บทที่ 19
คำมั่นสัญญาของเราต่อพระผู้เป็นเจ้า
“ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ … เรียกร้องคำมั่นสัญญา—สุดจิตวิญญาณ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และยึดมั่นชั่วนิรันดร์ต่อหลักธรรมที่เรารู้ว่าเป็นความจริงในพระบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
เมื่อฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ได้รับเรียกเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านประกาศว่า “ข้าพเจ้ายอมรับการเรียก … ที่มอบให้ข้าพเจ้าโดยไม่ลังเล และข้าพเจ้าเต็มใจอุทิศชีวิตและทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีเพื่อการรับใช้นี้”1
เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ดำเนินชีวิตตามคำมั่นสัญญาของท่าน หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวก ท่านกลับไปแคลิฟอร์เนียเพื่อทำหน้าที่ในศาสนจักรและข้อผูกมัดทางธุรกิจให้สำเร็จลุลวงก่อนเตรียมย้ายไปซอลท์เลคซิตี้ เป็นเรื่องยากสำหรับเอ็ลเดอร์และซิส-เตอร์ฮันเตอร์ที่ต้องจากครอบครัวและมิตรสหายในแคลิฟอร์เนีย—และสำหรับเอ็ลเดอร์ฮัน-เตอร์ที่ต้องทิ้งงานทนายความของท่าน เมื่อท่านสิ้นสุดอาชีพทนายความ ท่านเขียนว่า
“วันนี้ข้าพเจ้าทำงานส่วนใหญ่ที่สำนักงานจนเสร็จ ทำงานที่ค้างไว้เสร็จเกือบหมด วันนี้ข้าพเจ้าอยู่คนเดียวในสำนักงานด้วยความตระหนักว่างานทนายความของข้าพเจ้าสิ้นสุดแล้ว ข้าพเจ้าเขียนข้อความสั้นๆ ไว้บนแฟ้มจำนวนหนึ่งแล้ววางไว้บนโต๊ะ … ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าขณะออกจากสำนักงาน ข้าพเจ้าชอบงานทนายความและทำงานนี้มานานหลายปี แต่ก็พอใจและมีความสุขที่ได้ตอบรับการเรียกอันสำคัญยิ่งที่มาถึงข้าพเจ้าในศาสนจักร”2
เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ทราบจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า “การยอมรับพระประสงค์ของพระบิดาไม่ง่ายเสมอไป”3 กระนั้นก็ตาม ท่านทราบความสำคัญของการทุ่มเทให้พระผู้เป็นเจ้าเต็มที่ เกี่ยวกับคำมั่นสัญญาดังกล่าว ท่านเขียนว่า “คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคนในศาสนาเราจึงตอบรับการเรียกให้รับใช้หรือคำมั่นสัญญาที่เราทำไว้ว่าจะสละทั้งหมด ข้าพเจ้าชอบงานทนายความมาก แต่การเรียกที่มาถึงข้าพเจ้าสำคัญกว่างานอาชีพหรือการแสวงหาผลประโยชน์เรื่องเงิน”4
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
พระบิดาในสวรรค์ของเราทรงเรียกร้องคำมั่นสัญญาทั้งหมดของเราไม่ใช่แค่การเสียสละ
ขณะนึกถึงพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราและความสวยงามมากมายในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าตระหนักว่าตลอดชีวิตเราพระองค์ทรงขอให้เราเสียสละบางอย่างเป็นการตอบแทน เสียสละเวลาหรือเงินทองหรือทรัพสินอื่น ทั้งหมดนี้มีค่าและจำเป็น แต่ไม่เท่าการถวายทั้งหมดแด่พระผู้เป็นเจ้า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่พระบิดาในสวรรค์จะทรงเรียกร้องจากเราเป็นมากกว่าการเสียสละ แต่คือคำมั่นสัญญาทั้งหมด การอุทิศตนเต็มที่ ทั้งหมดที่เราเป็นและทั้งหมดที่เราจะเป็นได้
