บทที่ 20
ดำเนินตามเส้นทางแห่งจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอด
“มาตรฐานทดสอบความสงสารคือระดับการเป็นสานุศิษย์ของเรา คือระดับความรักของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อกัน”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนว่าพระผู้ช่วยให้รอด “ประทานความรักของพระองค์ การรับใช้ของพระองค์ และพระชนม์ชีพของพระองค์แก่เรา … เราควรพยายามให้เหมือนกับที่พระองค์ทรงให้”1 ที่พิเศษสุดคือประธานฮันเตอร์กระตุ้นสมาชิกศาสนจักรให้ทำตามแบบอย่างจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตประจำวันของพวกเขา
การกระทำที่มาจากจิตกุศลเป็นแง่มุมที่ชัดเจนในอาชีพกฎหมายของฮาเวิร์ด ดับเบิล-ยู. ฮันเตอร์ เพื่อนทนายคนหนึ่งอธิบายว่า
“ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ให้บริการด้านกฎหมาย [ฟรี] … เพราะท่านรู้สึกว่าไม่ควรเรียกเก็บเงินลูกความ…พวกเขาเห็นท่านเป็นเพื่อน คนนำทาง ที่ปรึกษา และมืออาชีพผู้สนใจจะเห็นคนเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการยิ่งกว่าได้เงินค่าตอบแทน”2
จิตกุศลเป็นตราสัญลักษณ์การรับใช้ศาสนจักรของประธานฮันเตอร์เช่นกัน สตรีคนหนึ่งที่พูดว่าท่านเป็นครูผู้มีอิทธิพลต่อเธอมากที่สุดอธิบายเหตุผลบางประการดังนี้
“ดิฉันสังเกตมาตลอดว่าชายคนนี้รักผู้อื่นโดยให้ความสำคัญกับพวกเขาก่อน ฟังจนเข้าใจ และแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นความเบิกบานใจมากอย่างหนึ่งของท่าน ท่านสอนดิฉันให้เข้าใจความสำคัญของคุณธรรมเหล่านี้และรู้สึกปีติในการปฏิบัติคุณธรรมดังกล่าว”3
สตรีอีกคนหนึ่งจากสเตคของประธานฮันเตอร์ในแคลิฟอร์เนียกล่าวสรรเสริญดังนี้
“ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. อันเตอร์เป็นประธานสเตคของเราหลายปีเมื่อครอบครัวเราอยู่ในสเตคแพซาดีนา คุณพ่อของดิฉันสิ้นชีวิตแล้ว ทิ้งคุณแม่ให้เลี้ยงดูดิฉันกับพี่สาว ถึงแม้เราไม่ได้เป็นครอบครัวที่โดดเด่นในสเตค ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางทางภูมิศาสตร์ แต่ประธานฮันเตอร์ยังรู้จักเราเป็นส่วนตัว
“ความทรงจำที่มีความหมายต่อดิฉันมากที่สุดเกี่ยวกับท่านคือความทรงจำที่ช่วยให้ดิฉันรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง หลังจากการประชุมใหญ่สเตคแต่ละครั้ง เราจะยืนต่อแถวรอจับมือกับท่าน ท่านมักจะจับมือคุณแม่ของดิฉันและพูดว่า ‘เป็นอย่างไรบ้าง ซิส-เตอร์เซสชันส์ เบททีกับแครอลีนเป็นอย่างไรบ้าง’ ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ยินท่านเรียกชื่อเรา ดิฉันรู้ว่าท่านรู้จักเราและห่วงใยความเป็นอยู่ของเรา ความทรงจำเรื่องนี้ยังคงทำให้ใจดิฉันอบอุ่น”4
