คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 10: พระคัมภีร์—ประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมด


บทที่ 10

พระคัมภีร์—ประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมด

“ขอให้เราแต่ละคน … ใกล้ชิดพระบิดาในสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์มากขึ้นผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อย่างสม่ำเสมอ”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์รักพระคัมภีร์มากและเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่ทุ่มเท ความรักและการศึกษาดังกล่าวสะท้อนในคำสอนของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและข้อความอื่นๆ จากงานมาตรฐาน บ่อยครั้งเมื่อสอนหลักธรรมพระกิตติคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมใหญ่สามัญ ท่านเลือกอย่างน้อยหนึ่งเรื่องจากพระคัมภีร์ เล่ารายละเอียด และดึงวิธีประยุกต์ใช้จากเรื่องนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อสอนเรื่องการผูกมัดตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้เล่าเรื่องของโยชูวา ของชัดรัค เมชาค และอาเบดเนโก ตลอดจนเรื่องของคนอื่นๆ ในพันธสัญญาเดิมที่แสดงการผูกมัดตนเช่นนั้น (ดู บทที่ 19) เมื่อสอนเรื่องการรับใช้ ท่านใช้ตัวอย่างจากพระคัมภีร์มอรมอนแสดงให้เห็นว่าคนบางคนที่ได้รับคำสรรเสริญเพียงเล็กน้อย “ไม่ได้รับใช้ผู้คนน้อยไป” กว่าคนที่การรับใช้ของพวกเขามีคนเห็นมากกว่า (ดู บทที่ 23) เมื่อสอนว่าจะมีสันติสุขในใจในยามสับสนวุ่นวายได้อย่างไร ท่านใช้ข้อความเพิ่มเติมจากพระคัมภีร์อีกครั้ง รวมทั้งเรื่องของเปโตรเดินบนน้ำ (ดู บทที่ 2) เมื่อสอนเรื่องศีลระลึก ท่านให้บริบทโดยทบทวนเรื่องราวของลูกหลานอิสราเอลและปัสกา (ดู บทที่ 15)

ประธานฮันเตอร์รู้ความสำคัญของพระคัมภีร์ในการช่วยให้บุคคลหนึ่งมีประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมักจะสอนจากเรื่องราวพระคัมภีร์เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ การตรึงกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านประกาศว่า

“ข้าพเจ้าสำนึกคุณต่อคลังพระคัมภีร์ที่เราสามารถทุ่มเทศึกษาหาความรู้ได้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าสำนึกคุณที่นอกจากพันธสัญญาใหม่และพันธสัญญาเดิมแล้ว พระเจ้าได้ทรงเพิ่มพระคัมภีร์อื่นที่ทรงเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้เป็นพยานเพิ่มเติมสำหรับพระคริสต์—พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา และพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า—ข้าพเจ้าทราบว่าทั้งหมดนี้เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์เหล่านี้เป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์”1

ครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์

“เราหวังว่าท่านจะอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันเป็นส่วนตัวและกับครอบครัว”

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

การศึกษาพระคัมภีร์เป็นการศึกษาที่ให้ประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมด

ศูนย์รวมของความจริงทั้งมวลคือประจักษ์พยานที่ว่าพระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงเป็นพระคริสต์ พระเยโฮวาห์ที่ยิ่งใหญ่ พระผู้ช่วยให้รอดของโลก และพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ นี่เป็นข่าวสารของพระคัมภีร์ ตลอดหนังสือศักดิ์สิทธิ์แต่ละเล่มมีคำขอร้องให้เชื่อและมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์และในพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายของพระคัมภีร์เหล่านี้เป็นการเรียกให้ทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์2

เมื่อเราทำตามคำแนะนำของผู้นำให้อ่านและศึกษาพระคัมภีร์ ประโยชน์และพรมากมายหลายแบบเกิดขึ้นกับเรา นี่คือประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมดซึ่งเรามีส่วนร่วมได้ …

พระคัมภีร์ประกอบด้วยบันทึกการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง และพระผู้เป็นเจ้าตรัสผ่านการเปิดเผยมาถึงมนุษย์ เราจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในเรื่องใดได้มากกว่าการอ่านวรรณกรรมจากคลังพระคัมภีร์ที่สอนเราให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ เวลามีค่าเสมอสำหรับคนที่มีงานล้นมือ และเราสูญเสียค่าของเวลาเมื่อเราปล่อยเวลาไปกับการอ่านหรือดูสิ่งไร้สาระและมีคุณค่าน้อย3

