บทที่ 1
พระเยซูคริสต์—หนทางเดียวของเราสู่ความหวังและปีติ
“ถ้าชีวิตเราและศรัทธาของเรามีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ ย่อมไม่มีสิ่งใดผิดพลาดถาวรตลอดไป”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
หัวข้อเด่นในคำสอนของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์คือ สันติสุขที่แท้จริง การเยียวยารักษา และความสุขเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นพยายามรู้จักและทำตามพระเยซูคริสต์ ประธานฮันเตอร์สอนว่า “หนทางของพระคริสต์ไม่เพียงเป็นหนทางที่ ถูกต้อง เท่านั้น แต่เป็นหนทาง เดียว สู่ความหวังและปีติในท้ายที่สุดด้วย”1
ประธานฮันเตอร์องอาจกล้าหาญเช่นกันในการเป็นพยานถึงพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด “ในฐานะอัครสาวกที่ได้รับแต่งตั้งและพยานพิเศษของพระคริสต์ ข้าพเจ้าให้คำพยานที่จริงจังต่อท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง” ท่านประกาศ “พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมรอคอยตามคำพยากรณ์ พระองค์ทรงเป็นความหวังแห่งอิสราเอล เพราะลูกหลานของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบได้สวดอ้อนวอนขอการเสด็จมาของพระองค์ในช่วงหลายศตวรรษอันยาวนานของการนมัสการตามที่กำหนดไว้ …
“ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ข้าพเจ้ารู้เรื่องการดำรงอยู่จริงของพระคริสต์ประหนึ่งเห็นด้วยตาตนเองและได้ยินกับหู ข้าพเจ้ารู้เช่นกันว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงยืนยันความจริงของคำพยานของข้าพเจ้าในใจทุกคนที่ฟังด้วยหูแห่งศรัทธา”2
สถานที่ซึ่งพระเยซูทรงปฏิบัติศาสนกิจเป็นที่ดึงดูดใจประธานฮันเตอร์จนท่านเดินทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์มากกว่ายี่สิบสี่ครั้ง เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์แห่งโควรัมอัคร-สาวกสิบสองกล่าวว่า “เยรูซาเล็มเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดท่าน … ความปรารถนาจะอยู่ในที่ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดของท่านทรงดำเนินและทรงสอนดูเหมือนไม่เคยพอ ท่านชอบทัศนียภาพและเสียงทุกอย่าง ท่านรักกาลิลีมากเป็นพิเศษ แต่ท่านรักสถานที่แห่งหนึ่งมากที่สุด ท่าน มักจะ พูดว่า ‘ไปอุโมงค์ที่สวนอีกสักครั้ง เพื่อระลึกถึงความหลัง’ ที่นั่นท่านจะนั่งพินิจไตร่ตรองประหนึ่งกำลังมองทะลุม่านที่กั้นระหว่างท่านกับพระผู้ช่วยให้รอด”3
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
เราต้องรู้จักพระคริสต์ดีกว่าที่เรารู้และระลึกถึงพระองค์บ่อยกว่าที่เราระลึกถึง
สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายร้องเพลงด้วยความคารวะดังนี้
เมื่อข้านึกถึงพระเยซูท่าน
บันดาลให้รื่นชื่นใจ
แต่ถ้าพบพักตร์จักสุขเพียงไร
และได้อยู่ชิดพระองค์ …
… เรานึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดบ่อยเพียงใด เราใคร่ครวญถึงพระชนม์ชีพของพระองค์อย่างลึกซึ้ง อย่างรู้คุณ และอย่างชื่นชมเพียงใด เรารู้ไหมว่าพระองค์ทรงสำคัญเพียงใดในชีวิตเรา
ตัวอย่างเช่นเราทุ่มเทให้แก่การ “นึกถึงพระเยซูท่าน” มากเพียงใดในวันธรรมดา สัปดาห์ที่ต้องทำงาน หรือเดือนที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว บางทีพวกเราบางคนอาจจะยังนึกถึงไม่มากพอ
