บทที่ 4
ความช่วยเหลือจากเบื้องบน
“บางทีอาจไม่มีสัญญาใดในชีวิตแน่นอนกว่าสัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนและการทรงนำทางวิญญาณในยามต้องการ”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เรียนรู้การสวดอ้อนวอนเมื่อท่านเป็นเด็ก “คุณแม่สอนให้ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนและขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับ” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระองค์บ่อยครั้งสำหรับความสวยงามของแผ่นดินโลกและสำหรับเวลาอันแสนวิเศษที่ข้าพเจ้ามีในฟาร์มปศุสัตว์ ริมแม่น้ำ และกับลูกเสือ ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะทูลขอพระองค์เช่นกันในสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการหรือจำเป็น … ข้าพเจ้าทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักข้าพเจ้าและทรงฟังข้าพเจ้า”1
ตลอดชีวิตท่าน ประธานฮันเตอร์หันไปพึ่งการสวดอ้อนวอนเสมือนเป็นแหล่งความช่วยเหลือจากเบื้องบน และท่านสอนคนอื่นๆ ให้ทำเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านกำลังรับใช้เป็นอธิการ ชายคนหนึ่งในวอร์ดแสดงความเคียดแค้นชายอีกคนหนึ่ง คำแนะนำของประธานฮันเตอร์สะท้อนประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ท่านได้รับโดยผ่านการสวดอ้อนวอน
“ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ‘บราเดอร์ครับ ถ้าคุณจะกลับบ้านไปสวดอ้อนวอนให้เขาทุกเช้าและทุกค่ำ ผมจะพบคุณอีกสองอาทิตย์นับจากวันนี้เวลาเดิมแล้วเราค่อยตัดสินใจว่าจะทำอะไร’”
หลังจากทำตามคำแนะนำนี้ ชายคนนั้นกลับมาและพูดถึงชายอีกคนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า “เขาต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง”
“คุณเต็มใจจะช่วยเขาไหม” ประธานฮันเตอร์ถาม
“แน่นอนครับ” ชายคนนั้นตอบ
“ความโกรธแค้นหายไปและความเคียดแค้นหายไป” ประธานฮันเตอร์เล่าในเวลาต่อมา “จะเป็นแบบนี้เมื่อเราสวดอ้อนวอนให้กัน”2
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงสัญญาจะประทานความช่วยเหลือและการนำทางในยามต้องการ
เราทุกคนพบเผชิญกับช่วงเวลาในชีวิตเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากสวรรค์ในวิธีพิเศษและเร่งด่วน เราทุกคนมีช่วงเวลาที่สภาวการณ์ทำให้เรายุ่งยากใจหรือคำแนะนำที่เราได้รับจากผู้อื่นทำให้เราสับสน และเรารู้สึกว่าต้องได้รับการนำทางทางวิญญาณอย่างเร่งด่วน ต้องพบเส้นทางที่ถูกต้องและทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเร่งด่วน ในคำนำพระคัมภีร์ของสมัยการประทานยุคสุดท้ายนี้ พระเจ้าทรงสัญญาว่าถ้าเราจะถ่อมตนในยามต้องการเช่นนั้นและหันไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจะได้รับการ “ทำให้แข็งแกร่ง, และได้รับพรจากเบื้องบน,และได้รับความรู้เป็นครั้งคราว.” (คพ. 1:28) ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นของเราถ้าเราจะเพียงแสวงหา วางใจ และทำตามสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินในพระคัมภีร์มอรมอนเรียกว่า “การชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (โมไซ-ยาห์ 3:19)
