บทที่ 21
ศรัทธาและประจักษ์พยาน
“สัมฤทธิผลสูงสุดของชีวิตคือพบพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์”
จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เริ่มพัฒนาประจักษ์พยานของท่านในช่วงวัยเด็กตอนต้นที่บอยซี ไอดาโฮ ถึงแม้เวลานั้นบิดาท่านไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักร แต่มารดาท่านเลี้ยงดูท่านในพระกิตติคุณ “เราเรียนรู้การสวดอ้อนวอนที่เข่าของเธอ” ท่านจำได้ “ข้าพเจ้าได้รับประจักษ์พยานเมื่อยังเด็กที่เข่าของคุณแม่”1
ประจักษ์พยานของฮาเวิร์ดเติบโตตลอดหลายปี เมื่อท่านอยู่ในวัย 20 และอาศัยอยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ท่านเริ่มรับรู้ความสำคัญของการศึกษาพระกิตติคุณอย่างจริงจัง ท่านเขียนว่า “ถึงแม้ข้าพเจ้าเข้าชั้นเรียนของศาสนจักรมาเป็นส่วนใหญ่ในชีวิต แต่ความสนใจพระกิตติคุณจริงๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่วอร์ดอดัมส์ สอนโดยบราเดอร์ปีเตอร์ เอ. เคลย์ตัน เขามีความรู้มากมายมหาศาลและมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน ข้าพเจ้าศึกษาบทเรียน อ่านงานมอบหมายนอกห้องเรียนที่เขาให้เรา และร่วมวงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่ได้รับมอบหมาย … ข้าพเจ้าคิดว่าช่วงนี้ของชีวิตเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจความจริงของพระกิตติคุณ ข้าพเจ้ามีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณเสมอ แต่จู่ๆ ก็เริ่มเข้าใจ”2
หลายปีต่อมา ประธานฮันเตอร์อธิบายว่า “เวลาจะมาถึงเรา เวลาที่เราเข้าใจหลักธรรมแห่งการสร้างและเข้าใจว่าเราเป็นใคร จู่ๆ เรื่องเหล่านี้ก็กระจ่างต่อเราและสายใจของเราเต้นรัว นี่เป็นเวลาที่ประจักษ์พยานเข้ามาสู่จิตวิญญาณเราและเรารู้โดยไม่สงสัยเลยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบิดาของเรา—พระองค์ทรงพระชนม์ พระองค์ทรงดำรงอยู่จริง เราเป็นลูกของพระองค์จริงๆ”3
เกี่ยวกับศรัทธาและประจักษ์พยานของประธานฮันเตอร์ ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์-ลีย์กล่าวว่า
“สำหรับประธานฮันเตอร์ … มีพลังมหาศาลของศรัทธา มีความมั่นใจในความรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้าและสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ … [ท่าน] มีประจักษ์พยานมั่นคงแน่นอนถึงการทรงพระชนม์อยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเรา ท่านกล่าวคำพยานด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่งถึงความเป็นพระเจ้าของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ”4
คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์
1
โดยผ่านศรัทธา เราจะพบพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์
สัมฤทธิผลสูงสุดของชีวิตคือพบพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์ เหมือนสัมฤทธิผลอันมีค่าอื่นๆ คนที่จะเชื่อและมีศรัทธาในสิ่งซึ่งอาจไม่ชัดเจนในตอนแรกเท่านั้นจึงจะเกิดสัมฤทธิผลในเรื่องนี้ัได้5
เมื่อความคิดมนุษย์หันไปหาพระผู้เป็นเจ้าและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ย่อมประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยกเขาจากคนธรรมดาและให้อุปนิสัยอันสูงส่งเหมือนพระผู้เป็นเจ้าแก่เขา ถ้าเรามีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เรากำลังใช้กฎอันสำคัญยิ่งกฎหนึ่งของชีวิต พลังแรงกล้าที่สุดในธรรมชาติมนุษย์คือพลังทางวิญญาณของศรัทธา6
การแสวงหาครั้งใหญ่ที่สุดคือการค้นหาพระผู้เป็นเจ้า—มุ่งมั่นค้นหาการดำรงอยู่จริงของพระองค์ คุณลักษณะส่วนพระองค์ และครอบครองความรู้เรื่องพระกิตติคุณของพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ ไม่ง่ายที่จะพบความเข้าใจอันสมบูรณ์เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า การค้นหาเรียกร้องความพยายามต่อเนื่องยาวนาน และมีบางคนที่ไม่เคยขยับเขยื้อนเสาะหาความรู้ …