ประธานฮันเตอร์เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพันธกิจของเราคือการรับใช้และช่วยให้รอด สร้างและทำให้สูงส่ง”5 ความเห็นจากพี่น้องของท่านในโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงให้เห็นว่าท่านทำพันธกิจดังกล่าวดีเพียงใด “ท่านมีวิธีทำให้ผู้อื่นรู้สึกผ่อนคลาย” คนหนึ่งรายงาน “ท่านไม่ข่มพวกเขา ท่านเป็นผู้ฟังที่ดี” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อคุณเดินทางไปกับท่าน ท่านจะคอยดูให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับการดูแลและไม่มีใครไม่สะดวกกายหรือไม่สบายใจ” อีกคนหนึ่งรายงานว่า “ท่านห่วงใยและใส่ใจผู้อื่น” ท่านมีจิตกุศลและใจที่ให้อภัย ท่านเป็นนักเรียนที่ศึกษาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ มนุษยชาติ และธรรมชาติมนุษย์”6
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
พระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อเป็นมาตรฐานที่พระเจ้าทรงใช้ทดสอบการเป็นสานุศิษย์ของเรา
ในสมัยโบราณ วิธีทดสอบความบริสุทธิ์ของทองวิธีหนึ่งคือทดสอบกับหินเรียบสีดำที่มีสารซิลิกาเจือปนเรียกว่าหินทดสอบความบริสุทธิ์ของทอง เมื่อนำทองมาถูกับหินทดสอบ ทองจะทำให้เกิดริ้วลายหรือรอยขีดบนพื้นผิวของหินทดสอบ ช่างทองจับคู่รอยขีดกับสีบนตารางสี รอยขีดแดงขึ้นตามปริมาณทองแดงหรืออัลลอยที่เพิ่มขึ้น หรือเหลืองขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ทองที่เพิ่มขึ้น กระบวนการนี้แสดงให้เห็นความบริสุทธิ์ของทองได้แม่นยำทีเดียว
วิธีทดสอบความบริสุทธิ์ของทองด้วยหินทดสอบได้ผลเร็วและน่าพอใจตรงตามจุดประสงค์จริงๆ มากที่สุด แต่ช่างทองที่ยังสงสัยความบริสุทธิ์จะทำการทดสอบที่แม่นยำกว่านั้นคือใช้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับไฟ
ข้าพเจ้าบอกท่านว่าพระเจ้าได้ทรงเตรียมหินทดสอบไว้สำหรับท่านและข้าพเจ้า นั่นคือ มาตรการภายนอกที่ใช้วัดการเป็นสานุศิษย์ภายในที่บ่งบอกความซื่อสัตย์ของเราและจะช่วยให้เรารอดพ้นจากไฟที่จะมาถึง
ครั้งหนึ่งขณะพระเยซูทรงสอนผู้คน ทนายคนหนึ่งมาหาพระองค์และตั้งคำถามนี้ “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์”
พระเยซู องค์ปรมาจารย์ ทรงตอบชายคนนั้นผู้รู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีด้วยการย้อนถามว่า “ในธรรมบัญญัติเขียนว่าอย่างไร? ท่านอ่านแล้วเข้าใจอย่างไร?”
ชายคนนั้นตอบด้วยการสรุปพระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อนี้ “พวกท่านจงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน ด้วยสุดกำลังของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”
พระคริสต์ทรงเห็นด้วยและตรัสตอบดังนี้ “จงไปทำอย่างนั้นแล้วจะได้ชีวิต” (ลูกา 10:25-28)
ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตของพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตที่เราแสวงหา หยั่งรากในพระบัญญัติสองข้อนี้ พระคัมภีร์กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:40) รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของท่าน งานสองอย่างนี้ไปด้วยกัน แยกกันไม่ออก ในความหมายสูงสุดอาจถือว่ามีความหมายเหมือนกัน และเป็นพระบัญญัติที่เราแต่ละคนดำเนินชีวิตตามได้