บางทีอาจไม่มีสัญญาใดในชีวิตแน่นอนไปกว่าสัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนและการทรงนำทางวิญญาณในยามต้องการ สิ่งนั้นเป็นของประทานได้เปล่าจากสวรรค์ ของประทานที่เราต้องการตั้งแต่เราอายุเยาว์ที่สุดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเรา …
ในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เรามีความช่วยเหลือจากเบื้องบน “จงรื่นเริงเถิด” พระเจ้าตรัส “เพราะเราจะนำทางเจ้าไป” (คพ. 78:18) “เราจะเผยพระวิญญาณของเราส่วนหนึ่งให้เจ้า, ซึ่งจะให้ความสว่างแก่ความคิดเจ้า, ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณเจ้าเปี่ยมด้วยปีติ” (คพ. 11:13)
ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่เรา ในการเผชิญปัญหาของชีวิตและทำภารกิจของชีวิตให้บรรลุผลสำเร็จ ขอให้เราทุกคนเรียกร้องของประทานนั้นจากพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเรา และพบปีติทางวิญญาณ3
2
เฉกเช่นโจเซฟ สมิธ เราสามารถหันไปพึ่งพระคัมภีร์และการสวดอ้อนวอนเพื่อรับการสอนจากเบื้องบน
ศาสดาพยากรณ์หนุ่มโจเซฟ สมิธ … หมายมั่นจะรู้พระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้าในช่วงของความสับสนและความกังวลในชีวิตเขา … สถานที่ใกล้กับพอลไม-รา นิวยอร์ก บริเวณนั้นเกิด “ความระส่ำระสายผิดธรรมดาเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา” ในช่วงวัยเด็กของโจเซฟ แท้จริงแล้วเหตุดังกล่าวดูเหมือนจะมีผลกระทบทั่วเขตนั้น เนื่องด้วย “ชนหมู่มาก” ท่านเขียน รวมตัวกันเข้ากับกลุ่มศาสนาต่างๆ และก่อให้เกิด “ความวุ่นวายและความแตกแยก” ไม่น้อยในบรรดาผู้คน [โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:5)
สำหรับเด็กหนุ่มที่เพิ่งอายุสิบสี่ปี การแสวงหาความจริงของเขายากและสับสนยิ่งกว่าเดิมเพราะเวลานั้นสมาชิกในครอบครัวสมิธนับถือศาสนาต่างกัน
ตอนนี้ ด้วยภูมิหลังและสภาวะแวดล้อมที่คุ้นเคยดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้ท่านพิจารณาความคิดและความรู้สึกที่น่าทึ่งพอสมควรจากเด็กหนุ่มวัยอ่อนเยาว์คนนั้น เขาเขียนว่า
“ระหว่างเวลาแห่งความระส่ำระสายอย่างรุนแรงนี้จิตใจข้าพเจ้าว้าวุ่นครุ่นคิดหนักและกังวลใจมาก; แต่แม้ว่าความรู้สึกของข้าพเจ้าจะลึกซึ้งและมักจะแรงกล้า, ทว่าข้าพเจ้ายังคงเก็บตัวห่างจาก [กลุ่มทั้งหลายทั้งปวง] เหล่านี้ … , ความสับสนและความขัดแย้งในบรรดากลุ่มที่แตกต่างนั้นมีมากยิ่งนัก, จนสุดวิสัยที่ผู้อ่อนวัยอย่างข้าพเจ้า, และไม่ประสาต่อมนุษย์และเรื่องต่างๆ, จะสรุปได้แน่ชัดว่าใครถูกและใครผิด.
“จิตใจข้าพเจ้าบางเวลาสับสนวุ่นวายมาก, เสียงป่าวร้องและความแตกตื่นมีอยู่มากมายไม่หยุดหย่อน …
“ท่ามกลางสงครามคารมและความแตกตื่นอันเกิดจากความคิดเห็นทั้งหลายนี้, ข้าพเจ้ามักกล่าวแก่ตนเอง: จะให้ทำอย่างไรเล่า? จากกลุ่มทั้งหมดนี้ใครเล่าถูก; หรือ, ผิดด้วยกันทั้งหมด? หากมีกลุ่มหนึ่งในนั้นถูกต้อง, แล้วจะเป็นกลุ่มใดเล่า, และข้าพเจ้าจะรู้ได้อย่างไรเล่า?
