บทที่ 15
ศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้า
“ขณะที่ [พระเยซู] ทรงรับขนมปังมาหัก และทรงรับถ้วยมาอวยพร พระองค์ทรงกำลังมอบพระองค์เองเป็น องค์ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าผู้จะประทานการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณและความรอดนิรันดร์”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่แข็งขันและบิดาที่ดีผู้ไม่นับถือศาสนาใดในเวลานั้น บิดาท่านไม่คัดค้านการมีส่วนร่วมในศาสนจักรของครอบครัว—แม้ถึงกับเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกกับพวกท่านเป็นครั้งคราว—แต่เขาไม่ต้องการให้ลูกรับบัพติศมาเมื่ออายุ 8 แปดขวบ เขารู้สึกว่าลูกๆ ไม่ควรตัดสินใจดังกล่าวจนกว่าจะโตพอ เมื่อฮาเวิร์ดอายุ 12 ปี เขารับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและรับการแต่งตั้งเป็นมัคนายกไม่ได้เพราะไม่ได้รับบัพติศมา ถึงแม้จะสามารถมีส่วนร่วมกับเยาวชนชายในกิจกรรมอื่น แต่ฮาเวิร์ดผิดหวังอย่างยิ่งที่ไม่สามารถส่งผ่านศีลระลึกกับพวกเขาได้
“ข้าพเจ้านั่งในการประชุมศีลระลึกกับเด็กผู้ชายคนอื่น” ท่านจำได้ “เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาไปส่งผ่าน ข้าพเจ้าจะนั่งเศร้าซึมอยู่ในที่นั่งของตนเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถูกทิ้ง ข้าพเจ้าต้องการส่งผ่านศีลระลึก แต่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้รับบัพติศมา”1
ราวห้าเดือนหลังจากวันเกิดปีที่ 12 ฮาเวิร์ดพูดโน้มน้าวจนบิดายอมให้ท่านรับบัพติศ-มา ไม่นานหลังจากนั้น ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นมัคนายก “ข้าพเจ้าจำครั้งแรกที่ส่งผ่านศีลระลึกได้” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้ากลัว แต่ตื่นเต้นที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว หลังการประชุม อธิการชมเชยการวางตัวของข้าพเจ้า”2
เมื่อฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ได้รับเรียกเป็นอัครสาวก ท่านมีส่วมร่วมในศาสนพิธีศีลระลึกกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านอื่นในพระวิหารซอลท์เลคเป็นประจำ เอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์ผู้รับใช้กับเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ในโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงประสบการณ์ของการได้ยินท่านให้พรศีลระลึกดังนี้
“ข้าพเจ้าต้องการให้เด็กชายฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทั่วศาสนจักรได้มีโอกาสฟังเอ็ลเดอร์ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ให้พรศีลระลึกเฉกเช่นที่เราได้ฟังในพระวิหาร ท่านเป็นพยานพิเศษของพระคริสต์ ขณะข้าพเจ้าฟังท่านทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรศีลระลึก ข้าพเจ้ารู้สึกถึงพลังลึกซึ้งทางวิญญาณในจิตวิญญาณท่าน ทุกถ้อยคำชัดเจนและมีความหมาย ท่านไม่เร่ง ไม่รีบ ท่านเป็นกระบอกเสียงสำหรับอัคร-สาวกทุกคนในการกราบทูลพระบิดาบนสวรรค์ของเรา”3
