คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 11: ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง


บทที่ 11

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

“ความพยายามสม่ำเสมอในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนว่าความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความสำเร็จทางโลกแต่เกิดจาก “การกระทำเล็กๆ น้อยๆ หลายพันอย่าง … ของการรับใช้และการเสียสละที่ประกอบเป็นการสละชีวิตหรือการสูญเสียชีวิตของคนๆ หนึ่งเพื่อคนอื่นๆ และเพื่อพระเจ้า”1 ประธานฮันเตอร์ดำเนินชีวิตตามคำสอนนี้ แทนที่จะพยายามเป็นจุดสนใจหรือแสวงหาคำสรรเสริญของผู้อื่น ท่านกลับกระทำการรับใช้และการเสียสละที่มักไม่มีใครสังเกตเห็นทุกวัน

ตัวอย่างหนึ่งของการรับใช้ที่ไม่มีใครสังเกตเห็นของประธานฮันเตอร์คือการดูแลภรรยาขณะที่เธอต่อสู้กับปัญหาสุขภาพนานกว่าสิบปี ต้นทศวรรษ 1970 แคลร์ ฮันเตอร์เริ่มมีอาการปวดศีรษะและสูญเสียความทรงจำ ต่อมาเธอเกิดภาวะสมองขาดเลือดหลายครั้ง ซึ่งทำให้เธอพูดหรือใช้มือลำบาก เมื่อเธอเริ่มต้องการคนดูแลตลอดเวลา ประธานฮันเตอร์ให้การดูแลมากเท่าที่จะมากได้ขณะทำหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นอัครสาวกไปด้วย ท่านจัดคนมาอยู่กับแคลร์ช่วงกลางวัน แต่ท่านดูแลเธอตอนกลางคืน

ภาวะเลือดออกในสมองปี 1981 ทำให้แคลร์ไม่สามารถเดินหรือพูดได้อีก แต่กระนั้นประธานฮันเตอร์ก็ยังช่วยเธอลุกจากเก้าอี้เข็นบางครั้งและกอดเธอแน่นเพื่อพวกท่านจะเต้นรำได้อย่างที่เคยทำมาหลายปีก่อนหน้านี้

หลังจากแคลร์ประสบภาวะเลือดออกในสมองครั้งที่สอง คณะแพทย์ยืนกรานให้เธออยู่ในศูนย์ดูแล และเธออยู่ที่นั่น 18 เดือนสุดท้ายของชีวิตเธอ ระหว่างนั้น ประธานฮัน-เตอร์ไปหาเธอทุกวันยกเว้นเมื่อเดินทางไปทำงานมอบหมายของศาสนจักร เมื่อท่านกลับบ้าน ท่านตรงจากสนามบินไปอยู่กับเธอทันที เวลาส่วนใหญ่เธอจะหลับลึกหรือไม่ก็จำท่านไม่ได้ แต่ท่านยังคงบอกรักเธอและดูให้แน่ใจว่าเธอสุขสบาย

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงประธานฮันเตอร์ในเวลาต่อมาว่า “การดูแลเอาใจใส่แคลร์ภรรยาของท่านด้วยความรักและความอ่อนโยนนานกว่าสิบปีขณะที่เธอไม่สบายเป็นความภักดีสูงสุดของชายคนหนึ่งต่อหญิงคนหนึ่งที่พวกเราหลายคนเคยเห็นในชีวิตเรา”2

หลังจากประธานฮันเตอร์ถึงแก่กรรม ชีวประวัติใน Ensign อ้างอิงคำสอนของท่านเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงและสรุปว่าคำสอนเหล่านั้นนำทางชีวิตท่านอย่างไร

“ถึงแม้ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ฝังลึกจะป้องกันไม่ให้ท่านทำการเปรียบเทียบ แต่ประธานฮันเตอร์พบนิยามความยิ่งใหญ่ของท่านเอง ความยิ่งใหญ่ของท่านพัฒนาขึ้นในชีวิตหลายช่วงซึ่งห่างไกลจากการเป็นจุดสนใจขณะที่ท่านทำการเลือกอันสำคัญยิ่งว่าจะทำงานหนัก พยายามอีกครั้งหลังจากล้มเหลว และช่วยเพื่อนมนุษย์ คุณลักษณะเหล่านี้สะท้อนในความสามารถอันน่าทึ่งของท่านที่จะประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ อาทิ ดนตรี กฎหมาย ธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งานไม้ และเหนือสิ่งอื่นใด การเป็น ‘บ่าวที่ดีและซื่อสัตย์’ ของพระเจ้า [มัทธิว 25:21] …

