บทที่ 8
นำพระกิตติคุณไปให้ชาวโลก
“เราอยู่ในงานของการช่วยจิตวิญญาณให้รอด ของการเชื้อเชิญผู้คนให้มาหาพระคริสต์”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
คริสต์ศักราช 1979 เอ็ลเดอร์ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกโคว-รัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่ออย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นความก้าวหน้ามากที่สุดบางอย่างในการกระจายพระกิตติคุณไปยังชนทุกชาติซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยการประทานนี้หรือสมัยการประทานก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเราจะสามารถหวนนึกถึงความหลัง … และบันทึกได้เช่นเดียวกับลูกาว่า ‘การประกาศพระวจนะของพระเจ้าก็เจริญขึ้น’ (กิจการของอัครทูต 6:7)1
สมัยที่เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์พูดถ้อยคำเหล่านี้ มีข้อจำกัดทางการเมืองห้ามผู้สอนศาสนาสอนพระกิตติคุณในประเทศส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันออกและในสหภาพโซเวียต ภายใน 10 ปี ข้อจำกัดหลายข้อเริ่มถูกยกเลิก คริสต์ศักราช 1989 และ 1990 กำแพงเบอร์ลินซึ่งแยกเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออกเกือบ 30 ปีถูกทุบทิ้ง ประธานฮันเตอร์กำลังรับใช้เป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเวลานั้น และท่านแสดงความคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นและการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกว่า
“ความสนใจส่วนใหญ่ในช่วงนี้ทุ่มเทให้แก่กำแพงเบอร์ลิน แน่นอนว่าเราทุกคนดีใจที่ได้เห็นว่ากำแพงพังลงมา เพราะนั่นหมายถึงเสรีภาพที่เกิดขึ้นใหม่ … ขณะที่เราพยายามเข้าใจวิญญาณของความปรองดองที่คนทั่วโลกรู้สึกและให้ความหมายในบริบทพระกิตติคุณ เราต้องถามตัวเราว่า ไม่ใช่พระหัตถ์ของพระเจ้าหรอกหรือที่กำลังขจัดอุปสรรคทางการเมืองและเปิดช่องในกำแพงที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถรุกรานได้ให้แก่การสอนพระกิตติคุณตามแผนและตารางเวลาของพระองค์”2
ประธานฮันเตอร์รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้วางความรับผิดชอบสำคัญไว้ให้สมาชิกของศาสนจักร ท่านกล่าวว่า ยิ่งหลายประเทศเปิดรับงานเผยแผ่ศาสนามากเท่าใด เรายิ่งต้องการผู้สอนศาสนามากเท่านั้นเพื่อทำงานมอบหมายในการนำพระกิตติคุณไปสู่ชาวโลกให้เกิดสัมฤทธิผล3
ความกระตือรือร้นของประธานฮันเตอร์ในการยื่นมือช่วยเหลือบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือศาสนา ประจักษ์ชัดในงานของท่านในตะวันออกลาง ฝ่ายประธานสูงสุดให้งานมอบหมายสำคัญแก่ท่านในเยรูซาเล็ม รวมไปถึงการควบคุมดูแลงานก่อสร้างอุทยานอนุสรณ์ฮอร์สัน ไฮด์ และศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้ ถึงแม้เขตดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้เผยแพร่ศาสนา แต่ประธานฮันเตอร์สร้างมิตรภาพอันยั่งยืนในหมู่คนที่ท่านทำงานด้วย ทั้งชาวยิวและชาวอาหรับ “จุดประสงค์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือทำให้เกิดความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และภารดรภาพขั้นสูงสุด” ท่านกล่าว4
ในการทำงานของท่านกับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทั่วโลก ข่าวสารของประธานฮันเตอร์เหมือนเดิม “เราเป็นพี่น้องของท่าน—เราไม่ได้มองประเทศหรือชนชาติใดเป็นพลเมืองชั้นสอง เราเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้ … ตรวจสอบข่าวสารของเราและรับมิตรภาพของเรา”5