โดยแท้แล้วชีวิตจะมีสันติสุขมากขึ้น โดยแท้แล้วชีวิตแต่งงานและครอบครัวจะมั่นคงขึ้น ละแวกใกล้เคียงและประเทศชาติจะปลอดภัยมากขึ้น มีไมตรีจิตมากขึ้น และสร้างสรรค์มากขึ้นอย่างแน่นอนหากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์บันดาลให้ “รื่นชื่นใจ” มากขึ้น
เว้นแต่เราจะเอาใจใส่ความนึกคิดในจิตใจเรามากขึ้น หาไม่แล้วเราคงจะเรียกร้องปีติที่ใหญ่หลวงกว่า และรางวัลที่ถูกใจกว่าไม่ได้ รางวัลนั้นคือการได้ “พบพักตร์ [อันเปี่ยมด้วยรักของพระองค์] / และได้อยู่ชิดพระองค์” ในวันหนึ่ง
ทุกวันของชีวิตเราและในทุกฤดูกาลของปี … พระเยซูทรงถามเราแต่ละคน เฉกเช่นพระองค์ทรงถามหลังจากเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตเมื่อเนิ่นนานหลายปีมาแล้วว่า “ท่านทั้งหลายคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องพระคริสต์? พระองค์ทรงเป็นเชื้อสายของใคร?” (มัทธิว 22:42)
เราประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นจริงของเรื่องดังกล่าวควรปลุกเร้าจิตวิญญาณเราบ่อยขึ้น4
เราต้องรู้จักพระคริสต์ดีกว่าที่เรารู้จัก และระลึกถึงพระองค์บ่อยกว่าที่เราระลึกถึง เราต้องรับใช้พระองค์ด้วยความกล้าหาญมากกว่าที่เรารับใช้พระองค์ ต่อจากนั้นเราจะดื่มน้ำที่พุ่งขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์และจะกินขนมปังแห่งชีวิต5
2
พระเยซูทรงเป็นบ่อเกิดอันแท้จริงเพียงแห่งเดียวของความหวังและปีติอันยั่งยืนของเรา
พระเป็นที่พึ่งคนใจชอกช้ำ
สุขสำหรับคนอ่อนโยน
พระองค์ทรงเมตตาการุณล้น!
ต่อคนตกคนค้นหา!
เพลงท่อนนี้ไพเราะยิ่งนัก และเป็นข่าวสารแห่งความหวังที่ตรึงแน่นอยู่กับพระกิตติคุณของพระคริสต์! มีสักคนไหมในบรรดาพวกเรา ในทุกชนชั้น ที่ไม่ต้องการความหวังและแสวงหาปีติที่ใหญ่หลวงกว่า นี่เป็นความต้องการของสากลโลก เป็นความปรารถนาของจิตวิญญาณมนุษย์ และเป็นสัญญาของพระคริสต์ต่อผู้ติดตามพระองค์ ความหวังขยายไปถึง “คนที่ใจชอกช้ำ” ทุกคนและปีติมาถึง “คนอ่อนโยน” ทั้งปวง
ความชอกช้ำมีค่ามาก—ทำให้เราสูญเสียความจองหองและความไม่รู้สึกรู้สมของเรา แต่ที่พิเศษคือทำให้เราสูญเสียบาปของเรา เพราะนี่คือราคาของความหวังที่แท้จริงตามที่บิดาของกษัตริย์ลาโมไนรู้เมื่อสองพันปีก่อน “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า,” เขาร้องทูล “ขอได้โปรดแสดงองค์ให้ข้าพระองค์รู้จัก, และข้าพระองค์จะทิ้งบาปทั้งหมดของข้าพระองค์เพื่อรู้จักพระองค์ … เพื่อพระองค์จะทรงยกข้าพระองค์ขึ้นจากบรรดาคนตาย, และได้รับการช่วยให้รอดในวันสุดท้าย.” (แอลมา 22:18) เราเองก็เช่นกัน เมื่อเราเต็มใจทิ้งบาปทั้งหมดของเราเพื่อรู้จักพระองค์ เราจะเปี่ยมด้วยปีติแห่งชีวิตนิรันดร์
และคนอ่อนโยนเล่า ในโลกที่หมกมุ่นมากกับการได้ชัยชนะผ่านการข่มขู่และการหมายมั่นเป็นที่หนึ่ง ไม่มีคนกลุ่มใหญ่ยืนต่อแถวซื้อหนังสือที่ทำให้คนมีความอ่อนโยน แต่คนอ่อนโยนจะได้แผ่นดินโลกเป็นมรดก ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าประทับใจ—และทำไปโดย ไม่มี การข่มขู่ ไม่ช้าก็เร็ว และเราสวดอ้อนวอนขอให้เร็ว มากกว่า ช้า ทุกคนจะยอมรับว่าหนทางของพระคริสต์ไม่เพียงเป็นหนทางที่ ถูกต้อง เท่านั้น แต่เป็นหนทาง เดียว สู่ความหวังและปีติในท้ายที่สุดด้วย ทุกเข่าจะย่อลงและทุกลิ้นจะสารภาพว่าความสุภาพอ่อนน้อมดีกว่าความโหดร้าย ความเมตตายิ่งใหญ่กว่าการบีบบังคับ เสียงนุ่มนวลทำให้ความโกรธเกรี้ยวหายไป ท้ายที่สุด และเร็วเท่าที่จะทำได้ เราต้องเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น …