เราหวังว่าท่านจะอ่านและศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัวทุกวัน เราไม่ควรทำเล่นๆ กับพระบัญชาของพระเจ้าให้ “ค้นดูในพระคัมภีร์เพราะท่านคิดว่าในนั้นมีชีวิตนิรันดร์ และพระคัมภีร์นั้นเองเป็นพยานให้กับเรา” (ยอห์น 5:39) พระวิญญาณจะเข้ามาในบ้านและชีวิตท่านเมื่อท่านอ่านพระวจนะที่ได้รับการเปิดเผย4

เราควรให้ศาสนจักรเต็มไปด้วยชายหญิงที่รู้จักพระคัมภีร์อย่างถ่องแท้ ผู้ทำการอ้างโยงและทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ เตรียมบทเรียนและคำพูดจากคู่มือพระคัมภีร์ เชี่ยวชาญแผนที่ คู่มือพระคัมภีร์ และแหล่งช่วยอื่นๆ ที่อยู่ในชุดงานมาตรฐานที่ยอดเยี่ยมนี้ เห็นชัดว่ามีอยู่ในนั้นมากเกินกว่าเราจะเชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว ทุ่งพระคัมภีร์ “ขาวพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว” อย่างแน่นอน [ดู คพ.4:4] …

ไม่มีสมัยการประทานใดนอกจากสมัยการประทานนี้ที่พระคัมภีร์ —พระวจนะอันยั่งยืนที่ให้ความสว่างทางปัญญา—หาอ่านได้ง่ายมาก และได้วางองค์ประกอบซึ่งช่วยให้ชายหญิงและเด็กทุกคนที่จะค้นคว้าได้ประโยชน์จากการนั้น พระวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในรูปแบบที่สมาชิกธรรมดาในประวัติศาสตร์ของโลกอ่านและหาอ่านได้ง่ายที่สุด แน่นอนว่าเราจะต้องรับผิดชอบถ้าเราไม่อ่านพระคัมภีร์5

2

การศึกษาพระคัมภีร์ช่วยให้เราเรียนรู้และเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อจะเชื่อฟังกฎของพระกิตติคุณและเชื่อฟังคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราต้องเข้าใจกฎก่อนและสืบให้รู้พระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งที่จะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จมากที่สุดในเรื่องนี้คือการค้นคว้าและศึกษาพระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ในวิธีนี้เราจะคุ้นเคยกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อมนุษย์

ในบรรดาหลักแห่งความเชื่อ มีข้อหนึ่งประกาศว่า “เราเชื่อทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยมาแล้ว, ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยขณะนี้, และเราเชื่อว่าพระองค์จะยังทรงเปิดเผยเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักแห่งความเชื่อ 1:9)

พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์ และด้วยเหตุนี้เราจึงได้รับพระบัญชาให้อ่านพระคัมภีร์เพื่อพบความจริง พระเจ้าทรงอธิบายแก่ออลิเวอร์ คาว-เดอรีถึงวิธีสืบให้รู้ความจริงเหล่านี้ พระองค์ตรัสว่า “ดูเถิด, เราให้บัญญัติข้อหนึ่งแก่เจ้า, ให้เจ้าวางใจในเรื่องซึ่งเขียนไว้; เพราะในนั้นมีเขียนไว้ทุกสิ่งเกี่ยวกับรากฐานศาสนจักรของเรา, กิตติคุณของเรา, และศิลาของรา” (คพ. 18:3-4)

เปาโลเขียนถึงทิโมธีเพื่อนที่ดีของเขาโดยกระตุ้นให้อ่านพระคัมภีร์ และในจดหมายเขาเขียนว่า “และตั้งแต่เด็กมาแล้ว ท่านก็ได้เรียนรู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถให้ปัญญาแก่ท่านในเรื่องความรอดโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ จากนั้นเขาเสริมว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การแก้ไขสิ่งผิด และการอบรมในความชอบธรรม” (2 ทิโมธี 3:15–16) …

