คลังค้นคว้า
การปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก


“การปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก“ หัวข้อและคําถาม (2023)

พระคริสต์กำลังสอนผู้คน

แนวทางศึกษาพระกิตติคุณ

การปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก

“และพระองค์จะทรงมีพระนามว่าพระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 3:8)

บุตรธิดาทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระบิดาบนสวรรค์คือพระบุตรหัวปีของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ก่อนการประสูติในความเป็นมรรตัย พระเยซูทรงเป็นที่รู้จักในหลายพระนาม เช่น พระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่และพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงส่งพระบุตรมาอยู่บนแผ่นดินโลกและทรงถวายพระองค์เองเป็นการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันไร้ขอบเขตเพื่อทําให้การไถ่เกิดขึ้นได้สําหรับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ระหว่างพระชนม์ชีพมรรตัย พระเยซูคริสต์ทรงสอนพระกิตติคุณของพระองค์ ทําปาฏิหาริย์อันเปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ และสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ จากเรื่องราวในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระองค์ เราเรียนรู้ว่าพระองค์ทรงเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบ พระเยซูคริสต์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและคนมีทุกข์ ประทานความหวังแก่คนที่ทนทุกข์ ทรงสอนความสําคัญของการกลับใจ และทรงทําให้การให้อภัยเกิดขึ้นได้ พระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมให้บุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ทําตาม

การปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลกคืออะไร?

พระบิดาทรงส่งพระบุตรที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสต์ มาแผ่นดินโลกเพื่อเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของโลก โดยผ่านประสบการณ์มรรตัยและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงมาสู่ความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเราแต่ละคนประสบอะไรบนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสมบูรณ์พร้อมให้เราทำตาม

ภาพรวมหัวข้อ: พระเยซูคริสต์

แนวทางศึกษาพระกิตติคุณที่เกี่ยวข้อง: การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การประสูติของพระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ การฟื้นคืนพระชนม์

หมวดที่ 1

พระเยซูคริสต์ทรงทําตามพระประสงค์ของพระบิดาเสมอ

พระเยซูทรงสอนในพระวิหาร

เหตุการณ์อัศจรรย์แวดล้อมการประสูติของพระเยซูคริสต์บันทึกเป็นเอกสารไว้เป็นอย่างดีในพระคัมภีร์ (ดูตัวอย่างใน ลูกา 2:1–19) เกี่ยวกับวัยเด็กของพระองค์ พระคัมภีร์เพียงเล่าไว้ว่า “พระกุมารนั้นก็เจริญวัยแข็งแรงขึ้น เต็มเปี่ยมด้วยสติปัญญา และพระคุณของพระเจ้าอยู่กับท่าน” และ “พระเยซูเจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย” (ลูกา 2:40, 52)

เมื่อพระเยซูทรงพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์เสด็จกับครอบครัวไปเยรูซาเล็มเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา ระหว่างทางกลับบ้านไปนาซาเร็ธ มารีย์กับโยเซฟตระหนักว่าพระเยซูไม่ได้อยู่ในบรรดาสมาชิกครอบครัวที่เดินทางไปกับพวกเขา ในที่สุดพวกเขาพบพระองค์ที่พระวิหารในเยรูซาเล็ม กำลังทรงสอนผู้คนและตอบคําถามของพวกเขา (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 2:46 [ใน ลูกา 2:46, ปจส. ]). เมื่อมารีย์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่พระองค์ไม่อยู่ พระเยซูตรัสว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม? พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา?” (ลูกา 2:49) แม้เป็นเพียงเด็กชาย แต่พระเยซูทรงจดจ่ออยู่กับการทำงานของพระบิดา

ตลอดพระชนม์ชีพมรรตัยพระเยซูทรงรักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระองค์ตรัสว่า “เราลงมาจากสวรรค์ ไม่ใช่เพื่อทำตามความประสงค์ของเราเอง แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 6:38) พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เราแต่ละคนทําเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงสัญญาว่า “ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์” คือบุคคลที่จะเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (มัทธิว 7:21)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • อ่าน ยอห์น 8:25–30 ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงอธิบายว่า “เราทําตามชอบพระทัย [พระบิดา] เสมอ” (ข้อ 29) ท่านจะทําอะไรได้บ้างเพื่อเข้าใจและทําตามพระประสงค์ของพระบิดาในชีวิตท่านได้ดีขึ้น?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • เชิญให้สมาชิกกลุ่มอ่านและใคร่ครวญคําถามที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันถามในข้อความต่อไปนี้:

    ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านหรือไม่? ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านหรือไม่? ท่านจะยอมให้พระวจนะ พระบัญญัติ และพันธสัญญาของพระองค์มีอิทธิพลต่อสิ่งที่ท่านทำในแต่ละวันหรือไม่? ท่านจะยอมให้สุรเสียงของพระองค์มาก่อนเสียงอื่นใดหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำสำคัญกว่าความทะเยอทะยานอื่นทั้งหมดหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้ความประสงค์ของท่านถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่?”

