คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 9: กฎส่วนสิบ


บทที่ 9

กฎส่วนสิบ

“ประจักษ์พยานเกี่ยวกับกฎส่วนสิบมาจากการดำเนินชีวิตตามกฎนั้น”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ไม่นานก่อนฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์และแคลร์ เจฟฟ์ส แต่งงานกัน ฮาเวิร์ดไปพบอธิการเพื่อขอใบรับรองพระวิหาร ท่านประหลาดใจที่ระหว่างการสัมภาษณ์ อธิการถามว่ารายได้ของท่านเลี้ยงดูภรรยากับครอบครัวได้ไหม ฮาเวิร์ดเล่าว่า “เมื่อข้าพเจ้าบอกท่านว่าข้าพเจ้ามีรายได้เท่าไร ท่านบอกว่าเหตุผลที่ท่านสงสัยในเรื่องความสามารถของข้าพเจ้าในการเลี้ยงดูภรรยาก็เพราะจำนวนส่วนสิบที่ข้าพเจ้าจ่าย”

ฮาเวิร์ดไม่ได้จ่ายส่วนสิบเต็มจนถึงเวลานั้นเพราะท่านไม่เข้าใจความสำคัญของการจ่ายส่วนสิบเต็ม ท่านอธิบายว่า “เพราะคุณพ่อข้าพเจ้าไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่บ้าน ในครอบครัวเราจึงไม่เคยพูดเรื่องส่วนสิบและข้าพเจ้าไม่เคยเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ”

ฮาเวิร์ดกล่าวว่าขณะที่ท่านและอธิการพูดคุยกันต่อ อธิการ “สอนข้าพเจ้าอย่างอ่อนโยน … ถึงความสำคัญของกฎนี้และเมื่อข้าพเจ้าบอกท่านว่านับจากนี้ไปข้าพเจ้าจะจ่ายส่วนสิบเต็ม ท่านจึงสัมภาษณ์ต่อและทำให้ข้าพเจ้าคลายกังวลด้วยการกรอกข้อมูลและเซ็นแบบฟอร์มใบรับรองให้ข้าพเจ้า”

เมื่อฮาเวิร์ดเล่าประสบการณ์นี้ให้แคลร์ฟัง ท่านจึงทราบว่าเธอจ่ายส่วนสิบเต็มมาตลอด “เราตั้งใจว่าจะดำเนินชีวิตตามกฎนี้ตลอดชีวิตแต่งงานของเราและส่วนสิบจะมาก่อน” ท่านกล่าว1

เยาวชนชายกำลังเขียนใบบริจาค

“การจ่ายส่วนสิบเสริมสร้างศรัทธา เพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณและความสามารถทางวิญญาณ และทำให้ประจักษ์พยานมั่นคง”

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

นิยามของพระเจ้าเกี่ยวกับกฎส่วนสิบนั้นเรียบง่าย

กฎ [ส่วนสิบ] มีกล่าวไว้อย่างเรียบง่ายว่าคือ “หนึ่งในสิบส่วนของผลประโยชน์ทั้งหมดของพวกเขา” (คพ. 119:4) ผลประโยชน์หมายถึงผลกำไร เงินชดเชย ส่วนที่เพิ่มขึ้น ผลประโยชน์คือค่าจ้างของคนทำงานเป็นลูกจ้าง กำไรจากการดำเนินธุรกิจ ส่วนที่เพิ่มขึ้นของคนเพาะปลูกหรือผลิต หรือรายได้ที่มาถึงคนนั้นจากแหล่งอื่น พระเจ้าตรัสว่าส่วนสิบเป็นกฎถาวร “ตลอดกาล” เช่นที่เคยเป็นมาในอดีต2

เช่นเดียวกับพระบัญญัติและกฎทุกข้อของพระเจ้า [กฎส่วนสิบ] เรียบง่ายถ้าเรามีศรัทธาเพียงเล็กน้อย แท้ที่จริงพระเจ้าตรัสว่า “เลื่อนจุดทศนิยมไปทางซ้ายหนึ่งตำแหน่ง” นั่นคือกฎส่วนสิบ กฎนี้เรียบง่ายเช่นนั้น3