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้่นฟูมีไว้สำหรับทุกคน บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่าทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณที่เราสอนและศาสนพิธีที่เราประกอบ เป็นความเชื่อสำหรับทั่วโลกและเป็นข่าวสารสำหรับทุกคน ไม่ถูกจำกัดหรือเอนเอียงหรือขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์หรือสมัยนิยม แก่นสารของพระกิตติคุณเป็นจริงในสากลโลกและชั่วนิรันดร์ ข่าวสารของพระกิตติคุณมีไว้สำหรับคนทั้งโลก ได้รับการฟื้นฟูในยุคสุดท้ายเพื่อสนองความต้องการพื้นฐานของทุกประชาติ ตระกูล ภาษา และผู้คนบนแผ่นดินโลก พระกิตติคุณได้รับการสถาปนาอีกครั้งเช่นที่เป็นมาในกาลเริ่มต้น—เพื่อสร้างความเป็นพี่น้อง ปกปักรักษาความจริง และช่วยจิตวิญญาณให้รอด …
ในข่าวสารของพระกิตติคุณ เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดเป็นครอบครัวเดียวที่สืบตระกูลมาจากพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ชายหญิงทั้งปวงไม่เพียงมีเชื้อสายทางกายย้อนกลับไปถึงอาดัมและเอวาบิดามารดาทางโลกคนแรกของพวกเขาเท่านั้น แต่มีมรดกทางวิญญาณย้อนกลับไปถึงพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ด้วย ด้วยเหตุนี้ทุกคนบนแผ่นดินโลกจึงเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริงในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า
การเข้าใจและยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของทุกคนจะทำให้มนุษย์ทุกคนเห็นค่าความห่วงใยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อพวกเขาและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันได้ดีที่สุด นี่เป็นข่าวสารแห่งชีวิตและความรักที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับประเพณีทั้งหมดบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ภาษา จุดยืนทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ระดับการศึกษา หรือภูมิหลังทางวัฒนธรรม เพราะเราทุกคนมีเชื้อสายเดียวกันทางวิญญาณ เรามีต้นตระกูลอันสูงส่ง ทุกคนเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า
ในทัศนะพระกิตติคุณ ไม่มีช่องว่างสำหรับทัศนะที่คับแคบหรือมีอคติ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “ความรักเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า และผู้ปรารถนาจะเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้าควรแสดงให้เห็นคุณลักษณะดังกล่าว คนที่เปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้าไม่พอใจเพียงเป็นพรแก่ครอบครัวตนเท่านั้น แต่จะขยายขอบเขตไปทั่วโลกเพราะเขาปรารถนาจะเป็นพรแก่เผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นของมนุษย์” [คำสอนของประธานศาสนาจักร:โจเซฟ สมิธ (2007), 357] …
พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นข่าวสารแห่งความรักสำหรับคนทั้งปวงทุกแห่งหน บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน ข่าวสารในเบื้องต้นเกี่ยวกับศาสนาถ่ายทอดไว้อย่างไพเราะในคำแถลงของฝ่ายประธานสูงสุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978
“ตามการเปิดเผยสมัยโบราณและปัจจุบัน ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยินดีสอนและประกาศหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ว่าชายหญิงทุกคนเป็นพี่น้องกัน ไม่เฉพาะโดยความสัมพันธ์ตามสายโลหิตจากบรรพบุรุษที่เป็นมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นลูกทางวิญญาณของพระบิดานิรันดร์ด้วย” [คำแถลงของฝ่ายประธานสูงสุดเกี่ยวกับความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อมวลมนุษยชาติ, 15 ก.พ. 1978]
