คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 22: การสอนพระกิตติคุณ


บทที่ 22

การสอนพระกิตติคุณ

“จุดประสงค์ของการสอน … [คือ] เพื่อเราจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในการเปลี่ยนใจแต่ละบุคคล”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ในการประชุมสามัญใหญ่เดือนเมษายน ค.ศ. 1972 เอ็ลเดอร์ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ เวลานั้นเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเป็นผู้พูดคนสุดท้ายในการประชุมภาคหนึ่ง ท่านเตรียมคำพูดไว้แล้ว แต่เวลาในภาคนั้นเหลือไม่มากพอให้ท่านพูด “เมื่อดูนาฬิกา” เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กล่าว “ข้าพเจ้าจึงพับกระดาษที่เตรียมคำพูดและใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อด้านใน แต่ข้าพเจ้าขอใช้เวลาสักครู่เล่าเหตุการณ์เล็กน้อย ที่ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจในวัยเด็ก เรื่องนี้เข้ามาในใจข้าพเจ้าเมื่อคนหนึ่งพูดว่าบ่ายวันนี้มีคนกลุ่มใหญ่ที่ทุ่มเทสอนเยาวชนของเราอยู่กับเราในการประชุมด้วย

“เช้าตรู่ของวันหนึ่งในฤดูร้อน ข้าพเจ้ากำลังยืนอยู่ใกล้หน้าต่าง ม่านหน้าต่างบังสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ สองตัวบนสนามหญ้า ตัวหนึ่งเป็นนกตัวใหญ่ และอีกตัวเป็นนกตัวเล็ก เห็นชัดว่าเพิ่งออกจากรัง ข้าพเจ้าเห็นนกตัวใหญ่กระโดดไปมาบนสนามหญ้า จากนั้นก็ใช้เท้าเขี่ยแรงๆ และจิกลงไป มันดึงหนอนอ้วนตัวใหญ่ขึ้นมาจากสนามหญ้า แล้วกระโดดกลับมา นกตัวเล็กอ้าปากว้าง แต่นกตัวใหญ่กลืนหนอนตัวนั้น

“ต่อจากนั้นข้าพเจ้าเห็นนกตัวใหญ่บินขึ้นไปบนต้นไม้ มันจิกเปลือกไม้ครู่หนึ่งแล้วกลับมาพร้อมแมลงตัวใหญ่ในปาก นกตัวเล็กอ้าปากกว้าง แต่นกตัวใหญ่กลืนแมลงตัวนั้น มีการส่งเสียงทักท้วง

“นกตัวใหญ่บินหนี และข้าพเจ้าไม่เห็นมันอีกเลย แต่ข้าพเจ้าเฝ้าดูนกตัวเล็ก หลังจากนั้นครู่หนึ่งนกตัวเล็กกระโดดไปมาบนสนามหญ้า ใช้เท้าเขี่ยแรงๆ เอาปากจิก และดึงหนอนตัวใหญ่ขึ้นมาจากสนามหญ้า

“พระผู้เป็นเจ้าประทานพรคนดีที่สอนเด็กและเยาวชนของเรา”

ข่าวสารสั้นๆ ของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ตีพิมพ์ในเวลาต่อมาใต้ชื่อ “ครู”1

ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เน้นความสำคัญของการสอนที่ดีในศาสนจักร ท่านนำเสนอหลักธรรม—อาทิ ความสำคัญของการสอนโดยแบบอย่างโดยใช้เรื่องนกเป็นตัวอย่าง—ที่จะช่วยให้ครูมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเป็นพรแก่ชีวิตคนที่พวกเขาสอน บ่อยครั้งที่ท่านพูดกับครูสอนเด็กและเยาวชน โดยช่วยให้พวกเขาเข้าใจความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์นี้ต่ออนุชนรุ่นหลัง ในโอกาสเช่นนั้นครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่า

