คำสอนของประธานศาสนจักร
ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์


ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1994 วันหลังจากฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ท่านกล่าวคำเชื้อเชิญสองเรื่อง ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและให้กำลังใจดังนี้:

“ก่อนอื่น ข้าพเจ้าใคร่ขอเชื้อเชิญสมาชิกทุกท่านของศาสนจักรให้ดำเนินชีวิตด้วยความเอาใจใส่มากขึ้นต่อพระชนม์ชีพและแบบอย่างของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก ความหวัง และความสงสารที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็น ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตามากขึ้น ความเอื้อเฟื้อมากขึ้น อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น อดทนมากขึ้น และให้อภัยมากขึ้น”1

การกระตุ้นผู้คนให้ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นสิ่งที่มุ่งเน้นในคำสอนของประธานฮันเตอร์มาหลายทศวรรษ “โปรดจำไว้อย่างหนึ่ง” ท่านกล่าวเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ “ถ้าชีวิตเราและศรัทธาของเรามีศูนย์รวมอยู่ที่พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ย่อมไม่มีสิ่งใดผิดพลาดถาวรตลอดไป อีกนัยหนึ่งคือ ถ้าชีวิตเราไม่มีศูนย์รวมอยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์ ย่อมไม่มีความสำเร็จใดถูกต้องถาวรตลอดไป”2

คำเชื้อเชิญเรื่องที่สองของประธานฮันเตอร์คือขอให้สมาชิกศาสนจักรรับพรพระวิหารให้มากขึ้น

“ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้สมาชิกศาสนจักรกำหนดพระวิหารของพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของพวกเขาและเป็นสภาพแวดล้อมอันสูงส่งสำหรับพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพวกเขา ความปรารถนาอันลึกซึ้งที่สุดของใจข้าพเจ้าคืออยากให้สมาชิกทุกคนของศาสนาจักรมีค่าควรเข้าพระวิหาร ข้าพเจ้าหวังว่าสมาชิกผู้ใหญ่ทุกคนจะมีค่าควร —และถือ—ใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบัน ถึงแม้ระยะทางไปพระวิหารจะไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ใบรับรองพระวิหารได้ทันทีหรือใช้บ่อยๆ

“ขอให้เราเป็นผู้คนที่รักพระวิหารและเข้าพระวิหาร ขอให้เรารีบไปพระวิหารบ่อยที่สุดเท่าที่เวลา เงินทอง และสภาวการณ์ส่วนตัวจะเอื้ออำนวย ขอให้เราไปไม่เพียงเพื่อคนตายที่เป็นญาติพี่น้องของเราเท่านั้น แต่ขอให้เราไปรับพรส่วนตัวของการนมัสการในพระวิหาร รับความศักดิ์สิทธิ์และความปลอดภัยซึ่งให้ไว้ภายในกำแพงที่อุทิศถวายและทำให้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นด้วย พระวิหารเป็นสถานที่ของความสวยงาม เป็นสถานที่ของการเปิดเผย เป็นสถานที่ของสันติสุข พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า พระวิหารศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า พระวิหารควรศักดิ์สิทธิ์ต่อเรา”3

ประธานฮันเตอร์ยังคงเน้นคำเชื้อเชิญสองเรื่องนี้ตลอดการรับใช้เป็นประธานศาสนจักรของท่าน ถึงแม้ท่านเป็นประธานเพียงเก้าเดือน แต่คำเชื้อเชิญเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกศาสนจักรทั่วโลกเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นและแสวงหาพรของพระวิหารด้วยการอุทิศตนมากขึ้น

ภาพ
ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ช่วงระยะแรก

กลางทศวรรษ 1800 บรรพชนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ในสี่ประเทศเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย บรรพชนฝ่ายมารดามาจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ หลังอพยพจากประเทศบ้านเกิด พวกเขาเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานรุ่นแรกสุดของเมานต์เพลเซนต์ ยูทาห์ เนลลี แรสมุสเซ็นลูกหลานคนหนึ่งของผู้บุกเบิกที่เด็ดเดี่ยวเหล่านี้กลายเป็นมารดาของศาสดาพยากรณ์

บรรพชนฝ่ายบิดามีรากเหง้าฝังลึกในสก็อตแลนด์และนิวอิงแลนด์ คนที่เข้าร่วมศาสนจักรเสียสละมาก แต่ส่วนใหญ่ยุติการเป็นสมาชิกหลังจากนั้นไม่กี่ปี การเกิดของจอห์น วิลเลียม (วิลล์) ฮันเตอร์ในปี 1879 เป็นจุดเริ่มต้นของคนรุ่นที่สามในสายฮันเตอร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรอีกเลย แต่วิลล์ ฮันเตอร์กลายเป็นบิดาของศาสดาพยากรณ์

เมื่อวิลล์ ฮันเตอร์อายุ 8 ขวบ ครอบครัวเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองบอยซี รัฐไอดาโฮ อีก 16 ปีต่อมา วิลล์พบเนลลี แรสมุสเซ็นเมื่อเธอมาอยู่บอยซีกับลุงและป้า ไม่นานวิลล์ก็เริ่มผูกสมัครรักใคร่กับเนลลี และหลังจากนั้นสองปีเขาขอเธอแต่งงาน เนลลีลังเลพักหนึ่ง แต่วิลล์ยืนกราน และในที่สุดเธอก็ยอมรับคำขอของเขา ทั้งคู่แต่งงานกันในเมาต์เพลเซนต์ ยูทาห์ และกลับไปสร้างครอบครัวที่บอยซี ฮาเวิร์ด วิลเลียม ฮันเตอร์บุตรคนแรกของพวกเขาเกิดในบอยซีวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 บุตรอีกคนเป็นบุตรสาวที่พวกเขาตั้งชื่อว่าโดโรธี เธอเกิด ค.ศ. 1909

ภาพ
เด็กชายฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

การสร้างรากฐานให้ชีวิต

ช่วงที่ฮาเวิร์ดเกิด ศาสนจักรมีสาขาเล็กๆ สาขาเดียวในบอยซี มารดาของฮาเวิร์ดเป็นสมาชิกที่แข็งขันของสาขา เธอเลี้ยงดูลูกๆ ของเธอในพระกิตติคุณ ฮาเวิร์ดพูดถึงเธอว่า “คุณแม่ซื่อสัตย์เสมอ … ท่านรับใช้เป็นประธานปฐมวัยและ [เยาวชนหญิง] ข้าพเจ้าจำได้ว่าไปโบสถ์กับคุณแม่ บางครั้งก่อนเวลาประชุม จากนั้นก็อยู่หลังเลิกโบสถ์จนท่านทำงานเสร็จ”4 ถึงแม้บิดาของฮาเวิร์ดไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักร แต่เขาไม่คัดค้านการมีส่วนร่วมของครอบครัวและเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกกับครอบครัวเป็นครั้งคราว

นอกจากจะนำลูกๆ ให้แข็งขันในศาสนจักรแล้ว เนลลี ฮันเตอร์ยังได้ช่วยพวกเขาสร้างรากฐานมั่นคงทางศาสนาที่บ้านด้วย “คุณแม่เป็นผู้นำในการสอนพระกิตติคุณแก่พวกเรา” ฮาเวิร์ดจำได้ “เราเรียนรู้การสวดอ้อนวอนที่เข่าของท่าน … ข้าพเจ้าได้รับประจักษ์พยานเมื่อยังเด็กที่เข่าของมารดา”5

สาขาบอยซีเป็นวอร์ดในปี 1913 ไม่กี่วันก่อนวันเกิดปีที่หกของฮาเวิร์ด สองปีต่อมาเมื่อฮันเตอร์อายุแปดขวบ ท่านตั้งตารอวันรับบัพติศมา “ข้าพเจ้าตื่นเต้นมากกับโอกาสนั้น” ท่านกล่าว แต่คุณพ่อไม่อนุญาต ฮาเวิร์ดจำได้ว่า “คุณพ่อ … รู้สึกว่าควรรอจนกว่าข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าต้องการเส้นทางใดในชีวิต ข้าพเจ้าต้องการรับบัพติศมา แต่เวลาผ่านมาแล้วก็ผ่านไปโดยไม่ได้รับพรดังกล่าว”6

เพราะฮาเวิร์ดไม่ได้รับบัพติศมา ท่านจึงไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นมัคนายกเมื่ออายุครบ 12 ขวบ “ตอนนั้นเพื่อนข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นมัคนายกหมดแล้ว” ท่านกล่าว “เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของศาสนจักร ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถทำหน้าที่หลายอย่างที่พวกเขาทำ”7 ฮาเวิร์ดท้อใจอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้ส่งผ่านศีลระลึก “ข้าพเจ้านั่งในการประชุมศีลระลึกกับเด็กผู้ชายคนอื่นๆ เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาไปส่งผ่าน ข้าพเจ้าจะนั่งเศร้าซึมอยู่ในที่นั่งของตนเอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถูกตัดออกไป”8

ฮาเวิร์ดเข้าไปพูดกับบิดาอีกครั้ง คราวนี้ไปกับโดโรธีน้องสาววัย 10 ขวบ “[เรา] เริ่มเกลี้ยกล่อมคุณพ่อจนท่านยอมให้เรารับบัพติศมา เราสวดอ้อนวอนจนท่านยอม เราปีติยินดีเหลือล้นเมื่อในที่สุดท่านก็อนุญาต”9 ราวห้าเดือนหลังจากฮันเตอร์อายุครบ 12 ขวบ ท่านกับโดโรธีรับบัพติศมาในสระว่ายน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง ไม่นานหลังจากนั้น ฮาเวิร์ดได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นมัคนายกและส่งผ่านศีลระลึกเป็นครั้งแรก “ข้าพเจ้ากลัว แต่ตื่นเต้นที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้” ท่านจำได้10 หน้าที่หนึ่งของฮาเวิร์ดคือท่านต้องโยกคันชักเครื่องสูบลมของออร์แกนและจุดไฟเพื่อให้ห้องประชุมอุ่นในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่หนาวเย็น “โลกใบใหม่เปิดรับข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้าเรียนรู้ความรับผิดชอบของการเป็นสมาชิกศาสนจักรและการดำรงฐานะปุโรหิต” ท่านกล่าว11

สมัยเป็นเยาวชนชาย ฮาเวิร์ดเข้ากลุ่มลูกเสือของวอร์ดและทำงานหนักเพื่อให้ได้รางวัลสูงสุดคือ—ลูกเสืออีเกิล เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย ท่านได้เข้าร่วมการแข่งกระชับมิตรครั้งหนึ่ง “มีเราสองคนแข่งกันเป็นลูกเสืออีเกิลอันดับหนึ่งในบอยซี” ท่านจำได้12 เยาวชนชายคนหนึ่งบรรลุข้อกำหนดก่อน แต่ดูเหมือนฮาเวิร์ดจะพอใจกับการได้รางวัลอันดับสอง13

ฮาเวิร์ดเรียนรู้ความอุตสาหะแต่เยาว์วัยในชีวิต ท่านช่วยหญิงม่ายและเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ขายหนังสือพิมพ์ และทำงานที่ฟาร์มปศุสัตว์ของคุณลุง เมื่อท่านโตขึ้น งานของท่านรวมถึงการเป็นเด็กถือถุงกอล์ฟที่สนามกอล์ฟ ส่งโทรเลข และทำงานที่ร้านขายยา หนังสือพิมพ์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านศิลปะ

โดโรธี ฮันเตอร์กล่าวว่าพี่ชายเธอมี “ความทะเยอทะยานเป็นแรงขับ” และมี “สมองปราดเปรื่อง”14 นอกจากคุณลักษณะเหล่านี้แล้ว ท่านยังมีคุณสมบัติของความสงสารและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย เมื่อนึกถึงวิธีที่ท่านดูแลคนอื่นๆ โดโรธีกล่าวว่า “ฮาเวิร์ดต้องการทำดีและเป็นคนดีเสมอ เขาเป็นพี่ชายที่แสนดี เขาดูแลดิฉัน เขาอ่อนโยนต่อคุณแม่และคุณพ่อของเรา”15

ความสงสารของฮาเวิร์ดเผื่อแผ่ไปถึงสัตว์ด้วย “แมวจรทุกตัวจะมีบ้านของเราเป็นที่พักอาศัย แม้ครอบครัวจะคัดค้าน” ท่านกล่าว16 ครั้งหนึ่งเด็กชายข้างบ้านบางคนกำลังทรมานลูกแมวโดยโยนลงไปในคูทดน้ำใกล้บ้านของครอบครัวฮันเตอร์ ทุกครั้งที่มันคลานขึ้นมา เด็กพวกนั้นจะโยนกลับไปอีก ไม่นานฮาเวิร์ดก็ผ่านมาและช่วยชีวิตลูกแมว “มันนอนเกือบตายอยู่ตรงนั้น” โดโรธีจำได้ “และเขาเอามันกลับบ้าน”17

“มันคงไม่รอด” คุณแม่บอก

“แม่ครับ เราต้องลองดู” ฮาเวิร์ดยืนกราน18

โดโรธีกล่าวว่า พวกเขา “ห่อตัวลูกแมวด้วยผ้าห่มแล้ววางไว้ใกล้เตาอุ่นๆ และพยาบาลมัน” ด้วยการดูแลครั้งนี้ลูกแมวจึงรอดชีวิตและอยู่กับครอบครัวนานหลายปี