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีวิธีที่สร้างสรรค์และครอบคลุมในการปฏิบัติต่อคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา เราเชื่อว่าพวกเขาเป็นพี่น้องชายหญิงของเราอย่างแท้จริง เราเป็นบุตรและธิดาของพระบิดาบนสวรรค์องค์เดียวกัน เรามีเชื้อสายเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า6
2
ศาสนจักรมีพันธกิจในการสอนพระกิตติคุณแก่ทุกประชาชาติ
ศาสนจักรเป็นอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก มีพันธกิจต่อทุกประชาชาติ “เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์
“และสอนพวกเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้” (มัทธิว 28:19-20) พระดำรัสเหล่านี้จากพระโอษฐ์ของพระอาจารย์ไม่มีขอบเขตด้านเชื้อชาติ ไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์หรือวัฒนธรรมใด ไม่มีประชาชาติหนึ่งเป็นที่โปรดปรานเหนือประชาติอื่น พระดำรัสเตือนชัดเจน—“สอนชน ทุก ชาติ” …
ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้า เราต้องยกวิสัยทัศน์ของเราเหนืออคติส่วนตัว เราต้องค้นพบความจริงอันล้ำเลิศที่ว่าโดยแท้แล้วพระบิดาของเราไม่ทรงลำเอียง บางครั้งเราทำให้พี่น้องชายหญิงประชาชาติอื่นขุ่นข้องหมองใจมากเกินไปด้วยการคบคนชาติหนึ่งมากกว่าคนอีกชาติหนึ่ง …
ลองนึกภาพบิดาที่มีบุตรชายหลายคน แต่ละคนมีนิสัยใจคอ ความถนัด และคุณลักษณะทางวิญญาณต่างกัน เขารักบุตรชายคนหนึ่งน้อยกว่าอีกคนหนึ่งไหม บางทีบุตรชายที่อ่อนแอทางวิญญาณมากที่สุดอาจได้รับความเอาใจใส่ การสวดอ้อนวอน และคำขอร้องจากบิดามากกว่าคนอื่นๆ นี่หมายความว่าเขารักคนอื่นน้อยกว่าอย่างนั้นหรือ ท่านคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักลูกหลานเชื้อชาติหนึ่งมากกว่าอีกเชื้อชาติหนึ่งไหม ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องเตือนตนเองด้วยคำถามท้าทายของนีไฟ “เจ้าไม่รู้หรือว่ามีประชาชาติมากกว่าหนึ่งประชาชาติ?” (2 นีไฟ 29:7) …
ถึงพี่น้องของเราทุกเชื้อชาติ เรากล่าวคำพยานอย่างเป็นทางการและเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสในวันและเวลาของเราแล้ว พระองค์ทรงส่งทูตสวรรค์มา พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระดำริและพระประสงค์ของพระองค์ต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ …
เฉกเช่นพระบิดาของเราทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ เราต้องรักทุกคน—ทุกเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และเชื้อชาติ—สอนหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณแก่พวกเขาเพื่อพวกเขาจะน้อมรับและมาสู่ความรู้เรื่องความเป็นพระเจ้าของพระผู้ช่วยให้รอด7
ขณะที่เราพยายามสร้างความเป็นพี่น้องและสอนความจริงที่ได้รับการเปิดเผยด้วยความอ่อนน้อม เรากำลังกล่าวกับคนของโลกถึงสิ่งที่ประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธแนะนำไว้ด้วยความรักว่า
“เราไม่ได้มาเพื่อนำความจริงและคุณธรรมที่ท่านครอบครองไปจากท่าน เราไม่ได้มาเพื่อจับผิดท่านหรือวิพากษ์วิจารณ์ท่าน … จงรักษาความดีทั้งหมดที่ท่านมี และขอให้เรานำความดีมาให้ท่านมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อท่านจะมีความสุขมากขึ้นและทั้งนี้เพื่อท่านจะพร้อมเข้าไปในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์”8