“สำหรับประธานศาสนจักรคนที่สิบสี่ การทำให้จุดประสงค์ของพระเจ้าเกิดสัมฤทธิผลเป็นงานที่ท่านทำอย่างไม่เห็นแก่ตัวและเป็นธรรมชาติวิสัยมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน เป็นคุณพ่อวัยหนุ่ม อธิการที่อุทิศตน และอัครสาวกที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่ย สวนองุ่นของพระเจ้าตามที่ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์มอง ต้องดูแลรักษาตลอดเวลา และทุกอย่างที่พระอาจารย์ทรงเรียกร้องจากท่านคือเป็น ‘บ่าวที่ดีและซื่อสัตย์’ ประธานฮันเตอร์ท่านนี้บรรลุความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงด้วยการเอาใจใส่ตลอดเวลาต่อแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ที่ท่านรับใช้จวบจนวาระสุดท้าย”3

ฮาเวิร์ดกับแคลร์ ฮันเตอร์

ฮาเวิร์ดกับแคลร์ ฮันเตอร์

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

นิยามความยิ่งใหญ่ของโลกมักจะชักนำให้หลงผิดและก่อให้เกิดการเปรียบเทียบที่ส่งผลเสียได้

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจำนวนมากมีความสุขและชื่นชมกับโอกาสที่ชีวิตมอบให้ แต่ข้าพเจ้าห่วงใยบางคนในหมู่พวกเราที่ไม่มีความสุข พวกเราบางคนรู้สึกว่าเราไม่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวัง ข้าพเจ้าห่วงใยเป็นพิเศษสำหรับคนที่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแต่—เพราะพวกเขาไม่บรรลุผลสำเร็จในโลกหรือในศาสนจักรอย่างที่คนอื่นทำได้—พวกเขาจึงคิดว่าตนล้มเหลว เราแต่ละคนปรารถนาจะบรรลุความยิ่งใหญ่ระดับหนึ่งในชีวิตนี้ และทำไมเราจึงไม่ควรเล่า ตามที่บางคนเคยตั้งข้อสังเกตว่ามีความรู้สึกแรงกล้าในใจเราแต่ละคนที่คิดถึงบ้านบนสวรรค์ของเรา (ดู ฮีบรู 11:13–16; คพ. 45:11–14)

การตระหนักว่าเราเป็นใครและเราจะเป็นอะไรทำให้เราเชื่อมั่นว่าสำหรับพระผู้เป็นเจ้าแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ นับจากเวลาที่เราเรียนรู้ว่าพระเยซูทรงต้องการให้เราเป็นสานุศิษย์ของพระองค์และตลอดช่วงเวลาที่เรียนรู้หลักธรรมพื้นฐานของพระกิตติคุณอย่างสมบูรณ์มากขึ้นนั้นเราได้รับการสอนให้พยายามไปสู่ความดีพร้อม การพูดถึงความสำคัญของการบรรลุผลสำเร็จไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา ความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อความคาดหวังเกินจริงของโลกเปลี่ยนนิยามของความยิ่งใหญ่

อะไรคือความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง อะไรทำให้บุคคลนั้นยิ่งใหญ่