“ขณะที่ข้าพเจ้าหนักอึ้งอยู่ด้วยความลำบากใจแสนสาหัสอันเกิดจากการแข่งขันของกลุ่มนักศาสนาเหล่านี้, วันหนึ่งข้าพเจ้าอ่านสาส์นของยากอบ, บทที่หนึ่งและข้อที่ห้า, ซึ่งอ่านว่า : ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา, ก็ให้ผู้นั้นทูลขอจากพระเจ้า, ผู้ทรงโปรดประทานให้แก่คนทั้งปวงด้วยพระกรุณา, และมิได้ทรงตำหนิ; แล้วผู้นั้นก็จะได้รับสิ่งที่ทูลขอ.
“ไม่เคยมีข้อความใดในพระคัมภีร์มาสู่จิตใจมนุษย์ด้วยพลังได้มากไปกว่าข้อความนี้ที่ขณะนั้นมาสู่จิตใจข้าพเจ้า. ดูเหมือนจะเข้าถึงความรู้สึกทุกอย่างของจิตใจข้าพเจ้าด้วยพลังอันแรงกล้า ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงข้อความนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า, โดยรู้ว่าหากมีผู้ใดต้องการปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า, ผู้นั้นคือข้าพเจ้า; เพราะจะกระทำอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบ, และเว้นแต่ข้าพเจ้าจะได้ปัญญามากกว่าที่ข้าพเจ้ามีอยู่เวลานั้น, ข้าพเจ้าก็ไม่อาจรู้ได้เลย” [โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:8-12]
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นเปลี่ยนวิถีของประวัติศาสตร์มนุษย์ เด็กหนุ่มโจเซฟตั้งใจจะ “ทูลขอจากพระผู้เป็นเจ้า” จึงปลีกตัวเข้าไปในป่าใกล้บ้านในชนบทของเขา ที่นั่น ในการตอบคำสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าของเขา พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ เสด็จมาเยือนโจเซฟและแนะนำเขา ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่นั้น ซึ่งข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างนอบน้อม ได้ตอบคำถามมากมายสำหรับสมัยการประทานของเรามากกว่าเพียงตอบว่าเด็กหนุ่มโจเซฟควรหรือไม่ควรเข้าร่วมกับศาสนจักรใด
แต่จุดประสงค์ของข้าพเจ้า … ไม่ใช่เพื่อสรุปช่วงเวลาแรกของการฟื้นฟู แม้ว่าการฟื้นฟูจะเป็นเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์เรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าประสงค์จะเน้นย้ำความละเอียดอ่อนทางวิญญาณอันน่าประทับใจที่เด็กหนุ่มด้อยการศึกษาและอายุน้อยมากคนนี้แสดงให้เห็น
มีพวกเราวัยสิบสี่หรือราวๆ นั้นสักกี่คนจะมีสติและทำใจให้สงบนิ่งได้ทั้งที่มีอิทธิพลมากมายพยายามชักจูงเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสำคัญเช่นนั้นอันเกี่ยวเนื่องกับความรอดนิรันดร์ของเรา มีพวกเราสักกี่คนสามารถต้านความขัดแย้งทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อบิดามารดามีข้อคิดเห็นทางศาสนาต่างจากเรา มีพวกเราวัยสิบสี่หรือห้าสิบสักกี่คนจะแสวงหาจิตวิญญาณของเราและแสวงหางานเขียนศักดิ์สิทธิ์เพื่อหาคำตอบของสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “ความล้ำลึกของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 2:10)
น่าทึ่งยิ่งนัก … ที่เด็กหนุ่มคนนี้หันไปพึ่งพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งจากนั้นจึงพึ่งการสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัว บางทีอาจเป็นแหล่งช่วยที่สำคัญที่สุดสองแหล่งของความเข้าใจลึกซึ้งทางวิญญาณและความประทับใจทางวิญญาณซึ่งมีอยู่ทั่วไปแก่มวลมนุษย์ แน่นอนว่าเขาถูกชักจูงจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เขาตั้งใจจะทำสิ่งถูกต้องและตั้งใจจะหาหนทางที่ถูกต้อง โจเซฟเชื่อ เช่นเดียวกับที่ท่านและข้าพเจ้าต้องเชื่อว่า เขาจะได้รับการสอนและได้รับพรจากเบื้องบนเช่นเดียวกับที่เขาได้รับ
