บทที่ 2
“เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน”
“สันติสุขจะเกิดกับแต่ละคนได้โดยการยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น—ยอมจำนนต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าชายแห่งสันติ ผู้ทรงมีเดชานุภาพในการมอบสันติสุข”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
สหายคนหนึ่งของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ในโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกท่านว่า บุรุษผู้มี “ความอดทนอันเป็นเลิศซึ่งเกิดจากสันติสุขใหญ่หลวงในใจ”1 ประธานฮันเตอร์พูดบ่อยครั้งเกี่ยวกันสันติสุขในใจ โดยสอนว่าบุคคลจะได้รับสันติสุขดังกล่าวก็โดยหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น—โดยวางใจพระองค์ ใช้ศรัทธา และพยายามทำตามพระประสงค์ของพระองค์ สันติสุขเช่นนั้นช่วยประคับประคองท่านตลอดช่วงเวลายุ่งยากหลายครั้ง
ปลายปี ค.ศ. 1975 แพทย์แนะนำให้แคลร์ภรรยาของประธานฮันเตอร์รับการผ่าตัดสมอง ประธานฮันเตอร์กลุ้มใจมากไม่ทราบว่าการผ่าตัดจะเกิดผลดีที่สุดต่อแคลร์หรือไม่ เพราะการผ่าตัดจะทำให้ร่างกายที่อ่อนแอของเธอบอบช้ำเกินไปและอาจไม่ทำให้อาการของเธอดีขึ้น ท่านไปพระวิหาร หารือกับสมาชิกครอบครัว และไม่นานก็รู้สึกว่าการผ่าตัดให้ความหวังมากที่สุดว่าจะทำให้อาการของแคลร์ดีขึ้นบ้าง ท่านเขียนบรรยายความรู้สึกในวันผ่าตัดว่า
“ข้าพเจ้าไปกับเธอจนถึงประตูห้องผ่าตัด จูบเธอ และมีคนพาเธอเข้าไปในห้อง ขณะเวลาผ่านไป ข้าพเจ้ารอและสงสัย … จู่ๆ ความวิตกกังวลก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกสงบ ข้าพเจ้ารู้ว่าได้ตัดสินใจถูกต้องแล้วและคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าได้รับคำตอบ”2
คริสต์ศักราช 1989 ประธานฮันเตอร์มีอีกประสบการณ์หนึ่งซึ่งระหว่างนั้นท่านรู้สึกสงบในเวลาที่วุ่นวาย ท่านอยู่ในเยรูซาเล็มเพื่ออุทิศศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เพื่อการศึกษาเรื่องตะวันออกใกล้ หลายกลุ่มคัดค้านที่ศาสนจักรอยู่ในเยรูซาเล็มและบางกลุ่มขู่จะใช้ความรุนแรง ผู้พูดคนหนึ่งที่การอุทิศคือเอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านเล่าเหตุการณ์นี้ในเวลาต่อมาว่า
“ขณะข้าพเจ้ากำลังพูด เกิดความวุ่นวายพอสมควรด้านหลังห้องประชุม ผู้ชายในเครื่องแบบทหารเข้ามาในห้อง พวกเขาส่งข้อความให้ประธานฮันเตอร์ ข้าพเจ้าเหลียวไปขอคำแนะนำ ท่านบอกว่า ‘มีคนขู่จะวางระเบิด คุณกลัวไหม’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ไม่ครับ’ ท่านพูดว่า ‘ผมก็ไม่กลัว คุณพูดต่อให้จบ’”3 พิธีอุทิศดำเนินต่อไปโดยไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ไม่มีระเบิด
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประธานฮันเตอร์วางใจคำสัญญาในเรื่องสันติสุขนี้จากพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งท่านอ้างอิงบ่อยครั้ง “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริงของเรา
ในการทำนายการประสูติของพระคริสต์เมื่อ 700 กว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ใช้พระนามแสดงความชื่นชมอย่างยิ่ง … หนึ่งในพระนามเหล่านี้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษในโลกปัจจุบันคือ “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6) “การเพิ่มพูนขึ้นของการปกครองและสันติภาพของท่านจะไม่มีที่สิ้นสุด” อิสยาห์ประกาศ (ข้อ 7) ช่างเป็นความหวังที่น่าตื่นเต้นเสียนี่กระไรสำหรับโลกที่เหนื่อยล้าเพราะสงครามและเต็มไปด้วยบาป!4
สันติสุขที่โลกโหยหาคือเวลาที่ความเป็นปฏิปักษ์หยุดชั่วคราว แต่มนุษย์ไม่ตระหนักว่าสันติสุขคือสภาพของการดำรงอยู่ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดเท่านั้น และไม่ใช่วิธีอื่น
ในคำสดุดีในหนังสือของอิสยาห์กล่าวดังนี้: “พระองค์จะทรงพิทักษ์ผู้มีใจแน่วแน่ไว้ในสวัสดิภาพที่สมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อิสยาห์ 26:3) สวัสดิภาพที่สมบูรณ์ที่อิสยาห์กล่าวถึงเกิดขึ้นได้โดยผ่านความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น โลกที่ไม่เชื่อไม่เข้าใจสิ่งนี้
ครั้งสุดท้ายที่พระเยซูเสวยพระกระยาหารกับอัครสาวกสิบสอง พระองค์ทรงล้างเท้าของพวกเขา ทรงหักขนมปังให้พวกเขา และส่งถ้วยให้พวกเขา หลังจากยูดาสไปจากท่ามกลางพวกเขาแล้ว พระอาจารย์จึงตรัสกับพวกเขาในที่สุด นอกจากเรื่องอื่นแล้วพระองค์รับสั่งกับพวกเขาเรื่องการสิ้นพระชนม์ที่จะเกิดขึ้นและมรดกที่ทรงทิ้งไว้ให้พวกเขาแต่ละคนด้วย พระองค์ไม่ได้ทรงสะสมสิ่งของ ที่ดิน หรือทรัพย์สมบัติ บันทึกบอกเราว่าพระองค์ไม่ได้ทรงครอบครองสิ่งใดนอกจากฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ และในวันรุ่งขึ้นหลังจากการตรึงกางเขนเหล่าทหารจะแบ่งฉลองพระองค์กัน โดยดูว่าใครจะจับฉลากได้เสื้อคลุมของพระองค์ พระองค์ทรงมอบมรดกให้เหล่าสานุศิษย์ ในพระดำรัสที่เรียบง่ายทว่าลึกซึ้งนี้ “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)
พระองค์ทรงใช้คำทักทายและคำกล่าวลาแบบชาวยิวคือ “สันติสุขของเราให้กับท่าน” พวกเขาไม่ได้รับคำทักทายและมรดกดังกล่าวตามปกติธรรมดา เพราะพระองค์ตรัสว่า “… เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้” นี่ไม่ใช่คำอวยพรที่ไร้ผล และไม่ใช่แค่สุนทรพจน์ที่สุภาพเหมือนคนของโลกใช้พูดตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่เป็นพระดำรัสที่พระผู้ทรงลิขิตและเจ้าชายแห่งสันติตรัส พระองค์ประทานสันติสุขนี้แก่พวกเขา พระองค์ทรงมอบสันติสุขให้พวกเขาและตรัสว่า “อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” ภายในไม่กี่ชั่วโมงพวกเขาจะต้องเป็นทุกข์ แต่ด้วยสันติสุขของพระองค์ พวกเขาจะเอาชนะความกลัวและยืนหยัด
พระดำรัสสุดท้ายต่อพวกเขาก่อนการสวดอ้อนวอนปิดในค่ำคืนที่น่าจดจำนั้นมีดังนี้ “… “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิดเพราะว่าเราชนะโลกแล้ว” (ยอห์น 16:33)5
2
เราปลูกฝังสันติสุขเมื่อเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระกิตติคุณ
มีพระหัตถ์นำทางเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในจักรวาล มีแสงสว่างที่เชื่อถือได้จริงๆ เพียงหนึ่งเดียว มีไฟสัญญาณเพียงหนึ่งเดียวที่เตือนโลกโดยไม่เคยพลาด แสงสว่างนั้นคือพระเยซูคริสต์ แสงสว่างและชีวิตของโลก แสงสว่างซึ่งศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอนบรรยายว่าเป็น “แสงสว่างอันหาได้สิ้นสุดไม่, ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย” (โมไซยาห์ 16:9)
ขณะที่เรามองหาชายฝั่งของความปลอดภัยและสันติสุข ไม่ว่าเราจะเป็นชายและหญิง ครอบครัว ชุมชน หรือประเทศชาติ พระคริสต์ทรงเป็นประภาคารเดียวที่เราสามารถพึ่งพาได้ในที่สุด พระองค์คือผู้ตรัสถึงพระพันธกิจของพระองค์ว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) …
ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาคำสั่งสอนนี้จากพระคริสต์ถึงเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน อวยพรคนที่สาปแช่งท่าน ทำดีต่อคนที่เกลียดชังท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ใช้ท่านอย่างดูหมิ่น และข่มเหงพวกท่าน” (เปรียบเทียบกับมัทธิว 5:44)
ลองคิดดูว่าคำเตือนข้อนี้ข้อเดียวจะมีผลอะไรต่อละแวกบ้านของท่านและของข้าพเจ้า ในชุมชนที่ท่านและลูกๆ ของท่านอาศัยอยู่ ในประเทศซึ่งประกอบเป็นครอบครัวใหญ่ระดับโลกของเรา ข้าพเจ้าทราบดีว่าหลักคำสอนดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายที่มีความหมาย แต่เป็นความท้าทายที่น่าพอใจมากกว่าจะเป็นภารกิจน่ากลัวที่เราต้องจัดการแก้ไขอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม ความยากไร้ และความเจ็บปวดที่ชาวโลกยังคงเผชิญ6
เมื่อเราพยายามช่วยคนที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ เมื่อเราสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เราอย่างไม่เป็นธรรม ชีวิตเราจะดีงาม เรามีสันติสุขได้เมื่อเราเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระวิญญาณและต่อกันขณะที่เรารับใช้พระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์7
โลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้จะเตรียมหนทางเดียวให้โลกได้รู้จักสันติสุขตลอดไป …เราต้องการโลกที่มีสันติสุขมากขึ้น อันเกิดจากครอบครัว ละแวกบ้าน และชุมชนที่มีสันติสุขมากขึ้น เพื่อให้ได้มาและปลูกฝังสันติสุขเช่นนั้น “เราต้องรักผู้อื่น แม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ของเรา” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 424] … เราต้องยื่นมือแห่งมิตรภาพ เราต้องมีเมตตามากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น และโกรธช้าลง8
วิธีปฏิบัติที่สำคัญของพระผู้เป็นเจ้าคือโดยการชักชวน ความอดทน และความอดกลั้น ไม่ใช่โดยการบีบบังคับและการปะทะกัน พระองค์ทรงกระทำโดยการชักชวนอย่างสุภาพและโดยการจูงใจอย่างอ่อนโยน9
ไม่มีสัญญาในเรื่องสันติสุขกับคนที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า กับคนที่จะไม่รักษาพระบัญญัติของพระองค์ หรือกับคนที่ฝ่าฝืนกฎของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์พูดถึงความเสื่อมและความทุจริตของผู้นำ จากนั้นจึงกล่าวเตือนต่อไปว่า “แต่คนอธรรมนั้นเหมือนทะเลที่กำเริบซึ่งนิ่งสงบอยู่ไม่ได้ และน้ำของมันก็กวนตมและเลนขึ้นมา ไม่มีสันติสุขแก่คนอธรรม พระเจ้าของข้าพเจ้าตรัส” (อิสยาห์ 57:20–21) …