ผู้นำศาสนจักรของเราเน้นมากเรื่องการอ่านพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยา-กรณ์ ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน เราขอให้บิดามารดาอ่านพระคัมภีร์ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสอนบุตรธิดาได้อย่างถูกต้อง บุตรธิดาของเราอ่านพระคัมภีร์เนื่องด้วยแบบอย่างที่บิดามารดาแสดงให้เห็น เราศึกษาพระคัมภีร์ที่การสังสรรค์ในครอบครัวของเรา และบางครอบครัวอ่านพระคัมภีร์ด้วยกันตอนเช้าตรู่ … นี่เป็นวิธีที่เราเรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อเราจะเชื่อฟังได้6

ลองพิจารณาลำดับพระคัมภีร์ที่เริ่มจากการหมั่นศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแล้วทำต่อไปจนได้รับสัญญาว่าถ้าเราทำเช่นนั้น เราจะได้เข้าในที่ประทับของพระองค์

“และเราให้บัญญัติแก่เจ้าบัดนี้ … ที่จะใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขันต่อถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์.

“เพราะเจ้าพึงดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า.

“เพราะพระคำของพระเจ้าเป็นความจริง, และสิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริงคือความสว่าง, และสิ่งใดก็ตามที่เป็นความสว่างคือพระวิญญาณ, แม้พระวิญญาณของพระเยซูคริสต์. …

“และทุกคนที่สดับฟังสุรเสียงของพระวิญญาณย่อมมาหาพระผู้เป็นเจ้า, แม้พระบิดา” (คพ. 84:43–45, 47)

นั่นเป็นการเดินทางอันแสนวิเศษที่เริ่มโดยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งจะส่งผลให้ได้รับความสูงส่งในที่สุด “พระวจนะของพระคริสต์จะบอกท่านทุกสิ่งที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:3)7

ข้าพเจ้าแนะนำท่านให้ใช้การเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมาตรฐานซึ่งเราต้องดำเนินชีวิตตามนั้นและซึ่งเราต้องประเมินการตัดสินใจทุกอย่างและการกระทำทุกอย่างของเราตามนั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านมีเรื่องกังวลใจและปัญหาท้าทาย จงเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นโดยหันไปพึ่งพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์8

เยาวชนชายอ่านพระคัมภีร์

การศึกษาพระคัมภีร์ “เป็นประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมดซึ่งเรามีส่วนร่วมได้”

3

เพื่อจะเข้าใจพระคัมภีร์ท่านต้องตั้งใจศึกษาอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการสวดอ้อนวอน

เราขอให้แต่ละท่านพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าปัจจุบันท่านให้เวลามากเท่าใดกับการไตร่ตรองพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน

ในฐานะผู้รับใช้คนหนึ่งของพระเจ้า ข้าพเจ้าท้าทายท่านให้ทำดังนี้

1. อ่าน ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ทุกวันในฐานะสมาชิกแต่ละคนของศาสนจักร

2. จัดให้ครอบครัวอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำ เราชมเชยท่านที่ทำเช่นนี้อยู่แล้วและกระตุ้นท่านที่ยังไม่ได้เริ่มให้เริ่มทำอย่ารอช้า …

ขอให้เราแต่ละคนออกไปด้วยความตั้งใจมั่นว่าจะสวดอ้อนวอนมากขึ้น หมายมั่นจะดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณอย่างเต็มที่มากขึ้น ใกล้ชิดพระบิดาในสวรรค์ของเราและพระบุตรที่รักของพระองค์มากขึ้นผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นประจำ9

นิสัยการอ่านแตกต่างหลากหลาย มีคนอ่านเร็วและอ่านช้า บางคนอ่านทีละนิด หลายคนอ่านไม่ยอมหยุดจนกว่าจะจบเล่ม อย่างไรก็ดี ผู้ที่ค้นหาคลังพระคัมภีร์จะพบว่าความเข้าใจเรียกร้องมากกว่าการอ่านไปเรื่อยๆ หรืออ่านผ่านๆ —จะต้องตั้งอกตั้งใจศึกษา แน่นอนว่าคนที่ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันทำสำเร็จมากกว่าคนที่ทุ่มเวลาอ่านหนึ่งวันแล้วหยุดอ่านไปหลายวันก่อนจะกลับมาอ่านต่อ เราไม่เพียงศึกษาทุกวันเท่านั้น แต่ควรกำหนดเวลาไว้อ่านเป็นประจำ เวลาที่เราตั้งอกตั้งใจได้โดยไม่มีสิ่งรบกวน