“ตรงหน้าข้าพเจ้าตอนนี้ข้าพเจ้าเห็นวิญญาณเลิศเลอบางดวงของแผ่นดินโลก … ข้าพเจ้าพยายามนึกภาพ [ครู] แต่ละคนกำลังทำงานมอบหมายในส่วนของท่าน ข้าพเจ้าสงสัยว่างานของท่านจะออกผลลักษณะใด บางผลจะเหี่ยวแห้งเพราะท่านไม่ได้ไถหรือพรวนดินที่มอบให้ท่านดูแลหรือไม่ หรือท่านพรวนดินทั้งหมดเพื่อให้ออกผลดีมากที่สุดไหม

“ในวอร์ดและสเตคของท่าน … มีบุตรธิดาจำนวนมากของพระบิดาเราอยู่ในนั้น พวกเขาเหมือนท่านคือเลิศเลอในสายพระเนตรของพระองค์ แต่ไม่เหมือนท่านตรงที่หลายคนขาดประสบการณ์และหลายคนยังใหม่ในพระกิตติคุณ ความรับผิดชอบที่ท่านมีต่อพวกเขายิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ชีวิตพวกเขาว่าง่าย สอนง่าย ปั้นง่าย นำง่าย ถ้าท่านจะได้ความไว้วางใจจากพวกเขาและชนะใจพวกเขา ท่านคือ ‘เมษบาล’ ของพวกเขา ท่านต้องนำพวกเขาไป ‘ทุ่งหญ้าเขียวขจี’ …

“นี่เป็นความท้าทาย นี่เป็นภารกิจอันน่ายินดี และนี่เป็นความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับท่านเวลานี้! … ท่านจะต้องคิดให้ถ้วนถี่ พิจารณาอย่างรอบคอบ เมตตา อ่อนโยน บริสุทธิ์ในใจ ครอบครองความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวเช่นเดียวกับพระเจ้าของเราทรงครอบครอง อ่อนน้อมถ่อมตน และเต็มไปด้วยการสวดอ้อนวอนเมื่อท่านรับงานของท่านในการเลี้ยงลูกแกะตามที่พระเจ้ารับสั่งให้ท่านทำ!”2

ครอบครัวเรียนรู้ด้วยกัน

การสอนเด็กที่โบสถ์สนับสนุนการสอนของบิดามารดาที่บ้าน

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

ช่วยให้ผู้อื่นมีความเชื่อมั่นในพระคัมภีร์

ข้าพเจ้าสนับสนุนท่านเต็มที่ให้ใช้พระคัมภีร์ในการสอนและทำทุกอย่างในอำนาจของท่านเพื่อช่วยให้นักเรียนใช้พระคัมภีร์และสบายใจเมื่ออ่านพระคัมภีร์ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้คนหนุ่มสาวของเรามีความเชื่อมั่นในพระคัมภีร์ และข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านตีความวลีนั้นสองแบบ

แบบแรก เราต้องการให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในพลังและความจริงของพระคัมภีร์ ความเชื่อมั่นว่าพระบิดาบนสวรรค์ของพวกเขากำลังตรัสกับพวกเขาจริงๆ ผ่านพระคัมภีร์ และความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถหันไปพึ่งพระคัมภีร์และพบคำตอบของปัญหาตลอดจนการสวดอ้อนวอนของพวกเขา นั่นคือความเชื่อมั่นแบบหนึ่งที่ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะให้นักเรียนของท่าน และท่านจะให้พวกเขาได้ถ้าท่านแสดงให้พวกเขาเห็นทุกวันทุกชั่วโมงว่าท่านวางใจในพระคัมภีร์โดยวิธีนั้น จงแสดงให้พวกเขาเห็นว่าตัวท่านเชื่อมั่นว่าพระคัมภีร์มีคำตอบให้แก่ปัญหามากมาย—ปัญหาส่วนใหญ่—ของชีวิต ดังนั้นเมื่อท่านสอน จงสอนจากพระคัมภีร์