2

กฎส่วนสิบดำรงอยู่นับแต่กาลเริ่มต้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งแรกที่กล่าวคำว่า “ทศางค์ (ส่วนสิบ)” ในพระคัมภีร์ไบเบิลคือในหนังสือเล่มแรกของพันธสัญญาเดิม เมลคีเซเดคกษัตริย์ของซาเลมและปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดพบ … อับราม เมลคีเซเดคอวยพรอับราม และเขา “มอบหนึ่งในสิบจากข้าวของทั้งหมด” ถวายแด่กษัตริย์ (ปฐมกาล 14:20)

ไม่กี่บทต่อจากนั้นในหนังสือเดียวกัน ยาโคบกล่าวปฏิญาณที่เบธเอลดังนี้ … “ทุกสิ่งที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายหนึ่งในสิบแด่พระองค์” (ปฐมกาล 28:20:-22)

ครั้งที่สามที่พูดถึงส่วนสิบเกี่ยวข้องกับกฎของคนเลวี พระเจ้าตรัสผ่านโมเสสดังนี้:

“ทศางค์ทั้งสิ้นที่ได้จากแผ่นดินเป็นพืชที่ได้จากแผ่นดินก็ดี หรือผลจากต้นไม้ก็ดี เป็นของพระยาห์เวห์ เป็นของถวายที่บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์” (เลวีนิติ 27:30)

ภายใต้กฎของคนเลวีคนอิสราเอลจะมอบส่วนสิบให้คนเลวีเก็บรักษา และต่อจากนั้นพวกเขามีหน้าที่จ่ายส่วนสิบที่ได้รับตามพระวจนะของพระเจ้าขณะทรงแนะนำโมเสสดังนี้

“ยิ่งกว่านั้นเจ้าจงกล่าวแก่คนเลวีว่า เมื่อพวกเจ้ารับทศางค์จากคนอิสราเอล ซึ่งเราให้แก่พวกเจ้าเป็นมรดกของเจ้าที่มาจากพวกเขานั้น เจ้าจงนำร้อยละสิบจากทศางค์นั้นมาถวายแด่พระยาห์เวห์เป็นเครื่องถวาย” (กันดารวิถี 18:26)

นี่บอกชัดเจนว่ากฎส่วนสิบเป็นส่วนหนึ่งในกฎของคนเลวีและทุกคนจ่าย—แม้แต่คนเลวีเองก็ได้รับบัญชาให้จ่ายส่วนสิบจากทศางค์ที่พวกเขาได้รับ

มีบางคนเชื่อว่ากฎส่วนสิบเป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติของคนเลวี แต่ประวัติศาสตร์ยืนยันว่ากฎนี้มีมานานแล้วและเป็นกฎสากล เป็นกฎพื้นฐานในกฎของโมเสส ดำรงอยู่นับจากกาลเริ่มต้นและพบในกฎของคนอียิปต์สมัยโบราณ ในบาบิโลเนีย และพบได้ตลอดประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ไบเบิล ศาสดาพยากรณ์อาโมสกล่าวถึงกฎนี้ [ดู อา-โมส 4:4] และเนหะมีย์ผู้รับผิดชอบดูแลการสร้างกำแพงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่กล่าวถึงกฎนี้เช่นกัน [ดู เนหะมีย์ 10:37-38; 12:44; 13:5, 12] ไม่นานหลังจากนั้นมาลาคีเริ่มภารกิจใหญ่กว่านั้นของการสร้างศรัทธาและขวัญกำลังใจของคนในประเทศอีกครั้ง ขณะพยายามเป็นพิเศษเพื่อต่อต้านความโลภของคนที่เคร่งศาสนาแต่ในนาม เขาประณามคนเหล่านั้นอย่างรุนแรงด้วยการกล่าวหาว่าพวกเขาทำผิดร้ายแรงต่อพระผู้เป็นเจ้า