เยซูพระทรงเป็นความสุขสันต์
ทรงเป็นรางวัลชีวี
ขอพระทรงเป็นแสงรัศมี
บัดนี้ชั่วนิรันดร
นี่เป็นคำสวดอ้อนวอนส่วนตัวและความปรารถนาของข้าพเจ้าสำหรับชาวโลกทั้งปวง … ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นบ่อเกิดที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวของปีติอันยั่งยืน สันติสุขอันยั่งยืนเพียงหนึ่งเดียวของเราอยู่ในพระองค์ ข้าพเจ้าประสงค์ให้พระองค์ทรงเป็น “แสงรัศมีของเรา” เวลานี้ รัศมีที่เราแต่ละคนถวิลหาและเป็นรางวัลเดียวที่มนุษย์และประชาชาติเห็นค่าอย่างถาวร พระองค์ทรงเป็นรางวัลของเราในกาลเวลาและในนิรันดร ในที่สุดรางวัลอื่นทั้งหมดจะไร้ผล ความยิ่งใหญ่อื่นๆ ทั้งหมดลบเลือนตามกาลเวลาและสลายไปตามสภาพ ในที่สุด … เราจะรู้ว่าไม่มีปีติแท้จริงนอกจากปีติในพระคริสต์
… ขอให้เราเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ที่ภักดีและมีวินัยมากขึ้น ขอให้เรายึดมั่นพระองค์ไว้ในความนึกคิดของเราและเอ่ยพระนามของพระองค์ด้วยความรัก ขอให้เราคุกเข่าเบื้องพระพักตร์พระองค์ด้วยความอ่อนโยนและความเมตตา ขอให้เราเป็นพรและรับใช้ผู้อื่นเพื่อพวกเขาจะทำเช่นเดียวกัน6
3
ความต้องการที่สำคัญที่สุดในโลกคือศรัทธาที่จริงใจและมีพลังในพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์
มีคนประกาศว่าการเชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องล้าสมัย การเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ในพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์เป็นเรื่องล้าสมัยหรือไม่ การเชื่อในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้และการฟื้นคืนชีวิตเป็นเรื่องล้าสมัยหรือไม่ หากล้าสมัย ข้าพเจ้าขอประกาศว่าตัวข้าพเจ้าเป็นคนล้าสมัยและศาสนจักรล้าสมัย พระอาจารย์ทรงสอนเรียบง่ายมากในเรื่องหลักธรรมของนิรันดรแห่งชีวิตและบทเรียนที่นำความสุขมาให้คนที่มีศรัทธาจะเชื่อ ดูเหมือนไม่มีเหตุผลสมควรให้คิดว่าจำเป็นต้องปรับคำสอนเหล่านี้ของพระอาจารย์ให้ทันสมัย ข่าวสารของพระองค์เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์7
ในยุคนี้ เช่นเดียวกับทุกยุคก่อนหน้าเราและทุกยุคที่จะตามมา ความจำเป็นที่สำคัญที่สุดในโลกคือศรัทธาที่จริงใจและมีพลังในคำสอนพื้นฐานของเยซูแห่งนาซาเร็ธ พระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ เพราะคนจำนวนมากไม่ยอมรับคำสอนเหล่านั้น จึงเป็นเหตุผลมากยิ่งขึ้นว่าเหตุใดผู้ที่เชื่อในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างจริงใจจึงควรประกาศความจริงนั้นและแสดงแบบอย่างให้เห็นพลังและสันติสุขของชีวิตที่สุภาพอ่อนน้อมและชอบธรรม …
เราควรจะทำอย่างไรเมื่อมีคนทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ เข้าใจเราผิด ปฏิบัติต่อเราอย่างไม่เป็นธรรมหรือไร้เมตตา หรือทำบาปต่อเรา เราควรจะทำอะไรถ้าคนที่เรารักทำให้เราเจ็บ หรือไม่ได้รับพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่ง หรือถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ หรือโจมตีเจตนาของเราอย่างไม่เป็นธรรม
เราโต้กลับหรือไม่ เราส่งกำลังทหารไปมากกว่าเดิมหรือไม่ เรากลับไปใช้ตาต่อตาและฟันต่อฟัน หรือ …. เราตระหนักว่าสุดท้ายแล้วนี่จะทำให้เราตาบอดและไม่มีฟันเหลืออยู่หรือไม่ …