ฮาเวิร์ดได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นผู้สอนในปี 1923 ก่อนการตั้งวอร์ดบอยซีที่สอง เพราะต้องการที่ประชุมอีกแห่งหนึ่งและมุ่งหวังการเติบโตในอนาคต ผู้นำศาสนจักรในท้องที่จึงเสนอให้สร้างแทเบอร์นาเคิลสเตค ศาสนจักรขอให้วิสุทธิชนในบอยซีบริจาค 20,000 ดอลลาร์ให้การก่อสร้างอาคาร19 ในการประชุมที่ผู้นำขอให้บริจาค เด็กหนุ่มฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นคนแรกที่ยกมือและให้สัญญาว่าจะบริจาค จำนวนที่ท่านสัญญาจะบริจาค—25 ดอลลาร์—เป็นเงินก้อนใหญ่ในปี 1923 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กหนุ่มอายุ 15 ปี “ข้าพเจ้าทำงานเก็บเงินจนสามารถจ่ายครบตามที่รับปาก” ท่านกล่าวในเวลาต่อมา20 แทเบอร์นาเคิลเสร็จสมบูรณ์ในปี 1926 และประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์มาอุทิศในเดือนธันวาคมปีนั้น21

ฮาเวิร์ดแสดงให้เห็นความถนัดด้านตนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านฝึกเล่นเครื่องดนตรีหลายชิ้นสมัยเป็นวัยรุ่น เมื่ออายุ 16 ปีท่านตั้งวงดนตรีของตนเองซึ่งท่านเรียกว่า Hunter’s Croonaders. วงนี้แสดงที่งานเต้นรำ งานเลี้ยงรับรอง และอีกหลายงานในเขตบอยซีบ่อยๆ

เมื่อฮาเวิร์ดอายุ 19 ปี ท่านได้รับว่าจ้างให้เล่นดนตรีบนเรือสำราญที่จะไปเอเชีย สองเดือนแรกในปี 1927 วงที่มีเครื่องดนตรีห้าชิ้นของฮันเตอร์เล่นดนตรีช่วงอาหารค่ำและงานเต้นรำขณะเรือข้ามแปซิฟิกและแวะที่เมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์ การล่องเรือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ฮันเตอร์เข้าใจชีวิตดีขึ้นเพราะท่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนและวัฒนธรรมของพวกเขา ถึงแม้จะใช้รายได้ส่วนใหญ่ไปกับการท่องเที่ยวและของที่ระลึก แต่ท่านให้เหตุผลว่า “การศึกษามีค่าเท่ากับที่เราจ่าย”22

ภาพ
วงที่มีเครื่องดนตรีห้าชิ้น

ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ คนกลาง กับ Hunter’s Croonaders, ปี 1927

เวลาของการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ

ฮาเวิร์ดกลับจากการล่องเรือมาถึงบ้านและทราบข่าวอันน่ายินดีว่าบิดาท่านรับบัพ-ติศมาขณะที่ท่านไม่อยู่ วันอาทิตย์ถัดมา ฮาเวิร์ดกับบิดาไปเข้าร่วมการประชุมฐานะปุโรหิตด้วยกันเป็นครั้งแรก อธิการที่ห่วงใยกระตุ้นวิลล์ ฮันเตอร์มาตลอดให้รับบัพ-ติศมา และฮาเวิร์ดกล่าวว่า “ผู้สอน [ประจำบ้าน] เป็นคนที่ทำให้คุณพ่อเกิดความสนใจศาสนจักรมากขึ้น”23

หลังจากการล่องเรือ ฮาเวิร์ดไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคตของตน ท่านมีกิจกรรมด้านดนตรีและงานอื่นจนไม่มีเวลาว่าง รวมถึงธุรกิจของท่านเอง แต่ทั้งหมดนี้ดูเหมือนไม่ใช่งานอาชีพที่มั่นคง เมื่อความพยายามในการเริ่มธุรกิจใหม่ล้มเหลวเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1928 ท่านจึงตัดสินใจไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งในเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย เดิมทีท่านวางแผนจะอยู่เพียงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ แต่ไม่นานก็ตัดสินใจอยู่ต่อและแสวงหาสิ่งที่ท่านเรียกว่า “งานอาชีพที่ให้โอกาส”24 ในแคลิฟอร์เนียท่านไม่เพียงพบอาชีพเท่านั้นแต่พบภรรยาของท่านด้วย ท่านพบโอกาสที่จะได้รับใช้ศาสนจักรมากขึ้นรวมทั้งบ้านที่อยู่นานกว่าสามทศวรรษเช่นกัน

งานแรกๆ ของฮาเวิร์ดในแคลิฟอร์เนียคือขายรองเท้าและทำงานที่โรงงานบรรจุพืชตระกูลส้ม ซึ่งบางวันท่านขนส้มขึ้นตู้รถไฟราว 45 ถึง 50 ตัน “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ามีส้มมากขนาดนี้ในโลก” ท่านประหลาดใจ วันหนึ่งท่านมี “ช่วงเวลาที่ยุ่งยาก” เพราะท่านต้องคัดแยกมะนาวตามสี และท่านแยกเฉดสีเหลืองกับสีเขียวไม่ออกเนื่องจากท่านตาบอด-สี “ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าคงจะเสียสติก่อนหมดวันแน่” ท่านจำได้25

หลังจากทำงานที่โรงงานส้มสองสัปดาห์ ฮาเวิร์ดไปสมัครงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งในลอสแอนเจลิส ซึ่งจ้างท่านทันทีและเลื่อนตำแหน่งให้ท่านอย่างรวดเร็ว ท่านยังคงทำกิจกรรมด้านดนตรีด้วยโดยไปเล่นกับวงต่างๆ ช่วงเย็น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1928 ราวหกเดือนหลังจากฮาเวิร์ดย้ายไปแคลิฟอร์เนีย ครอบครัวท่านพบกันอีกครั้งเมื่อบิดามารดากับน้องสาวย้ายไปที่นั่น

ช่วงเป็นหนุ่ม ฮาเวิร์ดเข้าโบสถ์แต่ไม่ได้ศึกษาพระกิตติคุณลึกซึ้งนัก ในแคลิฟอร์เนียท่านตั้งใจศึกษาพระกิตติคุณยิ่งกว่าเดิม “ความสนใจพระกิตติคุณจริงๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่วอร์ดอดัมส์ซึ่งสอนโดย บราเดอร์ปีเตอร์ เอ. เคลย์ตัน” ท่านเล่า “เขามีความรู้มากมายมหาศาลและมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาว “ข้าพเจ้าศึกษาบทเรียน อ่านงานมอบหมายนอกห้องเรียนที่เขาให้ และร่วมวงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่ได้รับมอบหมาย … ข้าพเจ้าคิดว่าช่วงนี้ของชีวิตเป็นเวลาที่ความจริงของพระกิตติคุณเริ่มคลี่ขยาย ข้าพเจ้ามีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณเสมอ แต่จู่ๆ ก็เริ่มเข้าใจ”26 สำหรับฮาเวิร์ดแล้ว ประสบการณ์ในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ครั้งนั้นทำให้ท่านเริ่มรักการศึกษาพระกิตติคุณชั่วชีวิต

ฮาเวิร์ดชอบสมาคมกับหนุ่มสาวคนอื่นๆ ในเขตลอสแอนเจลิส พวกท่านไปโบสถ์ด้วยกัน บางครั้งไปสองหรือสามวอร์ดในวันอาทิตย์ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากมาย กิจกรรมหนึ่งในนั้นมีความหมายต่อฮาเวิร์ดชั่วกาลนาน ไม่กี่เดือนหลังจากท่านมาถึงแคลิฟอร์เนีย ท่านกับเพื่อนบางคนไปร่วมงานเต้นรำของศาสนจักรจากนั้นจึงไปชายทะเลเพื่อเดินลุยคลื่น เย็นวันนั้น ฮาเวิร์ดพบคลารา เมย์ (แคลร์) เจฟฟ์สซึ่งกำลังออกเดทกับเพื่อนคนหนึ่งของท่าน ไม่นานฮาเวิร์ดกับแคลร์ก็ชอบพอกันมากขึ้นจนเบ่งบานกลายเป็นความรัก

พวกท่านออกเดทไม่กี่ครั้งในปี 1928 และจริงจังขึ้นในปีถัดมา “เธอมีผมสีน้ำตาลอ่อนและเป็นหญิงสาวที่สวยมาก” ฮาเวิร์ดกล่าวในภายหลัง “ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจมากที่สุดคือความลึกซึ้งในประจักษ์พยานของเธอ”27 เย็นวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิ ปี 1931 ราวสามปีหลังจากพวกท่านพบกัน ฮาเวิร์ดพาแคลร์ขึ้นไปดูทัศนียภาพเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นั่นท่านขอแต่งงานและแคลร์ยอมรับ ฮาเวิร์ดจำได้ว่า:

“เราขับรถไปปาลอสเวอร์เดสและจอดรถบนหน้าผาที่เราดูคลื่นจากแปซิฟิกม้วนตัวเข้าหาฝั่งกระทบโขดหินท่ามกลางแสงของพระจันทร์เต็มดวง เราคุยกันเรื่องแผนของเราและข้าพเจ้าสวมแหวนเพชรให้เธอ เราตัดสินใจหลายเรื่องในคืนนั้นและตั้งปณิธานบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตเรา”28

ปณิธานเหล่านั้นส่งผลให้ฮาเวิร์ดตัดสินใจบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตก่อนแต่งงานสี่วัน หลังจากวงของท่านแสดงคืนนั้น ท่านเก็บเครื่องดนตรีใส่กล่องและไม่เล่นเป็นอาชีพอีกเลย การเล่นดนตรีในงานเต้นรำและงานเลี้ยง “ดึงดูดใจในบางด้าน” ท่านกล่าว “และข้าพเจ้าทำเงินได้ดี” แต่ท่านรู้สึกว่าวิถีชีวิตหลายส่วนเข้ากันไม่ได้กับชีวิตที่ท่านวาดหวังไวัสำหรับครอบครัวของท่าน “นี่ทำให้เกิดช่องว่างบางอย่างในใจข้าพเจ้า [แต่] การตัดสินใจครั้งนั้นไม่เคยทำให้เสียใจเลย” ท่านกล่าวในอีกหลายปีต่อมา29 ริชาร์ดบุตรชายของท่านตั้งข้อสังเกตว่า “ข้าพเจ้ามักจะนึกถึงวินัยอันน่าทึ่ง (ข้าพเจ้าเรียกว่าความมุ่งมั่น) ที่ต้องมีเพื่อทิ้งบางอย่างที่ท่านรักอย่างสุดซึ้งเพราะท่านเห็นคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างมากกว่า”30

การท้าทายและพรในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตแต่งงาน

ฮาเวิร์ดกับแคลร์แแต่งงานกันในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1931 และกลับไปเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนียเพื่อเริ่มใช้ชีวิตด้วยกัน สภาพธุรกิจในสหรัฐกำลังถดถอยเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1932 ธนาคารที่ฮาเวิร์ดทำงานจำต้องปิดกิจการ ท่านทำงานหลายอย่างนานสองปีติดต่อกันเพื่อให้มีรายได้พอประทังชีวิต ท่านกับแคลร์ตั้งใจว่าจะพึ่งพาตนเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีพวกท่านยอมรับคำชวนให้ไปอยู่กับบิดามารดาของแคลร์ช่วงหนึ่ง

วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1934 ลูกคนแรกของฮาเวิร์ดกับแคลร์เกิด พวกท่านตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่าฮาเวิร์ด วิลเลียม ฮันเตอร์ จูเนียร์ และเรียกเขาว่าบิลลี ฤดูร้อนปีนั้นพวกท่านสังเกตว่าบิลลีดูเซื่องซึม คณะแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคโลหิตจาง และฮาเวิร์ดถ่ายเลือดให้สองครั้ง แต่อาการของบิลลีไม่ดีขึ้น ผลตรวจเพิ่มเติมปรากฏว่ามีปัญหารุนแรงที่ลำไส้ ซึ่งแพทย์แนะนำให้ผ่าตัด ฮาเวิร์ดจำได้ว่า “มีคนพาข้าพเจ้าเข้าไปห้องและให้นอนบนโต๊ะที่อยู่ข้างบิลลีเพื่อให้เลือดระหว่างการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จ คณะแพทย์ไม่ให้ความหวัง”31 สามวันต่อมา บิลลีวัยหกเดือนเสียชีวิตขณะบิดามารดานั่งอยู่ข้างเตียงเขา “เราเศร้าใจมากและมึนงงขณะออกจากโรงพยาบาลในคืนนั้น” ฮาเวิร์ดเขียน32 “เหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนจิตใจเราอย่างรุนแรง”33

สองเดือนก่อนบิลลีเกิด ฮาเวิร์ดได้งานทำกับ Los Angeles County Flood Control District [สำนักงานเขตควบคุมอุทกภัยเทศมณฑลลอสแอนเจลิส] งานของท่านที่นั่นทำให้ท่านรู้จักเอกสารด้านกฎหมายและกระบวนการศาล และท่านตัดสินใจว่าจะประกอบอาชีพทนายความ การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยความตั้งใจและความขยันขันแข็งหลายปี เพราะไม่มีปริญญาตรี ฮาเวิร์ดจึงต้องเรียนอีกหลายวิชาจึงจะสามารถเข้าเรียนนิติศาสตร์ได้ ท่านเรียนตอนกลางคืนเพราะต้องทำงานต่อไป แม้ในช่วงที่เรียนนิติศาสตร์ท่านก็ยังทำงานเต็มเวลา “การทำงานทั้งวันและไปเรียนตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังต้องหาเวลาศึกษาอีก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ท่านเขียน34 “ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าข้าพเจ้าอ่านหนังสือจนดึกดื่น”35 ฮาเวิร์ดยังคงมีตารางเวลาที่เคร่งครัดห้าปี จนเรียนจบในปี 1939 เป็นลำดับสามในชั้นของท่าน