“มนุษย์จะฉ้อโกงพระเจ้าหรือ? ที่จริงเจ้าทั้งหลายได้ฉ้อโกงเรา แต่เจ้ากล่าวว่า พวกเราฉ้อโกงพระเจ้าอย่างไร ก็ฉ้อโกงในเรื่องทศางค์และเครื่องบูชานั่นซี

“เจ้าทั้งหลายต้องถูกสาปแช่งด้วยคำสาปแช่ง, เพราะเจ้าฉ้อโกงเราทั้งชาติ

“พระยาห์เวห์จอมทัพตรัสว่า จงนำทศางค์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง เพื่อว่าจะมีอาหารในนิเวศของเรา จงลองดูเราในเรื่องนี้ว่า เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่” (มาลาคี 3:8-10) …

ถ้อยคำของมาลาคีทิ้งท้ายพันธสัญญาเดิมด้วยการย้ำเรื่องกฎส่วนสิบ ซึ่งบ่งบอกว่าไม่เคยมีการยกเลิกกฎนี้ซึ่งดำรงอยู่นับจากกาลเริ่มต้น ด้วยเหตุนี้สมัยการประทานพันธ-สัญญาใหม่จึงเริ่มต้นภายใต้คำเตือนดังกล่าว …

ไม่นานหลังจากฟื้นฟูพระกิตติคุณในสมัยการประทานนี้ พระเจ้าประทานการเปิดเผยแก่ผู้คนของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายโดยนิยามกฎนี้ว่า … :

“และหลังจากนั้น, คนเหล่านั้นที่เราเก็บส่วนสิบดังนี้พึงจ่ายหนึ่งในสิบส่วนของผลประโยชน์ทั้งหมดของพวกเขาเป็นรายปี; และนี่พึงเป็นกฎถาวรสำหรับพวกเขาตลอดกาล, เพื่อฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ของเรา, พระเจ้าตรัส.” (คพ. 119:4)4

3

เราให้ของขวัญอีกทั้งทำตามข้อผูกมัดในเรื่องส่วนสิบของเราด้วย

ส่วนสิบเป็นกฎของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ แต่การจ่ายส่วนสิบเป็นเรื่องของความสมัครใจทั้งสิ้น ในประเด็นนี้ ส่วนสิบไม่ต่างจากกฎวันสะบาโตหรือกฎอื่นๆ ของพระองค์ เราอาจไม่ยอมเชื่อฟังกฎใดกฎหนึ่งหรือทั้งหมด การเชื่อฟังของเราเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่การที่เราไม่ยอมจ่ายส่วนสิบมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนกฎนี้

ถ้าส่วนสิบเป็นเรื่องของความสมัครใจ นั่นเป็นของขวัญหรือเป็นการทำตามข้อผูกมัด? มีความแตกต่างมากระหว่างสองสิ่งนี้ ของขวัญคือการโอนเงินหรือทรัพย์สินให้ด้วยความสมัครใจโดยไม่ต้องคิดพิจารณา ของขวัญคือการให้โดยไม่หวังผล ไม่มีใครมีข้อผูกมัดว่าต้องให้ของขวัญ ถ้าส่วนสิบเป็นของขวัญ เราจะให้อะไรก็ได้ที่เราพอใจ เมื่อใดก็ได้ที่เราพอใจ หรือไม่ให้อะไรเลยก็ได้ นั่นจะทำให้พระบิดาบนสวรรค์ของเราตกอยู่ในประเภทเดียวกันกับขอทานข้างถนนที่เราอาจจะโยนเหรียญให้สักเหรียญขณะเดินผ่าน

พระเจ้าทรงสถาปนากฎส่วนสิบ และเพราะเป็นกฎของพระองค์ นั่นจึงเป็นข้อผูกมัดที่ต้องถือปฏิบัติถ้าเรารักพระองค์และปรารถนาจะรักษาพระบัญญัติและรับพรของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ส่วนสิบจึงกลายเป็นหนี้ คนที่ไม่จ่ายส่วนสิบเพราะเขามีหนี้ควรถามตนเองว่าเขาไม่เป็นหนี้พระเจ้าด้วยหรือ พระอาจารย์ตรัสว่า “แต่พวกท่านจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงนี้ให้” (มัทธิว 6:33)