โปรดเข้าใจว่าข้าพเจ้าไม่ได้พูดเฉพาะคำมั่นสัญญาต่อศาสนจักรและกิจกรรมของศาสนจักร แม้จะต้องรักษาคำมั่นสัญญานั้นเสมอก็ตาม ไม่ ข้าพเจ้าพูดเจาะจงมากขึ้นเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาที่แสดงให้เห็นในพฤติกรรมส่วนตัวของเรา ในความซื่อตรงของตัวเรา ในความภักดีของเราต่อบ้าน ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนศาสนจักร …
ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างที่ดีงามเหล่านั้นสั้นๆ สักหนึ่งเรื่องจากพระคัมภีร์เมื่อชายหนุ่มสามคนยืนหยัดสนับสนุนหลักธรรมและยึดหลักความซื่อตรงแม้ดูเหมือนว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พวกเขาถึงแก่ความตาย
ประมาณ 586 ปีก่อนคริสตกาล เนบูคัดเนสซาร์กษัตริย์แห่งบาบิโลนเดินทัพไปตีเมืองเยรูซาเล็มและยึดเมืองได้ เขาประทับใจในคุณภาพและความรอบรู้ของลูกหลานอิสราเอลมากถึงขนาดนำหลายคนมาอยู่ในอยู่ในวัง [ในบาบิโลน]
ความเดือดร้อนมาถึงชาวอิสราเอลในวันที่เนบูคัดเนสซาร์สร้างปฏิมากรทองคำและสั่งให้ทุกคนในมณฑลบาบิโลนกราบนมัสการ ซึ่งเป็นคำสั่งที่หนุ่มชาวอิสราเอลสามคน—ชัดรัค เมชาค และอาเบดเนโก—ปฏิเสธไม่ยอมทำตาม กษัตริย์ “กริ้วจัด” และสั่งให้นำพวกเขามาเข้าเฝ้า (ดาเนียล 3:13) เขาบอกคนทั้งสามว่าถ้าพวกเขาไม่คุกเข่ากราบปฏิมากรทองคำตามเวลาที่กำหนด “จะต้องโยนเจ้าเข้าไปในเตาที่ไฟลุกอยู่ทันที” ต่อจากนั้นเขาถามด้วยความพอใจพอสมควรว่า “แล้วพระองค์ไหนจะช่วยกู้เจ้าให้พ้นจากมือของเราได้?” [ดาเนียล 3:15]
ชายหนุ่มทั้งสามตอบอย่างสุภาพแต่ไม่ลังเลว่า
“ข้าแต่พระราชา” พวกเขากล่าว “[ถ้าท่านข่มขู่เราด้วยความตาย] ถ้าพระเจ้าของพวกข้าพระบาทผู้ซึ่งพวกข้าพระบาทปรนนิบัตินั้นพอพระทัยจะช่วยกู้พวกข้าพระบาทให้พ้นจากเตาที่ไฟลุกอยู่ พระองค์ก็จะทรงช่วยกู้พวกข้าพระบาทให้พ้นจากพระหัตถ์ของฝ่าพระบาท
“ถึงแม้ไม่เป็นเช่นนั้น [ถ้าพระองค์ทรงเลือกไม่ช่วยพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากไฟด้วยเหตุผลใดก็ตาม] ขอฝ่าพระบาททรงทราบว่า พวกข้าพระบาทจะไม่ปรนนิบัติพระองค์ฝ่าพระบาท หรือนมัสการปฏิมากรทองคำซึ่งฝ่าพระบาทได้ทรงตั้งขึ้น” [ดาเนียล 3:17–18]
แน่นอนว่าเนบูคัดเนสซาร์เกรี้ยวกราดยิ่งกว่าเดิมและสั่งให้เพิ่มความร้อนของเตาไฟเจ็ดเท่าจากอุณหภูมิปกติ ต่อจากนั้นเขาสั่งให้โยนชายหนุ่มที่กล้าหาญทั้งสามเข้าไปในไฟขณะยังสวมเสื้อผ้าครบชุด กษัตริย์ยืนกรานและเปลวไฟร้อนมากจนทหารที่อุ้มชัด-รัค เมชาค และอาเบดเนโกล้มตายเพราะความร้อนของเตาไฟขณะพวกเขาโยนเชลยเข้าไปในเตา
หลังจากนั้นเกิดปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่ซึ่งคนซื่อสัตย์มีสิทธิ์ได้รับตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ชายหนุ่มทั้งสามยืนเดินอย่างสงบกลางเตาไฟและไม่ถูกเผาไหม้ ต่อมาเมื่อกษัตริย์ที่ประหลาดใจร้องบอกพวกเขาให้ออกจากเตาไฟ เสื้อผ้าของพวกเขาไม่เสียหาย เนื้อหนังของพวกเขาไม่มีรอยไหม้ ผมบนศีรษะไม่งอแม้แต่เส้นเดียว ไม่มีแม้แต่กลิ่นควันบนตัวชายหนุ่มที่มุ่งมั่นและกล้าหาญเหล่านี้