พระดำรัสตอบทนายของพระเยซูอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทดสอบของพระเจ้า พระองค์ตรัสในอีกวาระหนึ่งว่า “ซึ่งท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ก็เหมือนทำกับเราด้วย” (มัทธิว 25:40) พระองค์จะทรงวัดระดับความภักดีของเราต่อพระองค์โดยดูว่าเรารักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเราอย่างไร เรากำลังทิ้งรอยขีดแบบใดไว้บนหินทดสอบของพระเจ้า เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีจริงๆ หรือ การทดสอบแสดงให้เห็นว่าเราเป็นทอง 24 กะรัต หรือสามารถตรวจหาสายแร่ที่ดูเหมือนทองได้ไหม7
2
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เรารักทุกคน รวมไปถึงคนที่อาจรักได้ยาก
ประหนึ่งกำลังแก้ตัวเพราะถามคำถามง่ายๆ กับพระอาจารย์ ทนายจึงพยายามรักษาหน้าของตนโดยถามอีกว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” (ลูกา 10:29)
เราทุกคนควรสำนึกคุณชั่วนิรันดร์ต่อคำถามนั้น เพราะในพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดมีอุปมาล้ำค่าที่สุดและทรงคุณค่าเรื่องหนึ่ง อุปมาที่เราแต่ละคนเคยอ่านและได้ยินมาแล้วหลายครั้ง
“มีชายคนหนึ่งลงจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค และเขาถูกพวกโจรปล้น พวกโจรแย่งชิงเสื้อผ้าของเขา ทุบตีเขา แล้วทิ้งเขาไว้ในสภาพที่เกือบจะตายแล้ว
“เผอิญมีปุโรหิตคนหนึ่งเดินมาตามทางนั้น เมื่อเห็นคนนั้นแล้วก็เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง
“คนเลวีก็เหมือนกัน เมื่อมาถึงที่นั่นและเห็นแล้วก็เลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง
“แต่เมื่อชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินทางผ่านมาใกล้คนนั้น เห็นแล้วก็มีใจสงสาร
“จึงเข้าไปหาเขา เอาเหล้าองุ่นกับน้ำมันเทใส่บาดแผลและเอาผ้ามาพันให้ แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเองพามาถึงโรงแรม และดูแลรักษาพยาบาลเขา
“วันรุ่งขึ้นก่อนจะไป เขาเอาเงินสองเดนาริอันให้กับเจ้าของโรงแรม บอกว่า ช่วยรักษาเขาด้วย สำหรับเงินที่ต้องเสียเกินกว่านี้จะใช้ให้เมื่อกลับมา” (ลูกา 10:30–35)
พระเยซูตรัสถามทนายต่อจากนั้นว่า “ท่านเห็นว่าในสามคนนั้นคนไหนถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น” (ลูกา 10:36) ที่นั่นพระอาจารย์ทรงยื่นหินทดสอบความเป็นคริสต์ศาสนิกชน พระองค์ทรงขอให้วัดรอยขีดของท่านบนนั้น
ทั้งปุโรหิตและคนเลวีในอุปมาของพระคริสต์ควรนึกถึงข้อกำหนดของกฎนี้ “ถ้าท่านเห็นลาหรือโคของพี่น้องล้มลงตามทาง อย่านิ่งเฉยเสีย ท่านจงช่วยเขาพยุงสัตว์เหล่านั้นขึ้นอีก” (เฉลยธรรมบัญญัติ 22:4) และถ้าเป็นโค บุคคลนั้นควรเต็มใจช่วยพี่น้องที่เดือดร้อนมากขึ้นไปอีก แต่ตามที่เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจเขียน “ข้ออ้าง [ที่จะไม่ทำเช่นนั้น] หาได้ง่าย มันเกิดขึ้นรวดเร็วและมากมายเหมือนวัชพืชริมทาง” (Jesus the Christ, 3d ed., Salt Lake City: The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, 1916, p. 431)
ชาวสะมาเรียเป็นแบบอย่างของความรักที่บริสุทธิ์แบบชาวคริสต์ เขามีความสงสาร เขาไปดูชายที่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกโจรทำร้ายและพันแผลให้ เขาพาชายคนนั้นไปที่โรงแรม ดูแลเขา ชำระค่าใช้จ่ายให้ และให้เงินเพิ่มถ้าต้องใช้ดูแลเขา นี่เป็นเรื่องราวความรักของเพื่อนบ้านคนหนึ่งต่อเพื่อนบ้านของเขา