เราอยู่ในงานแห่งการช่วยจิตวิญญาณให้รอด การเชื้อเชิญผู้คนให้มาหาพระคริสต์ และนำพวกเขาเข้าสู่น้ำบัพติศมาเพื่อพวกเขาจะก้าวหน้าต่อไปตามเส้นทางที่นำสู่ชีวิตนิรันดร์ โลกนี้ต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณให้หนทางเดียวที่โลกจะรู้จักสันติสุข9
ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราหมายมั่นจะนำความจริงทั้งมวลมารวมกัน เราหมายมั่นจะขยายแวดวงความรักความเข้าใจในหมู่คนทั้งผองของแผ่นดินโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามสถาปนาสันติภาพและความสุข ไม่เฉพาะในศาสนาคริสต์เท่านั้นแต่ในบรรดามนุษยชาติทั้งปวงด้วย …
ว่าโจเซฟ [สมิธ] เป็นเครื่องมือในการสถาปนา แม้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ซึ่งเวลานี้เป็นศาสนาที่ออกไปทั่วโลก ไม่เพียงเพราะมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกเท่านั้น แต่หลักๆ คือเพราะศาสนจักรมีข่าวสารครอบคลุมกว้างขวางบนพื้นฐานการยอมรับความจริงทั้งหมดที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่อสนองความต้องการของมวลมนุษยชาติ
… เราส่งข่าวสารแห่งความรักและความหวังนี้ให้คนทั้งโลก จงมาหาพระผู้เป็นเจ้าแห่งความจริงทั้งมวล ผู้ยังคงตรัสกับบุตรธิดาของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์ จงฟังข่าวสารของพระองค์ผู้ยังคงทรงส่งผู้รับใช้ของพระองค์มาสั่งสอนพระกิตติคุณอันเป็นนิจแก่ทุกประชาชาติ, ตระกูล, ภาษา, และผู้คน จงมารับประทานอาหารบนโต๊ะที่ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายวางไว้ตรงหน้าท่าน จงร่วมกับเราขณะที่เราหมายมั่นจะติดตามพระเมษบาลผู้ประเสริฐผู้ทรงจัดเตรียมอาหาร10
3
คนที่เคยประสบพรแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะแสดงประจักษ์พยานถึงพระองค์
การชดใช้เกี่ยวข้องอะไรกับงานเผยแผ่ศาสนา ทุกครั้งที่ประสบพรแห่งการชดใช้ในชีวิต เราอดไม่ได้ที่จะห่วงใยความผาสุกของ [ผู้อื่น]
ตัวอย่างมากมายในพระคัมภีร์มอรมอนแสดงให้เห็นหลักธรรมนี้ เมื่อลีไฮรับส่วนผลของต้นไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของการรับส่วนการชดใช้ เขากล่าวว่า “พ่อเริ่มปรารถนาให้ครอบครัวของพ่อได้รับส่วนของผลนั้นด้วย” (1 นีไฟ 8:12) เมื่ออีนัสประสบกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและได้รับการอภัยบาปเพราะศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์ เขากล่าว่า “ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกปรารถนาให้ชาวนีไฟ, พี่น้องของข้าพเจ้ามีความผาสุก” (อีนัส 1:9) จากนั้นเขาสวดอ้อนวอนให้ชาวเลมัน ศัตรูที่ไม่ปรานีชาวนีไฟ จากนั้นมีตัวอย่างของบุตรสี่คนของโมไซยาห์—แอมัน แอรัน ออมเนอร์ และฮิมไน—ผู้ได้รับการอภัยบาปผ่านการชดใช้แล้วทำงานหนักเป็นเวลาหลายปีท่ามกลางชาวเลมันเพื่อนำพวกเขามาสู่พระคริสต์ บันทึกกล่าวว่าพวกเขาทนไม่ได้กับความคิดที่ว่าจิตวิญญาณใดจะต้องพินาศ (โมไซยาห์ 28:3)
แบบอย่างอันสูงส่งของคนที่ทำพันธสัญญาซึ่งปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นนั้นแสดงออกได้อย่างดีที่สุดจากแบบอย่างของแอลมาผู้บุตร ข้าพเจ้าประสงค์จะอ่านประจักษ์พยานของเขาให้ท่านฟัง …
“… นับแต่เวลานั้นมาแม้จนถึงบัดนี้, พ่อทำงานโดยไม่หยุด, เพื่อพ่อจะได้นำจิตวิญญาณมาสู่การกลับใจ; เพื่อพ่อจะนำพวกเขามาลิ้มรสของปีติยิ่งซึ่งพ่อลิ้มรสแล้ว; เพื่อพวกเขาจะได้เกิดจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย, และเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” [แอลมา 36:24; ดู แอลมา 36:12–23ด้วย]