    คําตอบของท่านต่อคําถามเหล่านี้จะนําท่านให้ทําตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการทําตามพระประสงค์ของพระบิดาตลอดเวลาได้อย่างไร?

เรียนรู้เพิ่มเติม

  • ลูกา 22:42; โมไซยาห์ 15:7

  • ดู “บทที่ 24: การใคร่ครวญเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์,” คําสอนของประธานศาสนจักร: ลอเรนโซ สโนว์ (2012), บทที่ 24

หมวดที่ 2

พระชนม์ชีพที่ดีพร้อมของพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างสําหรับทุกคน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้บัพติศมาพระเยซูคริสต์

เมื่อใกล้เริ่มการปฏิบัติศาสนกิจต่อสาธารณชน พระเยซูเสด็จมาหายอห์นผู้ถวายบัพติศมาและรับบัพติศมาในแม่น้ำจอร์แดน ถึงแม้พระองค์ไม่เคยทําบาป แต่พระเยซูทรงอธิบายว่าพระองค์ต้องรับบัพติศมาเพื่อ “ทําความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ” เมื่อพระเยซูเสด็จออกมาจากน้ำ มีพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาตรัสว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาบนพระเยซู, แสดงให้เห็นเป็นเครื่องหมายด้วยนกพิราบ (ดู มัทธิว 3:13–17)

พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพที่ดีพร้อม หลังจากบัพติศมา พระองค์ทรงอดอาหาร 40 วัน 40 คืนเพื่อสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 4:2 [ใน มัทธิว 4:2, เชิงอรรถ c]) หลังจากนั้น ซาตานมาล่อลวงพระองค์ ทว่าพระเยซูคริสต์ทรงต้านทานการล่อลวงอย่างมั่นคง พระชนม์ชีพที่ปราศจากบาปของพระองค์เตรียมพระเยซูคริสต์ให้พร้อมพลีพระชนม์ชีพเพื่อบาปทั้งหมดของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ในฐานะพระองค์เดียวที่ดีพร้อมในบรรดาบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดสําหรับเราแต่ละคนขณะพยายามติดตามพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1 เปโตร 2:21–22)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • อ่าน มัทธิว 4:1–11 รวมทั้งเชิงอรรถงานแปลของโจเซฟ สมิธ ซึ่งบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อซาตานพยายามล่อลวงพระเยซู ท่านสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระคริสต์ในการรับมือกับการล่อลวง? การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และความรู้ในพระคัมภีร์เตรียมท่านให้พร้อมเอาชนะการล่อลวงในทางใดบ้าง?

  • พระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงสอนสานุศิษย์ชาวนีไฟสิบสองคนเกี่ยวกับบทบาทการเป็นผู้พิพากษาของผู้คน อ่าน 3 นีไฟ 27:27 เพื่อดูพระบัญญัติที่พระเยซูคริสต์ประทานแก่สานุศิษย์ของพระองค์ เหตุใดจึงสำคัญที่ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ต้องเป็นเหมือนพระองค์?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • ขอให้สมาชิกกลุ่มของท่านพิจารณาว่าเหตุใดจึงจําเป็นที่พระเยซูคริสต์ต้องประสบกับการล่อลวง เชิญให้พวกเขามองหาคำตอบใน ฮีบรู 2:17–18; 4:15–16 เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงประสบการล่อลวงแบบเดียวกับที่เราประสบในเวลานี้?

เรียนรู้เพิ่มเติม

หมวดที่ 3

พระเยซูทรงสอนให้เรารักและรับใช้กัน

พระเยซูทรงรักษาชายง่อยคนหนึ่ง

พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่ามีพระบัญญัติข้อสําคัญสองข้อ ในสองข้อนี้ข้อแรกคือให้รักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิต และสุดความนึกคิดของเรา ข้อที่สองคือรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง (ดู มัทธิว 22:36–39) พระเยซูทรงสอนความจริงเหล่านี้บ่อยๆ ในคําเทศนาและด้วยอุปมา (ดูตัวอย่างใน มัทธิว 25:31–46; ลูกา 10:25–37)

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของวิธีทําตามพระผู้เป็นเจ้าและรักผู้อื่นเสมอ พระองค์ทรงแสดงความรักและความเมตตาสงสารผู้อื่นเป็นส่วนพระองค์ขณะทรงปฏิบัติศาสนกิจด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ในบรรดาบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ทรงรักษาคนป่วยและทรงทําปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่มากมาย (ดู มัทธิว 11:4–5; โมไซยาห์ 3:5–6)