ในความสง่างามแห่งพระชนม์ชีพและแบบอย่างคำสอนของพระองค์ พระคริสต์ประทานคำแนะนำมากมายแก่เราโดยมีคำสัญญาที่แน่นอนติดมาเสมอ พระองค์ทรงสอนด้วยความยิ่งใหญ่และสิทธิอำนาจซึ่งทำให้คนมีการศึกษาและคนเขลา คนมั่งคั่งและคนยากจน คนสุขภาพดีและคนป่วยเปี่ยมด้วยความหวัง8
จงพยายามสร้างประจักษ์พยานส่วนตัวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ การศึกษาพระชนม์ชีพของพระคริสต์และประจักษ์พยานเกี่ยวกับการดำรงอยู่จริงของพระองค์เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนควรแสวงหา เมื่อเราเข้าใจพระพันธกิจของพระองค์ และการชดใช้ซึ่งพระองค์ทรงทำ เราย่อมปรารถนาจะดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์มากขึ้น9
4
เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงทำให้ผืนน้ำอันปั่นป่วนของชีวิตเราสงบลง
เราทุกคนเคยเห็นมรสุมฉับพลันในชีวิตเรามาบ้างแล้ว พายุบางลูก …. รุนแรง น่ากลัว และอาจเป็นอันตรายได้ เราแต่ละคน แต่ละครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และแม้ศาสนจักรต่างเคยมีพายุฝนฉับพลันเกิดขึ้นซึ่งทำให้เราถามทำนองนี้ว่า “พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงเป็นห่วงว่าพวกเรากำลังจะพินาศหรือ?” [มาระโก 4:38] อย่างไรก็ตามเรามักจะได้ยินถ้อยคำทำนองนี้ในความเงียบสงบหลังเกิดพายุว่า “ทำไมพวกเจ้ากลัว? พวกเจ้าไม่มี [ศรัทธา] หรือ?” [มาระโก 4:40]
ในบรรดาพวกเราคงไม่มีใครคิดว่าเรา ไม่มี ศรัทธา แต่ข้าพเจ้าคิดว่าคำตำหนิที่อ่อนโยนของพระเจ้าในที่นี้สมควรอย่างยิ่ง พระเยโฮวาห์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ผู้ที่เราพูดว่าเราวางใจและผู้ที่เรารับพระนามของพระองค์ไว้กับเรา คือพระองค์ผู้ตรัสว่า “จงมีภาคพื้นในระหว่างน้ำ แยกน้ำออกจากกัน” (ปฐมกาล 1:6) และพระองค์คือผู้ตรัสเช่นกันว่า “น้ำที่อยู่ใต้ฟ้าจงรวมอยู่ในที่เดียวกัน ที่แห้งจงปรากฏขึ้น” (ปฐมกาล 1:9) ใช่แต่เท่านั้น พระองค์คือผู้ทรงแยกทะเลแดง โดยทรงยอมให้ชาวอิสราเอลผ่านไปบนดินแห้ง (ดู อพยพ 14:21-22) แน่นอนว่าเราไม่ควรประหลาดใจที่พระองค์ทรงสามารถบัญชาธาตุบางอย่างที่มีผลต่อทะเลกาลิลี และศรัทธาของเราควรเตือนเราว่าพระองค์ทรงทำให้ผืนน้ำอันปั่นป่วนในชีวิตเราสงบได้ …
เราทุกคนจะมีความยากลำบากบางอย่างในชีวิตเรา ข้าพเจ้าคิดว่าเรามีเหตุมีผลที่จะมั่นใจในเรื่องนั้น บางอย่างมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง สร้างความเสียหาย และทำลายเรา บางอย่างอาจถึงกับบีบคั้นศรัทธาของเราในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรักเรา ผู้ทรงมีเดชานุภาพในการบรรเทาทุกข์แทนเรา
ข้าพเจ้าคิดว่าพระบิดาของเราทั้งปวงจะตรัสกับผู้ที่วิตกเหล่านั้นว่า “ทำไมพวกเจ้ากลัว? พวกเจ้าไม่มี [ศรัทธา] หรือ?” และแน่นอนว่าศรัทธาเช่นนั้นต้องเป็นศรัทธาสำหรับการเดินทางทั้งหมด ประสบการณ์ทั้งมวล ความบริบูรณ์ของชีวิตเรา ไม่เฉพาะในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และช่วงพายุโหมเท่านั้น …
พระเยซูตรัสว่า “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิดเพราะว่าเราชนะโลกแล้ว” (ยอห์น 16:33)10
5
เมื่อเราทำให้ชีวิตมีศูนย์รวมอยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอด เราไม่ต้องกลัว และความกังวลของเราจะเปลี่ยนเป็นปีติ
