“การพิพากษา” หัวข้อและคําถาม (2023)
แนวทางศึกษาพระกิตติคุณ
การพิพากษา
การเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า
ท่านเคยพิจารณาหรือไม่ว่าการเข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตและการเชื่อในชีวิตหลังความตายมีอิทธิพลต่อการเลือกและพฤติกรรมของท่านอย่างไร? ชีวิตท่านได้รับผลอย่างไรเพราะท่านมีความรู้เรื่องแผนของพระบิดาบนสวรรค์? ในโลกก่อนเกิด พระเยโฮวาห์ทรงอธิบายว่าเราจะมายังแผ่นดินโลกเพื่อรับการทดสอบและพิสูจน์ “เพื่อดูว่า [เราจะ] ทําสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้า [ของเรา] จะทรงบัญชา [เรา] หรือไม่” (อับราฮัม 3:25) แต่ไม่มีใครเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเสมอไป นั่นคือสาเหตุที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระบุตรมาทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อเรา โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจจากบาปของเรา เราจะได้รับพระเมตตา พระคุณ และการให้อภัยจากพระผู้เป็นเจ้า ข่าวสารพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือเราสามารถได้รับการไถ่และชําระให้บริสุทธิ์เพราะความรักและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ และพบว่าคู่ควรยืนอย่างมั่นใจต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าในวันแห่งการพิพากษา
การพิพากษาคืออะไร?
หลังจากการฟื้นคืนชีวิต เมื่อวิญญาณเรากลับคืนสู่ร่างกายอมตะของเรา เราจะยืนอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือเมื่อพระเจ้าทรงประกาศรางวัลนิรันดร์ของเราตามการกระทํา สภาวการณ์ และความปรารถนาของใจเรา แม้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุดของผู้คนทั้งปวง แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนําทางเราให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวเพื่อตัดสินเกี่ยวกับแนวคิด สถานการณ์ และบทบาทของผู้อื่นในชีวิตเรา (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 11:12) เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นเมื่อเรารักผู้อื่นและละเว้นจากการกล่าวโทษพวกเขา
ภาพรวมหัวข้อ: การพิพากษา
แนวทางศึกษาพระกิตติคุณที่เกี่ยวข้อง: แผนแห่งความรอด การฟื้นคืนชีวิต ชีวิตนิรันดร์ สิทธิ์เสรี การเชื่อฟัง การให้อภัย
หมวดที่ 1
สักวันหนึ่งท่านจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา
พระคัมภีร์สอนว่าหลังจากการฟื้นคืนชีวิต บุตรธิดาแต่ละคนของพระผู้เป็นเจ้าจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระองค์ในวันแห่งการพิพากษา (ดู 2 นีไฟ 9:12–13, 15, 20–22) บันทึกเกี่ยวกับชีวิตท่านจะนําเสนอเมื่อ “หนังสือทั้งหลายเปิดออก” ในวันนั้น (ดู วิวรณ์ 20:12–13; หลักคําสอนและพันธสัญญา 128:6–7) เราจะต้องรับผิดชอบความนึกคิด คําพูด และการกระทําของเรา (ดู โมไซยาห์ 4:30; แอลมา 12:14) เพราะพระผู้เป็นเจ้าเข้าพระทัยสภาวการณ์ยากลำบากมากมายที่แต่ละคนเผชิญในชีวิตนี้ พระองค์จึงทรงรับรองว่าบุตรธิดาของพระองค์ได้รับการพิพากษาทั้งในงานของพวกเขาและ “ตามความปรารถนาของใจพวกเขา” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 137:9) การพิพากษาครั้งสุดท้ายนี้จะกําหนดอาณาจักรแห่งรัศมีภาพที่การเลือกของเราเตรียมเราให้พร้อมรับมรดกในนิรันดร—อาณาจักรซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล หรือทีเลสเชียล (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 88:20–32)
พระบิดาบนสวรรค์จะทรงดําเนินการพิพากษาผ่านพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ (ดู ยอห์น 5:21–30) พระเจ้าทรงประกาศด้วยว่าผู้รับใช้บางคนของพระองค์จะช่วยพระองค์ในฐานะผู้พิพากษาบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 19:28; 1 นีไฟ 12:9–10; มอรมอน 3:18–20)
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
-
นอกจากทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา พระเยซูคริสต์จะทรงเป็นผู้วิงวอนแทนเราเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาด้วย อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 45:3–5 โดยจําไว้เสมอว่าผู้วิงวอนแทนคือ “ผู้วิงวอนแก้ต่างให้บุคคลอื่น” (Bible Dictionary, “Advocate”) อะไรทําให้พระเยซูคริสต์ทรงมีคุณสมบัติคู่ควรที่จะทูลวิงวอนพระบิดาแทนท่านในฐานะพระผู้วิงวอนแทนท่าน? ข้อความนี้ช่วยให้ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?