แต่เราอาจจะพูดว่า โจเซฟ สมิธเป็นดวงวิญญาณพิเศษมาก และกรณีของเขาเป็นกรณีพิเศษ ส่วนพวกเราที่เหลือเล่า ตอนนี้เราอาจจะอายุมากกว่า—อย่างน้อยก็เกินสิบสี่ปี—และไม่ได้ถูกกำหนดให้เปิดสมัยการประทานของพระกิตติคุณ เราต้องตัดสินใจ จัดการกับความสับสน และแยกแยะความจริงจากสงครามคารมในเรื่องทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราเช่นกัน โลกเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ยากลำบากเช่นนั้น และบางครั้งขณะที่เราเผชิญการตัดสินใจเหล่านั้น เราอาจรู้สึกถึงวัยหรือความอ่อนแอของเรา
บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าความเฉียบแหลมทางวิญญาณของเราทื่อลง ในวันที่ยากลำบากบางวัน เราอาจรู้สึกกระทั่งว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงลืมเรา ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพังให้อยู่ในความสับสนและความกังวล แต่พวกเราที่อายุมากกว่าไม่ควรรู้สึกเช่นนั้น คนที่อายุน้อยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่าก็ไม่ควรรู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักและทรงรักเราทุกคน เรา เราทุกคน เป็นธิดาและบุตรของพระองค์ไม่ว่าเราจะได้รับบทเรียนอะไรในชีวิต สัญญายังคงเป็นจริง “ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ” (ยากอบ 1:5)4
3
การสวดอ้อนวอนเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รับความรู้และการทรงนำทางวิญญาณ
ความรู้และปัญญาของโลกตลอดจนทุกอย่างที่เป็นของโลกนี้ เราจะสัมผัสได้ทางร่างกายซึ่งเป็นวิธีทางโลก เราสัมผัส เราเห็น เราได้ยิน ลิ้มรส ดมกลิ่น และเรียนรู้ แต่ความรู้ทางวิญญาณ ตามที่เปาโลกล่าว มาถึงเราในวิธีทางวิญญาณจากแหล่งทางวิญญาณของความรู้นั้น เปาโลกล่าวต่อไปว่า
“แต่คนทั่วไปจะไม่รับสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้า เพราะว่าเขาเห็นว่าเป็นเรื่องโง่ และเขาไม่สามารถเข้าใจ เพราะจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องวินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ” (1 โครินธ์ 2:14)
เราพบ และรู้ว่าวิธีเดียวที่เราจะได้ความรู้ทางวิญญาณคือ ทูลขอพระบิดาในสวรรค์ผ่านพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราทำเช่นนี้ และถ้าเราพร้อมทางวิญญาณ เราจะเห็นสิ่งที่ดวงตาของเราไม่เคยเห็นมาก่อน และเราได้ยินสิ่งที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน— “สิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” ตามคำพูดของเปาโล (1 โค-รินธ์ 2:9) เราได้รับสิ่งเหล่านี้ผ่านพระวิญญาณ
เราเชื่อ และเป็นพยานต่อโลกว่าการสื่อสารกับพระบิดาในสวรรค์และแนวทางจากพระเจ้ามีอยู่ในปัจจุบัน เราเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับมนุษย์เช่นเดียวกับที่ตรัสในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอดและในสมัยพันธสัญญาเดิม5
4
เราสวดอ้อนวอนได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่ในเวลาสิ้นหวัง