เราอยู่ในโลกที่ดูเหมือนจะนับถือความยิ่งใหญ่ในแบบของโลกและสร้างวีรบุรุษในแบบของโลก การสำรวจคนหนุ่มสาววัยสิบแปดถึงยี่สิบสี่ปีเมื่อเร็วๆ นี้เปิดเผยว่าหนุ่มสาวยุคปัจจุบันชอบคน “เข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และเอาชนะทุกอย่างที่ไม่น่าจะเอาชนะได้” และเห็นได้ชัดว่าพวกเขาพยายามเลียนแบบชีวิตตามคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจและ “คนร่ำรวยมหาศาล” ในช่วงทศวรรษ 1950 วีรบุรุษได้แก่วินสตัน เชอร์ชิลล์, อัลเบิร์ต ชไวท์-เซอร์, ประธานาธิบดีแฮร์รีย์ ทรูแมน, สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ, และเฮเลน เคลเลอร์—นักเขียนและนักบรรยายที่หูหนวกและตาบอด บุคคลเหล่านี้ได้ช่วยสร้างประวัติศาสตร์หรือมีชื่อเสียงเพราะชีวิตพวกเขาสร้างแรงบันดาลใจ ปัจจุบัน วีรบุรุษสิบอันดับต้นๆ หลายคนเป็นดาราภาพยนตร์และผู้ให้ความบันเทิง ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเจตคติของคนทั่วไปเปลี่ยนแล้ว (ดู U.S. News & World Report, 22 Apr. 1985, pp. 44–48.)

จริงอยู่ที่วีรบุรุษของโลกไม่อยู่ยืนยาวในใจสาธารณชน แต่กระนั้นก็ไม่เคยขาดผู้ชนะและคนที่บรรรลุความสำเร็จมากมาย เราได้ยินเกือบทุกวันว่านักกีฬาทำลายสถิติ นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ เครื่องยนต์กลไก และขั้นตอนใหม่ๆ ที่น่าพิศวง และคณะแพทย์ใช้วิธีใหม่ช่วยชีวิต เราพบเห็นนักดนตรีและผู้ให้ความบันเทิงที่มีความสามารถเป็นเลิศอยู่เนืองๆ เรามักจะพบจิตรกร สถาปนิก และนักสร้างที่มีพรสวรรค์ นิตยสาร ป้ายโฆษณา และโฆษณาทางโทรทัศน์กระหน่ำเราด้วยรูปคนที่มีฟันสวยและหน้าตาไร้ที่ติ สวมเสื้อผ้าทันสมัยและทำสิ่งที่ผู้ “ประสบความสำเร็จ” ทำ

เพราะเราพบเห็นนิยาม ความยิ่งใหญ่ ของโลกอย่างต่อเนื่อง จึงพอเข้าใจได้ที่เราเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เราเป็นกับสิ่งที่คนอื่นเป็น—หรือดูเหมือนจะเป็น—และระหว่างสิ่งที่เรามีกับสิ่งที่คนอื่นมี จริงอยู่ที่การเปรียบเทียบอาจมีประโยชน์ อาจผลักดันเราให้บรรลุผลดีมากมายและปรับปรุงชีวิตเรา แต่เรามักจะยอมให้การเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรมมาทำลายความสุขของเราทั้งที่การเปรียบเทียบเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกว่าตนไม่บรรลุผลสำเร็จ หรือไม่ดีพอ หรือไม่ประสบความสำเร็จ บางครั้งเพราะความรู้สึกเหล่านี้ เราจึงถูกชักนำให้ทำผิดและจมอยู่ในความล้มเหลวของเราขณะมองข้ามชีวิตหลายด้านของเราที่อาจมีองค์ประกอบของความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง4

ชายคนหนึ่งช่วยหญิงสูงอายุ

“ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง [มาจาก] การกระทำเล็กๆ น้อยๆ หลายพันอย่างของการรับใช้และการเสียสละที่ประกอบเป็นการสละชีวิตหรือการสูญเสียชีวิตเพื่อผู้อื่นและเพื่อพระเจ้า”

2

ความพยายามสม่ำเสมอในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

คริสต์ศักราช 1905 ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกล่าวถ้อยคำลึกซึ้งที่สุดนี้เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงว่า

“สิ่งเหล่านั้นซึ่งเราเรียกว่าเหนือธรรมดา น่าทึ่ง หรือไม่ธรรมดาอาจสร้างประวัติศาสตร์ แต่ไม่สร้างชีวิตจริง

“อย่างไรก็ตาม การทำดีในสิ่งเหล่านั้นซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เป็นชะตาโดยทั่วไปของมวลมนุษย์คือความยิ่งใหญ่แท้จริงที่สุด การเป็นบิดาที่ประสบความสำเร็จหรือมารดาที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กว่าการเป็นนายพลที่ประสบความสำเร็จหรือรัฐบุรุษที่ประสบความสำเร็จ” (Juvenile Instructor, 15 Dec. 1905, p. 752.)