“สาธุการแด่พระเจ้าของชัดรัค เมชาค และอาเบดเนโก” กษัตริย์กล่าว “ผู้ทรง … ช่วยกู้ผู้รับใช้ของพระองค์ผู้ที่วางใจในพระองค์ … ยอมพลีชีวิตของเขาเสียดีกว่าปรนนิบัติและนมัสการพระอื่น นอกจากพระเจ้าของพวกเขาเอง
“… แล้วกษัตริย์ทรงเลื่อนยศชัดรัด เมชาค และอาเบดเนโกให้สูงขึ้นอีกในมณฑลบาบิโลน” (ดาเนียล 3:28, 30)
ความสามารถในการยืนหยัดสนับสนุนหลักธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อตรงและศรัทธาตามความเชื่อของเขา—นั่นเป็นเรื่องสำคัญ นั่นคือความแตกต่างระหว่างการเสียสละกับคำมั่นสัญญา การอุทิศตนเช่นนั้นต่อหลักธรรมที่แท้จริง—ในชีวิตส่วนตัวของเรา ในบ้านและครอบครัวเรา และในทุกแห่งที่เราพบและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น—การอุทิศตนเช่นนั้นคือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องจากเราในท้ายที่สุด …
ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ชีวิตที่ดี ชีวิตคริสต์ศาสนิกชนที่ชอบธรรมเรียกร้องบางอย่างมากกว่าการเสียสละเป็นครั้งคราว แม้การเสียสละทุกครั้งจะมีค่า ในที่สุดแล้วชีวิตเช่นนั้นเรียกร้องคำมั่นสัญญา—คำมั่นสัญญาสุดจิตวิญญาณ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และยึดมั่นชั่วนิรันดร์ต่อหลักธรรมที่เรารู้ว่าเป็นจริงในพระบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน …
ถ้าเราจะแน่วแน่และซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมของเรา มุ่งมั่นดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์และซื่อตรง เมื่อนั้นกษัตริย์หรือความท้าทายหรือเตาที่ไฟลุกอยู่จะไม่สามารถทำให้เรายินยอมได้ เพื่อความสำเร็จของอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก ขอให้เรายืนเป็นพยานสำหรับพระองค์ “ทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่ [เรา] อยู่, แม้จนถึงความตาย” (โมไซยาห์ 18:9)5
2
จงมุ่งมั่นเชื่อฟังพระเจ้าไม่ว่าผู้อื่นตัดสินใจทำอะไรก็ตาม
เมื่อสั่งให้โยชูวาทำลายเมืองเยรีโคที่อยู่ตรงหน้า [เผ่าอิสราเอล] กำแพงขนาดใหญ่ของเมืองตั้งขวางไม่ให้ชาวอิสราเอลประสบความสำเร็จ—หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น โยชูวาไม่รู้วิธี แต่มั่นใจในความสำเร็จ จึงทำตามคำแนะนำที่ได้รับจากผู้ส่งสารของพระเจ้า คำมั่นสัญญาของเขาคือเชื่อฟังทั้งหมด ความสนใจของเขาคือ ทำตามที่ได้รับคำแนะนำอย่างครบถ้วนเพื่อสัญญาของพระเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผล ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าคำแนะนำนั้นค่อนข้างประหลาด แต่ศรัทธาในผลลัพธ์ผลักดันเขาให้ทำตาม แน่นอน ผลที่เกิดขึ้นคือปาฏิหาริย์จำนวนมากมายอีกครั้งที่ชาวอิสราเอลประสบขณะโมเสส โยชูวา และศาสดาพยากรณ์อีกหลายท่านผู้มุ่งมั่นทำตามพระบัญชาและคำแนะนำของพระเจ้านำพวกเขาตลอดหลายปี