เรื่องราวเหล่านี้แสดงตัวอย่างเรื่องความคารวะชั่วชีวิตของประธานฮันเตอร์ที่มีต่อเครื่องหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระคริสต์
คำสอนในบทนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีหนึ่งที่ประธานฮันเตอร์พยายามช่วยให้สมาชิกศาสนจักรเข้าใจถึงความสำคัญของศีลระลึกคืออธิบายความเชื่อมโยงของศีลระลึกกับการฉลองปัสกาสมัยโบราณและทบทวนเหตุการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำศาสน-พิธีนี้ระหว่างเสวยปัสกากับเหล่าสาวก
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
ปัสกาประกาศว่าความตายไม่มีอำนาจถาวรต่อเรา
[ปัสกา] เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่สุดที่ชาวยิวเฉลิมฉลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนได้รับกฎของโมเสสที่ใช้เป็นจารีตประเพณี ปัสกาเตือนคนทุกรุ่นให้นึกถึงการกลับไปแผ่นดินที่สัญญาไว้ของลูกหลานอิสราเอลและความยากลำบากแสนสาหัสในอียิปต์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ปัสกาทำให้ระลึกถึงการอยู่ใต้ปกครองและการเป็นทาสของผู้คนผ่านไปจนถึงเสรีภาพและการปลดปล่อย ปัสกาเป็นเทศกาลของฤดูใบไม้ผลิสมัยพันธสัญญาเดิมเมื่อโลกของธรรมชาติตื่นมารับชีวิต การเติบโต และการผลิดอกออกผล
ปัสกาเชื่อมโยงกับการถือปฏิบัติอีสเตอร์ของชาวคริสต์ … ปัสกา [และอีสเตอร์] เป็นพยานถึงของประทานอันยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้และการเสียสละที่เกี่ยวข้องกับการมอบของประทานนั้น พิธีฉลองทางศาสนาที่สำคัญยิ่งทั้งสองพิธีนี้ประกาศว่าความตายจะ “ผ่าน” เราไปและจะไม่มีอำนาจถาวรต่อเรา และหลุมศพจะไม่มีชัยชนะ
ในการปลดปล่อยลูกหลานอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระเยโฮวาห์ตรัสกับโมเสสจากพุ่มไม้ลุกโชนที่ซีนายว่า
“เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของพวกเขาเพราะการกดขี่ของพวกนายทาส เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา …
“บัดนี้จงไปเถิด เราจะใช้เจ้าไปเข้าเฝ้าฟาโรห์เพื่อจะได้พาประชากรของเราคือชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์” (อพยพ 3:7, 10)
เพราะฟาโรห์ไม่ยอม ภัยพิบัติมากมายจึงเกิดกับอียิปต์ แต่ “พระทัยของฟาโรห์กระด้างและไม่ยอมปล่อยชนชาติอิสราเอลไป” (อพยพ 9:35)
เพื่อตอบสนองการปฏิเสธของฟาโรห์ในครั้งนั้น พระเจ้าตรัสดังนี้ “และลูกหัวปีทั้งหมดในแผ่นดินอียิปต์จะตาย ตั้งแต่พระราชบุตรหัวปีของฟาโรห์ผู้ประทับบนพระที่นั่ง จนถึงบุตรหัวปีของทาสหญิงผู้อยู่หลังเครื่องโม่เแป้ง ทั้งลูกหัวปีของสัตว์ด้วย” (อพยพ 11:5)
เพื่อเป็นการป้องกันการลงโทษชาวอียิปต์ครั้งสุดท้ายและน่ากลัวที่สุดนี้ พระเจ้าจึงทรงแนะนำโมเสสให้ลูกหลานอิสราเอลทุกคนฆ่าลูกแกะปราศจากตำหนิ
“แล้วเอาเลือดทาที่วงกบประตูทั้งด้านบนและด้านข้างทั้งสองข้างของบ้านที่พวกเขาเลี้ยงกันนั้นด้วย
“ในคืนวันนั้นให้พวกเขากินเนื้อปิ้งกับขนมปังไร้เชื้อและผักรสขม …