-
การนึกถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายอาจทําให้ท่านรู้สึกกังวลหรือท้อแท้ อ่าน อีนัส 1:27 และ โมโรไน 10:34 และพิจารณาว่าเหตุใดบางคนจึงประสบสันติสุขและปีติในวันนั้น เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองย้ำเตือนเราว่า: “โดยความรักและกฎของพระองค์ เรารับผิดชอบการเลือกของเราและผลของการเลือกนั้น แต่ความรักในการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ‘ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์’ เมื่อเราพร้อมกลับบ้าน แม้เมื่อเรา ‘ยังอยู่แต่ไกล’ พระผู้เป็นเจ้าทรงพร้อมต้อนรับเราด้วยความเมตตาสงสารยิ่ง ขณะทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เราด้วยความยินดี” การจดจําและการจดจ่อกับความรักและพระเมตตาสงสารของพระเจ้าช่วยให้ท่านเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้ายได้อย่างไร? เหตุใดจึงสําคัญที่ต้องจดจําด้วยว่าท่านมีหน้าที่รับผิดชอบการเลือกของท่านเองและผลที่ตามมาของการเลือกเหล่านั้น (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 101:78)
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นสื่อกลางที่ยิ่งใหญ่ของบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 2 นีไฟ 2:26–28) ดู “The Mediator” (10:44) ด้วยกันเป็นกลุ่ม วีดิทัศน์เรื่องนี้มีพื้นฐานอยู่บนข่าวสารของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ สนทนาว่าการเปรียบเทียบของประธานแพคเกอร์สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ในการสนองข้อเรียกร้องของทั้งความยุติธรรมและความเมตตา ข่าวสารนี้ช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะผู้พิพากษาของเรา (ดู โมโรไน 10:34) และผู้วิงวอนแทนเราอย่างไร (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 29:5)?
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
แอลมา 12:12–15; 3 นีไฟ 27:23–26; มอรมอน 3:20; 9:12–14; หลักแห่งความเชื่อ 1:2
-
เจมส์ อาร์. ราสแบนด์, “การรับรองให้มีการพิพากษาอันชอบธรรม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 12–14
หมวดที่ 2
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เตรียมท่านให้พร้อมพบพระผู้เป็นเจ้า
ในวันแห่งการพิพากษา เราจะได้รับมรดกในอาณาจักรแห่งรัศมีภาพ ประธานดัลลิน เอช.โอ๊คส์สอนว่า: “อาณาจักรแห่งรัศมีภาพที่เราได้รับในการพิพากษาครั้งสุดท้ายถูกกําหนดตามกฎที่เราเลือกทำตามในแผนแห่งความรักของพระบิดาบนสวรรค์ [ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 88:22–24] ภายใต้แผนนั้นมีหลายอาณาจักรให้ลูกทุกคนของพระองค์ได้ไปอยู่ตามอาณาจักรที่พวกเขาสามารถ ‘ปฏิบัติตาม’”
ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีกฎทุกข้อที่เราจำเป็นต้องทําตามในชีวิตนี้เพื่อสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก เมื่อเราเลือกทำตามพระเยซูคริสต์และดําเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์ เรากําลังเตรียมยืนโดยไม่มีมลทินเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าที่แท่นพิพากษา (ดู 2 นีไฟ 9:13–15; 3 นีไฟ 27:20–21)
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
-
การกลับใจเป็นส่วนจําเป็นของการเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้าย อ่าน แอลมา 34:31–35 เหตุใดจึงจําเป็นที่จะไม่ผัดวันแห่งการกลับใจ? ท่านรู้สึกว่าอะไรจะช่วยให้ท่าน “เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า”?