ข้าพเจ้ารู้เกี่ยวกับชีวิตที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายของท่านมากพอจะรู้ว่าบางครั้งท่านท้อแท้ใจ ท่านอาจถึงกับกังวลบ้างเป็นครั้งคราว ข้าพเจ้ารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนั้น …
ข่าวสารของข้าพเจ้าถึงท่านวันนี้คือ “อย่ากลัวเลย เจ้าฝูงแกะน้อย” คือการกระตุ้นให้ท่านชื่นชมยินดีในพรมากมายของชีวิต คือการเชื้อเชิญให้ท่านรู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและความรักของพระบิดาในสวรรค์ของเรา ชีวิตวิเศษยิ่ง แม้ในยามยาก มีความสุข ปีติ และสันติที่จุดพักตามทาง และความรู้สึกเหล่านั้นไม่หมดสิ้นตรงปลายถนน
แน่นอนว่ามีเรื่องราวให้กังวลสารพัด—บางเรื่องจริงจังมาก—แต่นั่นคือสาเหตุที่เราพูดถึงศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลในด้านของพระกิตติคุณ ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ชีวิตเราเป็น “ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์” และเราพยายามเน้นพรและโอกาสของเราขณะที่เราไม่ใส่ใจความผิดหวังและความกังวล “จงค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร, สวดอ้อนวอนเสมอ, และจงเชื่อ,” พระคัมภีร์กล่าว “และสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเจ้า” (คพ. 90:24) ข้าพเจ้าต้องการเตือนท่านถึงสัญญาดังกล่าว …
โปรดจำสิ่งนี้ไว้ ถ้าชีวิตเราและศรัทธาของเรามีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ย่อมไม่มีสิ่งใดผิดพลาดถาวรตลอดไป อีกนัยหนึ่งคือ ถ้าชีวิตเราไม่มีศูนย์รวมอยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์ ย่อมไม่มีความสำเร็จใดถูกต้องถาวรตลอดไป …
เราทุกคนต่อสู้กับปัญหาสุขภาพเป็นครั้งคราว—หลายคนต่อสู้เป็นประจำ ความเจ็บไข้และโรคภัยเป็นภาระส่วนหนึ่งของความเป็นมรรตัย จงมีศรัทธาและคิดบวก พลังของฐานะปุโรหิตมีจริง และมีสิ่งดีมากมายในชีวิตแม้เราต้องดิ้นรนทางกาย ปีติคือการรู้ว่าจะไม่มีการบาดเจ็บหรือโรคภัยในการฟื้นคืนชีวิต
ข้อกังวลบางอย่างของเราอาจมาในรูปแบบของการล่อลวง สำหรับคนอื่นๆ อาจเป็นการตัดสินใจได้ยากเกี่ยวกับการศึกษา หรืออาชีพ หรือเงิน หรือการแต่งงาน ไม่ว่าภาระของท่านเป็นเช่นไร ท่านจะพบพลังที่ท่านต้องการในพระคริสต์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นอัลฟาและโอเมกา ปฐมและอวสาน พระองค์ทรงอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ และทรงเป็นมากกว่าผู้สังเกตการณ์ในชีวิตเรา …
ถ้าแอกซึ่งเราดิ้นรนแบกอยู่นี้คือบาป ข่าวสารก็เหมือนเดิม พระคริสต์ทรงทราบน้ำหนักเต็มพิกัดของบาปเราเพราะทรงแบกมาก่อน ถ้าภาระของเราไม่ใช่บาปหรือการล่อลวง แต่คือความเจ็บไข้หรือความยากไร้หรือการปฏิเสธ นั่นก็เหมือนกัน พระองค์ทรงทราบ …
พระองค์ทรงทนทุกข์ยิ่งกว่าบาปของเรามาก พระองค์ผู้ซึ่งอิสยาห์เรียกว่า “ผู้มีโทมนัส” (อิสยาห์ 53:3; โมไซยาห์ 14:3) ทรงทราบปัญหาทุกอย่างที่เราประสบอย่างถ่องแท้เพราะทรงเลือกแบกรับน้ำหนักเต็มพิกัดของความเดือดร้อนและความเจ็บปวดทั้งหมดของเรา …
พี่น้องทั้งหลาย ท่านมีและจะมีความกังวลและความท้าทายหลายรูปแบบ แต่จงน้อมรับชีวิตอย่างชื่นบานและเปี่ยมด้วยศรัทธา ศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ สวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้า เชื่อฟังเสียงของพระวิญญาณและศาสดาพยากรณ์ ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยผู้อื่น ท่านจะพบความสุขอย่างยิ่งในวิถีเช่นนั้น วันอันน่าชื่นชมยินดีจะมาถึงเมื่อความกังวลทั้งหมดของท่านจะเปลี่ยนเป็นปีติ