ส่วนสําคัญของการปฏิบัติศาสนกิจของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกคือการสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ ในการทําเช่นนั้น พระองค์ทรงเรียกสานุศิษย์สิบสองคน มอบอํานาจให้พวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณ และประทานพลังอํานาจให้พวกเขารักษาคนป่วย (ดู มัทธิว 10:1–8) สานุศิษย์เหล่านี้ดําเนินงานของพระเจ้าหลังจากการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์เมื่อพวกเขาสอนการกลับใจและเชิญให้ผู้อื่นรับบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู กิจการของอัครทูต 2:22–24, 37–47) โดยใช้อํานาจฐานะปุโรหิตในการรักษา พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นและสร้างโอกาสสั่งสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู กิจการ 3:1–11)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • พระบัญญัติสำคัญข้อที่สองคือรักเพื่อนบ้านของท่าน ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า: “ในฐานะสาวกของพระเยซูคริสต์ เราต้องเป็นแบบอย่างของการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น—โดยเฉพาะ เมื่อเรามีความเห็นต่าง หนึ่งในวิธีง่ายที่สุดที่จะบอกว่าใครเป็น ผู้ติดตามที่แท้จริง ของพระเยซูคริสต์คือวิธีที่บุคคลนั้นปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ” การจดจําแบบอย่างของพระเยซูคริสต์จะช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อรักผู้อื่นได้ยาก?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • อ่านถ้อยคำต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นด้วยกัน:

    “จงอย่ายอมแพ้—ไม่ว่าบาดแผลของจิตวิญญาณท่านจะลึกเพียงใด ไม่ว่าจะเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไร และไม่ว่าจะยังคงอยู่สั้นๆ หรือยาวนานเพียงใด ท่านจะไม่ตายทางวิญญาณ ท่านจะรอดชีวิตทางวิญญาณ และเบ่งบานในศรัทธาและความไว้วางใจของท่านในพระผู้เป็นเจ้า

    “พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงสร้างวิญญาณของเราเพื่อเป็นอิสระจากพระองค์ พระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ผ่านของประทานแห่งการชดใช้อันประมาณค่ามิได้ ไม่เพียงช่วยชีวิตเราจากความตายและทรงอภัยบาปให้เราผ่านการกลับใจเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงพร้อมที่จะช่วยชีวิตเราจากความเศร้าและความเจ็บปวดของจิตวิญญาณที่ได้รับบาดเจ็บด้วย”

    สนทนาเรื่องพลังที่มีให้เราอันเนื่องมาจากพระปรีชาสามารถในการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอด เชิญให้สมาชิกกลุ่มพิจารณาแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกถึงเดชานุภาพในการรักษาของพระเยซูคริสต์ในชีวิต หากเหมาะสม

เรียนรู้เพิ่มเติม

หมวดที่ 4

พระเยซูคริสต์ทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อไถ่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

พระเยซูทรงคุกเข่า

อบินาไดศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนพยากรณ์ว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จลงมาจากสวรรค์และจะถูกล้อเลียน ถูกโบย ขับออกไป ถูกตรึงกางเขน และสังหาร—ทั้งหมดเพื่อพระองค์จะทรงไถ่ผู้คนของพระองค์ได้ (ดู โมไซยาห์ 15:1–7) ความต้องการสูงสุดในโลกทุกวันนี้คือให้ทุกคนเรียนรู้และเข้าใจพระพันธกิจมรรตัยของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์ทรงทนทุกข์และทรงจ่ายราคาค่าบาปของเราอย่างไรเพื่อเราจะได้รับการช่วยให้รอด

เหตุการณ์สําคัญที่สุดบางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นในช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาปัสกาของชาวยิว พระเยซูทรงพาสานุศิษย์ของพระองค์ไปที่เกทเสมนี สวนมะกอกเทศบนหรือใกล้เชิงเขามะกอกเทศนอกกําแพงเยรูซาเล็ม ที่นี่พระเยซูคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนและทรงเริ่มรับเอาทุกสิ่งที่เรียกร้องเพื่อการไถ่เราไว้กับพระองค์ กษัตริย์เบ็นจามินพยากรณ์ว่าพระเยซูคริสต์จะทรงรู้สึกถึง “ความเจ็บปวดทางร่างกาย, ความหิวโหย, ความกระหาย, และความเหน็ดเหนื่อย” และ “ความปวดร้าวเพราะความชั่วร้ายและความน่าชิงชังของผู้คนของพระองค์” (โมไซยาห์ 3:7) เราไม่อาจเข้าใจความรุนแรงและขอบเขตของความทุกข์ทรมานของพระองค์ในเกทเสมนี แต่ความปวดร้าวทําให้พระเยซูเหงื่อออก “เหมือนโลหิตเม็ดใหญ่หยดลงถึงดิน” (ลูกา 22:44; ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:18 ด้วย)