-
พระเจ้าทรงกําหนดมาตรฐานเพื่อช่วยวัดความพร้อมทางวิญญาณของบุคคลสําหรับบัพติศมา การแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต การรับใช้ในการเรียก หรือการมีส่วนร่วมในศาสนพิธีพระวิหาร เมื่อใดที่โอกาสพบกับผู้นําฐานะปุโรหิตช่วยให้ท่านเพิ่มความพยายามส่วนตัวที่จะดําเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์? เหตุใดจึงเป็นการเหมาะสมที่จะถือว่าทุกวันเป็นวันแห่งการพิพากษา?
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
การตรวจสอบชีวิตท่านเป็นวิธีสําคัญในการเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้าย เชิญให้สมาชิกในกลุ่มอ่าน แอลมา 5:14–26 และระบุคําถามที่สามารถช่วยให้เราพิจารณาสถานะทางวิญญาณของเราเบื้องพระพักตร์พระเจ้า สนทนาบางวิธีที่แอลมาเชิญผู้คนของท่านให้เตรียมพร้อมสำหรับเวลาที่พวกเขาจะพบพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเราในทางใดขณะที่ เรา พยายามเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า?
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47–50
หมวดที่ 3
พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนําให้ท่านตัดสินอย่างชอบธรรม
เราตัดสินใจทุกวันตามวิจารณญาณที่ดีที่สุดของเรา เมื่อตัดสินใจระหว่างถูกกับผิดหรือดีกับชั่ว เราจำเป็นต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์นําทางการตัดสินใจของเรา (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 11:12) บางครั้งเราต้องตัดสินใจเกี่ยวกับผู้อื่นและบทบาทที่พวกเขามีในชีวิตเรา เช่น การเลือกเพื่อนหรือคู่สมรสของเรา ในกรณีเหล่านั้น เราควรจำพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงแนะนำว่า “อย่าตัดสินอย่างไม่ชอบธรรม, เพื่อเจ้าจะไม่ถูกตัดสิน; แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 7:2 [ใน มัทธิว 7:1, เชิงอรรถ a])
การวิพากษ์วิจารณ์ คําพูดรุนแรง และความคิดที่ไร้น้ำใจ ไม่มีวันเหมาะสม “จงดูว่าลูกมีเมตตาต่อพี่น้องของลูก; ปฏิบัติโดยเที่ยงธรรม, ตัดสินโดยชอบธรรม, และทําความดีตลอดเวลา” (แอลมา 41:14) ในช่วงเวลาที่จําเป็นต้องตัดสินในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราควรพยายามแสดงความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความรักต่อผู้อื่น (ดู มัทธิว 22:37–39)
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
แสดงหรืออ่านคำพูดต่อไปนี้ของท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
“เรา [หวังว่า] พี่น้องชายของเราจะระมัดระวังความรู้สึกของกันและกัน ดำเนินในความรักโดยให้เกียรติกันมากกว่าตนเอง ตามที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง …
“หากท่านจะขจัดการพูดให้ร้าย การลอบกัด ตลอดจนความคิดและความรู้สึกเหมือนคนใจแคบให้หมดไปจากพวกท่าน จงอ่อนน้อมถ่อมตน ปลูกฝังหลักธรรมทุกข้อของคุณธรรมและความรัก เมื่อนั้นพรของพระเยโฮวาห์จะเป็นของท่าน และท่านจะเห็นวันอันน่าชื่นชมยินดี สันติสุขจะอยู่ในเมืองของท่าน และความรุ่งเรืองจะอยู่ในเขตแดนของท่าน”
สนทนาว่าการที่เราพยายามละเว้นจากการตัดสินอย่างไม่ชอบธรรมและการกล่าวโทษผู้อื่นจะนําสันติสุขและพรมาให้ได้อย่างไร ท่านเคยรู้สึกได้รับพรเพราะพยายามตัดสินอย่างชอบธรรมเมื่อใด?
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
เลวีนิติ 19:15–18; มัทธิว 7:1–8 (รวมถึงงานแปลของโจเซฟ สมิธใน ข้อ 1 เชิงอรรถ a); ยอห์น 7:24 (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธใน เชิงอรรถ b ด้วย)
-
รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ต้องการผู้สร้างสันติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 98–101
-
Dallin H. Oaks, “Judge Not and Judging,” Ensign, August 1999, 6–13
-
เกรกอรีย์ เอ. ชไวทเซอร์, “พัฒนาวิจารณญาณที่ดีและอย่าตัดสินผู้อื่น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 128–131