… การเมินเฉยต่อพระผู้ช่วยให้รอดหรือการไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความวุ่นวายภายในใจ และความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับสันติสุข สันติสุขจะเกิดกับแต่ละคนได้โดยการยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น—ยอมจำนนต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นองค์สันติราช ผู้ทรงมีเดชานุภาพในการมอบสันติสุข10
ปัญหาต่างๆ ของโลกที่มักปรากฏในพาดหัวข่าวอันน่าตื่นตระหนกควรเตือนให้เราแสวงหาสันติสุขที่มาจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมอันเรียบง่ายแห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์ คนกลุ่มน้อยที่ส่งเสียงเอะอะโวยวายจะไม่ก่อกวนสันติสุขของจิตวิญญาณเราถ้าเรารักเพื่อนมนุษย์และมีศรัทธาในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด และมีความเชื่อมั่นเงียบๆ ว่าพระองค์ประทานชีวิตอันเป็นนิจ เราพบศรัทธาเช่นนั้นได้ที่ไหนในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา พระเจ้าตรัสว่า ““จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน เพราะว่าทุกคนที่ขอก็ได้ ทุกคนที่แสวงหาก็พบ และทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา” (ลูกา 11:9–10)11
ดูเหมือนว่าทุกคนต้องยอมรับความจริงนิรันดร์สองข้อต่อไปนี้ถ้าเราต้องการพบสันติสุขในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง (1) พระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรนิรันดร์ที่แท้จริงของพระบิดาบนสวรรค์ของเราผู้เสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อจุดประสงค์แน่ชัดของการไถ่มนุษยชาติจากบาปและหลุมศพ พระองค์ทรงพระชนม์เพื่อนำเรากลับไปที่ประทับของพระบิดา (2) โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงยกท่านขึ้นในยุคสุดท้ายนี้เพื่อฟื้นฟูความจริงซึ่งสูญหายไปกับมนุษยชาติเพราะการล่วงละเมิด ถ้ามนุษย์ทุกคนจะยอมรับและดำเนินชีวิตตามความจริงพื้นฐานสองประการนี้ สันติสุขจะเกิดขึ้นในโลกแน่นอน12
หากท่าน ตัวท่าน ต่อต้าน … การล่อลวงและตั้งใจว่าจะพยายามดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเก็บเกี่ยวทุกวันผ่านความนึกคิดและการปฏิบัติที่สะอาดทางศีลธรรม ผ่านสัมพันธภาพที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ผ่านความสุจริตและความตั้งใจในการศึกษาของท่าน ผ่านการอดอาหาร การสวดอ้อนวอน และการนมัสการ ท่านจะเก็บเกี่ยวอิสรภาพ สันติสุขในใจ และความรุ่งเรือง13
ชีวิตที่เต็มไปด้วยการรับใช้โดยไม่คำนึงถึงตนเองจะเปี่ยมด้วยสันติสุขเกินความเข้าใจเช่นกัน … สันติสุขนี้จะเกิดขึ้นได้โดยผ่านการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระกิตติคุณเท่านั้น หลักธรรมเหล่านี้ประกอบเป็นโปรแกรมขององค์สันติราช14
คาดว่ามีคนมากมายในโลกเราทำลาย … สันติสุขของตนเองผ่านบาปและการล่อลวงนับพันอย่าง เราสวดอ้อนวอนขอให้วิสุทธิชนดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแบบอย่างที่พระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงวางไว้ตรงหน้าเรา