ยุคปัจจุบันของเราดูเหมือนจะบอกว่าความภักดีร่วมกับการสวดอ้อนวอนและความคารวะต่อเรื่องศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องไร้เหตุผลหรือไม่พึงปรารถนา หรือทั้งสองอย่าง แต่กระนั้น คน “ยุคปัจจุบัน” ที่ช่างสงสัยก็ยังต้องสวดอ้อนวอน ช่วงเวลาอันตราย ความรับผิดชอบใหญ่หลวง ความวิตกกังวลลึกๆ ความทุกข์ระทมแสนสาหัส—ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เราออกจากความพึงพอใจเดิมๆ และกิจวัตรที่กำหนดไว้จะทำให้นิสัยตามธรรมชาติของเราปรากฏ ถ้าเรายอม ความท้าทายเหล่านี้จะทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยนลง และทำให้เราหันไปพึ่งการสวดอ้อนวอนด้วยความเคารพ
ถ้าการสวดอ้อนวอนเป็นเพียงการร้องทูลในช่วงเวลาวิกฤติ แสดงว่าเราเห็นแก่ตัวที่สุด และเราจะคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นช่างซ่อมหรือหน่วยบริการที่ช่วยเราเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เราควรระลึกถึงองค์พระผู้สูงสุดทั้งวันคืน—ตลอดเวลา—ไม่เฉพาะเวลาที่เราไร้ซึ่งความช่วยเหลืออื่นใดและเราต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง ถ้ามีสิ่งใดในชีวิตมนุษย์ซึ่งเรามีบันทึกถึงความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์และมีค่าสุดประมาณต่อจิตวิญญาณมนุษย์ สิ่งนั้นคือการสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราด้วยความภักดี ความคารวะ และการสวดอ้อนวอน
“ข้าแต่พระยาเวห์ ขอเอียงพระโสตสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ขอทรงฟังเสียงคร่ำครวญของข้าพระองค์” ผู้เขียนสดุดีกล่าว
“ข้าแต่พระเจ้า พระมหากษัตริย์ของข้าพระองค์ ขอทรงฟังเสียงร้องทูลของข้าพระองค์ เพราะข้าพระองค์อธิษฐานต่อพระองค์
“ข้าแต่พระยาห์เวห์ ยามเช้าพระองค์ทรงสดับเสียงข้าพระองค์ ยามเช้าข้าพระองค์เตรียมคำอธิษฐานแด่พระองค์ และเฝ้าคอยอยู่” (สดุดี 5:1-3)
บางทีสิ่งที่โลกนี้ต้องการมากเท่ากับสิ่งอื่นคือ “เฝ้าคอยอยู่” ตามที่ผู้เขียนสดุดีกล่าว—เฝ้าคอยในปีติของเราและความทุกข์ของเรา ในความอุดมสมบูรณ์ของเราและความขัดสนของเรา เราต้องเฝ้าคอยตลอดเวลาและยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ให้สิ่งดีทุกอย่างและเป็นบ่อเกิดแห่งความรอดของเรา …
วิญญาณของการสวดอ้อนวอน ความคารวะ และการนมัสการหายไปจากสังคมเราของเราเสียเป็นส่วนใหญ่ ชายหญิงในแวดวงต่างๆ ฉลาด น่าสนใจ หรือปราดเปรื่อง แต่พวกเขาขาดองค์ประกอบสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในชีวิตที่สมบูรณ์ พวกเขาไม่เฝ้าคอยอยู่ พวกเขาไม่ถวายคำปฏิญาณในความชอบธรรม [ดู คพ. 59:11] การสนทนาของพวกเขามีชีวิตชีวา แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ คำพูดของพวกเขาเต็มไปด้วยความรอบรู้ แต่ขาดปัญญา ไม่ว่าจะอยู่ในห้องทำงาน ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือห้องทดลอง พวกเขาลดระดับความสูงค่าของตนลงอย่างมากเมื่อพวกเขาโอ้อวดพลังความสามารถอันมีขีดจำกัดของตนเองแล้วรู้สึกว่าต้องสบประมาทพลังความสามารถอันไร้ขีดจำกัดเหล่านั้นที่มาจากเบื้องบน
น่าเสียดายที่บางครั้งเราเห็นการขาดความคารวะเช่นนี้แม้กระทั่งในศาสนจักร บางครั้งเราคุยกันเสียงดังมาก เข้าออกการประชุมอย่างไม่เคารพในชั่วโมงที่ควรเป็นเวลาของการสวดอ้อนวอนและการนมัสการที่ทำให้เราบริสุทธิ์ ความคารวะเป็นบรรยากาศของสวรรค์ การสวดอ้อนวอนเป็นการเอ่ยความในใจต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา เราจะเป็นเหมือนพระบิดาของเรามากขึ้นโดยเฝ้าคอยพระองค์ ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา สนใจโลกและงานของพระองค์ให้มาก6