ถ้อยคำดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เป็น “สิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำ” แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นได้แก่สิ่งที่ต้องทำเพื่อจะเป็นบิดาที่ดีหรือมารดาที่ดี บุตรชายที่ดีหรือบุตรสาวที่ดี นักเรียนที่ดีหรือเพื่อนร่วมห้องที่ดีหรือเพื่อนบ้านที่ดี

… ความพยายามสม่ำเสมอในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือการกระทำเล็กๆ น้อยๆ หลายพันอย่างของการรับใช้และการเสียสละที่ประกอบเป็นการสละชีวิตหรือสูญเสียชีวิตเพื่อผู้อื่นและเพื่อพระเจ้า นี่รวมถึงการมีความรู้เกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์ของเราและพระกิตติคุณ รวมถึงการนำผู้อื่นมาสู่ศรัทธาและมิตรภาพในอาณาจักรของพระองค์ด้วย สิ่งเหล่านี้มักจะไม่ได้รับความสนใจหรือการยกย่องสรรเสริญจากชาวโลก5

3

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟวุ่นอยู่กับภารกิจประจำวันของการรับใช้และการดูแลผู้อื่น

คนทั่วไปไม่ได้จดจำโจเซฟ สมิธในฐานะนายพล นายกเทศมนตรี สถาปนิก บรรณาธิการ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี เราจดจำท่านในฐานะศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู บุรุษผู้ทุ่มเทให้แก่ความรักพระผู้เป็นเจ้าและส่งเสริมงานของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นชาวคริสต์ทุกวัน ท่านใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภารกิจประจำวันของการรับใช้และการดูแลผู้อื่น เมื่ออายุสิบสามปี ไลแมน โอ. ลิทเทิล-ฟิลด์เดินทางไปกับค่ายไซอันซึ่งขึ้นไปมิสซูรี ต่อมาเขาบรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกี่ยวกับการรับใช้เล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญในชีวิตของท่านศาสดาพยากรณ์ดังนี้

“การเดินทางลำบากแสนสาหัสสำหรับทุกคน และความทุกข์ทางกาย ควบคู่กับการรู้ว่าพี่น้องของเราผู้ที่เรากำลังเดินทางไปช่วยชีวิตต้องอดทนต่อการข่มเหง ทำให้วันหนึ่งข้าพเจ้าจมอยู่ในสภาพหดหู่เศร้าหมอง ขณะที่ค่ายพร้อมจะออกเดินทางข้าพเจ้านั่งเหนื่อยหน่ายเศร้าสร้อยอยู่ริมถนน ท่านศาสดาพยากรณ์เป็นคนมีงานยุ่งที่สุดในค่าย แต่เมื่อท่านเห็นข้าพเจ้า ท่านละจากหน้าที่เร่งด่วนอื่นๆ มาพูดปลอบโยนเด็กคนหนึ่ง ขณะวางมือบนศีรษะข้าพเจ้าท่านพูดว่า ‘เธอไม่มีจุดประสงค์ที่จะอยู่ที่นี่หรือพ่อหนุ่ม ถ้าไม่มี เราต้องทำให้มี’ สถานการณ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจแม้เวลาจะล่วงเลยมานานและมีเรื่องกังวลมากขึ้นตามเวลาแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกนั้นเลือนหายไป (ใน จอร์จ คิว. แคนนอน, Life of Joseph Smith the Prophet, Salt Lake City: Deseret Book Co., 1986, p. 344.)

