและสนทนาว่าคําสอนของพระเยซูคริสต์จะส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร

    • คําสอนใดของพระคริสต์บนกระดานส่งผลต่อความสุขที่ท่านรู้สึกในครอบครัวท่าน?

    • คําสอนใดเหล่านี้ที่ท่านต้องการมุ่งเน้นมากขึ้นในครอบครัวท่าน? เพราะเหตุใด? ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งนี้ในครอบครัวของท่านอย่างไร?

    • ท่านต้องการมุ่งเน้นเรื่องใดในครอบครัวในอนาคตของท่าน? เพราะเหตุใด?

    • คําสอนใดของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถช่วยครอบครัวที่กําลังต่อสู้ดิ้นรนกับความขัดแย้ง ปัญหา หรือความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด?

ขณะที่นักเรียนสนทนาคําถามก่อนหน้านี้ ท่านอาจชี้ให้พวกเขาดูหลักธรรมเรื่อง “ศรัทธา การสวดอ้อนวอน การกลับใจ การให้อภัย ความเคารพ ความรัก [และ] ความเห็นอกเห็นใจ” ในย่อหน้าที่พวกเขาศึกษา เป็นพยานถึงความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะให้อภัย เยียวยา และปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและครอบครัว ความพยายามและความปรารถนาของเราที่จะกลับใจและให้อภัยผู้อื่นสามารถเชื้อเชิญอิทธิพลการเยียวยาของพระองค์เข้ามาในชีวิตและความสัมพันธ์ของเรา

ความสุขที่เพิ่มขึ้น

ก่อนเชื้อเชิญให้นักเรียนประยุกต์ใช้คําสอนหนึ่งอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดกับครอบครัวของพวกเขา ช่วยให้พวกเขาคิดหาวิธีประยุกต์ใช้คําสอนของพระองค์ในสถานการณ์ต่างๆ ของครอบครัว ท่านอาจเขียนสถานการณ์ครอบครัวที่แตกต่างกันสองสามสถานการณ์บนกระดานที่นักเรียนในชั้นเรียนของท่านอาจเกี่ยวข้อง ตัวอย่างอาจได้แก่:

  1. ทั้งครอบครัวแข็งขันในศาสนจักร

  2. ครอบครัวที่มีบางคนเป็นสมาชิก

  3. บิดามารดาที่หย่าร้าง

  4. ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

ท่านอาจขอให้นักเรียนแบ่งปันคําตอบของคําถามต่อไปนี้สําหรับสถานการณ์ครอบครัวแต่ละอย่างบนกระดาน:

  • ท่านจะแนะนําหลักธรรมใดจาก ย่อหน้าที่ 7 ของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวให้แก่วัยรุ่นในสถานการณ์นี้?

  • วัยรุ่นในสถานการณ์ครอบครัวเช่นนี้จะประยุกต์ใช้หลักธรรมที่ท่านเลือกได้อย่างไร?

ท่านอาจแสดงคํากล่าวต่อไปนี้:

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

ไม่ว่าเรื่องเลวร้ายอะไรจะเกิดขึ้นในครอบครัวท่าน ข้าพเจ้าเป็นพยานและสัญญาว่าพระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดของการเยียวยา การเริ่มต้นใหม่ และการฟื้นฟูสิ่งที่ท่านต้องการ …

ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ท่านสร้างครอบครัวนิรันดร์ได้ แม้ว่าท่านไม่ได้มาจากครอบครัวแบบวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่อยู่บนปกนิตยสาร เลียโฮนา ขอให้จําไว้ว่า สิ่งนี้เริ่มต้นที่ตัวท่าน! (เดวิด เอ. เบดนาร์, “ห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อกัน,” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณสําหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก, 10 ก.ย. 2017], broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)

  • อะไรที่สะดุดใจท่านจากคํากล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์? เพราะเหตุใด?

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกคําสอนของพระเยซูหนึ่งอย่างจากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวที่พวกเขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงความสุขในครอบครัวของตนเอง ให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองและเขียนแผนเพื่อเริ่ม สานต่อ หรือปรับปรุงการดําเนินชีวิตตามคําสอนนั้นลงในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา หากมีเวลา ให้เชิญนักเรียนบางคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทํา

ท่านอาจแบ่งปันพยานของท่านถึงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการเพิ่มความสุขในครอบครัวของผู้ที่มุ่งมั่นดําเนินชีวิตตามคําสอนของพระองค์