เราจะเดินไปทางตะวันออกและตะวันตกพร้อมกันไม่ได้ เราจะรับใช้ทั้งพระผู้เป็นเจ้าและเงินทองไม่ได้ คนที่ไม่ยอมรับกฎส่วนสิบคือคนที่ไม่ได้ทดสอบกฎมากพอ แน่นอนว่ากฎต้องให้จ่ายบางอย่าง การดำเนินชีวิตตามกฎใดของพระกิตติคุณหรือหลักธรรมใดของพระกิตติคุณต้องอาศัยการลงมือทำ ความคิด และความพยายาม …

เมื่อเราจ่ายส่วนสิบอาจเป็นได้ว่าเราให้ของขวัญอีกทั้งทำตามข้อผูกมัดในเรื่องส่วนสิบด้วย ส่วนสิบคือการทำตามข้อผูกมัดที่ให้ไว้กับพระเจ้า คือของขวัญให้เพื่อนมนุษย์ของเราใช้สร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ถ้ามีใครสังเกตการเผยแผ่ศาสนาของผู้สอนศาสนา โปรแกรมการเรียนการสอนของศาสนจักร ระบบการศึกษาที่ยอดเยี่ยม และโปรแกรมก่อสร้างเพื่อสร้างบ้านแห่งการนมัสการโดยใคร่ครวญอย่างรอบคอบ เขาจะตระหนักว่าการจ่ายส่วนสิบไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ พรของพระกิตติคุณมีให้แก่คนมากมายผ่านส่วนสิบของเรา5

สตรีคนหนึ่งกำลังมอบซองให้อธิการ

“การจ่ายส่วนสิบไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่”

4

เครื่องถวายแด่พระเจ้าควรทำให้ผู้ถวายสูญเสียของมีค่าบางอย่าง

ใน 2 ซามูเอล 24:18-25 เราอ่านว่าดาวิดจะไม่ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าโดยที่เขาไม่สูญเสียอะไรเลย เขามีเหตุผลอย่างไม่ต้องสงสัยว่าหากของขวัญไม่ทำให้ผู้ถวายสูญเสียของมีค่าบางอย่าง ของขวัญนั้นก็ไม่คู่ควรหรือไม่เหมาะจะเป็นเครื่องถวายแด่พระเจ้า

พระคริสต์ตรัสว่าการให้ได้รับพรมากกว่าการรับ [ดู กิจการของอัครทูต 20:35] แต่มีบางคนจะให้ต่อก็ต่อเมื่อเขาไม่สูญเสียอะไรเลย นี่ไม่เป็นไปตามคำสอนของพระอาจารย์ผู้ตรัสว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง” (มัทธิว 16:24)

มีบางคนจะไม่ดำเนินชีวิตตามกฎส่วนสิบเพราะต้องสูญเสีย นี่ตรงข้ามกับเหตุผลของดาวิดผู้จะไม่ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าหากเขาไม่สูญเสียอะไรเลย คนที่ไม่จ่ายส่วนสิบมองข้ามหลักศีลธรรมอันสำคัญยิ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎส่วนสิบ และพวกเขาไม่เข้าใจกฎและเหตุผลของกฎ6

5

การจ่ายส่วนสิบนำพรมากมายมาให้

พระเจ้าประทานกฎ [ส่วนสิบ] ถ้าเราทำตามกฎของพระองค์ เรารุ่งเรือง แต่เมื่อเราหาสิ่งที่เราคิดว่าเป็นวิธีที่ดีกว่า เราพบความล้มเหลว ขณะข้าพเจ้าเดินทางไปทั่วศาสนจักรและเห็นผลของการจ่ายส่วนสิบ ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่าส่วนสิบไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพรยิ่งใหญ่7