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อผู้ว่าการคาร์ลินของอิลลินอยส์ส่งนายอำเภอโธมัส คิงจากเทศมณฑลอาดัมส์และกองกำลังติดอาวุธอีกหลายคนมาจับท่านศาสดาพยากรณ์ และส่งมอบตัวท่านให้ผู้ส่งสาส์นของผู้ว่าการบ็อกส์ของมิสซูรี นายอำเภอคิงป่วยปางตาย ที่นอวูท่านศาสดาพยากรณ์พานายอำเภอไปบ้านท่านและพยาบาลเขาเหมือนพี่น้องนานสี่วัน (Ibid., p. 372.) การรับใช้เล็กๆ น้อยๆ ด้วยความเมตตาทว่าสำคัญยิ่งไม่ใช่สิ่งที่ท่านศาสดาพยากรณ์ทำเป็นครั้งคราวเท่านั้น

เอ็ลเดอร์จอร์จ คิว. แคนนอนเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเปิดร้าน [ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ] ในนอวู ดังนี้

“ท่านศาสดาพยากรณ์ไม่ลังเลที่จะทำการค้าและงานภาคอุตสาหกรรม พระกิตติคุณซึ่งท่านสั่งสอนคือพระกิตติคุณแห่งความรอดทางโลกเช่นเดียวกับความสูงส่งทางวิญญาณ และท่านเต็มใจออกแรงทำงานในส่วนของท่าน ท่านทำสิ่งนี้โดยไม่นึกถึงผลประโยชน์ส่วนตน” (Ibid., p. 385.)

และในจดหมายฉบับหนึ่ง ท่านศาสดาพยากรณ์เขียนว่า

“[ร้านอิฐสีแดงในนอวู] มีคนเต็มจนล้นและข้าพเจ้ายืนปักหลักจ่ายสินค้าอยู่หลังเคาน์เตอร์ทั้งวันเหมือนพนักงานทั่วไปที่ท่านเคยเห็นเพื่อช่วยคนที่ไม่มีอาหารมื้อปกติสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่เพราะขาดน้ำตาล น้ำอ้อย ลูกเกด และอื่นๆ และเพื่อให้ตนเองพอใจด้วย เพราะข้าพเจ้าชอบปรนนิบัติวิสุทธิชนและเป็นผู้รับใช้ทุกคน โดยหวังว่าข้าพเจ้าจะได้รับความสูงส่งในเวลาอันเหมาะสมของพระเจ้า” (Ibid., p. 386.)

เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ จอร์จ คิว. แคนนอนแสดงความเห็นว่า

“นั่นเป็นภาพที่น่าประหลาดใจมาก! ชายที่พระเจ้าทรงเรียกให้วางรากฐานของศาสนจักรของพระองค์ เป็นศาสดาพยากรณ์และประธานของศาสนจักร รับเอาปีติและความภาคภูมิใจในการบริการพี่น้องชายหญิงเหมือนเป็นผู้รับใช้ … โจเซฟไม่เคยเห็นวันที่ท่านไม่รู้สึกว่าท่านกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและได้รับความโปรดปรานในสายพระเนตรของพระเยซูคริสต์โดยแสดงความเมตตาและความเอาใจใส่ ‘แม้ต่อคนต่ำต้อยที่สุดของคนเหล่านี้’” (Ibid., p. 386)6

โจเซฟ สมิธช่วยชายสูงอายุ

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟเป็นคริสต์ศาสนิกชนทุกวัน ท่านใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภารกิจประจำวันของการรับใช้และการดูแลผู้อื่น”

4

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงมาจากการไม่ย่อท้อในความยากลำบากของชีวิตและจากการรับใช้ในวิธีที่มักไม่มีใครสังเกตเห็น

การเป็นเลขาโควรัมเอ็ลเดอร์ที่ประสบความสำเร็จหรือครูสมาคมสงเคราะห์หรือเพื่อนบ้านที่น่ารักหรือเพื่อนที่รับฟังส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง การทำให้ดีที่สุดขณะเผชิญการต่อสู้ดิ้นรนที่เกิดขึ้นทุกวันในชีวิต—และอาจเผชิญความล้มเหลว—การอดทนต่อไปและไม่ย่อท้อในความยุ่งยากที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในชีวิตเมื่อการต่อสู้ดิ้นรนและภารกิจเหล่านั้นเอื้อต่อความก้าวหน้าและความสุขของผู้อื่นตลอดจนความรอดนิรันดร์ของตนเอง—นี่แหละคือความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