ความหมาย [ที่สอง] ที่บอกไว้ในวลี “ความเชื่อมั่นในพระคัมภีร์” คือสอนงานมาตรฐานให้นักเรียนอย่างละเอียดจนพวกเขาสามารถอ่านได้ด้วยความเชื่อมั่น โดยเรียนรู้ข้อพระคัมภีร์ โอวาท และเนื้อหาที่จำเป็นในนั้น เราหวังว่าจะไม่มีนักเรียนคนใดของท่านออกจากห้องเรียนด้วยความกลัวหรืออึดอัดหรือละอายใจที่พวกเขาไม่สามารถพบความช่วยเหลือที่ต้องการเพราะพวกเขาไม่รู้จักพระคัมภีร์ดีพอจะหาข้อความที่เหมาะสมได้ จงให้เยาวชนเหล่านี้มีประสบการณ์มากพอในพระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอร-มอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่าเพื่อพวกเขาจะมีความเชื่อมั่นทั้งสองแบบที่ข้าพเจ้าเพิ่งกล่าวถึง

ข้าพเจ้าคิดบ่อยๆ ว่าคนหนุ่มสาวของเราในศาสนจักรจะเหมือนคนหนุ่มสาวอื่นๆ นอกศาสนจักรมากถ้าพวกเขาไม่รอบรู้และใช้งานมาตรฐานไม่คล่องแคล่ว ทุกท่านคงจำข้อที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเขียนจากที่คุมขังในคุกลิเบอร์ตี้ได้ ส่วนหนึ่งที่ท่านเขียนมีความว่า “เพราะยังมีอยู่หลายคนบนแผ่นดินโลกในบรรดาลัทธิ, กลุ่ม, และนิกายทั้งหลายทั้งปวง, ผู้ที่มืดบอดโดยเล่ห์กลอันแยบยลของมนุษย์, ซึ่งโดยการนั้นพวกเขาซุ่มคอยทีหลอกลวง, และ ผู้ที่ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด” (คพ. 123:12; เน้นตัวเอน)

เรามีความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งในฐานะ [ครู] ในศาสนจักรที่ต้องแน่ใจว่าสมาชิกของเรา คนหนุ่มสาวของเราไม่อยู่ข่ายโชคร้ายคือมืดบอด เป็นชายหนุ่มหญิงสาวที่ดีมีค่าควรแต่ถูกกันไว้จากความจริงของพระคัมภีร์เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะหาความจริงเหล่านั้นได้ที่ไหนและเพราะพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่น [ในการใช้] งานมาตรฐานของพวกเขา3

2

สอนด้วยพระวิญญาณ

จงเตรียมและดำเนินชีวิตจนท่านมีพระวิญญาณของพระเจ้าในการสอนของท่าน มีหลายสิ่งในโลกเราที่ทำลายความรู้สึกถึงพระวิญญาณและมีหลายสิ่งที่จะกีดกั้นเราจากการมีพระวิญญาณสถิตกับเรา เราต้องทำสุดความสามารถเพื่อคนหนุ่มสาวเหล่านี้ผู้ถูกคนฝักใฝ่ทางโลกรอบข้างพวกเขาจู่โจมและโจมตี เราต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงการรับรองน่ายินดีของพระวิญญาณของพระเจ้า …

ในการเปิดเผยขั้นพื้นฐานที่สุดประการหนึ่งของสมัยการประทานนี้ พระเจ้าตรัสว่า “และจะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณเจ้าจะไม่สอน” (คพ. 42:14)

ข้าพเจ้าใช้ข้อนี้ไม่เพียงหมายความว่าเรา ไม่ควร สอนหากไม่มีพระวิญญาณเท่านั้น แต่เราจะสอน ไม่ได้เลย หากไม่มีพระวิญญาณ การเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการยืนยันและการแนะนำสั่งสอนของพระวิญญาณของพระเจ้า โจ-เซฟ สมิธคงจะเห็นด้วย “ทุกคนพึงสั่งสอนพระกิตติคุณด้วยอำนาจและอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และไม่มีใครสั่งสอนพระกิตติคุณได้หากไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 359)