จากนั้นพระเยซูทรงถูกสานุศิษย์คนหนึ่งของพระองค์ทรยศ ทรงถูกจับกุม เยาะเย้ย และถูกผู้นําศาสนาชาวยิวกล่าวหาอย่างผิดๆ พระองค์ทรงถูกชาวโรมันจับตัวไป สอบสวน และทุบตี (ดู มัทธิว 26:47–68; 27:1-31) ทหารจับพระเยซูคริสต์ไปตรึงกางเขน หมายความว่าพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ถูกตอกตะปูกับไม้กางเขน (ดู ลูกา 23:33–38) เมื่อพระองค์ทรงถูกยกขึ้นและแขวนไว้บนไม้กางเขน ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานเพื่อบาปของเราดําเนินต่อไป การชดใช้ของพระเยซูคริสต์รวมถึงการจ่ายราคาที่ทรงทําในเกทเสมนีและบนไม้กางเขนเพื่อเอาชนะผลของบาปสําหรับทุกคนที่กลับใจจากบาปของตน (ดู แอลมา 5:48; 3 นีไฟ 9:22; หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:17)

หลังจากสิ้นพระชนม์ พระวรกายของพระองค์ถูกวางไว้ในอุโมงค์ (ดู ยอห์น 19:38–42) ในวันที่สามหลังจากการตรึงกางเขน พระคริสต์ทรงรับพระวรกายของพระองค์อีกครั้งและทรงเป็นบุคคลแรกที่ฟื้นคืนชีวิต (ดู มัทธิว 28:1–8) หลายคนเป็นพยานถึงพระเจ้าผู้ทรงฟื้นและเป็นพยานถึงข่าวอันรุ่งโรจน์นี้ เพราะพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ วิญญาณของบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจะกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับร่างกายของพวกเขาอีกครั้งและได้รับพรแห่งความเป็นอมตะ (ดู 1 โครินธ์ 15:21–22; แอลมา 11:44–45) ทุกสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงอดทนในช่วงพระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์ล้วนทำด้วยความรักที่ทรงมีต่อบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู 1 นีไฟ 19:9; หลักคําสอนและพันธสัญญา 34:3)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • ก่อนเสด็จไปเกทเสมนี พระเยซูคริสต์ทรงแนะนําศาสนพิธีศีลระลึกกับสานุศิษย์ของพระองค์ อ่าน มัทธิว 26:26–30 ท่านจะทําอะไรได้บ้างเพื่อใคร่ครวญพระชนม์ชีพและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์มากขึ้นเมื่อท่านรับส่วนศีลระลึก? ประสบการณ์การรับส่วนศีลระลึกของท่านจะเพิ่มพูนความรักที่ท่านมีต่อพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • อ่านข้อความต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันด้วยกัน:

    “พระองค์เสด็จจากสวรรค์มาบนแผ่นดินโลกในฐานะพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดาในเนื้อหนัง พระองค์ทรงถูกประจานอย่างโหดเหี้ยม ถูกเยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด และเฆี่ยนตี ในสวนเกทเสมนี พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับความเจ็บปวด ทุกอย่าง บาป ทุกอย่าง ความปวดร้าวและความทุกข์ทรมาน ทุกอย่าง ที่ท่านกับข้าพเจ้าและทุกคนที่เคยมีชีวิตหรือจะมีชีวิต เคย ประสบมา ภายใต้ภาระอันเจ็บปวดที่หนักอึ้ง พระองค์ทรงหลั่งพระโลหิตจากทุกรูขุมขน การทนทุกข์ทั้งหมดนี้รุนแรงขึ้นเมื่อพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนอย่างโหดร้ายที่กางเขนแห่งคัลวารี

    “ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดแสนสาหัสเหล่านี้และการฟื้นคืนพระชนม์ที่ตามมา—การชดใช้อันไร้ขอบเขตของพระองค์—พระองค์ประทานชีวิตอมตะแก่ทุกคน ทรงไถ่เราแต่ละคนจากผลของบาป โดยมีเงื่อนไขคือการกลับใจของเรา”

    สนทนากับกลุ่มว่าเหตุใดจึงสําคัญที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์ในเกทเสมนีและบนไม้กางเขน การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ การเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงประสบจะดึงท่านเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นได้อย่างไร?

เรียนรู้เพิ่มเติม