เราทุกคนต้องการบรรลุความยิ่งใหญ่ระดับหนึ่งในชีวิตนี้ หลายคนบรรลุสิ่งสำคัญยิ่งมาแล้ว อีกหลายคนกำลังพยายามให้บรรลุความยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าขอให้ท่านประสบผลสำเร็จและขณะเดียวกันก็จดจำว่าท่านเป็นใคร อย่าปล่อยให้ภาพลวงตาของความยิ่งใหญ่ทางโลกชั่วครู่ชั่วยามครอบงำท่าน คนมากมายกำลังเสียจิตวิญญาณของตนเองให้การล่อลวงเช่นนั้น ชื่อเสียงอันดีของท่านมีค่าเกินกว่าจะขาย—ไม่ว่าจะราคาเท่าใดก็ตาม ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือการยืนหยัดแน่วแน่—”จริงต่อศรัทธาที่พ่อแม่เราเฝ้าถนอม จริงต่อสัจจะภัยที่ท่านวายมลายยอม” (เพลงสวด, 1985, บทเพลงที่ 129)

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่ามีวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่มากมายในบรรดาพวกเราที่ไม่มีใครสังเกตเห็นและถูกลืม ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงท่านที่ทำสิ่งที่ท่านควรทำอย่างเงียบๆ และสม่ำเสมอ ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงคนที่อยู่ที่นั่นเสมอและเต็มใจเสมอ ข้าพเจ้ากำลังกล่าวถึงความองอาจกล้าหาญที่ไม่ธรรมดาของมารดาผู้อยู่ดูแลลูกที่ป่วยชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าทั้งกลางวันและกลางคืนขณะสามีเธออยู่ที่ทำงานหรือไปเรียนหนังสือ ข้าพเจ้ากำลังหมายรวมถึงคนที่สมัครใจบริจาคเลือดหรือทำงานกับผู้สูงอายุ ข้าพเจ้ากำลังนึกถึงท่านผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในฐานะปุโรหิตและในศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์และนักเรียนนักศึกษาที่เขียนจดหมายถึงทางบ้านเป็นประจำเพื่อขอบคุณบิดามารดาสำหรับความรักและการสนับสนุนของพวกท่าน

ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงคนที่ปลูกฝังผู้อื่นให้มีศรัทธาและความปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ—คนที่ทำงานแข็งขันเพื่อสร้างและหล่อหลอมชีวิตผู้อื่นทางกาย สังคม และวิญญาณ ข้าพเจ้ากำลังกล่าวถึงคนที่ซื่อสัตย์ มีเมตตา และทำงานหนักในภารกิจประจำวันของพวกเขา แต่เป็นผู้รับใช้ของพระอาจารย์และคนเลี้ยงแกะของพระองค์เช่นกัน

ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาจะลดค่าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของโลกที่ได้เปิดโอกาสมากมายให้เรา ให้วัฒนธรรม ระเบียบ และความตื่นเต้นในชีวิตเรา ข้าพเจ้าเพียงแนะนำให้เราพยายามจดจ่อมากขึ้นกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่จะมีค่ามากที่สุด ท่านจะจดจำว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสดังนี้ “คนที่เป็นใหญ่ในพวกท่านย่อมต้องปรนนิบัติท่าน” (มัทธิว 23:11)7

5

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงเรียกร้องการกระทำเล็กๆ น้อยๆ สม่ำเสมอและบางครั้งเป็นการกระทำธรรมดาตลอดช่วงเวลายาวนาน

เราแต่ละคนเคยเห็นคนร่ำรวยหรือประสบความสำเร็จเกือบทันที—แทบจะชั่วข้ามคืน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าถึงแม้ความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นกับบางคนโดยไม่ต้องดิ้นรนนาน แต่ความยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเหมือนอย่างนั้น การบรรลุความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงเป็นขั้นตอนระยะยาว อาจต้องล้มเหลวเป็นบางครั้ง ผลสุดท้ายอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนเสมอไป แต่ดูเหมือนจะเรียกร้องการกระทำเล็กๆ น้อยๆ สม่ำเสมอเป็นประจำและบางครั้งเป็นการกระทำธรรมดาตลอดช่วงเวลายาวนาน เราควรจำไว้ว่าพระเจ้าตรัสดังนี้ “จากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (คพ. 64:33)