… ข้าพเจ้าเป็นห่วงเมื่อเห็นเราคิดว่าอารมณ์รุนแรงหรือน้ำตาพรั่งพรูคือการมีพระวิญญาณ แน่นอนว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงทางอารมณ์ได้ รวมถึงน้ำตา แต่การแสดงออกภายนอกไม่ควรนำมาปะปนกับการมีพระวิญญาณ

ข้าพเจ้าเฝ้าดูพี่น้องชายหลายคนของข้าพเจ้าตลอดหลายปี เรามีประสบการณ์ทางวิญญาณบางอย่างร่วมกันที่ไม่ค่อยปรากฏและไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูด ประสบการณ์เหล่านั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ละครั้งมีความพิเศษในตัวเอง และช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นอาจมีน้ำตาควบคู่มาด้วยหรืออาจไม่มี บ่อยครั้งมากที่มีน้ำตา แต่บางครั้งมีเพียงความเงียบงัน อีกหลายครั้งมีปีติ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือมีปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ของความจริง ของการเปิดเผยต่อใจ

จงให้ความจริงพระกิตติคุณที่สอนอย่างมีพลังแก่นักเรียนของท่าน นั่นเป็นวิธีให้ประสบการณ์ทางวิญญาณแก่พวกเขา ให้ประสบการณ์นั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติและตามที่จะเป็น บางทีอาจจะด้วยการหลั่งน้ำตา แต่บางทีอาจจะไม่ ถ้าสิ่งที่ท่านพูดเป็นความจริง ท่านพูดอย่างบริสุทธิ์ และด้วยความเชื่อมั่นจริงใจ นักเรียนเหล่านั้นจะรู้สึกถึงวิญญาณของความจริงที่กำลังสอนพวกเขาและจะยอมรับการดลใจรวมทั้งการเปิดเผยที่เข้ามาในใจพวกเขา นั่นคือวิธีที่เราสร้างศรัทธา นั่นคือวิธีที่เราเสริมสร้างประจักษ์พยาน—ด้วยพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่สอนในความบริสุทธิ์และด้วยความเชื่อมั่น

จงฟังความจริง สดับฟังหลักคำสอน และให้ปรากฏการณ์ของพระวิญญาณเกิดขึ้นตามที่จะเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ มากมาย จงอยู่กับหลักธรรมที่เชื่อถือได้ จงสอนจากใจที่บริสุทธิ์ จากนั้นพระวิญญาณจะทะลุทะลวงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจท่านรวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของนักเรียนของท่าน4

3

เชื้อเชิญให้นักเรียนแสวงพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์โดยตรง

ข้าพเจ้าแน่ใจว่าท่านรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น … ถ้านักเรียนของท่านสร้างความจงรักภักดีต่อท่านแทนที่จะจงรักภักดีต่อพระกิตติคุณ … นั่นคือสาเหตุที่ท่านต้องเชื้อเชิญนักเรียนเข้าไปในพระคัมภีร์ด้วยตัวพวกเขาเอง ไม่เพียงตีความและบรรยายพระคัมภีร์ให้พวกเขาฟังเท่านั้น นั่นคือสาเหตุที่ท่านต้องเชื้อเชิญนักเรียนให้รู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้า ไม่ใช่ให้แค่เงาสะท้อนของท่านในสิ่งนั้น สุดท้าย นั่นคือสาเหตุที่ท่านต้องเชื้อเชิญนักเรียนให้มาหาพระคริสต์โดยตรง ไม่เพียงมาหาคนที่สอนหลักคำสอนของพระองค์เท่านั้น ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเก่งกาจเพียงใดก็ตาม ท่านจะไม่อยู่กับนักเรียนเหล่านี้ตลอดเวลา ……