“เจ้าจงเลี้ยงกันดังนี้คือ ให้คาดเอว สวมรองเท้า และถือไม้เท้าไว้ในมือ และรีบกินโดยเร็ว การเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระยาห์เวห์ …
“เมื่อลูกหลานของพวกท่านถามว่า พิธีนี้หมายความว่าอะไร
“พวกท่านจงตอบว่า เป็นการถวายสัตวบูชาปัสกาแด่พระยาห์เวห์ผู้ทรงผ่านเว้นบ้านของชนชาติอิสราเอลในอียิปต์” (อพยพ 12:7–8, 11, 26–27)
หลังจากชาวอิสราเอลหนีพ้นเงื้อมมือของฟาโรห์และความตายเกิดกับบุตรหัวปีของชาวอียิปต์แล้ว ชาวอิสราเอลก็ข้ามแม่น้ำจอร์แดนได้ในที่สุด มีบันทึกไว้ว่า “ประชาชนอิสราเอลได้ตั้งค่ายที่กิลกาล และถือเทศกาลปัสกาในวันที่สิบสี่เวลาเย็น ณ ที่ราบเมืองเยรีโค” (โยชูวา 5:10) และเป็นเช่นนั้นกับครอบครัวชาวยิวปีแล้วปีเล่าต่อจากนั้น รวมทั้งครอบครัวของโยเซฟกับมารีย์และพระกุมารเยซู4
2
ในช่วงเทศกาลฉลองปัสกา พระผู้ช่วยให้รอดทรงตั้งศาสนพิธีศีลระลึก
ตามที่กิตติคุณของยอห์นกล่าวชัดเจน เทศกาลปัสกาเป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระคริสต์ ที่ปัสกาครั้งแรกในการปฏิบัติศาสน-กิจของพระเยซู พระองค์ทรงทำให้พระพันธกิจของพระองค์เป็นที่รู้โดยทรงชำระพระวิหารเมื่อทรงขับไล่คนรับแลกเงินและพ่อค้าสัตว์ออกไปจากบริเวณพระวิหาร ในปัส-กาครั้งที่สอง พระเยซูทรงแสดงเดชานุภาพโดยทรงทำปาฏิหาริย์กับขนมปังและปลา ที่นี่พระคริสต์ทรงแนะนำสัญลักษณ์ซึ่งต่อมาจะมีความหมายมากขึ้นในห้องชั้นบน “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต” พระองค์ตรัส “คนที่มาหาเราจะไม่หิว และคนที่วางใจในเราจะไม่กระหายอีกเลย” (ยอห์น 6:35)
แน่นอนว่างานเลี้ยงปัสกาครั้งสุดท้ายของพระองค์จะสะท้อนงานฉลองที่มีมาแต่โบราณนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ราวสัปดาห์สุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูทรงทราบแน่ชัดว่าปัสกาครั้งนี้จะมีความหมายต่อพระองค์ จะเกิดเรื่องแน่นอน มัทธิวบันทึกว่า
“เมื่อพระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านี้เสร็จแล้ว จึงตรัสกับบรรดาสาวกของพระองค์ว่า
“พวกท่านรู้อยู่ว่าอีกสองวันจะถึงเทศกาลปัสกา และบุตรมนุษย์จะถูกมอบตัวให้เอาไปตรึงที่กางเขน” (มัทธิว 26:1–2)
โดยทรงทราบดีว่ามีอะไรรออยู่ พระเยซูจึงทรงขอให้เปโตรกับยอห์นจัดเตรียมอาหารปัสกา พระองค์รับสั่งให้พวกเขาไปถามเจ้าของบ้านว่า “ห้องที่เราจะรับประทานปัสกากับพวกสาวกของเรานั้นอยู่ที่ไหน?” (ลูกา 22:11)
ในความหมายหนึ่ง ความอ้างว้างของการประสูติเหมือนกันกับความอ้างว้างของการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สุนัขจิ้งจอกมีโพรงและนกมีรัง แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่วางศีรษะไม่ว่าจะในการประสูติหรือในโมงสุดท้ายของพระองค์ขณะทรงเป็นมรรตัย [ดู มัทธิว 8:20]
ในที่สุด การเตรียมอาหารปัสกาก็เสร็จสมบูรณ์ตามประเพณีที่สืบทอดมาเกือบหนึ่งพันห้าร้อยปี พระเยซูประทับกับเหล่าสาวกและหลังจากเสวยลูกแกะพลีบูชา ขนมปัง และเหล้าองุ่นของเทศกาลเก่าแก่นี้แล้ว พระองค์ทรงสอนความหมายที่ใหม่กว่าและศักดิ์สิทธิ์กว่าของพรแต่โบราณนั้นจากพระผู้เป็นเจ้า