ภาษิตเก่าแก่กล่าวว่า “คนที่หมกมุ่นกับตัวเองมีค่าน้อยมาก” ความรักมีวิธีบางอย่างที่ทำให้ค่าของคนเพิ่มขึ้น กุญแจคือรักเพื่อนบ้านของเรา รวมทั้งเพื่อนบ้านที่รักได้ยาก เราต้องจำไว้ว่าแม้เราจะเลือกเพื่อนได้ แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกคนที่จะเป็นเพื่อนบ้านของเรา—พวกเขาอยู่ทุกที่ ความรักไม่ควรมีพรมแดน เราไม่ควรมีความจงรักภักดีที่จำกัด พระคริสต์ตรัสว่า “เพราะว่าถ้าพวกท่านรักคนที่รักท่าน พวกท่านจะได้บำเหน็จอะไร? พวกคนเก็บภาษีก็ทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?” (มัทธิว 5:46)8
3
เราควรรักและรับใช้ผู้อื่นขณะพวกเขามีความทุกข์
โจเซฟ สมิธเขียนจดหมายถึงวิสุทธิชนซึ่งจัดพิมพ์ไว้ใน Messenger and Advocate เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าการรักกันจะได้รับการตัดสินว่าถูกต้องต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเขียนว่า
“พี่น้องที่รักทั้งหลาย—หน้าที่หนึ่งซึ่งวิสุทธิชนพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเขาโดยเสรี—คือรักคนเหล่านั้นเสมอ และช่วยเหลือพวกเขาตลอดไป เพื่อจะได้รับการตัดสินว่าถูกต้องต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเราต้องรักกัน เราต้องเอาชนะความชั่ว เราต้องไปเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าบิดาและหญิงม่ายขณะที่พวกเขาตกอยู่ในความทุกข์ และเราต้องรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก เพราะคุณธรรมเช่นนั้นหลั่งไหลมาจากแหล่งใหญ่ของศาสนาที่บริสุทธิ์ การเสริมสร้างศรัทธาของเราโดยเพิ่มคุณสมบัติอันดีทุกอย่างที่ทำให้ลูกของพระเยซูผู้ทรงสูงส่งมีคุณค่าจะทำให้เราสามารถสวดอ้อนวอนในช่วงเวลาของการสวดอ้อนวอน ทำให้เราสามารถรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และซื่อสัตย์ในยามยากลำบากโดยรู้ว่ารางวัลของการทำเช่นนั้นใหญ่หลวงกว่าในอาณาจักรแห่งสวรรค์ ช่างเป็นความอุ่นใจกระไรเช่นนี้! ช่างเป็นปีติกระไรเช่นนี้! ขอให้ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตอย่างคนชอบธรรม และขอให้รางวัลของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้!” (History of the Church, 2:229)
เราต้องมีคุณธรรมสองอย่างนี้ คือความรักและการรับใช้ ถ้าเราต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและพบสันติสุขในชีวิตเรา คุณธรรมดังกล่าวอยู่ในใจของเอ็ลเดอร์วิลลาร์ด ริ-ชาร์ดส์อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะอยู่ในคุกคาร์เทจตอนบ่ายวันมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม ผู้คุมบอกว่าพวกท่านอยู่ในห้องขังจะปลอดภัยกว่า โจเซฟหันไปถามเอ็ลเดอร์ริ-ชาร์ดส์ว่า “ถ้าเราไปอยู่ในห้องขังคุณจะไปกับเราไหม”
คำตอบของเอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์เป็นคำตอบของความรัก “บราเดอร์โจเซฟ คุณไม่ได้ขอให้ผมข้ามน้ำมากับคุณ—คุณไม่ได้ขอให้ผมมาคาร์เทจกับคุณ—คุณไม่ได้ขอให้ผมมาอยู่ในคุกกับคุณ—และคุณคิดว่าผมจะทิ้งคุณตอนนี้หรือ แต่ผมจะบอกคุณว่าผมจะทำอะไร ถ้าพวกเขาตัดสินให้คุณถูกแขวนคอข้อหา ‘กบฏ’ ผมยอมถูกแขวนคอแทนคุณ เพื่อให้คุณเป็นอิสระ”
โจเซฟตอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตื้นตันใจมากว่า “แต่คุณจะทำอย่างนั้นไม่ได้”
เอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์ตอบหนักแน่นว่า “ผมจะทำ” (ดู บี. เอช. โรเบิร์ตส์, A Comprehensive History of the Church, 2:283)
บางทีการทดสอบของเอ็ลเดอร์ริชาร์ดส์อาจใหญ่หลวงกว่าพวกเราส่วนใหญ่จะเผชิญ เป็นการทดสอบด้วยไฟไม่ใช่ด้วยหินทดสอบ แต่ถ้าขอให้เราทำเช่นนั้น เราจะยอมสละชีวิตเพื่อครอบครัวเรา มิตรสหาย และเพื่อนบ้านของเราไหม
มาตรฐานทดสอบความสงสารคือระดับการเป็นสานุศิษย์ของเรา คือระดับความรักของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อกัน เราจะทิ้งรอยขีดของทองคำบริสุทธิ์ไว้หรือเดินไปอีกฟากหนึ่งเหมือนปุโรหิตและคนเลวี9
4
เราต้องเดินตามเส้นทางแห่งจิตกุศลที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นด้วยความเด็ดเดี่ยวมากขึ้น
ในข่าวสารสำคัญถึงวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในนอวูเพียงหนึ่งปีก่อนมรณสักขีอันน่าโศกสลดที่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า
“ถ้าเราประสงค์จะมีและปลูกฝังความรักต่อผู้อื่น เราต้องรักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูเช่นเดียวกับมิตรสหายของเรา … คริสต์ศาสนิกชนควรเลิกทะเลาะและขัดแย้งกัน แต่ควรปลูกฝังหลักธรรมแห่งเอกภาพและมิตรภาพท่ามกลางพวกเขา” (History of the Church, 5:498–99.)
นั่นเป็นคำแนะนำที่ล้ำเลิศในสมัยนี้ แม้เช่นเดียวกับใน [สมัยนั้น] โลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณจัดเตรียมหนทางเดียวให้โลกรู้จักสันติสุข เราต้องเมตตากันมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น เราต้องโกรธช้าลงและพร้อมช่วยเหลือมากขึ้น เราต้องยื่นมือแห่งมิตรภาพและต้านมือแห่งการแก้แค้น สรุปคือ เราต้องรักกันด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ด้วยจิตกุศลอันแท้จริงและความสงสาร และร่วมทุกข์หากจำเป็น เพราะนั่นคือวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา
ในพิธีนมัสการของเรา เรามักจะร้องเพลงสวดอันแสนไพเราะที่ซูซาน อีแวนส์ แม็ค-คลาวด์เขียนเนื้อร้อง ข้าพเจ้าขอให้ท่านนึกถึงเพลงนั้นบางท่อน
พระผู้ช่วยขอข้าเรียนรักพระองค์
เดินตามทางทรงสอนสั่ง
หยุดเพื่อช่วยเหลือยกคนหมดหวัง
เพื่อหากำลังเสริมเพิ่มขึ้น …
ข้าเป็นใครใยไปตัดสินพี่น้อง
เมื่อยังบกพร่องนานา
ในใจเงียบงันนั้นซ่อนโศกา
ซึ่งดวงตาค้นหาไม่พบ …
ข้าจะคอยอุ้มชูดูแลพี่น้อง
จะเรียนท่องการเยียวยา
ใจข้าจะอารีมีเมตตา
ต่อผู้อ่อนล้าผู้บาดเจ็บ
ข้าจะคอยอุ้มชูดูแลพี่น้อง
ข้าจะตามพระองค์(เพลง
สวด, 1985, บทเพลงที่ 106)
เราต้องเดินตามเส้นทางที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นด้วยความเด็ดเดี่ยวมากขึ้นและด้วยจิตกุศลมากขึ้น เราต้อง “หยุดเพื่อช่วยเหลือยกอีกคนหนึ่ง” และเราจะพบ “กำลังเสริมเพิ่มขึ้น” แน่นอน ถ้าเราจะทำมากขึ้นเพื่อเรียนรู้ “การเยียวยา” เราจะมีโอกาสนับไม่ถ้วนให้ใช้ ให้สัมผัส “ผู้อ่อนล้าผู้บาดเจ็บ” และแสดง “ใจอารี” ต่อทุกคน พระเจ้า ข้าจะตามพระองค์10