ภารกิจสำคัญของเราคือวางฐานมั่นคงให้นักเรียนเหล่านี้ในสิ่งที่ สามารถ ติดตัวไปกับพวกเขาตลอดชีวิต ชี้ทางให้พวกเขาไปหาพระองค์ผู้ทรงรักพวกเขาและสามารถนำทางพวกเขาในที่ซึ่งพวกเราจะไม่ไป โปรดแน่ใจว่านักเรียนเหล่านี้มีความภักดีต่อพระคัมภีร์ ต่อพระเจ้า และหลักคำสอนของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู ชี้ทางให้พวกเขาไปหาพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์ พระเยซูคริสต์ และไปหาผู้นำของศาสนจักรที่แท้จริง … ให้ของประทานที่จะนำพวกเขาไปตลอดรอดฝั่งเมื่อพวกเขาต้องยืนคนเดียว เมื่อท่านทำเช่นนี้ ทั้งศาสนจักรจะได้รับพรเพระคนรุ่นต่อๆ มา5

ชั้นเรียนปฐมวัย

“พยายามนึกถึง [นักเรียน] แต่ละคนให้มากที่สุด ให้พวกเขามีความรู้สึกพิเศษบางอย่างในเรื่องที่ท่าน ครูของพวกเขา ห่วงใยพวกเขา”

4

พยายามเข้าถึงแต่ละคน

ข้าพเจ้าประทับใจตลอดมาที่พระเจ้าทรงติดต่อกับเราแต่ละคนเป็นส่วนตัว ในศาสนจักรเราทำมากมายหลายอย่างเป็นกลุ่ม และเราต้องมีองค์กรใหญ่พอสมควรเพื่อเราจะบริหารศาสนจักรได้ดี แต่สิ่งสำคัญมากมาย—สิ่งสำคัญ ที่สุด —ต้องทำเป็นรายบุคคล เราให้พรเด็กทารกทีละคน ถึงแม้พวกเขาจะเป็นแฝดสองหรือแฝดสาม เราให้บัพติศมาและยืนยันเด็กทีละคน เรารับศีลระลึก รับการแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต หรือรับศาสนพิธีแห่งพระวิหารเป็นรายบุคคล—ขณะที่คนๆ นั้นกำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับพระบิดาในสวรรค์ของเรา อาจจะมีคนใกล้ตัวเราในประสบการณ์เหล่านี้ และมีอีกหลายคนในห้องเรียนของท่าน แต่ที่สวรรค์เน้นคือเน้นรายบุคคล แต่ละคน

เมื่อพระคริสต์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ พระองค์ตรัสว่า

“จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา, เพื่อเจ้าจะได้แยงมือเข้าไปในสีข้างของเรา, และเพื่อเจ้าจะได้สัมผัสรอยตะปูที่มือเราและเท้าเราด้วย ……

“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือฝูงชนได้ออกไป, และยื่นมือพวกเขาเข้าไปในพระปรัศว์ของพระองค์, และสัมผัสรอยตะปูที่พระหัตถ์ของพระองค์และที่พระบาทของพระองค์; และการนี้พวกเขาทำ, โดยออกไปทีละคน จนพวกเขาทั้งหมดได้ออกไป, และเห็นด้วยตาของตนและสัมผัสด้วยมือของตน, และรู้แน่แก่ใจและเป็นพยาน” (3 นี-ไฟ 11:14–15; เน้นตัวเอน)

ประสบการณ์นั้นใช้เวลา แต่สำคัญที่แต่ละคนต้องมีประสบการณ์ ดวงตาแต่ละคู่และมือทั้งสองข้างของแต่ละคนต้องได้รับพยานยืนยัน เป็นส่วนตัว ต่อมาพระคริสต์ทรงปฏิบัติต่อเด็กๆ ชาวนีไฟแบบเดียวกัน “พระองค์ทรงพาเด็กเล็ก ๆ ของพวกเขามา, ทีละคน, และประทานพรให้พวกเขา, และทรงสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเพื่อพวกเขา” (3 นีไฟ 17:21; เน้นตัวเอน)

การให้ความสนใจเป็นส่วนตัวต่อความต้องการและความจำเป็นของนักเรียนบางคนจะยากสำหรับท่าน แต่จงพยายามสุดความสามารถเพื่อนึกถึงพวกเขาแต่ละคน ให้พวกเขารู้สึกพิเศษบางอย่างว่าท่าน ครูของพวกเขา ห่วงใยพวกเขา จงสวดอ้อนวอนให้รู้ว่านักเรียนคนไหนต้องการความช่วยเหลือแบบใด และไวต่อกระตุ้นเตือนเหล่านั้นเมื่อมาถึง … พึงจดจำว่าการสอนที่ดีที่สุดคือการสอนตัวต่อตัวและบ่อยครั้งเกิดขึ้นนอกห้องเรียน …