ไม่ว่าจะแสวงหาความรู้เรื่องความจริงทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อค้นพบพระผู้เป็นเจ้า คนนั้นต้องมีศรัทธา นี่เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้นิยามศรัทธาไว้หลายด้าน แต่นิยามดั้งเดิมที่สุดให้ไว้โดยผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูในถ้อยคำที่มีความหมายดังนี้ “[ศรัทธา] คือความมั่นใจในสิ่งที่หวังไว้ เป็นความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น” (ฮีบรู 11:1) อีกนัยหนึ่งคือ ศรัทธาทำให้เราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราหวังไว้และมั่นใจในสิ่งที่เราไม่เห็น … คนที่แสวงหาพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงใจไม่เห็นพระองค์ แต่พวกเขารู้โดยศรัทธาว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่จริง ศรัทธาเป็นมากกว่าความหวัง ศรัทธาทำให้ความหวังเป็นความเชื่อมั่น—ความแน่ใจสิ่งที่เราไม่เห็น
ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู [อัครสาวกเปาโล] กล่าวต่อไปว่า “โดย [ศรัทธา] เราจึงเข้าใจว่าพระเจ้าได้ทรงสร้างจักรวาลด้วยพระดำรัสของพระองค์ ดังนั้นสิ่งที่มองเห็นจึงเป็นสิ่งที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็น” (ฮีบรู 11:3) ในที่นี้อธิบายว่าศรัทธาคือการเชื่อหรือมีความเชื่อมั่นว่าโลกสร้างขึ้นตามพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า เราจะหาพยานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ แต่ศรัทธาให้ความรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสิ่งที่เราเห็นในความน่าพิศวงของแผ่นดินโลกและในธรรมชาติทั้งหมด …
ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นแน่นอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริง—พระองค์ทรงพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา และเราเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ทรงสร้างสิ่งทั้งปวงบนแผ่นดินโลก และทรงเป็นพระผู้ลิขิตกฎนิรันดร์ซึ่งใช้ปกครองจักรวาล มนุษย์ค้นพบกฎเหล่านี้ทีละน้อยขณะแสวงหาต่อเนื่อง แต่กฎเหล่านี้ดำรงอยู่เสมอและจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตลอดไป7
2
เพื่อให้ได้ความรู้เรื่องการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องพยายามด้วยศรัทธา ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ และสวดอ้อนวอนทูลขอความเข้าใจ
เพื่อจะพบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริง เราต้องเดินตามวิถีที่พระองค์ทรงชี้ให้เราแสวงหา เส้นทางนั้นคือเส้นทางที่นำขึ้นข้างบน ต้องใช้ศรัทธาและความพยายาม วิถีนั้นไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุผลนี้คนมากมายจึงไม่อุทิศตนต่อภารกิจอันหนักหน่วงของการพิสูจน์การดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าด้วยตัวเขาเอง ในทางกลับกัน คนบางคนใช้เส้นทางสะดวกและปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระองค์หรือเพียงเดินตามวิถีแห่งความไม่แน่นอนของคนช่างสงสัยเท่านั้น …
… บางครั้งศรัทธาหมายถึงการเชื่อว่าสิ่งหนึ่งเป็นจริงทั้งที่มีหลักฐานไม่พอจะให้พิสูจน์ความรู้นั้น เราต้องค้นหาความรู้ต่อไปและทำตามคำตักเตือนนี้ “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน เพราะว่าทุกคนที่ขอก็ได้ และทุกคนที่แสวงหาก็พบ ทุกคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา” (มัทธิว 7:7–8) …
หลักเกณฑ์ทั่วไปคือเราไม่ได้สิ่งมีค่าเว้นแต่เราเต็มใจจ่ายราคา นักวิชาการจะยังไม่รอบรู้เว้นแต่เขาเริ่มลงมือทำและพยายามจนสำเร็จ ถ้าเขาไม่เต็มใจทำเช่นนั้น เขาจะพูดได้หรือว่าไม่มีเรื่องอย่างเช่นความสำเร็จด้านวิชาการ … คงเป็นความโง่สำหรับมนุษย์ถ้าเขาพูดว่าไม่มีพระผู้เป็นเจ้าเพียงเพราะเขาไม่มีความปรารถนาจะแสวงหาพระองค์