5
เราพัฒนาความสามารถในการรับความรู้ทางวิญญาณขณะที่เราใช้เวลาพินิจไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และสวดอ้อนวอน
การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับอิทธิพลสูงสุดของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและมักจะเกี่ยวข้องกับความพยายาม สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่บรรลุผลสำเร็จผ่านความพยายามอย่างรอบคอบ โดยเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์เท่านั้น …
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ … ได้ให้ถ้อยแถลงที่อาจจะชัดเจนที่สุดในบรรดาถ้อยแถลงทั้งหมดเกี่ยวกับความจำเป็นของความเข้มแข็งทางวิญญาณ รวมถึงเวลาและความอดทนซึ่งเราพึงยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ [ท่าน] กล่าวว่า “เราถือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์พร้อมจิตใจที่สามารถรับคำแนะนำสั่งสอนได้ และสติปัญญาซึ่งขยายได้ตามสัดส่วนความเอาใจใส่และความพากเพียรที่ให้แก่ความสว่างซึ่งถ่ายทอดจากสวรรค์ให้ผู้มีปัญญา และยิ่งมนุษย์เข้าใกล้ความดีพร้อมมากเท่าใด การมองเห็นของเขาจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น และความปลื้มปีติของเขาจะมากขึ้น จนกว่าเขาจะเอาชนะความชั่วร้ายของชีวิตเขาและสูญสิ้นความปรารถนาที่จะทำบาป และเช่นเดียวกับคนสมัยโบราณ เขาจะมาถึงจุดนั้นของศรัทธาซึ่งห่อหุ้มเขาไว้ในเดชานุภาพและพระสิริของพระผู้รังสรรค์และได้อยู่กับพระองค์ แต่เราถือว่านี่เป็นสถานะที่ไม่มีมนุษย์คนใดไปถึงได้ในทันที” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 226]7
เราต้องใช้เวลาเตรียมจิตใจเราให้พร้อมรับเรื่องทางวิญญาณ การพัฒนาความสามารถทางวิญญาณไม่ได้มากับการประสาทสิทธิอำนาจ จะต้องมีความปรารถนา ความพยายาม และการเตรียมตัว แน่นอนว่าสิ่งนี้เรียกร้อง … การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน การค้นคว้าพระคัมภีร์ ประสบการณ์ การพินิจไตร่ตรอง และการหิวกระหายชีวิตที่ชอบธรรม
ข้าพเจ้าพบว่าการทบทวนคำตักเตือนต่อไปนี้จากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพจะช่วยได้
“หากเจ้าจะถาม, เจ้าจะได้รับการเปิดเผยมาเติมการเปิดเผย, ความรู้มาเติมความรู้, เพื่อเจ้าจะรู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข—สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งปีติ, สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งนิรันดรแห่งชีวิต” (คพ. 42:61)
“จงทูลขอพระบิดาในนามของเรา, ด้วยศรัทธาเชื่อมั่นว่าเจ้าจะได้รับ, และเจ้าจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์, ซึ่งแสดงทุกสิ่งที่สมควรให้ประจักษ์แก่ลูกหลานมนุษย์” (คพ. 18:18)
“ให้สัจธรรมแห่งนิรันดรสถิตอยู่ในจิตใจเจ้า” (คพ. 43:34)
“จงสั่งสมถ้อยคำแห่งชีวิตไว้ในความคิดเจ้าเสมอไป, และจะให้มันแก่เจ้าในโมงนั้นเอง ส่วนนั้นที่จะแบ่งสรรให้แก่มนุษย์ทุกคน” (คพ. 84:85)
“จงค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร, สวดอ้อนวอนเสมอ, และจงเชื่อ, และสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเจ้า, หากเจ้าดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรง และจดจำพันธสัญญาซึ่งด้วยพันธสัญญานั้นเจ้าได้ทำพันธสัญญาไว้แก่กัน” (คพ. 90:24)