ไม่มีสิ่งใดช่วยได้มากกว่าการสวดอ้อนวอนขอให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ การสวดอ้อนวอนจะช่วยให้จิตใจเราจดจ่อกับการหาคำตอบให้แก่สิ่งที่เราแสวงหา พระเจ้าตรัสว่า “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน” (ลูกา 11:9) ข้อนี้คือคำรับรองของพระคริสต์ที่ว่าถ้าเราจะขอ หา และเคาะ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงชี้นำความเข้าใจของเราถ้าเราพร้อมและปรารถนาจะได้รับ

หลายคนพบว่าเวลาที่ดีที่สุดในการศึกษาคือตอนเช้าหลังจากการพักผ่อนตอนกลางคืนทำให้สมองปลอดจากเรื่องกังวลมากมายที่ขัดจังหวะความคิด อีกหลายคนชอบศึกษาในเวลาเงียบๆ หลังเลิกงานและเรื่องกลัดกลุ้มของวันนั้นผ่านพ้นและจัดการไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงสิ้นสุดวันด้วยสันติสุขและความเงียบสงบอันเกิดจากการใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์

บางทีสิ่งสำคัญกว่าช่วงเวลาของวันคือเวลาประจำที่กำหนดไว้ศึกษา คงจะดีถ้าศึกษาวันละหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าศึกษาเท่านั้นไม่ได้ ครึ่งชั่วโมงเป็นประจำจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จมากมาย เวลาสิบห้านาทีถือว่าน้อย แต่น่าประหลาดใจที่เราจะได้ความสว่างทางปัญญาและความรู้มากมายในเรื่องที่มีความหมายมาก สิ่งสำคัญคืออย่ายอมให้สิ่งใดขัดจังหวะการศึกษาของเรา

บางคนชอบศึกษาคนเดียว แต่คู่จะได้ประโยชน์จากการศึกษาด้วยกัน ครอบครัวได้รับพรมากเมื่อบิดามารดาที่ฉลาดนำลูกๆ มาอยู่พร้อมหน้า อ่านจากพระคัมภีร์ด้วยกัน แล้วสนทนาเรื่องราวที่สวยงามและแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระตามความเข้าใจของทุกคน บ่อยครั้งเยาวชนและเด็กเล็กมีความเข้าใจและความซาบซึ้งอย่างน่าประหลาดต่อวรรณกรรมพื้นฐานของศาสนา

เราไม่ควรอ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่ตั้งใจแต่จงวางแผนศึกษาอย่างมีระบบ มีบางคนอ่านตามจำนวนหน้าหรือจำนวนบทที่กำหนดในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ การทำเช่นนี้อาจสมเหตุสมผลอย่างยิ่งและอาจเพลิดเพลินใจถ้าคนนั้นอ่านเพื่อความพอใจ แต่นั่นไม่ใช่การศึกษาที่มีความหมาย จะดีกว่าถ้ากำหนดเวลาไว้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันแทนที่จะกำหนดจำนวนบทไว้อ่าน บางครั้งเราพบว่าการศึกษาข้อเดียวจะใช้เวลาทั้งหมด10

4

การตรึกตรองเรื่องราวสั้นๆ ในพระคัมภีร์เกี่ยวกับไยรัสทำให้เกิดความเข้าใจและความหมายลึกซึ้งยิ่ง

เราสามารถอ่านเรื่องราวของพระชนม์ชีพ พระราชกิจ และคำสอนของพระเยซูได้อย่างรวดเร็ว เรื่องราวส่วนใหญ่เรียบง่ายและเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย พระอาจารย์ทรงใช้คำไม่มากในคำสอนของพระองค์ ทว่าแต่ละคำกระชับได้ใจความจนเมื่อนำมารวมกันจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน อย่างไรก็ดี บางครั้งท่านอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงตรึกตรองความคิดอันลึกซึ้งที่อยู่ในถ้อยคำเรียบง่ายไม่กี่คำ

มีเหตุการณ์หนึ่งในพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งกล่าวโดยมัทธิว มาระโก และลูกา มาระโกเล่าตอนสำคัญของเรื่องไว้เพียงสองข้อสั้นๆ และห้าคำในข้อต่อไปนี้ …

“และมีนายธรรมศาลาคนหนึ่งชื่อไยรัสมาที่นั่น เมื่อเขาเห็นพระเยซูก็กราบลงที่พระบาทของพระองค์

“แล้วทูลอ้อนวอนพระองค์ว่า ลูกสาวเล็กๆ ของข้าพระองค์ป่วยหนัก ขอพระองค์เสด็จไปวางพระหัตถ์บนเธอ เพื่อเธอจะหายโรคและมีชีวิตอยู่