เราสวดอ้อนวอนขอให้ความพยายามของซาตานล้มเหลว ขอให้ชีวิตส่วนตัวมีสันติสุขและสงบ ขอให้ครอบครัวสนิทสนมกันและคนในครอบครัวห่วงใยกัน ขอให้วอร์ดและสเตค สาขาและท้องถิ่นสามารถวางรูปแบบพระกายของพระคริสต์ โดยสนองความต้องการทุกอย่าง บรรเทาความเจ็บปวดทุกอย่าง รักษาบาดแผลทุกแผลจนคนทั้งโลกจะทำตามที่นีไฟร้องขอคือ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง. …
“พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า,” นีไฟกล่าวต่อ “นี่คือทางนั้น; และไม่มีทางอื่น” (2 นีไฟ 31:20–21)15
3
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยให้เราพบสันติสุขได้แม้มีความวุ่นวายอยู่รอบข้างเรา
พระเยซูไม่ทรงได้รับยกเว้นจากความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ความทุกข์ระทม และการโจมตี ไม่มีลิ้นใดสามารถสาธยายภาระหนักสุดพรรณนาที่พระองค์ทรงแบกรับ ทั้งเราไม่มีปัญญาจะเข้าใจคำที่ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์เรียกพระองค์ว่าเป็น “คนที่รับความเจ็บปวด” (อิสยาห์ 53:3) อย่างน้อยในสายตามนุษย์ พระชนม์ชีพส่วนใหญ่ของพระองค์ยากลำบากและพระองค์สิ้นพระชนม์ที่คัลวารี ขอเราอย่ามองชีวิตด้วยสายตามนุษย์ แต่มองด้วยวิสัยทัศน์ทางวิญญาณเพื่อเราจะรู้ว่ามีบางอย่างต่างออกไปโดยสิ้นเชิงกำลังเกิดขึ้นบนกางเขน
สันติสุขอยู่ที่ริมฝีพระโอษฐ์และในพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดไม่ว่าพายุกำลังโหมกระหน่ำเพียงใด ขอให้สันติสุขอยู่กับเรา—ในใจเรา ในบ้านของเราเอง ในประชาชาติของโลกเรา และแม้ในการโจมตีที่ศาสนจักรเผชิญเป็นครั้งคราว เราไม่ควรคาดหวังว่าชีวิตของเราหรือของส่วนรวมจะผ่านพ้นไปได้โดยไม่มีการต่อต้านบางอย่าง16
คนๆ หนึ่งอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สวยงามและสงบสุข แต่เพราะความบาดหมางและความขัดแย้งภายใน เขาจึงอยู่ในสภาพของความวุ่นวายตลอดเวลา ในทางกลับกัน คนๆ หนึ่งอาจอยู่ท่ามกลางการทำลายล้างและการนองเลือดของสงครามแต่ยังมีความเยือกเย็นของสันติสุขที่ไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดได้ ถ้าเราดูที่มนุษย์และวิถีของโลก เราจะพบความวุ่นวายและความสับสน ถ้าเราจะเพียงหันไปหาพระผู้เป็นเจ้า เราจะพบสันติสุขสำหรับจิตวิญญาณที่กระวนกระวาย พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” (ยอห์น 16:33) และในพระดำรัสที่ให้ไว้กับอัครสาวกสิบสองและมวลมนุษยชาติ พระองค์ตรัสว่า “เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ …” (ยอห์น 14:27)
เราจะพบสันติสุขนี้ได้เดี๋ยวนี้ในโลกของความขัดแย้งถ้าเราจะเพียงยอมรับของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระดำรัสเชิญเพิ่มเติมว่า “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก
จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28-29)
สันติสุขนี้ปกป้องเราจากความวุ่นวายทางโลก ความรู้ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ เราเป็นบุตรธิดาของพระองค์ และพระองค์ทรงรักเราจะปลอบใจที่เป็นทุกข์ คำตอบของการแสวงหาสันติสุขอยู่ที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและในพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ สิ่งนี้จะนำสันติสุขมาให้เราเวลานี้และในนิรันดรต่อจากนี้17