พระองค์ทรงหยิบขนมปังไร้เชื้อแผ่นกลมแบน โมทนาพระคุณ แล้วหักเป็นชิ้นๆ ส่งให้เหล่าอัครสาวก ตรัสว่า “นี่เป็นกายของเรา ซึ่งให้ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย จงทำอย่างนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรา” (ลูกา 22:19)
เมื่อทรงรินใส่ถ้วย ทรงหยิบถ้วย โมทนาพระคุณ เชื้อเชิญพวกเขาให้ดื่ม โดยตรัสว่า “ถ้วยนี้ … เป็นพันธสัญญาใหม่โดยโลหิตของเรา” (ลูกา 22:20) เปาโลกล่าวดังนี้ “เพราะว่าเมื่อใดที่พวกท่านกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1 โครินธ์ 11:26)
ขนมปังและเหล้าองุ่น ไม่ใช่สัตว์และพืชสมุนไพร จะกลายเป็นเครื่องหมายแห่งพระวรกายและพระโลหิตของพระเมษโปดก เครื่องหมายให้กินและดื่มด้วยความคารวะและในความระลึกถึงพระองค์ตลอดไป
ในรูปแบบที่เรียบง่ายแต่น่าประทับใจนี้พระผู้ช่วยให้รอดทรงตั้งศาสนพิธีที่เวลานี้เรียกว่าศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้า เนื่องด้วยความทุกขเวทนาในเกทเสมนี การพลีพระชนม์ชีพที่คัลวารี และการฟื้นคืนพระชนม์จากอุโมงค์ในสวน พระเยซูจึงทรงทำให้กฏเก่าแก่มีสัมฤทธิผลและนำเข้าสู่สมัยการประทานใหม่บนพื้นฐานความเข้าใจที่สูงกว่าและศักดิ์สิทธิ์กว่าเกี่ยวกับกฎแห่งการเสียสละ จะไม่มีการเรียกร้องให้มนุษย์ถวายลูกแกะหัวปีจากฝูงอีก เพราะพระบุตรหัวปีของพระผู้เป็นเจ้าได้เสด็จมาถวายพระองค์เองเป็น “การพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” แล้ว
นี่คือบารมีแห่งการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ ไม่ใช่แค่การผ่านพ้นความตาย แต่เป็นของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์โดยการพลีบูชาอันไม่มีขอบเขต5
ช่างเหมาะเจาะกระไรเช่นนี้ที่ในช่วงถือปฏิบัติพันธสัญญาแต่โบราณนี้ของความคุ้มครอง [อาหารปัสกา] พระเยซูทรงตั้งเครื่องหมายของพันธสัญญาใหม่แห่งความปลอดภัย—เครื่องหมายแห่งพระวรกายและพระโลหิตของพระองค์เอง ขณะที่พระองค์ทรงรับขนมปังมาหัก และทรงรับถ้วยมาอวยพร พระองค์ทรงกำลังเสนอพระองค์องค์เป็น พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าผู้จะประทานการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณและความรอดนิรันดร์6
3
การเข้าร่วมศีลระลึกเป็นโอกาสให้เราทบทวนชีวิตเราและต่อพันธสัญญาของเรา
ไม่นานก่อนข้าพเจ้า … [ได้รับ] สิทธิพิเศษให้เข้าร่วมพิธีศีลระลึกในวอร์ดบ้านของเราเอง … ขณะปุโรหิตกำลังเตรียมศีลระลึก มีคนนำเราให้ร้องเพลงว่า
พระบิดาโปรดฟังเราวอน
ประทานพรวันศักดิ์สิทธิ์นี้
เมื่อเรารับเครื่องหมายแทนพลี
เราพักที่ความรักพระคริสต์
[เพลงสวด, บทเพลงที่ 78]