ในการค้นหาวิธีสอนนักเรียนเป็นรายตัว ท่านจะค้นพบแน่นอนที่สุดว่าบางคนทำได้ไม่ดีเท่าคนอื่นและบางคนไม่มาชั้นเรียนเลย จงเอาใจใส่นักเรียนเช่นนั้น พยายามมากเป็นพิเศษเพื่อเชิญชวนและช่วยแกะที่หลงหายกลับเข้าฝูง “จำไว้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า (คพ. 18:10) พระผู้ช่วยให้รอดทรงจ่ายราคาเกินจะนับได้ให้เราทุกคน และเราจำเป็นต้องทำสุดความสามารถเพื่อช่วยพระองค์ในงานของพระองค์ เราจำเป็นต้องแน่ใจว่าของประทานแห่งการชดใช้ขยายไปถึงเยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงทุกคนที่เรารับผิดชอบ ในสถานการณ์ของท่าน นั่นหมายถึงการทำให้พวกเขาแข็งขันเต็มที่ในชั้นเรียนของท่าน

จงเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคนที่อาจจะกำลังมีปัญหา และออกไปหาแกะที่หลงหายเมื่อจำเป็น โปสการ์ดที่เขียนข้อความ โทรศัพท์ หรือการไปเยี่ยมบ้านหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ในหลายกรณีจะให้ผลดีเยี่ยม ความเอาใจใส่คนรุ่นเยาว์ที่เพิ่งเริ่มหลงผิดเป็นรายตัวอาจช่วยประหยัดเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง—แท้ที่จริงหลายต่อหลายปี—กับการพยายามในภายหน้าเพื่อนำคนนั้นกลับสู่ความแข็งขัน ท่านทำสุดความสามารถหรือไม่เพื่อให้กำลังใจคนเข้มแข็งและดึงคนที่ออกนอกลู่นอกทางในวัยนี้กลับมาอีกครั้ง6

5

สอนโดยแบบอย่าง

จำเป็นอย่างยิ่งที่เรา [ในฐานะครู] ต้องเป็นแบบอย่างที่เหมาะสม ขยันหมั่นเพียรและระแวดระวังในชีวิตเราเอง รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ ให้เกียรติผู้นำของวอร์ด สเตค และศาสนจักร ไม่ควรมีคำพูดไม่เหมาะสมออกจากปากเราอันจะทำให้เด็กคนใดคนหนึ่งมีสิทธิ์หรืออภิสิทธิ์ในการทำผิด แน่นอนว่าถ้าเราพูดหรือทำผิดบางอย่าง เด็กย่อมมีสิทธิ์ทำตาม

แบบอย่างมีอิทธิพลยิ่งกว่าคำสั่งสอนอันทรงพลัง คนที่จะชักชวนผู้อื่นให้ทำถูกต้อง ตนเองควรทำถูกต้อง เป็นความจริงที่ว่าผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ดีเพราะพวกเขาเป็นคนดีและไม่ยอมให้ความประพฤติมิชอบของผู้อื่นมีอิทธิพลต่อตัวเขาจะได้รางวัลมากยิ่งกว่าคนที่พูดแต่ไม่ทำ …เด็กมีแนวโน้วจะเลียนแบบคนที่พวกเขาไว้วางใจ ยิ่งไว้วางใจมาก พวกเขาจะยิ่งรับอิทธิพลจากคนนั้นมาก ไม่ว่าดีหรือเลว วิสุทธิชนที่ดีทุกคนเคารพความดีแท้จริงไม่ว่าจะเห็นที่ใดและจะพยายามทำตามแบบอย่างที่ดีทั้งปวง7