ในโลกนี้ของความสับสนเร่งรีบและความเจริญก้าวหน้าทางโลก เราต้องหวนคืนสู่ความเรียบง่ายของพระคริสต์ … เราต้องศึกษาพื้นฐานอันเรียบง่ายของความจริงที่พระอาจารย์ทรงสอนและขจัดข้อโต้แย้ง ศรัทธาของเราในพระผู้เป็นเจ้าต้องเป็นจริงและไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิด พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์สามารถเป็นอิทธิพลขับเคลื่อนอันทรงพลัง และการยอมรับอย่างแท้จริงจะให้ประสบการณ์ทางศาสนาที่มีความหมายแก่เรา พลังยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของศาสนามอรมอนคือการแปลความเชื่อนี้ให้เป็นความนึกคิดและความประพฤติประจำวัน สิ่งนี้จะแทนที่ความวุ่นวายและความสับสนด้วยสันติสุขและความสงบสุข18
4
โดยให้สายตาเราแน่วแน่ที่พระเยซู เราจะมีชัยเหนือองค์ประกอบทั้งหลายที่จะทำลายสันติสุข
ข้าพเจ้าจะขอเล่าเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชัยชนะของพระคริสต์เหนือสิ่งซึ่งดูเหมือนจะทดสอบเรา ทดลองเรา และนำความกลัวเข้ามาในใจเรา ขณะที่เหล่าสาวกของพระคริสต์เริ่มออกเดินทางข้ามทะเลกาลิลีที่มักจะข้ามเป็นประจำ คืนนั้นมืด สภาพอากาศรุนแรงและเป็นอุปสรรค คลื่นทะเลปั่นป่วน ลมแรง และบรรดาชายที่อ่อนแอตามประสามนุษย์เหล่านี้ตกใจกลัว น่าเสียดายที่ไม่มีใครอยู่กับพวกเขาเพื่อช่วยและทำให้พวกเขาสงบ เพราะพระเยซูเสด็จขึ้นฝั่งเพียงลำพังแล้ว
พระองค์ทรงเฝ้าดูพวกเขาเช่นเคย พระองค์ทรงรักพวกเขาและทรงห่วงใยพวกเขา ในชั่วชณะของความวิตกกังวลสุดขีด พวกเขามองเห็นร่างๆ หนึ่งในชุดเสื้อคลุมยาวพลิ้วไหวในความมืด กำลังเดินตรงมาที่พวกเขาบนสันคลื่น พวกเขาร้องออกมาด้วยความหวาดกลัวเมื่อมองเห็น พลางคิดว่านั่นคือภูตผีที่เดินบนคลื่น มีเสียงฝ่าพายุและความมืดมาถึงพวกเขา—ดังที่มาถึงเราบ่อยครั้งท่ามกลางความมืดมนของชีวิตเมื่อมหาสมุทรดูเหมือนกว้างใหญ่ไพศาลและเรือของเราลำเล็กมาก—เสียงแห่งสันติสุขที่ทำให้หายหวาดกลัวประกาศอย่างเรียบง่ายว่า “นี่เราเอง อย่ากลัวเลย” เปโตรร้องอุทานว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นพระองค์แน่แล้ว ขอตรัสให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์” และพระดำรัสตอบของพระคริสต์เหมือนกับที่ตรัสตอบเราทุกคนคือ “มาเถิด”
เปโตรกระโดดข้ามกราบเรือลงไปในคลื่นที่ปั่นป่วน และขณะเขาจับสายตาแน่วแน่ที่พระเจ้า ลมอาจทำให้ผมของเขาปลิวและละอองน้ำทำให้เสื้อคลุมของเขาเปียก แต่ทุกอย่างดี เมื่อศรัทธาสั่นคลอนเขาจึงละสายตาจากพระอาจารย์มองดูคลื่นอันบ้าคลั่งและห้วงลึกสีดำใต้เท้าเขา ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มจม เช่นเดียวกับพวกเราส่วนใหญ่ เขาร้องอีกครั้งว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย” พระเยซูไม่ทรงทำให้เขาผิดหวัง พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปจับสาวกที่กำลังจมน้ำพร้อมกับทรงตำหนิอย่างอ่อนโยนว่า “ช่างมีความเชื่อน้อย ท่านสงสัยทำไม?”