จงจ่ายส่วนสิบอย่างซื่อสัตย์ กฎนิรันดร์นี้ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยและคนซื่อสัตย์ปฏิบัติตั้งแต่ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สอนเราว่าเราต้องให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา พระเจ้าอาจไม่ได้ขอให้เราเสียสละบ้านหรือชีวิตเรา เช่นกรณีที่ทรงขอวิสุทธิชนสมัยแรก ปัจจุบันเราได้รับการท้าทายให้เอาชนะความเห็นแก่ตัวของเรา เราจ่ายส่วนสิบเพราะเรารักพระเจ้า ไม่ใช่เพราะเรามีเงินจ่าย เราคาดหวังได้ว่าพระเจ้าจะทรงเปิด “หน้าต่างในฟ้าสวรรค์” (มาลาคี 3:10) และเทพรมาให้คนซื่อสัตย์8

เราทำตามหลักธรรมของการคืนพระกรุณาธิคุณส่วนหนึ่งให้พระเจ้า และเราเรียกส่วนนี้ว่าส่วนสิบ ส่วนสิบ … เป็นเรื่องของความสมัครใจล้วนๆ เราจะจ่ายส่วนสิบหรือไม่จ่ายส่วนสิบก็ได้ คนที่จ่ายได้รับพรที่คนอื่นไม่รู้9

แมรีย์ ฟิลดิงก์ สมิธ [เป็น] มารดารุ่นบุกเบิกที่ไม่ย่อท้อ เธอเป็นภรรยาม่ายของผู้ประสาทพรไฮรัม สมิธ พี่ชายของท่านศาสดาพยากรณ์ … ฤดูใบไม้ผลิปีหนึ่งขณะครอบครัวเปิดหลุมเก็บมันฝรั่ง เธอให้บุตรชายขนมันฝรั่งที่ดีที่สุดไปสำนักงานส่วนสิบ

เสมียนคนหนึ่งพบเธอตรงบันไดสำนักงาน เขา [ท้วง] ขณะที่ลูกชายเธอเริ่มขนมันฝรั่งลงมา “แม่ม่ายสมิธ” เขาพูด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจำการทดลองและการเสียสละของเธอได้ “น่าละอายมากที่คุณจะต้องจ่ายส่วนสิบ” เขา … ตำหนิที่เธอจ่ายส่วนสิบ และหาว่าเธอไม่ฉลาดรอบคอบ …

หญิงม่ายร่างเล็กยืดตัวตรงและพูดว่า “วิลเลียม คุณน่าจะละอายแก่ใจบ้างนะ คุณไม่อยากให้ดิฉันได้รับพรหรือ ถ้าดิฉันไม่จ่ายส่วนสิบเท่ากับดิฉันคาดหวังให้พระเจ้ายับยั้งพรของพระองค์ ดิฉันจ่ายส่วนสิบไม่ใช่เพราะเป็นกฎของพระผู้เป็นเจ้าแต่เพราะดิฉันคาดหวังพรจากการทำเช่นนั้น โดยรักษากฎนี้และกฎอื่นๆ ดิฉันคาดหวังว่าจะรุ่งเรืองและสามารถหาเลี้ยงครอบครัวของดิฉันได้” (Joseph Fielding Smith, Life of Joseph F. Smith [Salt Lake City, 1938], 158–59.)10

หลักธรรมเรื่องส่วนสิบควรเป็นมากกว่าการปฏิบัติกฎตามหลักคณิตศาสตร์แบบไร้ชีวิตจิตใจ พระเจ้าทรงตำหนิพวกฟาริสีในเรื่องสมุนไพรส่วนสิบที่จ่ายอย่างไร้ชีวิตจิตใจโดยไม่ทำให้เป็นเรื่องทางวิญญาณ [ดู มัทธิว 23:23] ถ้าเราจ่ายส่วนสิบเพราะเรารักพระเจ้า จ่ายด้วยศรัทธาและเสรีภาพเต็มที่ เราทำให้ระยะห่างจากพระองค์แคบลงและความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นขึ้น เราได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของการเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ พระวิญญาณทรงสัมผัสใจเรา และเรารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า