ขณะที่โยชูวากับผู้คนของเขาเข้าใกล้เมืองเยรีโค พวกเขาทำตามคำแนะนำของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด และตามเรื่องราวในพระคัมภีร์ “กำแพงก็พังลงราบ ประชาชนจึงขึ้นไปในเมือง ทุกคนต่างตรงไปข้างหน้าตนและเข้ายึดเมืองนั้น” (โยชูวา 6:20)
บันทึกกล่าวว่าหลังจากอิสราเอลพักทำสงครามกับศัตรู โยชูวาผู้ซึ่งเวลานี้ชรามากแล้ว ได้เรียกอิสราเอลทั้งหมดมารวมกัน ในการปราศรัยอำลาของเขา เขาเตือนคนเหล่านั้นว่าพวกเขาได้ชัยชนะเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงต่อสู้เพื่อพวกเขา แต่ถ้าตอนนี้พวกเขาหยุดรับใช้พระเจ้าและเลิกรักษากฎของพระองค์พวกเขาจะถูกทำลาย …
ต่อจากนั้นผู้นำทางวิญญาณและทางทหารที่ยิ่งใหญ่คนนี้ได้ขอคำมั่นสัญญา และตัวเขาเองกับครอบครัวก็ให้คำมั่นสัญญาเช่นกัน “ท่านก็จงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติใคร … แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติพระยาห์เวห์” (โยชูวา 24:15)
นี่เป็นข้อความสำคัญยิ่งของคำมั่นสัญญาที่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ของศาสดาพยากรณ์ต่อความปรารถนาของพระเจ้า ของชายชื่อโยชูวาต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาผู้ทรงอวยพรการเชื่อฟังของเขามาแล้วหลายครั้ง เขากำลังบอกชาวอิสราเอลว่าไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร เขาจะทำสิ่งที่เขารู้ว่าถูกต้อง เขากำลังพูดว่าการตัดสินใจรับใช้พระเจ้าของเขาไม่ขึ้นกับสิ่งที่คนเหล่านั้นตัดสินใจ การกระทำของคนเหล่านั้นจะไม่มีผลต่อเขา คำมั่นสัญญาว่าเขาจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าจะไม่แปรเปลี่ยนไปตามสิ่งที่คนเหล่านั้นหรือคนอื่นจะทำ โยชูวาหนักแน่นในการควบคุมการกระทำของตนและจับตามองที่พระบัญญัติของพระเจ้า เขาตั้งใจมั่นว่าจะเชื่อฟัง6
3
จงตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะเลือกเส้นทางของการเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด
หลังจากเข้าใจกฎของพระกิตติคุณและพระประสงค์ของพระเจ้าโดยการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์แล้ว จะเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเหตุใดจึงพูดกันบ่อยครั้งว่าการเชื่อฟังเป็นกฎข้อแรกของสวรรค์และเหตุใดการเชื่อฟังจึงจำเป็นต่อการได้รับความรอด สิ่งนี้นำเรามาถึงการทดสอบขั้นสูงสุด เราเต็มใจเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าอย่างครบถ้วนหรือไม่ ต้องมีสักครั้งในชีวิตที่เราต้องตัดสินใจให้แน่ชัด7
โดยแท้แล้วพระเจ้าทรงรักความตั้งใจแน่วแน่ในการเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์มากกว่าสิ่งอื่นใด โดยแท้แล้วประสบการณ์ของศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ในพันธสัญญาเดิมบันทึกไว้เพื่อช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญในการเลือกเส้นทางของการเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด พระเจ้าต้องพอพระทัยอย่างแน่นอนเมื่ออับราฮัมทำตามที่พระองค์ทรงแนะนำโดยไม่สงสัยและไม่ลังเลหลังจากได้รับบัญชาให้ถวายอิสอัค บุตรคนเดียวเป็นเครื่องบูชา บันทึกกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับอับราฮัมดังนี้