ขณะเรียนนิติศาสตร์ บุตรชายอีกสองคนเกิดจากเขาและแคลร์—จอห์นเกิดในปี 1936 ส่วนริชาร์ดเกิดในปี 1938 เพราะฮาเวิร์ดทำงานให้สำนักงานเขตควบคุมอุทกภัย ครอบครัวจึงสามารถซื้อบ้านหลังเล็กๆ ได้

อธิการวอร์ดเอลเซเรโน

คริสต์ศักราช 1940 ราวหนึ่งปีหลังจากฮาเวิร์ดเรียนจบนิติศาสตร์ ท่านได้รับเรียกให้รับใช้เป็นอธิการของวอร์ดเอลเซเรโนที่เพิ่งก่อตั้งในแคลิฟอร์เนีย การเรียกนี้ทำให้ท่านประหลาดใจ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดเสมอว่าอธิการเป็นคนสูงอายุ และข้าพเจ้าถามว่าข้าพเจ้าจะเป็นพ่อวัยสามสิบสองของวอร์ดได้หรือ ฝ่ายประธานสเตคตอบโดยรับรองกับท่านว่าท่านจะ “ทำงานมอบหมายได้แน่นอน” ถึงแม้ฮาเวิร์ดจะรู้สึกหนักใจ แต่ท่านสัญญาว่า “ผมจะทำให้ดีที่สุดครับ”36 ท่านทำตามสัญญานั้นด้วยความมุ่งมั่น การดลใจ และความเห็นอกเห็นใจในช่วงหกปีกว่าของการรับใช้เป็นอธิการ

อีกครั้งที่ฮาเวิร์ดเผชิญกับข้อเรียกร้องอย่างหนักของตารางเวลาและพลังงานของท่าน แต่ท่านรู้สึกว่าการรับใช้ของท่านให้พรมากมายเป็นการตอบแทน “ข้าพเจ้าพบว่าตนเองท่วมท้นด้วยความรับผิดชอบที่ใช้เวลาของข้าพเจ้าไปทั้งหมด” ท่านกล่าว “งานนี้เป็นงานที่มีเกียรติและเป็นพรประเสริฐ”37

ความต้องการเร่งด่วนของวอร์ดใหม่คือหาที่ประชุม ฝ่ายอธิการเช่าห้องบางห้องในตึกหลังหนึ่งและสมาชิกวอร์ดเริ่มระดมทุนสำหรับอาคารประชุมของตน ไม่นานการก่อสร้างอาคารศาสนจักรต้องหยุดชะงักเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สมาชิกวอร์ดมองไปที่อนาคตและระดมทุนต่อไป การระดมทุนครั้งหนึ่งเรียกว่า “โครงการหัวหอม” พวกเขาไปที่โรงงานผลิตของดองเพื่อตัดหัวหอม กลิ่นหัวหอมจะติดตัว ทำให้อธิการฮันเตอร์ต้องพูดติดตลกว่า “คุณบอกได้เลยว่าในการประชุมศีลระลึกใครไปตัดหัวหอมมา”38

การระดมทุนแบบอื่นได้แก่การหั่นกะหล่ำปลีในโรงงานกะหล่ำปลีดอง การบรรจุหีบห่อและขายซีเรียลอาหารเช้า “วันเหล่านี้เป็นวันที่มีความสุขเมื่อเราทำงานด้วยกัน คนทุกชนชั้นและทุกความสามารถสนับสนุนฝ่ายอธิการในการระดุมทุนเพื่อสร้างโบสถ์” อธิการฮันเตอร์เล่า “วอร์ดของเราเหมือนครอบครัวใหญ่ที่มีความสุข”39 หลังจากความอดทนและการเสียสละมาก เป้าหมายเรื่องอาคารประชุมวอร์ดเป็นความจริงในปี 1950 ราวสี่ปีหลังจากฮาเวิร์ดได้รับการปลดจากการเป็นอธิการ

การเป็นอธิการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ความท้าทายต่างออกไป สมาชิกชายจำนวนมากของวอร์ดเข้าประจำการกองทัพ ทิ้งครอบครัวให้อยู่ลำพังโดยไม่มีสามีและบิดาที่บ้าน การขาดแคลนผู้ชายให้ความท้าทายเช่นกันในการเรียกให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในศาสนจักร ด้วยเหตุนี้ในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการฮาเวิร์ดจึงรับใช้เป็นผู้นำลูกเสือด้วย “เรามีเยาวชายที่ดีกลุ่มหนึ่งที่เราไม่อาจปล่อยปละละเลยได้” เขากล่าว “ข้าพเจ้าทำงานกับเด็กผู้ชายราวสองปีและพวกเขาเจริญก้าวหน้าอย่างดีเยี่ยม”40

ฮาเวิร์ดได้รับการปลดจากการเป็นอธิการวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 “ข้าพเจ้าจะขอบพระทัยตลอดไปสำหรับสิทธิพิเศษนี้และการศึกษาในช่วงปีเหล่านั้น” ท่านกล่าว ถึงแม้ประสบการณ์จะ “ยากในหลายๆ ด้าน” แต่ท่านกับแคลร์ “สำนึกคุณต่อคุณค่าที่ประสบการณ์นั้นนำมาให้ครอบครัวเรา”41 สมาชิกวอร์ดคนหนึ่งเขียนแสดงความขอบคุณสำหรับการรับใช้ของอธิการฮันเตอร์ ดังนี้ “ท่านพยายามนำสมาชิกวอร์ดกลุ่มเล็กๆ ของเรามารวมกันและสอนให้เราบรรลุเป้าหมายที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อม วอร์ดเราทำงานด้วยกัน เราสวดอ้อนวอนด้วยกัน เล่นด้วยกัน และนมัสการด้วยกัน”42

ถึงแม้ฮาเวิร์ดได้รับการปลดในปี 1946 แต่ความผูกพันเป็นพิเศษกับสมาชิกวอร์ดเอลเซ-เรโนยังเหมือนเดิม ริชาร์ดบุตรชายของท่านกล่าวว่า “จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านยังคงติดต่อกับพวกเขาและรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนและสภาวการณ์ของพวกเขาเป็นอย่างไร เมื่อใดก็ตามที่ท่านเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งสมาชิกเก่าแก่คนหนึ่งของวอร์ด [อาศัยอยู่] ท่านจะติดต่อกับพวกเขา ความรักที่ท่านมีต่อสมาชิกวอร์ดยืนยาวตลอดชีวิตท่าน”43

การเลี้ยงดูครอบครัวและการสร้างอาชีพ

ฮาเวิร์ดกับแคลร์ ฮันเตอร์เป็นบิดามารดาที่น่ารักผู้สอนบุตรชายให้รู้คุณค่า ความรับผิดชอบ และความสำคัญของพระกิตติคุณ นานก่อนศาสนจักรกำหนดให้คืนวันจันทร์เป็นคืนสังสรรค์ในครอบครัว ครอบครัวฮันเตอร์ได้กำหนดให้คืนนั้นเป็นเวลาสำหรับสอน เล่าเรื่อง เล่นเกม และไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน เมื่อครอบครัวเดินทาง บางครั้งพวกเขาไปพระวิหารเพื่อให้จอห์นกับริชาร์ดรับบัพติศมาแทนคนตาย ฮาเวิร์ดกับบุตรชายชอบสร้างรถไฟจำลอง ไปพักแรมกลางแจ้ง และทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยกัน

ฮาเวิร์ดทำงานเต็มเวลาควบคู่กับไปเรียนนิติศาสตร์เมื่อจอห์นกับริชาร์ดเกิด และท่านได้รับเรียกเป็นอธิการเมื่อทั้งสองยังเล็กมาก—อายุสี่ขวบกับสองขวบ—ด้วยเหตุนี้การสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งจึงเรียกร้องให้แคลร์ทุ่มเทมากเป็นพิเศษ และเธอยินดีทุ่มเท “ความปรารถนาและความใฝ่ฝันสูงสุดของดิฉัน … คือเป็นภรรยาที่ดี เป็นแม่บ้านที่ดี และเป็นมารดาที่ดีมากๆ” เธอกล่าว “เราทำงานหนักเพื่อให้ลูกชายใกล้ชิดศาสนจักร ดิฉันกับลูกชายมีเวลาที่วิเศษด้วยกัน”44 ฮาเวิร์ดสรรเสริญแคลร์บ่อยครั้งสำหรับอิทธิพลที่เธอมีและการเสียสละของเธอในการเลี้ยงดูบุตรชาย

ในช่วงหลายปีของการเลี้ยงดูครอบครัวและรับใช้ในตำแหน่งผู้นำศาสนจักร ฮาเวิร์ดสร้างอาชีพทนายที่รุ่งเรืองด้วย ส่วนใหญ่ท่านทำงานกับลูกค้าธุรกิจและนิติบุคคล ท่านจึงเป็นทนายความที่มีคนนับหน้าถือตามากในเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทยี่สิบกว่าแห่ง

ในอาชีพของท่าน ฮาเวิร์ดมีชื่อเสียงเรื่องความซื่อตรง ความคิดสุขุมรอบคอบ การสื่อสารชัดเจน และสำนึกเรื่องความยุติธรรม ท่านมีชื่อเสียงเช่นกันในฐานะ “ทนายเพื่อประชาชน”—คนที่ “ดูเหมือนจะมีเวลาและสนใจจะช่วยคนอื่นๆ แก้ปัญหาของพวกเขาเสมอ”45 ทนายความคนหนึ่งกล่าวว่าฮาเวิร์ด “สนใจจะให้ผู้อื่นได้ความช่วยเหลือที่ต้องการยิ่งกว่าจะได้ค่าตอบแทนสำหรับความช่วยเหลือนั้น”46

ภาพ
ครอบครัวฮันเตอร์

ฮาเวิร์ดกับแคลร์ ฮันเตอร์และจอห์นกับริชาร์ดบุตรชายของพวกท่าน

ประธานสเตคแพซาดีนา แคลิฟอร์เนีย

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 เอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์และเอ็ลเดอร์ฮาโรลด์ บี. ลีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเดินทางมาแคลิฟอร์เนียเพื่อแบ่งสเตคแพซาดีนาที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกท่านสัมภาษณ์พี่น้องชายหลายคนในสเตค รวมทั้งฮา-เวิร์ด หลังจากพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนแล้วว่าพระเจ้าทรงประสงค์จะให้ใครรับใช้เป็นประธานสเตค ราวเที่ยงคืนพวกท่านเชิญฮาเวิร์ดมาพบและมอบการเรียกให้ท่าน เอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์กับเอ็ลเดอร์ลีบอกท่านไปนอนให้เต็มอิ่มแล้วโทรหาพวกท่านเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นพร้อมกับเสนอชื่อที่ปรึกษา “ข้าพเจ้ากลับบ้านคืนนั้น แต่ไม่ได้นอน” ฮา-เวิร์ดกล่าว “การเรียกนั้นน่าหนักใจ ข้าพเจ้ากับแคลร์คุยกันอยู่นาน”47

หลังจากประธานฮันเตอร์กับที่ปรึกษาได้รับการสนับสนุน พวกท่านเริ่มประเมินความต้องการในสเตคทันที สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับฝ่ายประธานสเตคชุดใหม่คือช่วยสมาชิกสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณ ความกังวลเรื่องหนึ่งคือหลายครอบครัวกำลังแตกแยก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมมากเกินไป หลังจากผู้นำสวดอ้อนวอนและหารือกันแล้ว พวกท่านรู้สึกว่าต้องเน้นการสังสรรค์ในครอบครัวและสงวนคืนวันจันทร์ไว้ให้ครอบครัว อาคารศาสนจักรทุกแห่งในสเตคปิดคืนวันจันทร์ และ “ไม่จัดกิจกรรมใดในเวลาเดียวกันกับค่ำคืนศักดิ์สิทธิ์นั้น” ประธานฮันเตอร์อธิบาย48

ในการรับใช้ช่วงแรกของท่าน ประธานฮันเตอร์และประธานสเตคคนอื่นๆ ในเซา-เธิร์นแคลิฟอร์เนียประชุมกับเอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์เพื่อสนทนาเรื่องโปรแกรมเซมินารีสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย ประธานฮันเตอร์เล่าว่า “[เอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์] อธิบายว่าพวกท่านอยากทดลองเปิดชั้นเรียนเซมินารีเช้าตรู่ในเขตที่กฎหมายไม่จัดเวลาช่วงพักให้เรียนศาสนา”49 ประธานฮันเตอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการที่ศึกษาความเป็นไปได้ของแนวคิดดังกล่าว หลังจากศึกษาเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการเสนอให้นักเรียนในโรงเรียนมัธยมสามแห่งเรียนเซมินารีเช้าตรู่ ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ริชาร์ดบุตรชายของประธานฮันเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองเรียนเซมินารีเช้าตรู่ เขาเล่าว่า “เราสงสัยว่าบางคนคงเสียสติไปแล้วที่ให้มีชั้นเรียนตอน 6 โมงเช้า แต่กลับเป็นเวลาที่เราชื่นชอบมากที่สุดของวันเพราะเราได้อยู่ด้วยกันในฐานะเพื่อนร่วมศาสนจักรและเรียนรู้”50 ไม่นานโปรแกรมนี้ก็ขยายไปถึงนักเรียนคนอื่นๆ และเป็นผู้บุกเบิกโปรแกรมเซมินารีเช้าตรู่สำหรับเยาวชนของศาสนจักร

ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ค.ศ. 1951 ฝ่ายประธานสูงสุดประชุมกับประธานสเตคจากเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนียเพื่อประกาศความปรารถนาจะสร้างพระวิหารในลอสแอนเจลิส โอกาสของการมีพระวิหารใกล้บ้านนำมาซึ่งปีติใหญ่หลวง—และจะเรียกร้องการเสียสละมากเมื่อขอให้สมาชิกศาสนจักรบริจาค 1 ล้านดอลลาร์ให้การก่อสร้างพระวิหาร เมื่อประธานฮันเตอร์กลับไปแคลิฟอร์เนีย ท่านประชุมกับผู้นำสเตคและผู้นำวอร์ดและกล่าวว่า “จงเปิดโอกาสให้ผู้คนได้รับพรยิ่งใหญ่โดยบริจาคเงินสร้างพระวิหารด้วยใจเอื้อเฟื้อ”51 ภายในหกเดือนสมาชิกในเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนียบริจาค 1.6 ล้านดอลลาร์ให้การสร้างพระวิหาร ซึ่งได้รับการอุทิศเมื่อปี 1956

ภาพ
ฝ่ายประธานสเตคแพซาดีนา

ผู้นำในสเตคแพซาดีนา ค.ศ. 1950 ซ้ายไปขวา: ดาเค็น เค. บรอดเฮด ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสเตค; ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ประธาน; เอ. เคย์ เบอร์รีย์ ที่ปรึกษาที่สอง และเอ็มรอน “แจ็ค” โจนส์ พนักงาน

นอกจากจะบริจาคเงินสร้างพระวิหารและอาคารอื่นๆ ของศาสนจักรแล้ว สมาชิกยังได้อาสาลงแรงสร้างด้วย เมื่อสร้างอาคารประชุม ประธานฮันเตอร์ใช้เวลาหลายชั่วโมงช่วยงานที่ต้องใช้พลั่ว ค้อน หรือแปรงทาสี นอกจากนี้ สมาชิกยังได้อาสาทำงานในโครงการสวัสดิการของศาสนจักร ซึ่งรวมถึงฟาร์มสัตว์ปีก สวนส้ม และโรงงานเครื่องกระป๋อง เป็นเวลาแปดปีที่ประธานฮันเตอร์ได้รับงานมอบหมายให้ประสานงานโครงการเหล่านี้ของ 12 สเตค และท่านช่วยงานด้วยตนเองบ่อยครั้ง “ท่านไม่เคยขอให้ใครทำสิ่งใด หรือรับงานมอบหมายใดที่ท่านจะไม่ทำด้วยตนเอง” เพื่อนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต52 หลายปีต่อมา เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กล่าวในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองดังนี้

“ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าร่วมโครงการสวัสดิการที่ไม่สนุก ข้าพเจ้าปีนต้นไม้ เก็บมะนาว ปอกผลไม้ ดูแลหม้อต้ม ลำเลียงกล่อง ขนของลงจากรถบรรทุก ทำความสะอาดโรงงานเครื่องกระป๋อง และอีกเป็นพันๆ อย่าง แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าจำได้แม่นที่สุดคือการหัวเราะ ร้องเพลง และผูกมิตรกับคนที่ร่วมรับใช้พระเจ้า”53

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1953 ประธานกับซิสเตอร์ฮันเตอร์และสมาชิกคนอื่นๆ ของสเตคแพซาดีนาเดินทางไปพระวิหารเมซา แอริโซนาเพื่อทำงานพระวิหาร 14 พฤศจิกายนเป็นวันเกิดปีที่ 46 ของประธานฮันเตอร์ และก่อนเริ่มงานพระวิหารวันนั้น ประธานพระวิหารขอให้ท่านกล่าวกับผู้ที่มารวมกันในห้องนมัสการ ท่านเขียนเล่าประสบการณ์นี้ในภายหลังว่า

“ขณะข้าพเจ้ากำลังพูดกับผู้เข้าร่วมประชุม … คุณพ่อคุณแม่ของข้าพเจ้าสวมชุดขาวเดินเข้ามาในห้องนมัสการ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าคุณพ่อจะเตรียมตัวรับพรพระวิหารถึงแม้คุณแม่จะหวังเรื่องนี้มานานพอสมควรข้าพเจ้าตื้นตันใจจนไม่สามารถพูดต่อได้ ประธานเพียรซ์ [ประธานพระวิหาร] มายืนข้างข้าพเจ้าและอธิบายเหตุผลที่ขัดจังหวะ เมื่อคุณพ่อกับคุณแม่มาพระวิหารเช้านั้นพวกท่านขอร้องประธานว่าอย่าบอกข้าพเจ้าว่าพวกท่านอยู่ที่นั่นเพราะต้องการให้เป็นเรื่องประหลาดใจในวันเกิด นี่เป็นวันเกิดที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเพราะวันนั้นพวกท่านรับเอ็นดาวเม้นท์และข้าพเจ้ามีโอกาสเป็นพยานการผนึกของพวกท่าน ซึ่งข้าพเจ้าก็รับการผนึกกับพวกท่านต่อจากนั้น”54

ราวสามปีต่อมา ความสัมพันธ์นิรันดร์ของครอบครัวฮันเตอร์สมบูรณ์เมื่อโดโรธีได้รับการผนึกกับบิดามารดาของเธอในพระวิหารลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนียที่เพิ่งอุทิศ

ในฐานะประธานสเตค ฮาเวิร์ดนำด้วยความรัก สตรีคนหนึ่งที่รับใช้ในการเรียกของสเตคกล่าวว่า “คุณรู้สึกว่ามีคนเห็นคุณค่า ต้องการคุณ และต้องมีคุณ … ท่านทำให้ผู้คนรับผิดชอบเมื่อพวกเขาได้รับการเรียก แต่ถ้าพวกเขาต้องการความเห็นหรือคำแนะนำของท่าน ท่านอยู่ที่นั่นเสมอ เรารู้ว่าเราได้รับการสนับสนุนและความสนใจเต็มที่จากท่าน”55 ที่ปรึกษาคนหนึ่งของท่านกล่าวว่า “ท่านยกย่องชมเชยผู้คนสำหรับความสำเร็จของพวกเขาและให้พวกเขาบรรลุผลสูงสุดตามที่ตั้งใจไว้”56 สมาชิกสเตคคนหนึ่งที่บอกว่าประธานฮันเตอร์เป็นครูผู้มีอิทธิพลต่อเธอมากที่สุดอธิบายว่า “ชายคนนี้รักผู้อื่นโดยให้ความสำคัญกับคนเหล่านั้นก่อน ฟังจนเข้าใจ และแบ่งปันประสบการณ์ของท่านกับผู้อื่น”57

ราวฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1959 ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์กำกับดูแลสเตคแพซาดีนามาเก้าปีกว่า ให้การรับใช้ที่เป็นพรแก่ชีวิตวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายพันคนในเซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย การปฏิบัติศาสนกิจของท่านกำลังจะขยายออกไปเพื่อเป็นพรแก่ชีวิตของสมาชิกศาสนจักรทั่วโลก

โควรัมอัครสาวกสิบสอง

“เจ้าพึงกล่าวคำพยานถึงนามของเรา, … และเจ้าพึงส่งคำของเราออกไปถึงสุดแดนแผ่นดินโลก” (คพ. 112:4)

วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1959 ระหว่างภาคการประชุมใหญ่สามัญในซอลท์เลคซิตี้(461) ฮาเวิร์ดทราบว่าประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ต้องการพบท่าน ท่านไปที่อาคารบริหารงานศาสนจักรทันที ที่นั่นประธานแมคเคย์ต้อนรับท่านอย่างอบอุ่นและกล่าวว่า “ประธานฮันเตอร์ … พระเจ้าตรัสแล้ว คุณได้รับเรียกให้เป็นพยานพิเศษคนหนึ่งของพระองค์และพรุ่งนี้คุณจะได้รับการสนับสนุนเป็นสมาชิกสภาอัครสาวกสิบสอง”58 เกี่ยวกับประสบการณ์นั้น ฮาเวิร์ดเขียนว่า

“ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายความรู้สึกที่เกิดกับข้าพเจ้าได้ น้ำตาคลอหน่วยและข้าพเจ้าพูดไม่ออก ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกเจียมตัวอย่างนั้นมาก่อนขณะนั่งอยู่ต่อหน้าชายที่ยิ่งใหญ่ อ่อนโยน และน่ารักมากท่านนี้—ศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า ท่านบอกข้าพเจ้าว่าการสมาคมกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่จะนำปีติใหญ่หลวงมาสู่ชีวิตข้าพเจ้า และต่อจากนี้ข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตและเวลาในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าและต่อจากนี้ไปข้าพเจ้าจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรและคนทั้งโลก … ท่านโอบข้าพเจ้าและรับรองกับข้าพเจ้าว่าพระเจ้าทรงรักข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเชื่อมั่นได้ว่าฝ่ายประธานสูงสุดและสภาสิบสองจะสนับสนุนข้าพเจ้า … ข้าพเจ้า [บอกท่าน] ว่าข้าพเจ้ายินดีสละเวลา ชีวิต และทั้งหมดที่ครอบครองเพื่อการรับใช้นี้”59

ทันทีที่ฮาเวิร์ดออกจากห้องทำงานของประธานแมคเคย์ ท่านไปที่ห้องพักในโรงแรมและโทรหาแคลร์ เธออยู่ระหว่างไปเยี่ยมจอห์นลูกชายกับภรรยาและลูกน้อยของเขาในโพรโว ตอนแรกฮาเวิร์ดแทบจะพูดไม่ออก ในที่สุดเมื่อท่านบอกแคลร์เรื่องการเรียก พวกท่านทั้งคู่ตื้นตันใจอย่างยิ่ง

วันรุ่งขึ้น ที่การประชุมใหญ่สามัญภาคเช้าวันเสาร์ ฮาเวิร์ด วิลเลียม ฮันเตอร์ได้รับการสนับสนุนเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง “ข้าพเจ้ารู้สึก … ว่าน้ำหนักของโลกอยู่บนบ่า” ท่านกล่าวถึงตอนนั้น “ขณะที่การประชุมใหญ่ดำเนินอยู่นั้น ข้าพเจ้าอึดอัดที่สุดและสงสัยว่าข้าพเจ้าจะมีวันใดที่รู้สึกว่านี่คือที่ซึ่งเหมาะกับข้าพเจ้าหรือไม่”60

ประธานแมคเคย์ขอให้เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์พูดในการประชุมใหญ่ภาคบ่ายวันอาทิตย์ หลังจากทบทวนชีวิตพอสังเขปและแสดงประจักษ์พยานของท่านแล้ว ท่านกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าไม่ขอโทษที่น้ำตาไหลในครั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าอยู่ต่อหน้ามิตรสหาย พี่น้องชายหญิงในศาสนจักร ผู้ซึ่งใจพวกเขาเหมือนใจข้าพเจ้าวันนี้ ตื่นเต้นในเรื่องพระกิตติคุณและในการรับใช้ผู้อื่น

“ประธานแมคเคย์ครับ … ผมยอมรับการเรียกที่ท่านให้โดยไม่ลังเล และผมเต็มใจอุทิศชีวิตและทั้งหมดที่ผมมีเพื่อการรับใช้นี้ ซิสเตอร์ฮันเตอร์ร่วมคำปฏิญาณครั้งนี้กับผม”61

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นอัครสาวกวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1959 ด้วยวัย 51 ปีท่านจึงเป็นสมาชิกอายุน้อยที่สุดของโควรัม ซึ่งอายุเฉลี่ยเวลานั้นประมาณ 66 ปี

เป็นเวลา 18 เดือนติดต่อกันที่เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เดินทางระหว่างแคลิฟอร์เนียกับยูทาห์เพื่อทำงานทนายที่จำเป็นให้แล้วเสร็จและเตรียมย้าย ลูกความคนหนึ่งของท่านกล่าวว่า “ศาสนจักรต้องมีข้อเสนอที่ดึงดูดใจมากแน่เลย” จึงสามารถชักชวนท่านให้ทิ้งงานทนายที่ประสบความสำเร็จเช่นนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เขียนในบันทึกส่วนตัวว่า

“คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคนในศาสนาเราจึงตอบรับการเรียกให้รับใช้หรือรักษาคำมั่นสัญญาที่เราทำไว้ว่าจะสละทั้งหมด … ข้าพเจ้าชอบงานทนายความอย่างยิ่ง แต่การเรียกนี้ที่มาถึงข้าพเจ้าสำคัญกว่างานอาชีพหรือการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน”62

การปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวกของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ใช้เวลาถึง 35 ปี และระหว่างนั้นท่านเดินทางไปเกือบทุกประเทศในโลกเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบของท่านในฐานะพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ (ดู คพ. 107:23)

ภาพ
โควรัมอัครสาวกสิบสอง

โควรัมอัครสาวกสิบสอง ค.ศ. 1965 นั่งจากซ้ายไปขวา: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, มาร์ค อี. ปีเตอร์เซ็น (นั่งบนพนักเก้าอี้), โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (ประธานโควรัม) และเลอแกรนด์ ริชาร์ดส์ ยืนจากซ้ายไปขวา: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, เดลเบิร์ต แอล. สแตพลีย์, โธมัส เอส. มอนสัน, สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, ฮาโรลด์ บี. ลี, มาเรียน จี. รอมนีย์, ริชาร์ด แอล. อีแวนส์, และฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