การจ่ายส่วนสิบเสริมสร้างศรัทธา เพิ่มความเข้มแข็งทางวิญญาณและความสามารถทางวิญญาณ และทำให้ประจักษ์พยานมั่นคง การจ่ายส่วนสิบให้ความพอใจของการรู้ว่าคนๆ นั้นกำลังทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า อีกทั้งให้พรที่มาจากการแบ่งปันกับผู้อื่นผ่านจุดประสงค์ของการใช้ส่วนสิบ เราจะปฏิเสธตัวเราจากพรเหล่านี้ไม่ได้ เราจะปฏิเสธการจ่ายส่วนสิบไม่ได้ เรามีความสัมพันธ์แน่ชัดกับอนาคตเช่นเดียวกับปัจจุบัน สิ่งที่เราให้ วิธีที่เราให้ และวิธีที่เราทำตามข้อผูกมัดต่อพระเจ้าล้วนมีความสำคัญนิรันดร์

ประจักษ์พยานเรื่องกฎส่วนสิบมาจากการดำเนินชีวิตตามกฎนั้น11

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ทบทวนนิยามของกฎส่วนสิบในหัวข้อ 1 ส่วนสิบคืออะไร เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับความเรียบง่ายของกฎส่วนสิบ

  • ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างจากคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับประวัติของส่วนสิบ (ดู หัวข้อ 2) ท่านคิดว่าเหตุใดประธานฮันเตอร์จึงต้องการให้เราเข้าใจว่ากฎส่วนสิบ “เคยเป็นและเป็นกฎสากล”

  • เรา “ให้ของขวัญอีกทั้งทำตามข้อผูกมัด” ในเรื่องส่วนสิบของเราอย่างไร (ดู หัวข้อ 3) การจ่ายส่วนสิบแสดงให้เห็นความรักที่เรามีต่อพระเจ้าอย่างไร เราจะรู้สึกได้อย่างไรว่าการจ่ายส่วนสิบเป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่ภาระ

  • เหตุใดเครื่องถวายแด่พระเจ้าต้องทำให้ผู้ถวายสูญเสียของมีค่าบางอย่าง (ดู หัวข้อ 4) เราจะเอาชนะความท้าทายหรือการไม่เต็มใจจ่ายส่วนสิบได้อย่างไร

  • ทบทวนพรมากมายที่ประธานฮันเตอร์กล่าวว่ามาจากการจ่ายส่วนสิบ (ดู หัวข้อ 5) ท่านเคยเห็นพรเหล่านี้ในชีวิตของท่านอย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

แอลมา 13:15; คพ. 64:23; 104:14–18; 119; 120; คู่มือพระคัมภีร์, “ส่วนสิบ”

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

เมื่ออ่านบทนี้ครั้งแรก ท่านอาจต้องการอ่านอย่างรวดเร็ว หรือทบทวนหัวข้อเพื่อให้รู้เนื้อหาพอสังเขป จากนั้นให้เพิ่มเวลาอ่าน อ่านช้าลงและศึกษาให้ลึกซึ้งมากขึ้น ท่านอาจต้องการอ่านแต่ละหัวข้อโดยมีคำถามให้ศึกษาในใจ ขณะทำเช่นนี้ ท่านอาจค้นพบข้อคิดที่ลึกซึ้งและวิธีประยุกต์ใช้

อ้างอิง

  1. ใน เอลีนอร์ โนวส์, Howard W. Hunter (1994), 80-81.

  2. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 105; ดู Conference Report, Apr. 1964, 35 ด้วย.

  3. The Teachings of Howard W. Hunter, 105–73.

  4. ใน Conference Report, Apr. 1964, 33-35.

  5. ใน Conference Report, Apr. 1964, 35-36.

  6. The Teachings of Howard W. Hunter, 106; ดู Conference Report, Apr. 1964, 33 ด้วย.

  7. The Teachings of Howard W. Hunter, 105.

  8. The Teachings of Howard W. Hunter, 105.

  9. “Dedication of Goteborg Chapel” (address given in Goteborg, Sweden, on Sept. 10, 1967), 1, Church History Library, Salt Lake City.

  10. Howard W. Hunter, That We Might Have Joy (1994), 136–37.

  11. ใน Conference Report, Apr. 1964, 36.