“จงพาบุตรของเจ้าคืออิสอัค บุตรคนเดียวของเจ้าผู้ที่เจ้ารักไปยังดินแดนโมริยาห์ และถวายเขาที่นั่นเป็นเครื่องบูชา บนภูเขาลูกหนึ่งซึ่งเราจะบอกแก่เจ้า” (ปฐมกาล 22:2)
ข้อต่อไปกล่าวเพียงว่า
“อับราฮัมจึงลุกขึ้นแต่เช้ามืด … พา …อิสอัคบุตรของท่าน … ไปยังที่ซึ่งพระเจ้าทรงบอกแก่ท่าน” (ปฐมกาล 22:3)
หลายปีต่อมา เมื่อถามเรเบคาห์ว่าเธอจะไปกับคนใช้ของอับราฮัมเพื่อเป็นภรรยาของอิสอัคหรือไม่ และเธอรู้โดยไม่สงสัยว่าพันธกิจของคนใช้มีพรของพระเจ้า เธอจึงตอบเพียงว่า “ฉันจะไป” (ปฐมกาล 24:58)
รุ่นต่อมา เมื่อแนะนำยาโคบให้กลับไปแผ่นดินคานาอัน ซึ่งหมายถึงทิ้งทุกอย่างที่อุตส่าห์ทำมาหลายปี เขาเรียกราเชลกับเลอาห์เข้าไปในทุ่งเลี้ยงสัตว์และอธิบายสิ่งที่พระเจ้าตรัส คำตอบของราเชล [กับเลอาห์] เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และบ่งบอกคำมั่นสัญญา [ของพวกเธอ] “จงทำทุกสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับท่าน” (ปฐมกาล 31:16)
ต่อจากนั้นเรามีแบบอย่างจากพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่าเราควรพิจารณาและประเมินพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างไร ถ้าเราเลือกตอบสนองเหมือนโยชูวา อับราฮัม เรเบคาห์ และราเชล [กับเลอาห์] คำตอบของเราจะเป็นเพียงว่า จงไปและทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาเถิด
มีเหตุผลที่ดีในการตัดสินใจ เดี๋ยวนี้ ว่าจะรับใช้พระเจ้า เช้าวันอาทิตย์นี้ [ของการประชุมใหญ่สามัญ] เมื่อความสลับซับซ้อนและการล่อลวงของชีวิตถูกตัดออกไปหลายส่วน เมื่อเรามีเวลาและมีแนวโน้มว่าจะมองไกลถึงนิรันดรมากขึ้น เราจะประเมินได้ชัดเจนขึ้นว่าอะไรจะนำความสุขใหญ่หลวงที่สุดเข้ามาในชีวิต เราควรตัดสินใจเดี๋ยวนี้ ในความสว่างของยามเช้า ว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อความมืดยามราตรีและเมื่อพายุแห่งการทดลองมาถึง
ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เรามีพลังตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะทำสิ่งที่เราควรทำ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะรับใช้พระเจ้า8
4
ความเชื่ออย่างเดียวไม่พอ เราต้องทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ด้วย
เมื่อกำลังรับสั่งกับฝูงชน พระอาจารย์ตรัสว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ จะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จึงจะเข้าได้” (มัทธิว 7:21)
ขณะข้าพเจ้าฟังพระดำรัสเหล่านี้ ดูเหมือนพระเจ้ากำลังตรัสว่า “เพียงเพราะคนหนึ่งยอมรับสิทธิอำนาจของเราหรือมีความเชื่อในความเป็นพระเจ้าของเรา หรือเพียงแสดงศรัทธาในคำสอนของเราหรือการพลีพระชนม์ชีพที่เราทำ ก็มิได้หมายความว่าเขาจะได้เข้าอาณาจักรสวรรค์หรือได้รับความสู่งส่งในระดับที่สูงกว่า” พระองค์กำลังตรัสเป็นนัยว่า “ความเชื่ออย่างเดียวไม่พอ” พระองค์ตรัสเพิ่มต่อจากนั้นอย่างชัดแจ้งว่า “… แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยของพระบิดา” กล่าวคือ คนที่ทำงานและตัดแต่งสวนองุ่น คนนั้นจะนำผลดีออกมา …