สมาคมลำดับการสืบเชื้อสายของยูทาห์

“ขอให้เรา …. ถวาย … แด่พระเจ้า … หนังสือเล่มหนึ่งที่มีบันทึกคนตายของเรา … ซึ่งจะคู่ควรแก่การยอมรับทั้งปวง” (คพ. 128:24)

คริสต์ศักราช 1964 ฝ่ายประธานสูงสุดแต่งตั้งเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เป็นประธานสมาคมลำดับการสืบเชื้อสายของศาสนจักรซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าสมาคมลำดับการสืบเชื้อสายแห่งยูทาห์ องค์กรดังกล่าวเป็นผู้บุกเบิกแผนกประวัติครอบครัวของศาสนจักร จุดประสงค์ของสมาคมคือรวบรวม เก็บรักษา และแบ่งปันข้อมูลลำดับการสืบเชื้อสายทั่วโลก เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กำกับดูแลสมาคมนานแปดปี และระหว่างนั้นท่านควบคุมดูแลการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลยาวไกลในการเร่ง ขัดเกลา และขยายงานประวัติครอบครัว

ราว ค.ศ. 1969 องค์กรได้รวบรวม “ไมโครฟิล์มกว่า 670,000 ม้วน เท่ากับหนังสือเล่มละ 300 หน้าสามล้านเล่ม” สมาคมยังได้เก็บรวบรวม “บันทึกกลุ่มครอบครัวที่เสร็จสมบูรณ์หกล้านบันทึก ดัชนีไฟล์การ์ดของ 36 ล้านคน และหนังสือกว่า 90,000 เล่ม”63 แต่ละสัปดาห์มีการเพิ่มไมโครฟิล์มประมาณ 1,000 ม้วนจากทั่วโลก การจัดการบันทึกเหล่านั้นและทำให้เข้าถึงได้—ทั้งสำหรับการค้นคว้าและสำหรับงานพระวิหาร—ถือเป็นภารกิจใหญ่หลวง ภายใต้การนำของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ สมาคมลำดับการสืบเชื้อสายเริ่มใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล่าสุดช่วยทำงานนี้ นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่าสมาคมนี้ “มีชื่อเสียงระดับโลกในหมู่องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมการจัดเก็บบันทึกแบบล้ำยุค”64

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ได้รับการปลดจากการเป็นประธานสมาคมลำดับการสืบเชื้อสายในปี 1972 เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์สรุปผลงานของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ดังนี้ “ท่านอุทิศชีวิตส่วนใหญ่เพื่องานนั้นพร้อมกับวางรากฐานและทิศทางซึ่งศาสนจักรยังคงเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการนั้น”65

ศูนย์วัฒนธรรมโพลีนีเซียน

“จงสดับฟังเถิด เจ้าผู้คนจากแดนไกลโพ้น; และเจ้าทั้งหลายที่อยู่บนหมู่เกาะในทะเล, จงพร้อมใจกันฟังเถิด” (คพ. 1:1)

คริสต์ศักราช 1965 ฝ่ายประธานสูงสุดแต่งตั้งเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เป็นประธานและประธานคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมโพลีนีเซียนในเมืองลาเอีย รัฐฮาวาย เวลานั้นศูนย์เปิดได้เพียง 15 เดือนและกำลังประสบปัญหามากมาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำ และผู้คนมีทัศนะต่างกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และโปรแกรมของศูนย์ หลังจากที่เอ็ลเดอร์ฮัน-เตอร์ได้รับแต่งตั้งหนึ่งสัปดาห์ ท่านไปที่ลาเอียและเริ่มศึกษาจุดเด่นและความต้องการของศูนย์อย่างละเอียด

ภายใต้การนำของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ ศูนย์วัฒนธรรมโพลีนีเซียนกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในลาเอีย โดยมีผู้มาเยือนในปี 1971 ราวหนึ่งล้านคน เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ควบคุมดูแลการขยายศูนย์ครั้งใหญ่และโปรแกรมของศูนย์ด้วย ที่สำคัญเช่นกันในคำพูดของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์คือ ศูนย์จัดเตรียมงานอาชีพที่เอื้ออำนวยให้ “นักศึกษาหลายพันคนจากเซาธ์แปซิฟิก [ได้รับ] ความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถออกจากเกาะไปเรียนหนังสือที่อื่นได้”66

หลังจากเป็นประธานดูแลศูนย์วัฒนธรรมโพลีนีเซียนนาน 12 ปี เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ก็ได้รับการปลดในปี 1976 การรับใช้เป็นประธานของท่านช่วยทำให้คำกล่าวของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์เกิดสัมฤทธิผล ท่านพูดในปี 1955 ว่าหมู่บ้านเล็กๆ ของลาเอียมีแนวโน้มว่าจะเป็น “ปัจจัยส่งเสริมงานเผยแผ่ศาสนา มีอิทธิพลไม่เพียงต่อคนหลายพัน หรือหลายหมื่นเท่านั้น แต่ต่อคนหลายล้านคนผู้จะมาแสวงหาให้รู้ว่าเมืองนี้เป็นอย่างไรและสำคัญอย่างไร”67

นักประวัติศาสตร์ศาสนจักร

“เป็นหน้าที่ของพนักงานของพระเจ้า, ผู้ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้, ที่จะเขียนประวัติ, และบันทึกทั่วไปของศาสนจักรเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้นในไซอัน” (คพ. 85:1)

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1970 ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ถึงแก่กรรม และโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักรคนใหม่ โจเซฟ ฟิล-ดิงก์ สมิธรับใช้เป็นนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรมานาน 49 ปี และเมื่อท่านเป็นประธานศาสนจักร ท่านเรียกเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ให้สืบทอดงานมอบหมายดังกล่าวต่อจากท่าน “ประธานสมิธเป็นนักประวัติศาสตร์ศาสนจักรมาหลายปีมากจนข้าพเจ้าแทบจะนึกภาพตนเองในตำแหน่งนั้นไม่ออก” ท่านกล่าว68

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ทำหน้าที่รับผิดชอบใหม่นี้ด้วยความกระตือรือร้นตามปกติวิสัยของท่าน “งานมอบหมายที่พระเจ้าประทานผ่านการเปิดเผยน่าท้าทายอย่างยิ่ง—ทั้งในการทำภารกิจการเก็บรวบรวมและการเขียนให้เกิดสัมฤทธิผลและในการทำให้เนื้อหาข้อมูลเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกของศาสนจักร” ท่านกล่าว69 หนังสือพิมพ์ Church News รายงานว่านักประวัติศาสตร์ศาสนจักร “รับผิดชอบเรื่องการจัดเก็บบันทึกทั้งหมดของศาสนจักร รวมไปถึงบันทึกการประชุม บันทึกพระวิหาร การวางมือแต่งตั้งทั้งหมด ปิตุพร และ … การรวบรวมประวัติศาสนจักรในปัจจุบัน”70

คริสต์ศักราช 1972 สมาชิกอัครสาวกสิบสองได้รับการแบ่งเบาหน้าที่บริหารบางอย่างเพื่อพวกท่านจะได้อุทิศเวลาให้แก่การปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวกมากขึ้น ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคือ เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ได้รับการปลดจากการเป็นนักประวัติศาสตร์ศาสนจักร แต่ยังคงมีบทบาทด้านการให้คำปรึกษาแก่แผนกประวัติศาสตร์ของศาสนจักร “นี่จะทำให้ข้าพเจ้าเหลือตำแหน่งกำกับดูแลแต่ลดงานปฏิบัติ” ท่านเขียน71 ท่านยังคงอยู่ในบทบาทด้านการให้คำปรึกษาจนถึง ค.ศ. 1978

ภาพ
ศูนย์เยรูซาเล็มบีวายยู

ศูนย์เยรูซาเล็มของมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้

การรับใช้ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์มีความรักเป็นพิเศษต่อแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อท่านเดินทางไปที่นั่นกับครอบครัวในปี 1958 และปี 1960 ระหว่างรับใช้เป็นอัครสาวก ท่านกลับไปที่นั่นกว่ายี่สิบสี่ครั้ง “ความปรารถนาจะอยู่ในที่ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดของท่านทรงดำเนินและทรงสอนดูเหมือนไม่เคยพอ” เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว72

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ทราบดีเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคนั้น ท่านจึงบอกข่าวสารแห่งความรักและสันติสุข “ทั้งชาวยิวและชาวอาหรับล้วนเป็นบุตรธิดาของพระบิดาของเรา” ท่านกล่าว “พวกเขาเป็นลูกหลานแห่งพันธสัญญา และศาสนจักรเราไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรามีความรักและความสนใจในแต่ละฝ่าย จุดประสงค์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือทำให้เกิดความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความเป็นพี่น้องในระดับสูงสุด”73

ระหว่าง ค.ศ. 1972 และ ค.ศ. 1989 เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ทำงานมอบหมายหลักสำหรับโครงการพิเศษสองโครงการในเยรูซาเล็มสำเร็จ คือ อุทยานอนุสรณ์ออร์สัน ไฮด์ และศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้ ช่วงแรกๆ ในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร—ค.ศ. 1841—เอ็ลเดอร์ออร์สัน ไฮด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวคำสวดอ้อนวอนอุทิศบนภูเขามะกอกเทศทางทิศตะวันออกของเยรูซาเล็ม คริสต์ศักราช 1972 ฝ่ายประธานสูงสุดขอให้เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เริ่มหาสถานที่ก่อสร้างอุทยานอนุสรณ์ออร์สัน ไฮด์ในเยรูซาเล็ม คริสต์ศักราช 1975 นครเยรูซาเล็มเปิดทางให้สร้างสิ่งซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นอุทยานอนุสรณ์ออร์สัน ไฮด์ บนภูเขามะกอกเทศ

ในช่วงสองสามปีต่อมา เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เดินทางไปเยรูซาเล็มหลายครั้งเพื่อเจรจาเรื่องการรับเหมาสร้างอุทยานอนุสรณ์พร้อมกับควบคุมดูแลการออกแบบและการก่อสร้าง โครงการแล้วเสร็จในปี 1979 และได้รับการอุทิศในปีนั้นโดยประธานสเป็น-เซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ หลังจากดำเนินพิธีอุทิศ เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์แสดงความเชื่อว่าอุทยานอนุสรณ์ “จะมีคุณูปการอย่างยิ่งตลอดไปต่อการขยายภาพลักษณ์อันดีของศาสนจักร”74

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์มองหาสถานที่ซึ่งศาสนจักรจะใช้สร้างศูนย์สำหรับโปรแกรมการศึกษาต่างประเทศของบีวายยูก่อนอุทยานอนุสรณ์ออร์สัน ไฮด์แล้วเสร็จด้วยซ้ำ ศูนย์จะจัดสถานที่ประชุมให้สมาชิกของสาขาเยรูซาเล็มด้วย การควบคุมดูแลโครงการดังกล่าวเป็นงานมอบหมายที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนที่สุดในการปฏิบัติศาสนกิจของเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์

ผู้นำศาสนจักรเลือกสถานที่ก่อสร้าง แต่การขออนุมัติเรื่องสัญญาเช่าที่ดินและการสร้างแปลนต้องใช้เวลาราวห้าปี ซึ่งเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เรียกว่า “งานไม่รู้จบ”75 หลังจากอภิปรายและเจรจาต่อรองพอสมควรแล้ว รัฐบาลอิสราเอลจึงยอมให้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์

ราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1988 การก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์และสัญญาเช่าพร้อมลงนาม เวลานั้นฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ รับใช้เป็นประธานรักษาการโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเข้ารับการผ่าตัดหลังครั้งใหญ่เมื่อปีก่อนและไม่สามารถเดินได้ แต่ท่านก็บินไปเยรูซาเล็มเพื่อเซ็นสัญญาเช่า ขณะอยู่ที่นั่น นักศึกษาบีวายยูและสมาชิกสาขาเยรูซาเล็มจัดงานเลี้ยงเล็กๆ ต้อนรับท่านเพื่อแสดงความขอบคุณ ประวัติของสาขานั้นพูดถึงเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์นี้ขณะเริ่มงานเลี้ยงว่า “อธิการบดี [เจฟฟรีย์ อาร์.] ฮอลแลนด์ [ของมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์] เข็นประธานฮันเตอร์ที่ยังอยู่ระหว่างพักฟื้นจากการผ่าตัดหลังผ่านทางเข้าหลักขณะคณะนักร้องประสานเสียงต้อนรับพวกท่านด้วยการร้องเพลง ‘The Holy City’76 น้ำตาไหลอาบแก้มประธานฮันเตอร์

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 ประธานฮันเตอร์กลับไปเยรูซาเล็มเพื่ออุทิศศูนย์ พิธีอุทิศครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของความพยายามมากเป็นพิเศษนับสิบปีของท่านและคนอื่นๆ เพื่อทำให้ศูนย์เยรูซาเล็มเปลี่ยนจากความหวังกลายเป็นความจริง “ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ … เป็นผู้สานต่อและเป็นยามบนหอสูงที่รักและดูแลโครงการตั้งแต่เป็นเพียงความฝัน” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์กล่าว77 ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ประธานฮันเตอร์กล่าวว่า