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเกิดจากความพยายามหรือการบรรลุผลสำเร็จครั้งเดียว ความยิ่งใหญ่เรียกร้องการพัฒนาอุปนิสัย เรียกร้องการตัดสินใจที่ถูกต้องในการเลือกระหว่างความดีกับความชั่วในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมากซึ่งเอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์พูดไว้เมื่อท่านกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายปีที่การเลือกเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะสั่งสมรวมกันและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรามีค่าเพียงไร” (Ensign, Nov. 1980, p. 21.) การเลือกเหล่านั้นจะแสดงให้เห็นชัดเจนเช่นกันว่าเราเป็นอะไร8

6

ภารกิจที่ทำทุกวันมักส่งผลดีที่สุดต่อผู้อื่น

ขณะที่เราประเมินชีวิตเรา เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมองไม่เพียงความสำเร็จของเราเท่านั้นแต่ดูสภาพการทำงานของเราด้วย เราแต่ละคนต่างกันและไม่เหมือนใคร เราแต่ละคนมีจุดเริ่มต้นต่างกันในการแข่งขันของชีวิต เราแต่ละคนมีพรสวรรค์และทักษะที่ผสมผสานเฉพาะตัว เราแต่ละคนมีความท้าทายและข้อจำกัดที่ตนต้องรับมือ ด้วยเหตุนี้ การตัดสินตัวเราเองและความสำเร็จของเราไม่ควรดูแค่ขนาดหรือความสำคัญและจำนวนความสำเร็จของเรา แต่ควรดูถึงสภาพที่เกิดขึ้นและผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นอันเกิดจากความพยายามของเรา

การประเมินตัวเราเองด้านสุดท้ายนี้—ผลของชีวิตเราต่อชีวิตผู้อื่น—จะช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดจึงควรเห็นค่างานปกติธรรมดาบางอย่างของชีวิตที่ให้คุณค่ามาก บ่อยครั้งภารกิจที่เราทำทุกวันส่งผลดีมากที่สุดต่อชีวิตผู้อื่น เมื่อเทียบกับสิ่งที่โลกมักโยงกับความยิ่งใหญ่9

7

การทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดว่าสำคัญจะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่าความยิ่งใหญ่ในแบบที่พระบิดาในสวรรค์ของเราประสงค์ให้เราแสวงหานั้นอยู่ในกำมือของทุกคนที่อยู่ในตาข่ายพระกิตติคุณ เรามีโอกาสไม่จำกัดให้ทำสิ่งเรียบง่ายเล็กๆ น้อยๆ มากมายซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้เรายิ่งใหญ่ กับคนที่อุทิศชีวิตให้แก่การรับใช้และเสียสละเพื่อครอบครัวของตนเอง เพื่อผู้อื่น และเพื่อพระเจ้า คำแนะนำที่ดีที่สุดคือทำแบบเดิมมากขึ้น

กับคนที่กำลังส่งเสริมงานของพระเจ้าอย่างเงียบๆ แต่ในวิธีที่มีความหมายหลายวิธี กับคนที่เป็นเกลือของแผ่นดินโลก ความเข้มแข็งของโลก และกระดูกสันหลังของแต่ละประเทศ—เราแสดงความชื่นชมท่าน ถ้าท่านอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และถ้าท่านกล้าหาญในประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซู ท่านจะบรรลุความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงและสักวันจะได้อยู่ในที่ประทับของพระบิดาในสวรรค์ของเรา

ดังประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกล่าว “ขอเราอย่าพยายามใช้ชีวิตเทียมแทนชีวิตจริง” (Juvenile Instructor, 15 Dec. 1905, p. 753.) ขอให้เราจำไว้ว่าการทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เป็นสิ่งสำคัญและต้องทำและจำเป็น ถึงแม้โลกจะมองว่าไม่สำคัญและไม่จำเป็น สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

เราควรพยายามจดจำถ้อยคำของอัครสาวกเปาโล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่มีความสุขกับชีวิตเราและมีความรู้สึกว่าเราไม่บรรลุความยิ่งใหญ่บางรูปแบบ ท่านเขียนว่า