ดูเหมือนธรรมชาติทั้งหมดซึ่งเป็นอาณาเขตของพระผู้เป็นเจ้าจะแสดงให้เห็นหลักธรรมเดียวกันนี้ ผึ้งที่ไม่ “ปฏิบัติ” ไม่นานจะถูกขับออกจากรัง ขณะข้าพเจ้าเฝ้าดูมดเดินรอบรัง ข้าพเจ้าประทับใจกับข้อเท็จจริงที่ว่ามดเป็นผู้ปฏิบัติและไม่เป็นผู้เชื่อแต่อย่างเดียว การร้องกุ๊กๆ ไม่ทำให้แม่ไก่มีอาหาร เธอต้องคุ้ยเขี่ย สระน้ำนิ่งที่มีตะไคร่น้ำสีเขียวและคราบสกปรกลอยบนผิวน้ำที่ไม่ไหลเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคของหนองน้ำ แต่ธารน้ำใสไหลกระทบโขดหินลงมาตามหุบผาชันเป็นน้ำที่ชวนให้ดื่ม
พระดำรัสของพระอาจารย์เกี่ยวกับบ้านที่ไม่มีรากฐานบอกข้าพเจ้าว่าคนเราไม่สามารถมีความคิดตื้นๆ และเลินเล่อได้ว่าเขาพึ่งตนเองได้และสามารถสร้างชีวิตตนเองได้บนฐานที่เกิดขึ้นง่ายๆ และน่าพอใจ [ดู มัทธิว 7:26-27] ตราบใดที่สภาพอากาศปลอดโปร่ง ความโง่ของเขาอาจไม่ประจักษ์ แต่วันหนึ่งจะเกิดน้ำท่วม น้ำโคลนของความหลงใหลชั่ววูบ กระแสอันเชี่ยวกรากของการล่อลวงที่มองไม่เห็นล่วงหน้า ถ้าอุปนิสัยของเขาไม่มีรากฐานมั่นคงมากกว่าถ้อยคำที่พูด โครงสร้างทางศีลธรรมทั้งหมดของเขาจะพังทลาย9
ยากอบกล่าวว่า “ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดานั้นคือ การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก” (ยากอบ 1:27)
อีกนัยหนึ่งคือ ศาสนาเป็นมากกว่าความรู้เรื่องพระผู้เป็นเจ้าหรือการเลื่อมใสศรัทธา และเป็นมากกว่าเทววิทยา ศาสนาคือการทำตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาคือการเป็นผู้ดูแลพี่น้องของเรานอกเหนือจากสิ่งอื่น …
เราเคร่งศาสนาได้ในการนมัสการวันสะบาโต และเราเคร่งศาสนาได้ในหน้าที่ของเราในอีกหกวันของสัปดาห์ … สำคัญ [เพียงใด] ที่ความนึกคิดทั้งหมดของเรา คำพูดที่เราพูด การกระทำ ความประพฤติ การติดต่อกับเพื่อนบ้าน ธุรกรรมด้านธุรกิจ และการงานประจำวันทั้งหมดของเราต้องสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาของเรา ในถ้อยคำของเปาโล “จะทำอะไรก็ตาม จงทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” (1 โครินธ์ 10:31) ด้วยเหตุนี้เราจะตัดศาสนาออกจากการงานประจำวันและจัดให้ศาสนาอยู่เฉพาะวันสะ-บาโตได้หรือ แน่นอนว่าไม่ได้ ถ้าเราทำตามคำตักเตือนของเปาโล10
5
“สมาชิกที่ดำรงอยู่” พยายามรักษาคำมั่นสัญญาทั้งหมด
พระเจ้าทรงเปิดเผยในคำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาว่า นี่คือ “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียวตลอดทั้งพื้นพิภพ” พระองค์ทรงเพิ่มเติมต่อจากนั้นว่า “ซึ่งศาสนจักรนั้น เรา, พระเจ้า, พอใจมาก, โดยพูดกับศาสนจักรโดยรวมและไม่เฉพาะคน” (คพ. 1:30) นี่ควรก่อให้เกิดคำถามในใจเราเกี่ยวกับความสำคัญนิ-รันดร์นี้ เรารู้ว่าสถาบันนี้คือศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ แต่ฉันเป็นสมาชิกที่แท้จริงและดำรงอยู่หรือไม่