ตัวบ่งชี้อันสำคัญที่บอกถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของบุคคลคือความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงทรงมอบภาระหน้าที่ให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรเป็นผู้สอนศาสนา
จงฟังพันธสัญญาที่คนรับไว้เมื่อเขารับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักร
“เมื่อท่านปรารถนาจะเข้ามาสู่คอกของพระผู้เป็นเจ้า และเรียกว่าเป็นผู้คนของพระองค์ และเต็มใจจะแบกภาระของกันและกัน เพื่อมันจะได้เบา;
“แท้จริงแล้ว และเต็มใจที่จะโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง และในทุกแห่งที่ท่านอยู่ แม้จนถึงความตาย เพื่อท่านจะได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า และนับอยู่กับบรรดาคนของการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก เพื่อท่านจะมีชีวิตนิรันดร์” (โม-ไซยาห์ 18:8–9)
เราต้องยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา [และ] ในทุกแห่งแม้จนถึงความตาย เราต่อพันธสัญญานั้นระหว่างศีลระลึกเมื่อเราทำพันธสัญญาว่าจะรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับเรา
การรับใช้งานเผยแผ่เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่เรารับพระนามของพระองค์ไว้กับเรา พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าถ้าเราปรารถนาจะรับพระนามของพระองค์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว เราจะได้รับเรียกให้ไปทั่วโลกเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์แก่ชาวโลกทั้งปวง (ดู คพ. 18:28) …
พวกเราที่รับส่วนการชดใช้ล้วนมีภาระหน้าที่ต้องแสดงประจักษ์พยานอย่างซื่อสัตย์เกี่ยวกับพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา … การขอให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์และต่อพระผู้ช่วยให้รอดตลอดจนสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา11
4
ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างที่ขัดขวางการแบ่งปันพระกิตติคุณ
ขณะที่กำแพงในยุโรปตะวันออก … และอีกหลายภูมิภาคของโลกพังทลายลง ความต้องการให้ผู้สอนศาสนาทำงานมอบหมายในการนำพระกิตติคุณไปให้ชาวโลกจึงมากตามไปด้วย! เราพร้อมจะตอบรับเรื่องที่จะเกิดขึ้นนั้นหรือไม่
เพื่อตอบรับความต้องการใหม่ในงานเผยแผ่ศาสนาอันสำคัญยิ่งนี้ของวันเวลาสุดท้าย บางทีพวกเราบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นสูงอายุที่ลูกๆ โตหมดแล้ว) จำเป็นต้องประเมินอย่างจริงจังเพื่อดูว่าเราต้องพัง “กำแพง” ที่เราสร้างไว้ในจิตใจเราหรือไม่
ตัวอย่างเช่น “กำแพงความสบาย” ที่ดูเหมือนขัดขวางสามีภรรยาหลายคู่และคนโสดหลายคนไม่ให้ไปทำงานเผยแผ่ “กำแพงการเงิน” ของหนี้ที่ทำให้สมาชิกบางคนไปไม่สามารถไปได้ หรือ “กำแพงหลานๆ” หรือ “กำแพงสุขภาพ” หรือ “กำแพงของการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง” หรือ “กำแพงความพอใจตนเอง” หรือ “กำแพงการล่วงละเมิด” หรือกำแพงแห่งความกลัว ความสงสัย หรือความพึงพอใจ มีใครสงสัยสักนาทีหรือไม่ว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าเขาสามารถทำให้กำแพงเหล่านั้นพังลงได้
เราได้รับสิทธิพิเศษให้เกิดมาในวันเวลาสุดท้ายนี้ ตรงข้ามกับบางสมัยการประทานก่อนหน้านี้ ให้ช่วยนำพระกิตติคุณไปทั่วแผ่นดินโลก ไม่มีการเรียกใดในชีวิตยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ ถ้าเราพอใจจะซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงที่เราสร้างขึ้นเอง แสดงว่าเรายอมทิ้งพรที่เป็นของเรา พระเจ้าทรงอธิบายความต้องการเร่งด่วนในการเปิดเผยยุคปัจจุบันดังนี้