“เพราะว่าความยากลำบากชั่วคราวและเล็กน้อยของเราจะทำให้เรามีศักดิ์ศรีนิรันดร์มากมายอย่างไม่มีที่เปรียบ

“เราไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งที่มองเห็น แต่เอาใจใส่ในสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ยั่งยืน แต่สิ่งที่มองไม่เห็นนั้นถาวรนิรันดร์” (2 โครินธ์ 4:17–18)

สิ่งเล็กน้อยมีความสำคัญ เราไม่จำจำนวนเงินที่ฟาริสีถวาย แต่จำเหรียญทองแดงของหญิงม่าย ไม่จำพลังอำนาจและพละกำลังของกองทัพชาวฟิลิสเตียแต่จำความกล้าหาญและความเชื่อมั่นของดาวิด

ขอเราอย่าท้อถอยในการทำภารกิจประจำวันเหล่านั้นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เป็น “ชะตาโดยทั่วไปของมวลมนุษย์”10

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • เหตุใดบางครั้งเราจึงสับสนว่าความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคืออะไร (ดู หัวข้อ 1) เหตุใดนิยามความยิ่งใหญ่ของโลกจึงทำให้บางคนรู้สึกว่าตนไม่บรรลุผลสำเร็จและไม่มีความสุข

  • นิยามความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของประธานฮันเตอร์ต่างจากนิยามของโลกอย่างไร (ดู หัวข้อ 2) นิยามความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนี้จะช่วยท่านในชีวิตท่านได้อย่างไร ตรึกตรอง “สิ่งเล็กๆ น้อยๆ” บางอย่างที่เราควรจะให้เวลาและความเอาใจใส่มากขึ้น

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการรับใช้เล็กๆ น้อยๆ ของโจเซฟ สมิธตามที่สรุปไว้ในหัวข้อ 3 การรับใช้เล็กๆ น้อยๆ อะไรบ้างที่เป็นพรแก่ท่าน

  • ทบทวนตัวอย่างในหัวข้อ 4 เกี่ยวกับสิ่งที่ประกอบเป็นความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ท่านเคยเห็นผู้คนแสดงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงในวิธีเหล่านี้อย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากคำสอนในหัวข้อ 5 เกี่ยวกับวิธีบรรลุความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของ “ภารกิจที่เราทำทุกวันซึ่งส่งผลดีที่สุดต่อชีวิตผู้อื่น” (ดู หัวข้อ 6)

  • ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 7 การรับใช้และการเสียสละนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงอย่างไร ความ “กล้าหาญในประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซู” ช่วยให้เราบรรลุความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงอย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

1 ซามูเอล 16:7; 1 ทิโมธี 4:12; โมไซยาห์ 2:17; แอลมา 17:24–25; 37:6; โมโรไน 10:32; คพ. 12:8; 59:23; 76:5–6; 88:125

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“เมื่อท่านเตรียมสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอนท่านอาจได้รับการนำให้เน้นหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ท่านอาจได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการนำเสนอแนวคิดบางอย่าง ท่านอาจค้นพบตัวอย่างบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์และเรื่องเล่าที่ให้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมที่เรียบง่ายของชีวิต ท่านอาจรู้สึกว่าต้องเชิญบุคคลหนึ่งช่วยในบทเรียน ท่านอาจนึกขึ้นได้ถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่จะแบ่งปัน” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 46)

อ้างอิง

  1. “What Is True Greatness?” Ensign, Sept. 1987, 71.

  2. James E. Faust, “Howard W. Hunter: Man of God,” Ensign, Apr. 1995, 28.

  3. “President Howard W. Hunter: The Lord’s ‘Good and Faithful Servant,’” Ensign, Apr. 1995, 9, 16.

  4. “What Is True Greatness?” 70.

  5. “What Is True Greatness?” 70–71.

  6. “What Is True Greatness?” 71.

  7. “What Is True Greatness?” 71-72.

  8. “What Is True Greatness?” 72.

  9. “What Is True Greatness?” 72.

  10. “What Is True Greatness?” 72.