“พระองค์จึงเสด็จไปกับเขา” (มาระโก 5:22-24)

เวลาที่ใช้อ่านเรื่องราวตอนนี้ประมาณสามสิบวินาที เรื่องนี้สั้นและไม่ซับซ้อน เราเห็นภาพชัดเจนแม้แต่เด็กก็เล่าซ้ำได้ไม่ยาก แต่เมื่อเราใช้เวลาคิดและตรึกตรอง จะมีความเข้าใจและความหมายอันลึกซึ้งอย่างยิ่งเกิดขึ้นกับเรา …

… พระเยซูและคนที่อยู่กับพระองค์เพิ่งข้ามทะเลกาลิลีอีกครั้ง และฝูงชนที่รออยู่นั้นได้พบพระองค์บนฝั่งใกล้คาเปอรนาอุม “และมีนายธรรมศาลาคนหนึ่งมาที่นั่น” ธรรม-ศาลาขนาดใหญ่ในสมัยนั้นดูแลโดยผู้ใหญ่คณะหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้าหรือนายธรรมศาลา นายธรรมศาลาคนนี้เป็นคนมีฐานะและชื่อเสียงที่ชาวยิวให้ความเคารพนับถือมาก

มัทธิวไม่ได้บอกชื่อนายธรรมศาลา แต่มาระโกระบุชื่อเขาโดยเพิ่มคำว่า “ชื่อไยรัส” ชายคนนี้หรือชื่อของเขาไม่ปรากฏที่ใดในพระคัมภีร์ยกเว้นครั้งนี้ แต่เรื่องของเขาจารึกในประวัติศาสตร์เพราะการสื่อสารสั้นๆ กับพระเยซู มีมากมายหลายชีวิตน่าจดจำแต่อาจเลือนหายไปจากความทรงจำหากสัมผัสจากพระหัตถ์ของพระอาจารย์ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญยิ่งต่อความคิดและการกระทำ อีกทั้งสร้างชีวิตใหม่และชีวิตที่ดีกว่าเดิม

“เมื่อเขาเห็นพระเยซูก็กราบลงที่พระบาทของพระองค์”

นี่เป็นสภาวการณ์ไม่ธรรมดาสำหรับนายธรรมศาลาผู้มีฐานะและชื่อเสียงที่จะคุกเข่าแทบพระบาทพระเยซู—แทบเท้าของคนที่ถือว่าเป็นครูสัญจรผู้มีของประทานแห่งการรักษา ผู้มีการศึกษาและมีชื่อเสียงอีกหลายคนเห็นพระเยซูเช่นกันแต่พวกเขาไม่สนใจ จิตใจพวกเขาปิด ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน อุปสรรคขัดขวางคนมากมายไม่ให้ยอมรับพระองค์

“แล้ว [ไยรัส] ทูลอ้อนวอนพระองค์ว่า ลูกสาวเล็กๆ ของข้าพระองค์ป่วยหนัก” นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีคนมาหาพระคริสต์ ส่วนมากไม่ใช่เพราะความต้องการของเขาเอง แต่เพราะความต้องการอย่างมากของคนที่เขารัก ความสั่นเครือที่เราได้ยินในน้ำเสียงของไยรัสขณะพูดถึง “ลูกสาวเล็กๆ ของข้าพระองค์” ปลุกเร้าจิตวิญญาณเราให้เกิดความเห็นใจขณะที่เรานึกถึงชายผู้มีตำแหน่งสูงคนนี้ในธรรม-ศาลาคุกเข่าเบื้องพระพักตร์พระผู้ช่วยให้รอด

ต่อจากนั้นเขาแสดงให้เห็นศรัทธาอันยิ่งใหญ่ “ขอพระองค์เสด็จไปวางพระหัตถ์บนเธอ เพื่อเธอจะหายโรคและมีชีวิตอยู่” นี่ไม่เพียงเป็นถ้อยคำแห่งศรัทธาของบิดาผู้มีความทุกข์โศกเท่านั้นแต่เป็นเครื่องเตือนใจเราว่าไม่ว่าพระเยซูจะวางพระหัตถ์บนอะไร สิ่งนั้นจะมีชีวิต ถ้าพระเยซูวางพระหัตถ์บนการแต่งงาน การแต่งงานจะมีชีวิต ถ้ายอมให้พระองค์วางพระหัตถ์บนครอบครัว ครอบครัวจะมีชีวิต