หลังจากขึ้นเรือเล็กของพวกเขาอย่างปลอดภัยแล้ว พวกเขาเห็นลมสงบและระลอกคลื่นที่ถาโถมกลายเป็นคลื่นลูกเล็ก ไม่นานพวกเขาก็อยู่ที่ท่า ท่าเรือที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนหวังจะอยู่ที่นั่นสักวัน ลูกเรือและเหล่าสาวกของพระองค์เต็มไปด้วยความพิศวงอย่างยิ่ง บางคนเรียกพระองค์ด้วยพระนามที่ข้าพเจ้าประกาศวันนี้ว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงแล้ว” (ดัดแปลงจาก ฟาร์ราร์, The Life of Christ, pp. 310–13; ดู มัทธิว 14:22–33)
ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติจะจับตาแน่วแน่ที่พระเยซูเช่นเดียวกับเปโตร เราจะเดินอย่างมีชัยข้าม “คลื่นที่โหมซัดสาดของความไม่เชื่อ” และยังอยู่ “ท่ามกลางลมกรรโชกของความสงสัยโดยไม่หวาดกลัว” แต่ถ้าเราละสายตาจากพระองค์ผู้ที่เราต้องเชื่อ เราทำเช่นนั้นง่ายมากและโลกถูกล่อลวงมากให้ทำเช่นนั้น ถ้าเราดูที่พลังและความรุนแรงของสภาพอากาศที่น่ากลัวและเป็นอันตรายรอบตัวเราแทนที่จะดูพระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยเหลือและช่วยเราให้รอดได้ เมื่อนั้นเราจะจมลงในทะเลแห่งความขัดแย้ง โทมนัส และความผิดหวังอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในเวลาเช่นนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าน้ำกำลังไหลบ่ามาท่วมเราและความลึกกำลังกลืนเรือโคลงเคลงแห่งศรัทธาของเรา ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราได้ยินพระดำรัสที่อ่อนหวานของพระผู้ช่วยให้รอดของโลกท่ามกลางพายุและความมืดเสมอว่า “ทำใจดีดีเถิด นี่เราเอง อย่ากลัวเลย” (มัทธิว 14:27)19
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ประธานฮันเตอร์สอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริง (ดู หัวข้อ 1) ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้ความจริงนี้ เราจะรับสันติสุขที่พระเยซูทรงมอบให้ได้อย่างไร
-
การรักผู้อื่นทำให้เรามีสันติสุขอย่างไร (ดู หัวข้อ 2) การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยให้เรามีสันติสุขอย่างไร เหตุใด “การยอมจำนนแบบไม่มีเงื่อนไข” ต่อพระผู้ช่วยให้รอดจึงจำเป็นต่อการมีสันติสุข
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 3 ท่านเคยประสบสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่าเราจะ “ให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” จากภาระเมื่อท่านมาหาพระองค์อย่างไร
-
ใคร่ครวญเรื่องเปโตรเดินบนน้ำของประธานฮันเตอร์ (ดู หัวข้อ 4) ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับวิธีพบสันติสุขในยามทุกข์ใจ พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่าน “ทำใจดีดี” และ “อย่ากลัว” ในยามยากลำบากอย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
สดุดี 46:10; 85:8; อิสยาห์ 32:17; มาระโก 4:36–40; โรม 8:6; กาลาเทีย 5:22–23; ฟีลิปปี 4:9; โมไซยาห์ 4:3; คพ. 19:23; 59:23; 88:125
ความช่วยเหลือด้านการสอน
เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกหนึ่งหัวข้อในบทที่พวกเขาต้องการสนทนาและรวมกลุ่มกับคนอื่นๆ ที่เลือกหัวข้อเดียวกัน กระตุ้นแต่ละกลุ่มให้สนทนาคำถามที่เกี่ยวข้องท้ายบท