“พระผู้เป็นเจ้าจะประทานความรู้แก่เจ้าโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์, แท้จริงแล้ว, โดยของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งไม่อาจพูดถึงได้” (คพ. 121:26)
นี่คือสัญญาที่พระเจ้าจะทรงทำให้เกิดสัมฤทธิผลแน่นอนถ้าเราเตรียมตัว
จงใช้เวลาพินิจไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องทางวิญญาณ8
6
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้เราก้าวหน้าทางวิญญาณทีละขั้น
ส่วนหนึ่งของความยากลำบากขณะที่เราพยายามให้มีความเข้มแข็งทางวิญญาณคือความรู้สึกว่ามีมากมายให้ทำและเรากำลังทำไม่เพียงนิดเดียว ความดีพร้อมอยู่ข้างหน้าเราทุกคน แต่เราสามารถใช้ความเข้มแข็งของเราให้เป็นประโยชน์ เริ่มตรงที่เราอยู่ และแสวงหาความสุขที่พบได้ในความพยายามติดตามเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า เราควรจดจำคำแนะนำของพระเจ้าที่ว่า
“ดังนั้น, อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี, เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง. และจากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่.
“ดูเถิด, พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ; และคนเต็มใจและคนเชื่อฟังจะกินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้.” (คพ. 64:33-34)
ข้าพเจ้ามีกำลังใจเสมอที่พระเจ้าตรัสว่า “คนเต็มใจและคนเชื่อฟังจะกินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้.” เราทุกคนสามารถเต็มใจและเชื่อฟัง ถ้าพระเจ้าตรัสว่าคนดีพร้อมจะได้กินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราบางคนจะท้อแท้และยอมแพ้ …
จุดเริ่มต้นคือที่นี่ เวลาเริ่มต้นคือเดี๋ยวนี้ ความยาวในการก้าวเดินของเราคือต้องเดินไปทีละก้าว พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรง “ออกแบบความสุขของเรา” จะทรงนำเราไปตลอดทางแม้เหมือนเด็กเล็กๆ และเราจะเข้าใกล้ความดีพร้อมโดยกระบวนการนั้น
ไม่มีใครในพวกเราบรรลุความดีพร้อมหรือถึงจุดสูงสุดของการเติบโตทางวิญญาณอันอาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นมรรตัย ทุกคนสามารถและต้องเจริญก้าวหน้าทางวิญญาณ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนอันสูงส่งสำหรับการเติบโตทางวิญญาณชั่วนิรันดร์ เป็นมากกว่าประมวลจริยธรรม เป็นมากกว่าระเบียบสังคมที่ดีเลิศ เป็นมากกว่าความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการปรับปรุงตนเองและความตั้งใจแน่วแน่ พระกิตติคุณเป็นเดชานุภาพในการช่วยให้รอดของพระเจ้าพระเยซูคริสต์กับฐานะปุโรหิตและการค้ำจุนของพระองค์และกับพระวิญาณศักดิ์สิทธิ์ ด้วยศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการเชื่อฟังพระกิตติคุณของพระองค์ โดยปรับปรุงทีละก้าวขณะเดินไป ทูลขอพลัง ปรับปรุงเจตคติและความใฝ่ฝันของเรา เราจะพบตนเองประสบความสำเร็จในฝูงของพระเมษ-บาลผู้ประเสริฐ สิ่งนั้นจะเรียกร้องวินัย การฝึกฝน ความพยายามอย่างเต็มที่ และความเข้มแข็ง แต่ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าว “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13)
การเปิดเผยยุคปัจจุบันสัญญาดังนี้ “จงวางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำให้ทำดี—แท้จริงแล้ว, ให้ทำอย่างเที่ยงธรรม, ให้เดินอย่างถ่อมตน, ให้พิพากษาอย่างชอบธรรม; และนี่คือพระวิญญาณของเรา.
“ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, เราจะเผยพระวิญญาณของเราส่วนหนึ่งให้เจ้า, ซึ่งจะให้ความสว่างแก่ความคิดเจ้า, ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณเจ้าเปี่ยมด้วยปีติ;
“และเมื่อนั้นเจ้าจะรู้, หรือโดยสิ่งนี้เจ้าจะรู้, สิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่เจ้าปรารถนาจากเรา, ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความชอบธรรม, ด้วยศรัทธาโดยเชื่อในเราว่าเจ้าจะได้รับ.” (คพ. 11:12-14)9
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
หลังจากอ่านหัวข้อ 1 ให้นึกถึงเวลาที่ท่านเคยต้องการความช่วยเหลือจากสวรรค์ สัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนในยามต้องการเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร
-
ในหัวข้อ 2 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธที่จะช่วยเราได้เมื่อเราเกิดความสับสน เราจะพัฒนาความละเอียดอ่อนทางวิญญาณเหมือนโจเซฟได้อย่างไร
-
ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับความรู้ทางวิญญาณ (ดู หัวข้อ 3) เราสามารถเพิ่มพูนความปรารถนาและความสามารถในการได้ความรู้ทางวิญญาณอย่างไร ความรู้ทางวิญญาณช่วยท่านในทางใดบ้าง
-
อะไรคืออันตรายของการมองว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “ช่างซ่อมหรือหน่วยบริการที่ช่วยเราเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” (ดู หัวข้อ 4) การสวดอ้อนวอนเป็นพรแก่ท่านอย่างไร
-
ในหัวข้อ 5 ประธานฮันเตอร์สอนวิธีพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ เหตุใดความพยายามจึงจำเป็นต่อการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อพระคัมภีร์ที่ประธานฮันเตอร์อ้างในหัวข้อนี้
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 6 เกี่ยวกับการเติบโตทางวิญญาณ การเติบโตทางวิญญาณเป็นกระบวนการทีละขั้นสำหรับท่านอย่างไร คำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อนี้จะช่วยได้อย่างไรถ้าท่านรู้สึกว่าการเติบโตทางวิญญาณของท่านไม่เป็นไปตามที่หวัง
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
สดุดี 25:5; สุภาษิต 3:6; 2 นีไฟ 32:8–9; แอลมา 5:46; 34:17–27; 37:36–37; คพ. 8:2–3; 88:63; 112:10; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:13–17
ความช่วยเหลือด้านการสอน
เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าบทนี้โดยมองหาประโยคหรือย่อหน้าที่สำคัญต่อพวกเขา ขอให้พวกเขาแบ่งปันประโยคหรือย่อหน้าเหล่านี้และอธิบายว่าเหตุใดจึงมีความหมาย