“อาคารหลังนี้ … ก่อสร้างไว้เป็นที่พักพิงของคนที่รักพระองค์ หมายมั่นเรียนรู้จากพระองค์และเจริญรอยตามพระบาทของพระบุตรของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา อาคารหลังนี้สวยงามในทุกๆ ด้าน เป็นแบบอย่างความสวยงามตามหน้าที่ของอาคาร ข้าแต่พระบิดา พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับสิทธิพิเศษของการสร้างพระนิเวศแห่งนี้แด่พระองค์เพื่อประโยชน์และการเรียนรู้ของบุตรและธิดาของพระองค์”78

ภาพ
ประธานฮันเตอร์นั่งเก้าอี้เข็น

ประธานฮันเตอร์ที่ศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้ ก่อนการอุทิศศูนย์

ศาสนจักรกำลังขยาย

“ไซอันต้องเพิ่มพูนในความงดงาม, และในความบริสุทธิ์; เขตแดนของนางต้องขยาย; สเตคของนางต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็ง” (คพ. 82:14)

เมื่อฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ได้รับเรียกเป็นอัครสาวก ค.ศ. 1959 มีสมาชิกของศาสนจักรประมาณ 1.6 ล้านคน ในช่วงทศวรรษต่อๆ มา ท่านมีบทบาทสำคัญในการเติบโตทั่วโลกของศาสนจักรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงสุดสัปดาห์หลายร้อยครั้ง ท่านเดินทางไปสเตคต่างๆ เพื่อให้กำลังใจสมาชิกและเรียกผู้นำคนใหม่ ท่านเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลในหลายประเทศเช่นกันเพื่อช่วยเปิดประตูสำหรับงานเผยแผ่ศาสนา

ราว ค.ศ. 1975 สมาชิกภาพของศาสนจักรเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนและเติบโตเร็วเป็นพิเศษในลาตินอเมริกา ปลายปีนั้น เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์และเอ็ลเดอร์เจ. โธมัส ฟายอันส์ ผู้ช่วยอัครสาวกสิบสอง ได้รับมอบหมายให้แบ่ง 5 สเตคในเม็กซิโกซิตี หลังจากประชุมกับผู้นำในพื้นที่และทบทวนข้อมูลจากประธานสเตค เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กำกับดูแลการจัดตั้ง 15 สเตคจาก 5 สเตคนั้น—ทั้งหมดในสุดสัปดาห์เดียว79 ท่านเขียนบรรยายอย่างไม่เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะเคยมีการจัดตั้งมากขนาดนั้นในศาสนจักรและเราเหนื่อยมากเมื่อกลับถึงบ้าน”80

ภาพ
แคลร์กับฮาเวิร์ด ฮันเตอร์

ฮาเวิร์ดกับแคลร์ ฮันเตอร์

แคลร์คู่ชีวิตที่ภักดี

“ภรรยาข้าพเจ้าเป็นคู่ชีวิตที่อ่อนหวานน่ารัก” เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กล่าวเมื่อท่านได้รับเรียกสู่โควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 195981 เป็นเวลาหลายปีที่แคลร์มักจะเดินทางไปกับเอ็ลเดอร์ฮันเตอร์สมัยท่านเป็นอัครสาวก ประธานโธมัส เอส. มอนสันจำได้ครั้งหนึ่งเมื่อท่านสังเกตเห็นแคลร์แสดงความรักต่อเด็กๆ ในตองกา “เธอจะกอดเด็กๆ ชาวตองกาที่น่ารักเหล่านั้นและให้พวกเขานั่งบนเข่าเธอคนละข้างขณะพูดคุยกับพวกเขา … และจากนั้นจะอธิบายให้ครูของปฐมวัยฟังว่าพวกเขาได้รับพรและมีสิทธิพิเศษอย่างยิ่งที่มีโอกาสสอนเด็กๆ ที่ล้ำค่าเหล่านี้ เธอรู้ค่าของจิตวิญญาณมนุษย์”82

ในการสัมภาษณ์ปี 1974 เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์กล่าวถึงแคลร์ดังนี้ “ตลอดชีวิตแต่งงานของเรา … เธอยืนเคียงข้างข้าพเจ้าด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และกำลังใจเสมอ … เธอเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ”83

ตอนที่สัมภาษณ์ครั้งนั้น แคลร์เริ่มประสบปัญหาสุขภาพร้ายแรง ตอนแรกเธอมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หลงลืมและงุนงงสับสนบางครั้ง ต่อมาเธอเป็นมีภาวะเส้นโลหิตในสมองแตกที่ไม่ร้ายแรงหลายครั้ง ส่งผลให้เธอพูดหรือใช้มือลำบาก เมื่อถึงจุดที่ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ประธานฮันเตอร์จึงตัดสินใจให้การดูแลมากเท่าที่จะให้ได้ขณะทำหน้าที่รับผิดชอบของท่านในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองไปด้วย ท่านจัดหาคนมาอยู่กับแคลร์ช่วงกลางวัน แต่ท่านดูแลเธอตอนกลางคืน เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์อดทนต่อปัญหาสุขภาพบางอย่างของท่านเช่นกันในช่วงปีเหล่านั้น รวมทั้งโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในปี 1980

แคลร์ทุกข์ทรมานจากภาวะเลือดออกในสมองในปี ค.ศ. 1981 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1982 ครั้งที่สองทำให้เธอไม่สามารถทำอะไรได้เลยจนคณะแพทย์ยืนกรานให้เธออยู่ในศูนย์ดูแลเพื่อเธอจะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เธออยู่ในศูนย์ตลอด 18 เดือนสุดท้ายของชีวิตเธอ ระหว่างนั้น ประธานฮันเตอร์ไปเยี่ยมเธออย่างน้อยวันละครั้งยกเว้นเมื่อท่านเดินทางไปทำงานมอบหมายของศาสนจักร ถึงแม้ส่วนใหญ่แคลร์จะจำท่านไม่ได้ แต่ท่านยังคงบอกรักเธอและดูแลให้แน่ใจว่าเธอสุขสบาย หลานชายคนหนึ่งกล่าวว่า “ท่านมักจะรีบมาเยี่ยมเธอ อยู่เคียงข้างเธอ และดูแลเธอ”84 ริชาร์ด ฮันเตอร์นึกถึงเวลาที่บิดาดูแลมารดาของเขา เขาเขียนว่า

“คุณแม่ได้รับการดูแลดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงปีที่สุขภาพทรุดโทรมเพราะคุณพ่อดูแลเธอ ทุกคนในครอบครัวเฝ้ามองด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงและความเคารพยิ่งขณะท่านสลับบทบาทมาเป็นผู้ดูแล … ผมจำความหนักใจที่ท่านรู้สึกได้เมื่อแพทย์เตือนท่าน [ว่า] อาจจะเกิดเรื่องเลวร้ายที่สุดกับเธอได้ถ้าเธออยู่ที่บ้านและไม่เข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลที่ชำนาญการ ถ้าเธออยู่ที่บ้าน ท่านอาจจะตายได้ขณะพยายามดูแลเธอเพราะขีดจำกัดทางร่างกายของท่านเอง จากนั้นเธอก็จะเหลือตัวคนเดียวไม่มีใครดูแล ความภักดีต่อเธอเป็นสิ่งหนึ่งที่ครอบครัวเราจะจดจำไปตลอดกาล”85

แคลร์ถึงแก่กรรมวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1983 เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์สังเกตเห็นเอ็ล-เดอร์ฮันเตอร์ดูแลแคลร์ขณะที่เธอเจ็บป่วยทรมานนานกว่า 10 ปี ท่านกล่าวว่า “ความอ่อนโยนซึ่งประจักษ์ชัดในการสื่อสารของพวกท่านน่าเศร้าใจและน่าประทับใจ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแบบอย่างความภักดีของสามีต่อภรรยาเช่นนี้มาก่อน”86

ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ถึงแก่กรรมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1985 และเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสืบทอดตำแหน่งประธานศาสนจักร มาเรียน จี. รอมนีย์กลายเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเนื่องจากเป็นสมาชิกอาวุโสของโควรัม เพราะประธานรอมนีย์มีปัญหาด้านสุขภาพ เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ผู้เป็นรองอาวุโส จึงได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานรักษาการโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเป็นประธานอัครสาวกสิบสองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1988 ราวสองสัปดาห์หลังจากมรณกรรมของประธานรอมนีย์

ประธานฮันเตอร์รับใช้เป็นประธานรักษาการหรือประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองนานแปดปีครึ่ง ระหว่างนั้น การปฏิบัติศาสนกิจทั่วโลกของอัครสาวกสิบสองขยายต่อเนื่องขณะที่ศาสนจักรเติบโตจากสมาชิก 5.9 ล้านคนเป็น 8.7 ล้านคน มีวอร์ดหรือสาขาใน 149 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ “นี่เป็นเวลาน่าตื่นเต้นในประวัติศาสตร์ศาสนจักร” ประธานฮันเตอร์กล่าวในปี 1988 “ปัจจุบัน การเดินถือว่าไม่เร็วพอ เราต้องวิ่งเพื่อเร่งให้ทันและทำให้งานก้าวหน้า”87 ในการทำหน้าที่กล่าวคำพยานถึงพระเยซูคริสต์และเสริมสร้างศาสนจักรทั่วโลก ประธานฮันเตอร์นำโดยแบบอย่าง ท่านเดินทางไปทั่วสหรัฐและประเทศอื่นกว่า 25 ประเทศในช่วงการรับใช้เป็นประธานอัครสาวกสิบสอง

ประธานฮันเตอร์มุ่งหน้าแม้มีอุปสรรคมากมายกับสุขภาพของท่าน คริสต์ศักราช 1986 ท่านรับการผ่าตัดเปิดหัวใจ และ ค.ศ. 1987 ท่านรับการผ่าตัดหลัง ถึงแม้หลังจะหายเป็นปกติ แต่ท่านไม่สามารถเดินได้เพราะเส้นประสาทเสียหายและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เดือนตุลาคมปีนั้น ท่านนั่งเก้าอี้เข็นขณะกล่าวปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญ “ยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยที่ข้าพเจ้าต้องนั่งขณะกล่าวปราศรัยสั้นๆ กับพวกท่าน” ท่านเริ่ม “ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจจะพูดจากเก้าอี้เข็น ข้าพเจ้าสังเกตว่าพวกท่านดูเหมือนจะชอบนั่งฟังการประชุมใหญ่ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงทำตามท่าน”88

ประธานฮันเตอร์ตั้งใจจะใช้ขาอีกครั้ง ท่านจึงมุมานะทำกายภาพบำบัดตามตารางที่กำหนด ที่การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1988 ท่านเดินช้าๆ มาที่แท่นพูด ด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน ในเดือนธันวาคมท่านใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ที่พระวิหารกับฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสอง ครั้งแรกในรอบปีกว่าที่ท่านไม่ได้มาในเก้าอี้เข็น “เมื่อข้าพเจ้าเข้ามาในห้องสภา พี่น้องชายยืนปรบมือ” ท่านกล่าว “นี่เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินเสียงปรบมือในพระวิหาร … แพทย์ส่วนใหญ่บอกว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถยืนหรือเดินได้อีก แต่พวกเขาไม่ได้นึกถึงพลังของการสวดอ้อนวอน”89

ภาพ
ไอนิสกับฮาเวิร์ด ฮันเตอร์

ฮาเวิร์ดกับไอนิส ฮันเตอร์

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1990 ขณะที่การประชุมของโควรัมอัครสาวกสิบสองกำลังจะสิ้นสุด ประธานฮันเตอร์ถามว่า “ใครมีอะไรที่ไม่อยู่ในวาระหรือไม่” เมื่อไม่มีใครพูด ท่านประกาศว่า “เอาละ … ถ้าไม่มีใครพูดอะไร ผมจะบอกพวกท่านว่าผมจะแต่งงานบ่ายนี้” สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองท่านหนึ่งกล่าวว่าคำประกาศครั้งนั้นเป็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึงจน “ทุกคนสงสัยว่าพวกเขาฟังถูกหรือเปล่า” ประธานฮันเตอร์อธิบายให้พี่น้องชายฟังว่า “ไอนิส สแตนทันเป็นคนรู้จักมานานตั้งแต่อยู่แคลิฟอร์เนีย ผมพูดคุยกับเธอมาช่วงหนึ่ง และผมตัดสินใจจะแต่งงาน”90 ไอนิสเป็นสมาชิกของวอร์ดเอลเซเรนาสมัยประธานฮันเตอร์เป็นอธิการ พวกท่านพบกันโดยบังเอิญเมื่อไอนิสย้ายมายูทาห์และเป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับในอาคารสำนักงานศาสนจักร พวกท่านแต่งงานกันในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1990 โดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ผ่านมาราวเจ็ดปีตั้งแต่แคลร์เสียชีวิต ไอนิสเป็นที่มาของการปลอบโยนและพลังของประธานฮันเตอร์ในช่วงที่ท่านรับใช้เป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองและประธานศาสนจักร เธอเดินทางกับท่านไปพบวิสุทธิชนทั่วโลกเกือบทุกครั้ง