… เมื่อข้าพเจ้าถามว่า “ฉันเป็นสมาชิกที่แท้จริงและดำรงอยู่หรือไม่” คำถามของข้าพเจ้าคือ ฉันอุทิศตนอย่างลึกซึ้งเต็มที่ต่อการรักษาพันธสัญญาที่ฉันได้ทำไว้กับพระเจ้าหรือไม่ ฉันมุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ฉันเป็นผู้ปฏิบัติพระวจนะและไม่เป็นผู้ฟังเท่านั้นหรือไม่ ฉันดำเนินชีวิตตามศาสนาของฉันหรือไม่ ฉันจะซื่อตรงหรือไม่ ฉันยืนหยัดต่อต้านการล่อลวงของซาตานหรือไม่ …
การตอบคำถามว่า “ฉันเป็นสมาชิกที่ดำรงอยู่หรือไม่” ได้เต็มปากจะยืนยันคำมั่นสัญญาของเรา นั่นหมายความว่าเราจะรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองเดี๋ยวนี้และตลอดไป นั่นหมายความว่าการกระทำของเราจะสะท้อนว่าเราเป็นใครและเราเชื่ออะไร นั่นหมายความว่าเราเป็นคริสต์ศาสนิกชนทุกวัน โดยเดินตามที่พระคริสต์ทรงประสงค์ให้เราเดิน
สมาชิกที่ดำรงอยู่คือคนที่พยายามรักษาคำมั่นสัญญาทั้งหมด …
สมาชิกที่ดำรงอยู่รู้หน้าที่ของตนว่าต้องมุ่งหน้า พวกเขารับบัพติศมาซึ่งเป็นขั้นแรกของการเดินทางในชีวิตพวกเขา นั่นเป็นสัญญาณต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อเหล่าเทพ และต่อฟ้าสวรรค์ว่าพวกเขาจะทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า …
สมาชิกที่ดำรงอยู่เอาใจใส่พระวิญญาณ ซึ่งชุบชีวิตจิตใจ พวกเขาแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณเสมอ พวกเขาสวดอ้อนวอนขอพลังและเอาชนะความยุ่งยาก ใจพวกเขาไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆ ของโลกนี้แต่อยู่กับเรื่องของสวรรค์ พวกเขาไม่ทิ้งการฟื้นฟูทางวิญญาณเพื่อให้ได้ความพอใจทางกาย
สมาชิกที่ดำรงอยู่ให้พระคริสต์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต โดยรู้ว่าชีวิตและความก้าวหน้าของพวกเขามาจากแหล่งใด มีแนวโน้มว่ามนุษย์จะให้ตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและคาดหวังให้ผู้อื่นทำตามความต้องการ ความจำเป็น และความปรารถนาของตน ทว่าธรรมชาติไม่ยกย่องสมมติฐานที่ผิดนั้น บทบาทสำคัญในชีวิตเป็นของพระผู้เป็นเจ้า แทนที่จะขอให้พระองค์ทรงทำตามคำสั่งของเรา เราควรพยายามทำให้ตัวเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ และด้วยเหตุนี้เราจึงก้าวหน้าต่อไปในฐานะสมาชิกที่ดำรงอยู่ …
สมาชิกที่ดำรงอยู่ ทันทีที่พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส จะทำตามพระบัญญัติให้ชูกำลังพี่น้องชายหญิงของพวกเขา [ดู ลูกา 22:32] พวกเขากระตือรือร้นที่จะแบ่งปันปีติของพวกเขากับผู้อื่น และพวกเขาไม่เคยสูญสิ้นความปรารถนานี้ …
สมาชิกที่ดำรงอยู่รับรู้ว่าต้องนำความเชื่อของพวกเขามาปฏิบัติ วิสุทธิชนเหล่านี้ทุ่มเททำให้เกิดงานดีและงานสูงส่งมากมายด้วยเจตจำนงอิสระและความสมัครใจของพวกเขา [ดู คพ. 58:27] …
สมาชิกที่ดำรงอยู่รักกัน พวกเขาไปเยี่ยมเด็กกำพร้าบิดาและหญิงม่ายที่อยู่ในความทุกข์ พวกเขารักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก [ดู ยากอบ 1:27] …