5
“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์และจะไม่มีวันสูญสิ้น
“เราให้บัญญัติใหม่ไว้กับพวกท่าน” [พระเยซู] ตรัส “ให้รักซึ่งกันและกัน … ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34-35) ความรักนี้ที่เราควรมีให้พี่น้องชายหญิงในครอบครัวมนุษย์ และที่พระคริสต์ทรงมีต่อพวกเราทุกคน เรียกว่าจิตกุศลหรือ “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (มัทธิว 7:47) นี่คือความรักที่ก่อให้เกิดความทุกขเวทนาและการเสียสละเนื่องด้วยการชดใช้ของพระคริสต์ นี่เป็นจุดสูงสุดที่จิตวิญญาณมนุษย์เอื้อมถึงและเป็นการแสดงความรู้สึกลึกซึ้งที่สุดของใจมนุษย์
… จิตกุศลครอบคลุมคุณธรรมอื่นทั้งหมดตามวิถีของพระผู้เป็นเจ้า จิตกุศลทำให้เห็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของแผนแห่งความรอด เมื่ออย่างอื่นทั้งหมดสิ้นสุด จิตกุศล—ความรักของพระคริสต์จะ ไม่ สิ้นสุด จิตกุศลเป็นคุณลักษณะยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาคุณลักษณะอันสูงส่งทั้งมวล
พระเยซูตรัสด้วยพระทัยกว้างขวางกับคนยากจน คนถูกเหยียบย่ำ หญิงม่าย เด็กเล็ก ชาวนาและชาวประมง คนเลี้ยงแกะและคนเลี้ยงแพะ คนแปลกหน้าและคนต่างชาติ คนร่ำรวย คนมีอำนาจทางการเมือง เช่นเดียวกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ที่ไม่เป็นมิตร พระองค์ทรงปฏิบัติต่อคนยากจน คนหิวโหย คนขาดแคลน และคนป่วย พระองค์ประทานพรคนง่อย คนตาบอด คนหูหนวก และคนอื่นๆ ที่ร่างกายพิการ พระองค์ทรงขับผีและวิญญาณร้ายที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจหรืออารมณ์ พระองค์ทรงทำให้ผู้ที่แบกรับบาปเป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์ทรงสอนบทเรียนเรื่องความรักและทรงแสดงให้เห็นการรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวหลายต่อหลายครั้ง ทุกคนเป็นผู้รับความรักของพระองค์ ทุกคน “ได้รับอภิสิทธิ์คนหนึ่งเหมือนกับอีกคนหนึ่ง, และไม่มีใครถูกห้าม” (2 นีไฟ 26:28) นี่คือการแสดงออกและแบบอย่างทั้งหมดของจิตกุศลอันไร้ขอบเขตของพระองค์
โลกที่เราอาศัยอยู่จะได้ประโยชน์มากถ้าชายหญิงทุกแห่งหนจะแสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ซึ่งเมตตา อ่อนโยน และถ่อมตน จิตกุศลปราศจากความอิจฉาหรือความจองหอง จิตกุศลไม่เห็นแก่ตัวเพราะไม่แสวงหาสิ่งตอบแทน จิตกุศลไม่ยอมรับความชั่วหรือเจตนาร้าย ไม่ชื่นชมยินดีในความชั่วช้าสามานย์ ไม่มีที่ให้แก่อคติ ความเกลียดชัง หรือความรุนแรง จิตกุศลไม่ยอมเห็นด้วยกับการหัวเราะเยาะ ความหยาบคาย การกระทำทารุณกรรม หรือการเนรเทศ จิตกุศลกระตุ้นให้คนต่างกันอยู่ด้วยกันในความรักแบบชาวคริสต์โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะการเงิน การศึกษา หรือวัฒนธรรม
พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เรารักกันเฉกเช่นพระองค์ทรงรักเรา ห่อหุ้มตัวเรา “ด้วยพันธะแห่งจิตกุศล” (คพ. 88:125) เฉกเช่นพระองค์ทรงห่อหุ้มพระองค์เอง พระองค์ทรงขอให้เราทำให้ความรู้สึกภายในใจเราบริสุทธิ์ เปลี่ยนแปลงใจเรา ทำให้การกระทำและลักษณะภายนอกของเราสอดคล้องกับสิ่งที่เราพูดว่าเราเชื่อและรู้สึกภายในใจ เราต้องเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์11
6
การรักผู้อื่นเป็น “วิธีที่ประเสริฐยิ่งกว่า”
สมัยหนุ่ม บราเดอร์เวิร์น โครว์ลีย์กล่าวว่าเขาเรียนรู้บางอย่างจากบทเรียนอันสำคัญยิ่งที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟสอนวิสุทธิชนสมัยแรกในนอวูเมื่อท่านบอกให้พวกเขา “รักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูเช่นเดียวกับมิตรสหายของเรา” นี่เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเราแต่ละคน
หลังจากบิดาของเขาป่วย เวิร์น โครว์ลีย์ต้องรับผิดชอบดำเนินกิจการแยกส่วนรถที่ไม่ใช้แล้วของครอบครัว แม้ตอนนั้นเขาจะอายุเพียงสิบห้าปี บางครั้งลูกค้าบางคนเอาเปรียบเขา และชิ้นส่วนเครื่องจักรหายไปจากอู่ช่วงกลางคืน เวิร์นโกรธและสาบานว่าจะจับคนบางคนมาลงโทษเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง เขาจะต้องแก้แค้นให้ได้
หลังจากบิดาของเขาเริ่มฟื้นจากอาการป่วย เวิร์นเดินตรวจตราไปรอบๆ ก่อนจะปิดอู่ ตอนนั้นใกล้ค่ำแล้ว ตรงมุมที่อยู่ไกลๆ เขาเห็นใครบางคนกำลังแบกชิ้นส่วนเครื่องจักรขนาดใหญ่ตรงไปที่รั้วด้านหลัง เขาวิ่งเหมือนนักกีฬาเหรียญทองไปจับหนุ่มหัวขโมยคนนั้น ความคิดแรกของเขาคือระบายความไม่พอใจด้วยกำปั้นแล้วลากเด็กหนุ่มคนนั้นไปหน้าอู่และเรียกตำรวจ ใจเขาอัดแน่นด้วยความโกรธและความแค้น เขาจับหัวขโมยได้แล้ว และเขาตั้งใจจะลงโทษให้สาสม
คุณพ่อของเวิร์นเดินมาจากไหนไม่ทราบ วางมือที่อ่อนล้าไร้เรี่ยวแรงบนบ่าลูกชาย และพูดว่า “พ่อเห็นลูกอารมณ์ไม่ค่อยดีนะเวิร์น พ่อจะจัดการเรื่องนี้ได้ไหม” จากนั้นท่านก็เดินไปหาหัวขโมยคนนั้นและโอบไหล่เขา มองตาเขาครู่หนึ่ง และพูดว่า “หนุ่มน้อย บอกหน่อยซิว่าทำไมทำแบบนี้” ทำไมถึงพยายามขโมยระบบเกียร์รถยนต์” จากนั้นคุณโครว์ลีย์ก็เริ่มเดินไปที่ห้องทำงานพลางโอบเด็กหนุ่มคนนั้นไปด้วย เขาถามถึงปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ของเด็กหนุ่มขณะเดินไปด้วยกัน เมื่อมาถึงห้องทำงาน คุณพ่อพูดว่า “เอาละ ลุงคิดว่าคลัตช์พังและนั่นทำให้เกิดปัญหา”
ระหว่างนั้นเวิร์นพลุ่งพล่านด้วยความโกรธ “ใครสนคลัตช์ของเขา” เขาคิด “เรียกตำรวจเถอะ เรื่องจะได้จบๆ” แต่คุณพ่อยังพูดต่อ “เวิร์น เอาคลัตช์มาให้เขา เอาตลับลูกปืนคลัตช์มาให้ด้วย แล้วก็แผ่นอัดคลัตช์ นั่นคงจะแก้ไขเรื่องคลัตช์ได้” คุณพ่อยื่นชิ้นส่วนทั้งหมดให้ชายหนุ่มที่พยายามขโมยและพูดว่า “เอานี่ไป แล้วก็เอากระปุกเกียร์ไปตัวย เธอไม่ต้องขโมยหรอกพ่อหนุ่ม แค่ขอ ปัญหาทุกอย่างมีทางออก มีคนเต็มใจช่วย”