“เพราะดูเถิด ทุ่งขาวพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว; และดูสิ, คนที่ยื่นเคียวเข้ามาด้วยเรี่ยวแรงของเขา, คนคนนั้นย่อมสะสมไว้เพื่อเขาจะหาพินาศไม่, แต่นำความรอดมาสู่จิตวิญญาณของเขา” (คพ. 4:4)
พระเจ้าทรงอธิบายต่อไปในการเปิดเผยเดียวกันถึงคุณสมบัติที่เราต้องมีเพื่อเป็นผู้สอนศาสนาที่ดี โดยทราบความอ่อนแอและข้อจำกัดของเราเป็นอย่างดีขณะที่เรายืนหน้าประตูบานใหญ่ของกำแพงที่เราสร้างขึ้นเอง พระองค์ทรงรับรองกับเราว่าจะทรงช่วยเราเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายถ้าเราจะเพียงทำส่วนของเรา ด้วยพระสัญญาเรียบง่ายนี้ “ขอ, และเจ้าจะได้รับ; เคาะ, และจะเปิดมันให้เจ้า.” (คพ. 4:7)
ขอพระเจ้าประทานพรเราอย่าให้กำแพงของจิตใจเราขัดขวางไม่ให้เราได้รับพรที่จะเป็นของเรา12
ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเจ้าทรงขอร้องครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นทั้งคำเชื้อเชิญและคำท้าทาย กับเปโตรและอันดรูว์ พระคริสต์ตรัสว่า “จงตามเรามา และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:19) …
ศาสดาพยากรณ์ก่อนหน้านี้ได้สอนว่าเยาวชนชายที่สามารถและมีค่าควรทุกคนควรรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา ข้าพเจ้าเน้นย้ำความต้องการนี้ในปัจจุบัน เราต้องการมากเช่นกันอยากให้คู่สามีภรรยาที่สามารถและมีวุฒิภาวะรับใช้ในสนามเผยแผ่ พระเยซูรับสั่งกับเหล่าสาวกว่า “ข้าวที่ต้องเกี่ยวนั้นมีมาก แต่คนงานยังน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นพวกท่านจงอ้อนวอนพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์” (ลูกา 10:2)13
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์ในเรื่องที่ว่าพระกิตติคุณมีไว้สำหรับทุกคนบนพื้นฐานของความจริงที่ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หัวข้อ 1) เมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณ จะช่วยให้เราจำได้อย่างไรว่าแต่ละคนเป็นพี่น้องเราจริงๆ
-
เราเรียนรู้อะไรบ้างจากคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 2 ที่ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบุตรธิดาของพระองค์ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักทุกคนและแบ่งปันพระกิตติคุณกับพวกเขาได้ดีขึ้น
-
ท่านจะตอบคำถามของประธานฮันเตอร์อย่างไรว่า “การชดใช้เกี่ยวข้องอะไรกับงานเผยแผ่ศาสนา” (ดู หัวข้อ 3) ท่านจะเพิ่มความปรารถนาในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นได้อย่างไร พรใดมาถึงท่านเมื่อท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนบางคน—หรือเมื่อมีคนแบ่งปันพระกิตติคุณกับท่าน
-
หลังจากศึกษาหัวข้อ 4 ให้พิจารณา “กำแพง” ที่ขวางกั้นไม่ให้ท่านได้รับพรของงานเผยแผ่ศาสนา สนทนาวิธีเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
อาโมส 9:9; 2 นีไฟ 2:6–8; โมไซยาห์ 28:1–3; แอลมา 26:37; คพ. 18:10–16; 58:64; 68:8; 88:81; 90:11; 123:12; โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:31
ความช่วยเหลือด้านการสอน
“พระวิญญาณบริสุทธิ์อาจกระตุ้นเตือนคนที่ท่านสอนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นให้เสนอความคิดที่ผู้อื่นต้องการได้ยิน จงเปิดรับการกระตุ้นเตือนที่ให้เชิญคนนั้น ท่านอาจรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าต้องถามบุคคลหนึ่งที่ไม่ได้อาสาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของเขา” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 63)