ปุโรหิตคนหนึ่งคุกเข่าสวดอ้อนวอนให้พรขนมปังที่ฉีกแล้วว่า “เพื่อพวกเขาจะรับประทานในความระลึกถึงพระวรกายของพระบุตรของพระองค์, และเป็นพยานต่อพระองค์, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, ว่าพวกเขาเต็มใจรับพระนามของพระบุตรของพระองค์, และระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (คพ. 20:77) มัคนายกแยกย้ายกันไปทั่วห้องนมัสการเพื่อส่งผ่านขนมปังที่ฉีกแล้ว มัคนายกคนหนึ่งมาที่แถวของเราและถือถาดสีเงินขณะข้าพเจ้ารับส่วน ต่อจากนั้นข้าพเจ้าถือถาดให้ซิสเตอร์ฮันเตอร์รับส่วน และเธอถือถาดให้คนถัดไปรับส่วน ด้วยเหตุนี้ถาดจึงส่งต่อไปตามแถว แต่ละคนรับส่วนและส่งผ่าน
ข้าพเจ้านึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนค่ำเมื่อเกือบสองพันปีก่อนเมื่อพระเยซูทรงถูกทรยศ … พระองค์ [ทรง] แนะนำให้ใช้ศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้าแทน [สัตว] บูชาและเป็นเครื่องเตือนใจทุกคนที่รับส่วนว่าพระองค์ทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อพวกเขาแล้ว และเป็นเครื่องเตือนใจเพิ่มเติมถึงพันธสัญญาที่พวกเขาทำไว้ว่าจะติดตามพระองค์ รักษาพระบัญญัติของพระองค์ และซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ขณะที่ [ข้าพเจ้า] นึกถึงเหตุการณ์นี้ คำตักเตือนของเปาโลในจดหมายที่ท่านเขียนถึงศาสนจักรในโครินธ์เข้ามาในใจข้าพเจ้า ท่านกล่าวว่า “ฉะนั้นถ้าใครกินขนมปัง หรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสม เขาก็ทำผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า
“ทุกคนจงสำรวจตัวเอง แล้วจึงกินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้
“เพราะว่าคนที่กินและดื่มโดยไม่ได้ตระหนักถึงพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็กินและดื่มเป็นเหตุให้ตนเองถูกลงโทษ” (1 โครินธ์ 11:27–29)
ข้าพเจ้าไม่สบายใจ ข้าพเจ้าถามตนเองดังนี้ “ข้าพเจ้าให้พระผู้เป็นเจ้าอยู่เหนือสิ่งอื่นทั้งหมดและรักษาพระบัญญัติทุกข้อของพระองค์หรือไม่” ตามมาด้วยการใคร่ครวญและตั้งปณิธาน การทำพันธสัญญากับพระเจ้าว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์เสมอเป็นข้อผูกมัดที่จริงจัง และการต่อพันธสัญญานั้นโดยการรับส่วนศีลระลึกถือว่าจริงจังเท่าเทียมกัน ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของความคิดขณะส่งผ่านศีลระลึกมีความสำคัญยิ่ง นั่นเป็นช่วงเวลาของการสำรวจตนเอง การทบทวนความคิด การวินิจฉัยตนเอง—เวลาให้ใคร่ครวญและตั้งปณิธาน
ถึงตอนนี้ปุโรหิตอีกคนคุกเข่าที่โต๊ะ สวดอ้อนวอนขอให้ทุกคนที่จะดื่ม “ทำในความระลึกถึงพระโลหิตของพระบุตรของพระองค์, ซึ่งหลั่งเพื่อพวกเขา;…ว่าพวกเขาระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, เพื่อพวกเขาจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขา” (คพ. 20:79)
มีการพินิจไตร่ตรองเงียบๆ มีเพียงเสียงร้องของทารกน้อยทำลายความเงียบแต่มารดาของเขาอุ้มเขาไว้แนบอกอย่างรวดเร็ว สิ่งใดที่ทำลายความเงียบระหว่างศาสน-พิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ดูเหมือนไม่สมควร แต่เสียงของเด็กน้อยคงจะไม่ทำให้พระเจ้าทรงขุ่นเคือง พระองค์เองทรงมีพระมารดาที่รักอุ้มพระองค์อย่างระมัดระวังตอนเริ่มพระชนม์ชีพมรรตัยในเบธเลเฮมและสิ้นสุดบนกางเขนแห่งคัลวารี