เรามีความเชื่ออันมั่นคงในคำกล่าวที่ว่านี่คือศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงและดำรงอยู่ คำถามที่เราต้องตอบคือ ฉันเป็นสมาชิกที่แท้จริงและดำรงอยู่ที่อุทิศตนและทำตามคำมั่นสัญญาหรือไม่
ขอให้เรายืนหยัดเป็นสมาชิกที่แท้จริงและดำรงอยู่ของศาสนจักร และได้รับรางวัลที่สัญญาไว้เพื่ออยู่ในหมู่คนที่พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวถึง “คนที่มาถึงภูเขาไซอันแล้ว, และมาถึงเมืองของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์, สถานที่แห่งสวรรค์, ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาสถานที่ทั้งปวง” (คพ. 76:66)11
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง “การเสียสละ” กับ “คำมั่นสัญญาทั้งหมด” (หัวข้อ 1) เกิดความแตกต่างอะไรในชีวิตเราเมื่อเรารักษาคำมั่นสัญญาทั้งหมดที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า เรื่องของชัดรัค เมชาค และอาเบดเนโกประยุกต์ใช้กับเราได้อย่างไร
-
ทบทวนเรื่องราวของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับโยชูวาในหัวข้อ 2 ท่านเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับการทุ่มเทให้พระผู้เป็นเจ้าอย่างเต็มที่ เราจะพัฒนาคำมั่นสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่คำนึงว่าผู้อื่นจะทำอะไรได้อย่างไร เราจะช่วยให้เด็กและเยาวชนพัฒนาคำมั่นสัญญาดังกล่าวได้อย่างไร
-
ท่านประทับใจอะไรบ้างขณะทบทวนเรื่องราวพระคัมภีร์ในหัวข้อ 3 ตัวอย่างการเชื่อฟังอะไรอีกบ้างในพระคัมภีร์มีอิทธิพลต่อท่าน ท่านคิดว่าเหตุใด “พระเจ้าทรงรัก … ความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์”
-
ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 4 เหตุใดความเชื่ออย่างเดียวจึง “ไม่พอ” การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์จะช่วยเราเตรียมรับเวลาที่เราเดือดร้อนอย่างไร เราจะประยุกต์ใช้คำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามศาสนาของเราได้อย่างไร
-
ทบทวนคำอธิบายแต่ละอย่างของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับ “สมาชิกที่ดำรงอยู่” ในหัวข้อ 5 เราพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้ของ “สมาชิกที่ดำรงอยู่” ได้อย่างไร พิจารณาว่าท่านจะเป็น “สมาชิกที่แท้จริงและดำรงอยู่” ของศาสนจักรได้อย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
1 ซามูเอล 15:22–23; สดุดี 1:1–3; ยากอบ 2:14–26; 2 นีไฟ 32:9; ออมไน 1:26; โม-ไซยาห์ 2:41; แอลมา 37:35–37; 3 นีไฟ 18:15, 18–20; คพ. 58:26–29; 97:8; อับราฮัม 3:24–26
ความช่วยเหลือด้านการสอน
อ่านข้อความอ้างอิงหลายข้อจากบทนี้ด้วยกัน หลังจากอ่าน ขอให้สมาชิกชั้นเรียนยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์หรือจากประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับคำสอนในข้อความอ้างอิง