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ประธานฮันเตอร์ไปพูดที่ไฟร์ไซด์ของมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 17,000 คน ท่านเพิ่งจะเริ่มกล่าวปราศรัยเมื่อชายคนหนึ่งพรวดพราดขึ้นมาบนยกพื้น มือหนึ่งถือกระเป๋าเอกสารและอีกมือหนึ่งถือวัตถุสีดำ “หยุดตรงนั้นนะ!” เขาตะโกน เขาขู่จะจุดชนวนสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นระเบิดถ้าหากประธานฮันเตอร์อ่านข้อความที่เตรียมไว้ ประธานฮันเตอร์ปฏิเสธและยืนอย่างไม่หวาดหวั่นตรงแท่นพูดตลอดเวลาที่ชายคนนั้นข่มขู่ท่าน ขณะที่ความกลัวและความโกลาหลกระจายไปทั่วอาคาร ผู้ฟังเริ่มร้องเพลง “เราขอบพระทัยสำหรับศาสดา” หลังจากนาทีระทึกใจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสองคนเข้ามาคุมตัวชายคนนั้น และนำประธานฮันเตอร์ลงมาบนพื้นเพื่อความปลอดภัย เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ท่านพักครู่หนึ่ง จากนั้นจึงปราศรัยต่อ “ชีวิตมีการท้าทายมากมาย” ท่านเริ่ม และกล่าวเพิ่มเติมต่อจากนั้นว่า “ตามที่แสดงให้เห็น”91

ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ประธานฮันเตอร์อดทนต่อการทดลองมากมาย รวมไปถึงสุขภาพที่อ่อนแอและการถึงแก่กรรมในท้ายที่สุดของแคลร์ การรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายครั้งเพราะปัญหาสุขภาพของท่านเอง ความเจ็บปวดทรมานและทุพพลภาพทางกาย คำสอนของท่านตลอดหลายปีนั้นมักเน้นเรื่องความยากลำบากและแสดงประจักษ์พยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขและความช่วยเหลือในช่วงของการทดลอง ในโอวาทครั้งหนึ่งท่านสอนว่า

“ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของศาสนจักรต่างประสบ … ความยุ่งยากส่วนตัว ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าประสบมาบ้าง และท่านจะประสบความยุ่งยากบางอย่างของท่านเองแน่นอนในชีวิตท่านตอนนี้และภายหน้า เมื่อประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ขัดเกลาเรา สอนเรา และเป็นพรแก่เรา นั่นจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ทำให้เราสำนึกคุณมากขึ้น รักมากขึ้น เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นในยามทุกข์ยากของพวกเขา”92

คำสอนเช่นนั้นเปรียบเสมือนการสวมกอดคนที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยความรัก ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์กระตุ้นคนมากมายให้หันมาหาพระผู้ช่วยให้รอด เฉกเช่นตัวท่านหันมาหาพระองค์

ประธานศาสนจักร

“ประธานฮันเตอร์เป็นผู้เหมือนพระคริสต์ที่มีความรักมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เราเคยรู้จัก ความลึกล้ำทางวิญญาณของท่านลึกซึ้งเกินจะหยั่งถึง โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลนำทางของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ในฐานะพยานพิเศษมานานหลายปี ความเข้มแข็งทางวิญญาณของประธานฮันเตอร์จึงได้รับการยกระดับในวิธีที่ไม่ธรรมดา สิ่งนี้เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ทั้งหมดของท่าน” (เจมส์ อี. เฟาสท์)93

วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันถึงแก่กรรมหลังจากป่วยเรื้อรังมานาน หกวันต่อมา โควรัมอัครสาวกสิบสองประชุมในพระวิหารซอลท์เลคเพื่อจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดชุดใหม่ ในฐานะอัครสาวกอาวุโส ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮัน-เตอร์จึงได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักร ท่านเรียกกอร์ดอน บี. ฮิงค์-ลีย์และโธมัส เอส. มอนสันซึ่งรับใช้เป็นที่ปรึกษาของประธานเบ็นสันอยู่ก่อนแล้ว มาเป็นที่ปรึกษาของท่าน

ภาพ
ประธานฮันเตอร์ ประธานฮิงค์ลีย์ และประธานมอนสัน

ประธานฮันเตอร์กับที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุด: ประธานกอร์-ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (ซ้าย) และ ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (ขวา)

ในการประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนวันต่อมา ประธานฮันเตอร์กล่าวต่อสาธารณชนครั้งแรกในฐานะประธานศาสนจักรว่า “ใจเราอ่อนไหวง่ายมากตั้งแต่เอสรา แทฟท์ เบ็น-สันเพื่อนและพี่ชายของเราถึงแก่กรรม” ท่านเริ่ม “ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความสูญเสียครั้งนี้มากเป็นพิเศษตามความรับผิดชอบใหม่ที่มาถึงข้าพเจ้าเนื่องจากมรณกรรมของท่าน ข้าพเจ้าหลั่งน้ำตามากและทูลขอพระบิดาในสวรรค์ในคำสวดอ้อนวอนที่จริงใจด้วยความปรารถนาให้ตนมีความสามารถต่อการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งนี้

“ความเข้มแข็งที่สุดของข้าพเจ้าตลอดช่วงหลายชั่วโมงและหลายวันที่ผ่านมาคือประจักษ์พยานอันยั่งยืนของข้าพเจ้าที่ว่านี่คืองานของพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่ของมนุษย์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระประมุขผู้ทรงพระชนม์และได้รับมอบอำนาจของศาสนจักรนี้ พระองค์ทรงนำศาสนจักรในคำพูดและการกระทำ ข้าพเจ้ายอมถวายชีวิต พละกำลัง และทั้งจิตวิญญาณเพื่อรับใช้พระองค์อย่างเต็มที่”94

หลังจากกล่าวแสดงความรักแล้ว ประธานฮันเตอร์ได้เชื้อเชิญสมาชิกศาสนจักรสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ให้ขยันหมั่นเพียรมากขึ้นในการทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ และเรื่องที่สองคือให้รับพรพระวิหารมากขึ้น (ดู หน้า 1-3) ท่านเชื้อเชิญคนที่เจ็บปวด ลำบาก หรือกลัวให้ “กลับมา [และ] ให้เรายืนกับท่านและเช็ดน้ำตาของท่าน”95

ทั้งที่สุขภาพอ่อนแอ แต่ประธานฮันเตอร์ตั้งใจว่าจะทำสุดความสามารถเพื่อพบปะและให้กำลังใจวิสุทธิชน สองสัปดาห์หลังจากเป็นประธาน ท่านกล่าวปราศรัยครั้งสำคัญมากครั้งแรกกับประธานคณะเผยแผ่คนใหม่และกับผู้สอนศาสนามากกว่า 2,200 คน ปลายเดือนนั้นท่านไปคาร์เทจและนอวู รัฐอิลลินอยส์เพื่อฉลองครบรอบ 150 ปีมรณ-สักขีของโจเซฟ และไฮรัม สมิธ “ไม่ว่าเราจะไปที่ใด จะมีคนจำนวนมากห้อมล้อมท่าน” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าว “ท่านจับมือทักทายคนนับพัน และยิ้มมากเป็นพิเศษเมื่อเด็กๆ ห้อมล้อมเพื่อมองเข้าไปในดวงตาท่านและจับมือท่าน”96

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1994 ในการประชุมใหญ่ภาคเช้าวันเสาร์ สมาชิกศาสนจักรสนับสนุนฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิ-สุทธิชนยุคสุดท้ายอย่างเป็นทางการในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย ในคำปราศรัยเปิดการประชุม ประธานฮันเตอร์ย้ำคำเชื้อเชิญของท่านให้สมาชิกศาสนจักรทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและ “มองไปที่พระวิหารของพระเจ้าเหมือนเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิกของเรา”97 ท่านเน้นเรื่องพระวิหารอีกครั้งในสัปดาห์ถัดมาเมื่อท่านเดินทางไปฟลอริดาเพื่ออุทิศพระวิหารออร์แลนโด ฟลอริดา “แผนพระกิตติคุณที่พระเจ้าทรงเปิดเผยไม่สมบูรณ์หากไม่มีพระวิหาร” ท่านสอน “เพราะในพระวิหารเราประกอบศาสนพิธีที่จำเป็นต่อการดำเนินแผนแห่งชีวิตและความรอดของพระองค์”98

ในเดือนพฤศจิกายน ประธานฮันเตอร์พูดที่การถ่ายทอดผ่านดาวเทียมฉลองครบรอบ 100 ปีของสมาคมลำดับการสืบเชื้อสาย—เหตุการณ์ที่มีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษเนื่องจากท่านเคยเป็นประธานองค์กรดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. 1964 ถึง 1972 “ข้าพเจ้าย้อนกลับไปดูผืนผ้าที่พระเจ้าทรงทรงถักทอด้วยความพิศวงในการส่งเสริมงานพระวิหารและประวัติครอบครัว” ท่านกล่าว ท่านประกาศต่อจากนั้นว่า “ข้าพเจ้ามีข่าวสารสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ต้องเร่งงานนี้”99

ประธานฮันเตอร์ยังคงทำงานอย่างกระฉับกระเฉงจนถึงปลายปี ที่การประชุมให้ข้อคิดทางวิญญาณจากฝ่ายประธานสูงสุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส ท่านเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและเน้นอีกครั้งเรื่องความสำคัญของการทำตามแบบอย่างของพระองค์

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงอุทิศพระชนม์ชีพเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น … [พระองค์] ไม่เคยให้โดยคาดหวังสิ่งตอบแทน พระองค์ทรงให้โดยอิสระและด้วยความรัก และของประทานของพระองค์ล้ำค่าสุดประมาณ พระองค์ประทานตาให้คนตาบอด หูให้คนหูหนวก ขาให้คนง่อย ความสะอาดให้คนไม่สะอาด ความมีสุขภาพดีให้คนเจ็บป่วย และลมหายใจให้คนไม่มีชีวิต ของประทานของพระองค์คือให้โอกาสคนถูกเหยียบย่ำ ให้เสรีภาพคนถูกกดขี่ ให้อภัยคนกลับใจ ให้ความหวังแก่คนสิ้นหวัง และให้ความสว่างในความมืด พระองค์ประทานความรัก การรับใช้ และพระชนม์ชีพของพระองค์แก่เรา และสำคัญที่สุดคือ พระองค์ประทานการฟื้นคืนชีวิต ความรอด และชีวิตนิรันดร์แก่เราและมนุษย์ทุกคน

“เราควรพยายามให้เฉกเช่นพระองค์ทรงให้ การให้ตัวเราเป็นของประทานอันศักดิ์สิทธิ์ เราให้เพื่อเป็นการระลึกถึงทั้งหมดที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้”100

คำปราศรัยส่วนหนึ่งของท่านดัดแปลงจากข่าวสารที่เคยจัดพิมพ์ไว้ในนิตยสารปีเดียวกันกับที่ท่านได้รับเรียกเป็นอัครสาวก

“คริสต์มาสปีนี้ จงแก้ไขการทะเลาะเบาะแว้ง เสาะหาเพื่อนที่ถูกหลงลืม เลิกระแวงสงสัยและแทนที่ด้วยความไว้วางใจ เขียนจดหมาย ให้คำตอบที่อ่อนโยน ให้กำลังใจเยาวชน แสดงความภักดีของท่านในคำพูดและการกระทำ รักษาสัญญา ทิ้งความบาดหมาง ให้อภัยศัตรู ขอโทษ พยายามเข้าใจ สำรวจสิ่งที่ท่านเรียกร้องจากผู้อื่น นึกถึงผู้อื่นก่อน มีเมตตา อ่อนโยน หัวเราะมากขึ้นอีกนิด แสดงความสำนึกคุณ ต้อนรับคนแปลกหน้า ทำให้เด็กคนหนึ่งดีใจ ชื่นชมความสวยงามและความน่าพิศวงของแผ่นดินโลก บอกรักและบอกรักอีกครั้ง”101

สัปดาห์ถัดมาประธานฮันเตอร์เดินทางไปเม็กซิโกซิตีเพื่อจัดตั้งสเตคที่ 2,000 ของศาสนจักร สิบเก้าปีก่อนในเม็กซิโกซิตี ท่านได้กำกับดูแลการจัดตั้งสเตค 15 แห่งจาก 5 สเตคในสุดสัปดาห์เดียว ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เรียกการจัดตั้งสเตคที่ 2,000 ว่าเป็น “หลักไมล์สำคัญในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร”102

คืนหนึ่งในช่วงเดือนเหล่านั้น ริชาร์ดบุตรชายของประธานฮันเตอร์อยู่ในอาคารโจ-เซฟ สมิธเมมโมเรียลและเห็นพนักงานต้อนรับหญิงคนหนึ่งนั่งเก้าอี้เข็น “ผมบอกได้เลยว่านั่นเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอ” เขากล่าว “ผมไปคุยกับเธอและบอกว่าคุณพ่อของผมมีเก้าอี้เข็นเหมือนเธอ เธอบอกผมว่าศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักรเธอมีเก้าอี้เข็นเหมือนเธอเช่นกัน เธอบอกว่าถ้าท่านนั่งได้ ดิฉันก็ต้องนั่งได้เหมือนกัน นั่นทำให้เธอมีความหวัง ผมคิดว่าคุณพ่อเป็นที่รักของคนมากมาย บางทีเหตุผลประการหนึ่งก็คือพวกเขาเห็นท่านทนทุกข์เหมือนพวกเขา และท่านเข้มแข็งขณะแบกรับความทุกข์ใหญ่หลวง และนั่นทำให้พวกเขามีความหวัง”103