เยาวชนชายสิ้นสุดการส่งผ่านศีลระลึก ต่อจากนั้นตามด้วยคำพูดให้กำลังใจและคำสอน เพลงสวดปิดและการสวดอ้อนวอนปิด และช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่ “พ้นทุกข์ทางโลกเรา” สิ้นสุดลง [ดู “สวดอ้อนวอนที่ลับตา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 66] ระหว่างทางกลับบ้าน … ความคิดนี้เข้ามาในใจข้าพเจ้า: จะวิเศษเพียงใดถ้าทุกคนมีความเข้าใจเรื่องจุดประสงค์ของบัพติศมาและเต็มใจยอมรับบัพติศมา มีความปรารถนาจะรักษาพันธ-สัญญาที่ทำไว้ในศาสนพิธีนั้นว่าจะรับใช้พระเจ้าและดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติ อีกทั้งมีความปรารถนาจะรับส่วนศีลระลึกในวันสะบาโตเพื่อต่อพันธสัญญาเหล่านั้นว่าจะรับใช้พระองค์และซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ …
การได้เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกและรับส่วนศีลระลึกทำให้วันนั้นมีความหมายมากขึ้น และข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเข้าใจเหตุผลดีขึ้นว่าเหตุใดพระเจ้าตรัสดังนี้ “และเพื่อเจ้าจะรักษาตัวให้หมดจดจากโลกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น, เจ้าจงไปยังบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนและถวายศีลระลึกของเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของเรา;
“เพราะตามจริงแล้ว นี่คือวันที่กำหนดไว้ให้เจ้าเพื่อพักผ่อนจากการทำงานของเจ้า, และเพื่อแสดงความจงรักของเจ้าแด่พระผู้สูงสุด.” (คพ. 59:9–10)7
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับปัสกาในอิสราเอลโบราณ (ดู หัวข้อ 1) เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากปัสกา ปัสกาเชื่อมโยงกับการถือปฏิบัติอีสเตอร์อย่างไร
-
ทบทวนเรื่องราวของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงตั้งศีลระลึก (ดู หัวข้อ 2) เหตุใดเหตุการณ์นี้จึงสำคัญต่อท่าน ศีลระลึกเป็น “พันธสัญญาแห่งความปลอดภัย” สำหรับเราในด้านใด
-
ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องราวการรับส่วนศีลระลึกของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 3 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้เพื่อทำให้ศีลระลึกมีความหมายมากขึ้น การรับส่วนศีลระลึกเป็นพรแก่ท่านอย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
1 โครินธ์ 5:7–8; 11:23–29; 3 นีไฟ 18:3–14; 20:8–9; โมโรไน 6:5–6; คพ. 20:75–79; 27:1–2
ความช่วยเหลือด้านการสอน
“เมื่อเราสอนพระกิตติคุณ เราควรยอมรับด้วยความถ่อมใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นครูตัวจริง สิทธิพิเศษของเราคือ รับใช้เสมือนหนึ่งเครื่องมือซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จะสอน เป็นพยาน ปลอบโยน และดลใจโดยผ่านเรา” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 41)