สูตรสำหรับครูที่ยิ่งใหญ่คือไม่เพียงดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระเจ้าและสนับสนุนพระบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้น แต่รับวิญญาณของการสอนโดยการสวดอ้อนวอนด้วย เมื่อใดที่เราได้วิญญาณนั้นและถือปฏิบัติพระบัญญัติของพระเจ้าโดยดำเนินในการเชื่อฟังต่อพระพักตร์พระองค์ เมื่อนั้นชีวิตคนที่เราสอนจะเปลี่ยนและพวกเขาจะได้รับแรงผลักดันให้ดำเนินชีวิตตามความชอบธรรม8

ครูแต่ละคนต้องมีประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ ในพระพันธกิจอันสูงส่งของพระเยซูคริสต์ และการปรากฎของพระบิดาและพระบุตรต่อโจเซฟเป็นความจริง เขาต้องไม่เพียงมีความรู้และประจักษ์พยานดังกล่าวเท่านั้น แต่เขาควรมุ่งหมายจะแสดงความเชื่อของตนต่อคนที่มาเรียนรู้โดยไม่พูดกำกวม9

ชั้นเรียนผู้ใหญ่ของศาสนจักร

การสอนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณมนุษย์”

6

จงเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในการช่วยให้นักเรียนประสบการเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ของใจ

เมื่อครูปฏิบัติตามที่พระเจ้าทรงมุ่งหมาย ปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น ปาฏิหาริย์ของศาสนจักรทุกวันนี้ไม่ใช่การรักษาซึ่งมีมากมาย ไม่ใช่ให้คนง่อยเดิน คนตาบอดมองเห็น คนหูหนวกได้ยิน หรือผู้ป่วยลุกขึ้นมา ปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่ของศาสนจักรและอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในยุคสมัยของเราคือการปฏิรูปจิตวิญญาณมนุษย์ ขณะที่เราเดินทางไปทั่วสเตคและคณะเผยแผ่ของศาสนจักร นี่คือสิ่งที่เราเห็น—การเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณมนุษย์เพราะมีคนสอนหลักธรรมแห่งความจริง

เป็นดังที่แอลมาประกาศในสมัยของท่านในการสอนผู้คน เมื่อท่านกล่าวว่า “และบัดนี้ดูเถิด, ข้าพเจ้าถามท่าน, พี่น้องข้าพเจ้าในศาสนจักร, ท่านเกิดทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้าแล้วหรือ? ท่านได้รับรูปลักษณ์ของพระองค์ไว้ในสีหน้าท่านแล้วหรือ? ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?” (แอลมา 5:14) นี่คือจุดประสงค์ของการสอน นี่คือเหตุผลที่เราทำงานหนักมาก แสวงหาพระวิญญาณ และเตรียมความรู้สึกนึกคิดของเราด้วยสิ่งดีตามที่พระเจ้าทรงบัญชา เพื่อเราจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในการเปลี่ยนใจแต่ละคน เป้าหมายของเราคือหว่านความปรารถนาจะเป็นคนดี ความปรารถนาจะเป็นคนชอบธรรม ความปรารถนาจะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า ความปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระองค์ไว้ในใจเด็ก ถ้าเราสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งนี้ในใจเด็ก เมื่อนั้นเราก็ได้ทำให้ปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่ของครูเกิดขึ้น และโดยแท้แล้วนั่นคือปาฏิหาริย์ เราไม่เข้าใจว่าพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงใจมนุษย์อย่างไร แต่พระองค์ทรงเปลี่ยน …

ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านถึงเดชานุภาพของพระวิญญาณในการเปลี่ยนชีวิตสมาชิกของศาสนจักร ข้าพเจ้าขอร้องท่าน … ให้ทำงานโดยไม่หยุดยั้งด้วยความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ต่อพระพักตร์พระเจ้าในการทำภารกิจที่มอบหมายแก่ท่านให้สำเร็จลุล่วง”10

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการสนทนาคำถามบางข้อต่อไปนี้จากทัศนะของบิดามารดาในการสอนบุตรธิดา