ตามมาด้วยข้อความที่ว่า “พระองค์จึงเสด็จไปกับเขา” เราคงไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้อยู่ในแผนวันนั้น พระอาจารย์กลับมาข้ามทะเลที่ฝูงชนรอให้พระองค์สอนพวกเขาอยู่บนฝั่ง … คำวิงวอนของบิดาคนนี้ขัดจังหวะพระองค์ พระองค์จะไม่สนพระทัยคำขอก็ได้เพราะมีคนอีกมากรออยู่ พระองค์จะตรัสกับไยรัสว่าพระองค์จะไปหาลูกสาวของเขาพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ “พระองค์จึงเสด็จไปกับเขา” ถ้าเราเดินตามรอยพระบาทพระอาจารย์ เราจะมีงานยุ่งจนเพิกเฉยความต้องการของเพื่อนมนุษย์ไหม

เราไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องราวที่เหลือ เมื่อพวกเขามาถึงบ้านของนายธรรมศาลา พระเยซูทรงจับมือเด็กผู้หญิงและยกเธอขึ้นจากบรรดาคนตาย ในทำนองเดียวกัน พระองค์จะทรงยกทุกคนขึ้นสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมหากเขาจะอนุญาตให้พระผู้ช่วยให้รอดจับมือ11

5

พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธ-สัญญาจะนำเราให้ใกล้ชิดพระคริสต์มากขึ้น

พระคัมภีร์มอรมอน

แหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ช่วยเราในการทำงานศักดิ์สิทธิ์นี้ให้บรรลุผลสำเร็จคือพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งมีชื่อรองว่า “พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์” [ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน] เตือนเราอย่างตรงไปตรงมาว่าอย่าละเลยการอ่านและดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์ของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ “พันธกิจสำคัญของพระคัมภีร์เล่มนี้” ท่านสอนเรา “คือการนำมนุษย์มาหาพระคริสต์ [และด้วยเหตุนี้จึงมาหาพระบิดา] และเรื่องอื่นทั้งหมดเป็นเรื่องรอง” (Ensign, May 1986, p. 105.) เราหวังว่าพี่น้องชายหญิงทั้งหลายจะให้อาหารแก่วิญญาณของท่านโดยอ่านพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์เล่มอื่นเป็นประจำและใช้พระคัมภีร์ในการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน12

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เราเชื้อเชิญให้ท่านอ่านบันทึกที่ยอดเยี่ยมนี้ พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือน่าทึ่งที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จงตั้งใจอ่านร่วมกับการสวดอ้อนวอน และขณะทำเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะประทานประจักษ์พยานแก่ท่านเกี่ยวกับความจริงตามที่โมโรไนสัญญาไว้ (ดู โมโรไน 10:4)13

โดยผ่านการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน แสวงหาการยืนยันเนื้อหาในนั้นร่วมกับการสวดอ้อนวอน เราจะได้รับประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า และศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลก14

การอ่าน [พระคัมภีร์มอรมอน] จะมีผลลึกซึ้งต่อชีวิตท่าน จะเพิ่มพูนความรู้ของท่านเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงติดต่อกับมนุษย์และจะทำให้ท่านปรารถนาจะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคำสอนพระกิตติคุณของพระองค์มากขึ้น อีกทั้งจะให้ประจักษ์พยานอันทรงพลังแก่ท่านเกี่ยวกับพระเยซู15

พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา

พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ เป็นหนังสือเล่มเดียวบนพื้นพิภพที่พระผู้สร้างทรงประพันธ์คำนำด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระคัมภีร์เล่มนี้ยังประกอบด้วยข้อความอ้างอิงโดยตรงจากพระเจ้ามากกว่าพระคัมภีร์เล่มอื่นที่มีอยู่

พระคัมภีร์เล่มนี้ไม่ใช่งานแปลจากเอกสารโบราณ แต่มีต้นกำเนิดในยุคปัจจุบัน เป็นหนังสือของการเปิดเผยสำหรับยุคสมัยของเรา เป็นการเปิดเผยที่คัดเลือกมาเป็นพิเศษด้วยการดลใจจากเบื้องบนผ่านมาทางศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าในสมัยของเราเพื่อตอบคำถาม ข้อกังวล และความท้าทายที่พวกท่านและคนอื่นๆ เผชิญอยู่ พระคัมภีร์เล่มนี้มีคำตอบของพระเจ้าสำหรับปัญหาชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับบุคคลจริง …

ท่านตระหนักหรือไม่ว่าท่านจะได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าผ่านการอ่านพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา [ดู คพ. 18:33-36] … เสียงนั้นของความสว่างทางปัญญามักจะเข้ามาในจิตใจท่านเป็น “ความนึกคิด” และเข้ามาในใจท่านเป็น “ความรู้สึก” (ดู คพ. 8:1-3) คำสัญญาของพยานดังกล่าว … มีผลต่อชายหญิงและเด็กที่มีค่าควรทุกคนผู้แสวงหาพยานเช่นนั้นร่วมกับการสวดอ้อนวอน เราแต่ละคนไม่ควรตั้งใจอ่าน ศึกษา ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับการเปิดเผยศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้หรอกหรือ16

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านเรียนรู้ว่าการศึกษาพระคัมภีร์ “เป็นประโยชน์สูงสุดในบรรดาการศึกษาทั้งหมด” (ดู หัวข้อ 1) เราจะเพิ่มความมุ่งมั่นว่าจะเป็น “ชายหญิงผู้รู้พระคัมภีร์อย่างถ่องแท้” ได้อย่างไร

  • การศึกษาพระคัมภีร์ช่วยให้เราเชื่อฟังมากขึ้นอย่างไร (ดู หัวข้อ 2) ท่านเคยเห็นอย่างไรว่า “พระวจนะของพระคริสต์จะบอกท่านทุกสิ่งที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:3)

  • คำแนะนำด้านใดของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับวิธีศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยท่านได้ (ดู หัวข้อ 3) การศึกษาพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอร่วมกับการสวดอ้อนวอนเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

  • เราได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องราวของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาลูกสาวของไยรัส (ดู หัวข้อ 4) การไตร่ตรองเพียงไม่กี่ข้อเช่นนี้จะยกระดับการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านได้อย่างไร

  • พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร (ดู หัวข้อ 5) พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อท่านในด้านใดอีกบ้าง ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านกับครอบครัวและคนอื่นๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์เหล่านี้

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

โยชูวา 1:8; สุภาษิต 30:5; 1 นีไฟ 15:23–24; 2 นีไฟ 3:12; แอลมา 31:5; 37:44; ฮีลา-มัน 3:29–30; คพ. 98:11

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“การอ่าน การศึกษา และการไตร่ตรองไม่เหมือนกัน เราอ่านคำและเราอาจได้แนวคิด เราศึกษาและเราอาจค้นพบรูปแบบตลอดจนความเชื่อมโยงในพระคัมภีร์ แต่เมื่อเราไตร่ตรอง เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ การไตร่ตรองสำหรับข้าพเจ้าคือการคิดและการสวดอ้อนวอนที่ข้าพเจ้าทำหลังจากอ่านและศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว” (ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “รับใช้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 76)

อ้างอิง

  1. “Reading the Scriptures,” Ensign, Nov. 1979, 65.

  2. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 50.

  3. “Reading the Scriptures,” 64.

  4. The Teachings of Howard W. Hunter, 53–54.

  5. The Teachings of Howard W. Hunter, 51.

  6. “Obedience” (ปราศรัยที่การประชุมใหญ่ภาคฮาวาย 18 มิถุนายน 1978), 3–5, Church History Library, Salt Lake City; ย่อหน้าสุดท้ายอยู่ใน The Teachings of Howard W. Hunter, 52 ด้วย.

  7. “Eternal Investments” (ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของซีอีเอส 10 ก.พ. 1989), 3; si.lds.org.

  8. “Fear Not, Little Flock” (ปราศรัยที่มหาวิทยา-ลัยบริคัม ยังก์ 14 มี.ค. 1989), 2; speeches.byu.edu.

  9. The Teachings of Howard W. Hunter, 51-52.

  10. “Reading the Scriptures,” 64.

  11. “Reading the Scriptures,” 64–65.

  12. “The Mission of the Church” (ปราศรัยที่การสัมมนาตัวแทนเขต 30 มี.ค. 1990), 2.

  13. The Teachings of Howard W. Hunter, 54.

  14. “The Pillars of Our Faith,” Ensign, Sept. 1994, 54.

  15. “Evidences of the Resurrection,” Ensign, May 1983, 16.

  16. The Teachings of Howard W. Hunter, 55-56.