บราเดอร์เวิร์น โครว์ลีย์บอกว่าวันนั้นเองที่เขาเรียนรู้บทเรียนอมตะในเรื่องความรัก ชายหนุ่มคนนั้นกลับมาที่อู่บ่อยๆ เขาสมัครใจจ่ายค่าอะไหล่ทั้งหมดที่วิค โครว์ลีย์ให้เขาทีละเดือน รวมทั้งกระปุกเกียร์ด้วย ระหว่างการเยี่ยมเยียนเหล่านั้น เขาถามเวิร์นว่าทำไมพ่อของเขาเป็นอย่างนั้นและทำไมเขาทำอย่างนั้น เวิร์นบอกเขาบางอย่างเกี่ยวกับความเชื่อของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คุณพ่อของเขารักพระเจ้าและรักคนอื่นๆ มาก ในที่สุดคนที่เกือบเป็นขโมยก็รับบัพติศมา เวิร์นกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ตอนนี้ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกที่มีและสิ่งที่ผมได้รับในประสบการณ์นั้น ผมอายุน้อยด้วย ผมจับขโมยได้ ผมจะลงโทษเขาให้ถึงที่สุด แต่คุณพ่อสอนวิธีที่ต่างออกไป”
วิธีที่ต่างออกไปหรือ วิธีที่ดีกว่าหรือ วิธีที่สูงส่งกว่าหรือ วิธีที่ประเสริฐยิ่งกว่าหรือ โอ้ โลกจะได้ประโยชน์เพียงใดจากบทเรียนอันล้ำค่าเช่นนั้น ดังที่โมโรไนประกาศว่า
“ดังนั้น, ผู้ใดที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจะหวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้ …
“ในของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมทางที่ประเสริฐยิ่งกว่า” (อีเธอร์ 12:4, 11)12
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ประธานฮันเตอร์หมายความว่าอย่างไรเมื่อท่านเรียกพระบัญญัติข้อใหญ่สองข้อว่าเป็น “หินทดสอบของพระเจ้า” (ดู หัวข้อ 1) ใคร่ครวญว่าท่านจะตอบคำถามที่ประธานฮันเตอร์ถามเมื่อจบหัวข้อ 1 อย่างไร
-
ทบทวนเรื่องราวของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ดู หัวข้อ 2) เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากคำสอนเหล่านี้เกี่ยวกับการรักเพื่อนบ้าน เราจะเพิ่มพูนความรักของเราต่อคนที่อาจจะ “รักได้ยาก” ได้อย่างไร
-
ในหัวข้อ 3 ประธานฮันเตอร์สอนว่าเราควรรักและรับใช้ผู้อื่นในเวลาที่พวกเขามีทุกข์ ท่านได้รับพรอย่างไรจากคนที่รักและรับใช้ท่านในยามต้องการ
-
ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับการทำตามแบบอย่างจิตกุศลของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หัวข้อ 4) เราจะรักผู้อื่นมากขึ้นได้อย่างไร มีวิธีใดบ้างที่เราจะแสดงความรักของเราได้มากขึ้น
-
ในหัวข้อ 5 ประธานฮันเตอร์ทบทวนบางวิธีที่พระคริสต์ทรงแสดงความรัก ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านเมื่อใด ท่านได้รับพรอะไรบ้างเมื่อท่าน “แสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องของเวิร์น โครว์ลีย์ที่ประธานฮันเตอร์เล่า (ดู หัวข้อ 6) เราจะแทนที่ “ความโกรธและความแค้น” ด้วยจิตกุศลได้อย่างไร ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านเรียนรู้ว่าจิตกุศลเป็น “ทางที่ประเสริฐยิ่งกว่า”
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
มัทธิว 25:31–46; 1 โครินธ์ 13; เอเฟซัส 4:29–32; 1 ยอห์น 4:20; โมไซยาห์ 4:13–27; แอลมา 34:28–29; อีเธอร์ 12:33–34; โมโรไน 7:45–48; คพ. 121:45–46
ความช่วยเหลือด้านการศึกษา
“การทำตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้จะทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สุด (ดู ยอห์น 7:17)” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], 19) ท่านอาจถามตัวท่านเองว่าจะประยุกต์ใช้คำสอนที่บ้าน ที่ทำงาน และในความรับผิดชอบของท่านในศาสนจักรได้อย่างไร