  • ประธานฮันเตอร์กระตุ้นครูให้ช่วยนักเรียนมี “ความเชื่อมั่นในพระคัมภีร์” (หัวข้อ 1) พระคัมภีร์เคยช่วยท่านในชีวิตท่านเองเมื่อใด ท่านเคยพบคำตอบให้คำถามของท่านในพระคัมภีร์เมื่อใด เราจะช่วยให้ผู้อื่น รวมทั้งคนในบ้านของเรา เรียนรู้ที่จะรักพระคัมภีร์และได้ประโยชน์จากพลังพระคัมภีร์ได้อย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากหัวข้อ 2 เกี่ยวกับการสอนโดยพระวิญญาณ ท่านเคยมีประสบการณ์ใดบ้างกับการสอนและการเรียนรู้โดยพระวิญญาณ ท่านจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อช่วยให้ท่านสอนโดยพระวิญญาณ

  • ครูจะช่วยให้นักเรียนสร้างความภักดีต่อพระคัมภีร์และพระกิตติคุณ ไม่ใช่ต่อตัวครูได้อย่างไร (ดู หัวข้อ 3) ครูจะช่วยชี้ทางให้นักเรียนไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ครูจะช่วยให้นักเรียนมีฐานมั่นคงในพระกิตติคุณได้อย่างไรเพื่อพวกเขาจะยังคงเข้มแข็ง “เมื่อต้องยืนคนเดียว”

  • ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับความสำคัญของแต่ละบุคคล (ดู หัวข้อ 4) ท่านจะช่วยคนที่ท่านสอนพัฒนาประจักษ์พยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักและรักพวกเขาแต่ละคนได้อย่างไร พิจารณาสิ่งที่ท่านทำได้ในฐานะครูเพื่อเข้าถึงแต่ละคนที่ท่านสอน

  • ประธานฮันเตอร์เน้นความสำคัญของการสอนโดยแบบอย่าง (ดู หัวข้อ 5) เหตุใดแบบอย่างของเราจึงมีพลังยิ่งกว่าคำพูดของเรา ท่านได้รับพรอย่างไรจากครูที่เป็นแบบอย่างที่ดี แบบอย่างของบิดามารดาสอนบุตรธิดาอย่างไร

  • ท่านเคยประสบ “ปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่” ที่ประธานฮันเตอร์อธิบายในหัวข้อ 6 เมื่อใด ไม่ว่าจะในฐานะครูหรือผู้เรียน นึกถึงครูบางคนที่เป็นอิทธิพลดีในชีวิตท่าน อะไรทำให้พวกเขาเป็นอิทธิพลที่มีประสิทธิภาพ เราจะสอนพระกิตติคุณด้วยพลังมากขึ้นได้อย่างไร—ไม่ว่าที่บ้าน ในห้องเรียน หรือในสภาวะแวดล้อมอื่น

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

ยอห์น 21:15–17; 1 โครินธ์ 12:28; 2 ทิโมธี 3:14–17; 2 นีไฟ 33:1; แอลมา 17:2–3; 31:5; คพ. 11:21–22; 50:17–22; 88:77–80

ความช่วยเหลือด้านการสอน

เขียนคำถามท้ายบทหรือคำถามที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนลงในกระดาษแผ่นละข้อ เชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้เลือกคำถามและค้นคว้าบทเรียนเพื่อหาคำสอนที่ช่วยตอบคำถามนั้น ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

อ้างอิง

  1. “A Teacher,” Ensign, July 1972, 85.

  2. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 210–11.

  3. “Eternal Investments” (address to CES religious educators, Feb. 10, 1989), 2; si.lds.org.

  4. “Eternal Investments,” 3–4.

  5. “Eternal Investments,” 2-3.

  6. “Eternal Investments,” 4-5.

  7. “Formula for a Great Teacher” (address given at Primary conference, Apr. 1965), 3–4, Church History Library, Salt Lake City.

  8. “Formula for a Great Teacher,” 1.

  9. The Teachings of Howard W. Hunter, 188.

  10. “Formula for a Great Teacher,” 4–6.