ประธานฮันเตอร์เริ่มต้นปี 1995 ด้วยการอุทิศพระวิหารบาวทิฟูล ยูทาห์ ท่านเป็นประธานการอุทิศทั้งหกภาคก่อนจะเหนื่อยล้าจนต้องเข้าโรงพยาบาล หลังจากท่านออกจากโรงพยาบาลในอีกไม่กี่วันต่อมา ศาสนจักรออกแถลงการณ์แจ้งว่าท่านเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ลุกลามไปถึงกระดูก ประธานฮันเตอร์ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนในช่วงหกสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตท่านถึงแม้จะยังคงประชุมกับที่ปรึกษาและดำเนินกิจธุระของศาสนจักร ณ ที่พักของท่าน “ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งใจที่ท่านมีโอกาสอุทิศ [พระ-วิหารแห่งนั้น]” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าว “โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำขอร้องก่อนหน้านี้ของท่านให้สมาชิกศาสนจักร “มองไปที่พระวิหารของพระเจ้าเหมือนเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของการเป็นสมาชิก [ของพวกเขา]’”104

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1995 สิริอายุ 87 ปี คำพูดสุดท้ายที่ท่านพูดด้วย “เสียงไพเราะและเบามาก” กับคนที่อยู่ข้างเตียง คือ “ขอบคุณ”105 ถึงแม้จะเป็นประธานศาสนจักรเพียงเก้าเดือน แต่อิทธิพลของท่านลึกซึ้ง “สมาชิกศาสนจักรทั่วโลกผูกพันกับท่านเป็นพิเศษในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของพวกเขา” เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์กล่าว “พวกเขาเห็นบุคลิกลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดในแบบอย่างของท่าน พวกเขาตอบรับข่าวสารการพยากรณ์ของท่านอย่างน่าสนใจเรื่องการทำให้ชีวิตเราเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นและการทำให้พระวิหารเป็นศูนย์รวมการนมัสการของเรา”106

ในพิธีศพของประธานฮันเตอร์ ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวไว้อาลัยดังนี้

“ไม้งามในป่าใหญ่ล้มลงแล้ว เหลือไว้แต่ความว่างเปล่า พลังเงียบอันยิ่งใหญ่ได้จากพวกเราไปแล้ว

“มีคนมากมายพูดถึงความทุกข์ทรมานของท่าน ข้าพเจ้าเชื่อว่าความทุกข์ทรมานดังกล่าวยาวนาน เจ็บปวด และลึกล้ำเกินกว่าเราจะรู้จริง ท่านมีความอดทนสูงต่อความเจ็บปวดและไม่พร่ำบ่น การที่ท่านมีชีวิตยืนยาวจนเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ความทุกข์ทรมานของท่านปลอบประโลมและบรรเทาความเจ็บปวดของคนอีกมากที่ทุกข์ทรมาน พวกเขารู้ว่าท่านเข้าใจภาระอันหนักหน่วงของพวกเขา ท่านเอื้อมออกไปหาคนเหล่านี้ด้วยความรักแบบพิเศษ

“มีคนมากมายพูดถึงความเมตตา ความเอาใจใส่ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของท่าน ทั้งหมดนี้เป็นความจริง ท่านยอมตนตามแบบฉบับของพระเจ้าผู้ที่ท่านรัก ท่านเป็นคนช่างคิดและเงียบขรึม แต่ท่านจะลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือและชาญฉลาดเช่นกัน …

“บราเดอร์ฮันเตอร์สุภาพและอ่อนโยน แต่คำพูดของท่านจะหนักแน่นและโน้มน้าวใจ … ท่านได้รับการอบรมด้านกฎหมาย ท่านรู้วิธีนำเสนอเรื่องสำคัญ ท่านแจกแจงเหตุผลสนับสนุนแนวคิดต่างๆ อย่างเป็นระบบ ท่านดำเนินเรื่องจนได้ข้อสรุป เมื่อท่านพูด เราทุกคนฟัง เราทำตามข้อเสนอของท่านบ่อยที่สุด แต่เมื่อเราไม่ยอมรับข้อเสนอของท่าน ท่านโอนอ่อนผ่อนตามโดยถอนคำแก้ต่างของท่าน …

“ท่านสวมเสื้อคลุมของการเป็นอัครสาวกศักดิ์สิทธิ์มานานสามสิบหกปี เสียงของท่านเป็นเสียงชี้นำอันทรงพลังในการประกาศคำสอนของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และทำให้งานของศาสนจักรก้าวหน้า ท่านเดินทางไปทั่วโลกในฐานะผู้ปฏิบัติศาสนกิจตัวจริงที่มีความสามารถในการรับใช้พระอาจารย์ …

“ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยมีประจักษ์พยานมั่นคงแน่นอนถึงการทรงพระชนม์อยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเรา ท่านกล่าวคำพยานด้วยความเชื่อมั่นมากถึงความเป็นพระเจ้าของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ ท่านพูดสนับสนุนศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ และทุกคนที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากนั้นเรื่อยมาจนถึงสมัยของท่านเองด้วยความรัก …

“ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรให้งานของท่านเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงต่อเรา”107

อ้างอิง

  1. ใน เจย์ เอ็ม. ทอดด์, “President Howard W. Hunter: Fourteenth President of the Church,” Ensign, July 1994, 4.

  2. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “Fear Not, Little Flock” (address given at Brigham Young University, Mar. 14, 1989), 2; speeches.byu.edu.

  3. ใน ทอดด์, “President Howard W. Hunter”, 5.

  4. ใน เจ เอ็ม. เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” Church News, Nov. 16, 1974, 4.

  5. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4, 12.

  6. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4.

  7. ใน Kellene Ricks, “Friend to Friend: From an Interview with Howard W. Hunter, President of the Quorum of the Twelve Apostles,” Friend, Apr. 1990, 6.

  8. ใน เจอร์รีย์ อแวนท์, “Elder Hunter—Packed Away Musician’s Career for Marriage,” Church News, May 19, 1985, 4.

  9. ใน ริคส์, “Friend to Friend,” 6.

  10. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4.

  11. ใน ริคส์, “Friend to Friend,” 6.

  12. ใน อแวนท์, “Elder Hunter,” 4.

  13. ดู “Eagle Scout Qualifies,” Idaho Statesman, May 12, 1923; อ้างใน เอลีนอร์ โนวส์ , Howard W. Hunter (1994), 41.

  14. ใน ดอน แอล. เซียร์, “President Howard W. Hunter, Acting President of the Quorum of the Twelve Apostles,” Ensign, Apr. 1986, 22.

  15. ใน เจมส์ อี. เฟาสท์, “The Way of an Eagle,” Ensign, Aug. 1994, 4.

  16. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 22.

  17. ใน เจมส์ อี. เฟาสท์, “The Way of an Eagle,” 4, 6.

  18. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 22.

  19. Historical Sketch of the Boise Stake of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints (1924), 6, Church History Library, Salt Lake City.

  20. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 41.

  21. แทเบอร์นาเคิลบอยซีถูกเขตการศึกษาบอยซีรื้อถอนในปี 1992 เขตดังกล่าวซื้อไปจากศาสนจักรหลายปีก่อนหน้านั้น (ดู “Preservationists Protest Demolition Work on Tabernacle in Boise,” Deseret News, Sept. 9, 1992, B3).

  22. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 55.

  23. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4; ดู โนวส์ , Howard W. Hunter, 57 ด้วย.

  24. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 64.

  25. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 65.

  26. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 71.

  27. ใน เกอร์รีย์ อแวนท์, “Prophet’s Birthday: Milestone of 81,” Church News, Aug. 16, 1974, 5.

  28. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 79–80.

  29. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 81.

  30. ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮัน-เตอร์ หนังสือเล่มนี้มีข้อความอ้างอิงสองสามเรื่องจากริชาร์ดบุตรชายของประธานฮันเตอร์ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลและข้อคิดโดยตรงขณะจัดทำหนังสือ จอห์นบุตรชายของประธานฮัน-เตอร์ไม่ได้ให้คำปรึกษาเนื่องจากถึงแก่กรรมในปี 2007

  31. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 87.

  32. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 88.

  33. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4.

  34. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 91.

  35. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 90.

  36. ดู โนวส์, Howard W. Hunter, 94.

  37. ใน เฮสล็อพ, “He Found Pleasure in Work,” 4.

  38. ใน โนวส์, Howard W. Hunter, 97.

  39. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 98.

  40. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 98.

  41. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 100–101.

  42. ชาร์ลส์ ซี. พัลซิเฟอร์, “My Most Influential Teacher,” Church News, Jan. 10, 1981, 2.

  43. ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮัน-เตอร์

  44. ใน ดอยล์ แอล. กรีน, “Howard William Hunter: Apostle from California,” Improvement Era, Jan. 1960, 37.

  45. ครี-แอล คอฟฟอร์ด,ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 120.

  46. จอห์น เอส. เวลช์, ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 119.

  47. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 123.

  48. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 125.

  49. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 131.

  50. ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮัน-เตอร์

  51. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 127.

  52. ชาร์ลส์ ซี. พัลซิเฟอร์, “My Most Influential Teacher,” 2.

  53. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “Welfare and the Relief Society,” Relief Society Magazine, Apr. 1962, 238.

  54. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 135. ริชาร์ด เอ. ฮันเตอร์เขียนเกี่ยวกับคุณปู่ของเขาว่า “ผมรู้เสมอว่าท่านเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร มักจะมีคนพบท่านขณะที่ท่านกำลังทำความดี คุณจะเรียกท่านว่า ‘มิสเตอร์มอรมอน’ เพื่อนบ้านหลายคนของท่านและสมาชิกวอร์ดจะเล่าเรื่องความมีน้ำใจและความเมตตาของท่าน ท่านเป็นที่รักในชุมชนของศาสนจักร” (ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์)

  55. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 137.

  56. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 139.

  57. เบทที ซี. แมค์อีแวน, “My Most Influential Teacher,” Church News, June 21, 1980, 2.

  58. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 144.

  59. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 144.

  60. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 145-46.

  61. ใน Conference Report, Oct. 1959, 121.

  62. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 151.

  63. ดักลาส ดี. พอลเมอร์, “The World Conference on Records,” Improvement Era, July 1969, 7.

  64. เจย์ เอ็ม. ทอดด์, “Elder Howard W. Hunter, Church Historian,” Improvement Era, Apr. 1970, 27.

  65. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 194.

  66. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 208.

  67. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 205.

  68. ใน ทอดด์, “Elder Howard W. Hunter, Church Historian,” 27.

  69. ใน ทอดด์, “Elder Howard W. Hunter, Church Historian,” 27.

  70. “New Church Historian Called,” Church News, Feb. 14, 1970, 3.

  71. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 197.

  72. เจมส์ อี. เฟาสท์, “Howard W. Hunter: Man of God,” Ensign, Apr. 1995, 27.

  73. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “All Are Alike unto God,” Ensign, June 1979, 74.

  74. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 215.

  75. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 218.

  76. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 222; ขยายตัวย่อ.

  77. ใน เกอร์รีย์ อแวนท์, “He Wanted to Visit the Holy Land ‘Just One More Time,’” Church News, Mar. 11, 1995, 9.

  78. ใน ฟรานซิส เอ็ม. กิบบอนส์, Howard W. Hunter: Man of Thought and Independence, Prophet of God (2011), 119.

  79. ดู “Growth in Mexican Cities Explodes into 16 Stakes,” Church News, Nov. 22, 1975, 3.

  80. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 202.

  81. ใน Conference Report, Oct. 1959, 121.

  82. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 168-69.

  83. ใน อแวนท์, “She Made Home a Happy Place,” 5.

  84. ใน เซียร์, “President Howard W. Hunter,” 25.

  85. ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮัน-เตอร์

  86. เจมส์ อี. เฟาสท์, ใน “President Howard W. Hunter: The Lord’s ‘Good and Faithful Servant,’” Ensign, Apr. 1995, 15.

  87. ใน เดลล์ แวน ออร์เด็น, “Exciting Time in Church History,” Church News, June 25, 1988, 6.

  88. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “The Opening and Closing of Doors,” Ensign, Nov. 1987, 54.

  89. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 284.

  90. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 291.

  91. ใน โนวส์ , Howard W. Hunter, 305-6.

  92. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “An Anchor to the Souls of Men,” Ensign, Oct. 1993, 71.

  93. เจมส์ อี. เฟาสท์, “The Way of an Eagle,” 13.

  94. ใน ทอดด์, Howard W. Hunter, 4.

  95. ใน ทอดด์, “President Howard W. Hunter,” 5; see also Howard W. Hunter, “Exceeding Great and Precious Promises,” Ensign, Nov. 1994, 8.

  96. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Prophet Polished and Refined,” Ensign, Apr. 1995, 34.

  97. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “Exceeding Great and Precious Promises,” Ensign, Nov. 1994, 8.

  98. ใน เกอร์รีย์ อแวนท์, “Temple Is Dedicated in Sunshine State,” Church News, Oct. 15, 1994, 3.

  99. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “We Have a Work to Do,” Ensign, Mar. 1995, 64.

  100. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “The Gifts of Christmas,” Ensign, Dec. 2002, 18.

  101. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “The Gifts of Christmas,” 18–19; ดัดแปลงจาก “What We Think Christmas Is,” McCall’s, Dec. 1959, 82–83.

  102. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Prophet Polished and Refined,” 34.

  103. ต้นฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ โดยริชาร์ด เอ. ฮันเตอร์

  104. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Prophet Polished and Refined,” 34.

  105. ใน เดลล์ แวน ออร์เด็น, “14th President of the Church Dies at Age 87; He Touched Millions of Lives across the World,” Church News, Mar. 11, 1995, 3.

  106. เจมส์ อี. เฟาสท์, “Howard W. Hunter: Man of God,” 26.

  107. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “A Prophet Polished and Refined,” 33-35.

พิมพ์