ดังที่โจเซฟ สมิธเขียนถึงวิสุทธิชนที่กำลังกระวนกระวายใจจากห้องขังในคุกลิเบอร์ตี้ว่า
ให้เรา ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริงเถิด; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์ [คพ. 123:17; เน้นตัวเอน)
[ในพระดำรัสของพระเจ้าต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ:]
อย่ากลัวเลย, เจ้าฝูงแกะน้อย; จงทำดีเถิด; ต่อให้แผ่นดินโลกและนรกรวมกันต่อต้านเจ้า, แต่หากเจ้าสร้างขึ้นบนศิลาของเรา, พวกเขาจะเอาชนะไม่ได้. …
จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว.
จงดูแผลถูกแทงที่สีข้างเรา, และรอยตะปูที่มือและเท้าของเราด้วย; จงซื่อสัตย์, รักษาบัญญัติของเรา, และเจ้าจะสืบทอดอาณาจักรแห่งสวรรค์เป็นมรดก [คพ. 6:34–37]11
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
พิจารณาว่าท่านจะตอบคำถามของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 1 อย่างไร เราจะทำให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์รวมในชีวิตเรามากขึ้นได้อย่างไร เราจะทำให้พระองค์เป็นศูนย์รวมในบ้านเรามากขึ้นได้อย่างไร เราจะรู้จักพระคริสต์ดีกว่าที่เรารู้จักพระองค์อยู่แล้วได้อย่างไร
-
“เราสูญเสีย” อะไรจึงได้รับความหวัง ปีติ และสันติสุขที่พระคริสต์ทรงมอบให้ (ดู หัวข้อ 2) ท่านรู้สึกถึงความหวัง สันติสุข และปีติที่มาจากพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด
-
ท่านคิดว่าเหตุใด “ความต้องการที่สำคัญที่สุดในโลกคือศรัทธาที่จริงใจและมีพลังในคำสอนพื้นฐานของเยซูแห่งนาซาเร็ธ” (ดู หัวข้อ 3) ท่านจะแสดงศรัทธาในคำสอนของพระคริสต์ได้อย่างไรเมื่อท่านรู้สึกว่ามีคน “ทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจ เข้าใจท่านผิด ปฏิบัติต่อท่านอย่างไม่เป็นธรรมหรือไร้เมตตา หรือทำบาปต่อท่าน”
-
เราเรียนรู้อะไรบ้างจากคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับความกลัวและศรัทธา (ดู หัวข้อ 4) ศรัทธาช่วยให้เราเอาชนะความกลัวได้อย่างไร ใคร่ครวญโอกาสต่างๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้พายุในชีวิตท่านสงบขณะท่านใช้ศรัทธาในพระองค์
-
คำแนะนำของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 5 จะช่วยให้เรา “น้อมรับชีวิตอย่างชื่นบาน” ได้อย่างไรแม้เมื่อเราประสบโทมนัส ความผิดหวัง และความเจ็บไข้ เราจะมองไกลถึงนิรันดรมากขึ้นได้อย่างไร พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นได้อย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
มัทธิว 11:28–30; ยอห์น 14:6; 2 นีไฟ 31:19–21; แอลมา 5:14–16; 7:10–14; 23:6; ฮีลามัน 3:35; 5:9–12; คพ. 50:40–46; 93:1
ความช่วยเหลือด้านการศึกษา
“ขณะศึกษา จงหมั่นเอาใจใส่แนวคิดที่จะมาสู่ความรู้สึกนึกคิดของท่านซึ่งจะมาสู่ใจท่าน” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], 18) ท่านอาจบันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ แม้ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำที่ท่านกำลังอ่าน อาจเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงต้องการเปิดเผยต่อท่าน