… เพื่อให้แต่ละบุคคลได้ความรู้แน่นอนถึงการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้า เขาต้องดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติและหลักคำสอนที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศไว้ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ … คนที่เต็มใจค้นหา มุมานะ และทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าจะมีความรู้เกี่ยวกับการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงพวกเขา
เมื่อมนุษย์พบพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใจวิถีของพระองค์ เขาเรียนรู้ว่าไม่มีสิ่งใดในจักรวาลเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ทุกอย่างเกิดจากแผนซึ่งพระองค์ทรงเตรียมการไว้ล่วงหน้า สิ่งที่เข้ามาในชีวิตเขาช่างมีความหมายยิ่งนัก! เขาจะเข้าใจสิ่งที่อยู่เหนือความรอบรู้ทางโลก ความสวยงามของโลกจะสวยงามมากขึ้น ระเบียบของจักรวาลจะมีความหมายมากขึ้น และงานสร้างทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าจะเข้าใจได้มากขึ้นเมื่อเขาเห็นวันของพระผู้เป็นเจ้ามาแล้วก็ไปและฤดูกาลหลังจากแต่ละวันตามระเบียบของมัน8
ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของพระคริสต์พระองค์ทรงอธิบายวิธีที่เราจะรู้จักความจริงเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ตรัสว่า “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนั้นมาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง” (ยอห์น 7:17) พระอาจารย์ทรงอธิบายพระประสงค์ของพระบิดาและพระบัญญัติข้อใหญ่ในทำนองนี้เช่นกัน “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” (มัทธิว 22:37) คนที่จะพยายามทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์จะได้รับการเปิดเผยส่วนตัวเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของงานของพระเจ้าในการแสดงประจักษ์พยานถึงพระบิดา
กับคนที่ปรารถนาความเข้าใจ ถ้อยคำของยากอบอธิบายว่าจะได้ความเข้าใจนั้นอย่างไร “แต่ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ” (ยากอบ 1:5) เห็นได้ชัดว่ายากอบไม่ได้กล่าวถึงความรู้ตามข้อเท็จจริงในแง่วิทยาศาสตร์ แต่กล่าวถึงการเปิดเผยที่มาจากเบื้องบนซึ่งตอบคำถามของมนุษย์อันเป็นผลจากการทำตามคำตักเตือนให้สวดอ้อนวอน …
ด้วยเหตุนี้เราจึงมีสูตรสำหรับการค้นหาพระผู้เป็นเจ้าและเครื่องมือที่จะช่วยให้การแสวงหานั้นบรรลุผลสำเร็จ—นั่นคือ ศรัทธา ความรัก และการสวดอ้อนวอน วิทยาศาสตร์ทำสิ่งอัศจรรย์ให้มนุษย์ แต่ไม่สามารถทำสิ่งที่มนุษย์ต้องทำด้วยตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือพบการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้า ภารกิจนั้นไม่ง่ายเลย งานหนักไม่เบา แต่ตามที่พระอาจารย์กล่าว “สิ่งล้ำค่าจะเป็นรางวัลของพวกเขา และนิรันดรจะเป็นรัศมีภาพของพวกเขา” (คพ. 76:6)9
3
เราต้องเชื่อจึงจะเห็น
โธมัสต้องการเห็นก่อนจึงจะเชื่อ
ตอนค่ำของวันแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูทรงปรากฏและทรงยืนท่ามกลางเหล่าสาวกในห้องที่ปิดประตู พระองค์ทรงให้พวกเขาดูพระหัตถ์ที่ถูกตอกตะปูและพระปรัศว์ที่ถูกหอกแทง โธมัสอัครสาวกคนหนึ่งไม่อยู่ขณะเกิดเหตุการณ์นี้ แต่คนอื่นๆ บอกเขาว่าเห็นพระเจ้าและพระองค์ตรัสกับพวกเขา … โธมัสสงสัย และเขาพูดกับเหล่าสาวกว่า
“… ถ้าข้าไม่เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ของพระองค์ และไม่ได้เอานิ้วของข้าแยงเข้าไปที่รอยตะปูนั้น และไม่ได้เอามือแยงเข้าไปที่สีข้างของพระองค์แล้ว ข้าจะไม่เชื่อเลย” (ยอห์น 20:25)
… ในความหมายหนึ่ง โธมัสแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของคนทั่วไปในยุคสมัยของเรา เขาจะไม่พอใจเรื่องใดที่เขาไม่เห็น ถึงแม้จะเคยอยู่กับพระอาจารย์มาแล้วก็ตามและรู้คำสอนของพระองค์เกี่ยวกับศรัทธาและความสงสัย … ศรัทธาจะแทนที่ความสงสัยไม่ได้เมื่อต้องรู้สึกหรือเห็นจึงจะเชื่อ
โธมัสไม่เต็มใจยืนบนศรัทธา เขาต้องการหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง เขาต้องการความรู้ ไม่ใช่ศรัทธา ความรู้เชื่อมโยงกับอดีตเพราะประสบการณ์ในอดีตของเราคือสิ่งซึ่งให้ความรู้แก่เรา แต่ศรัทธาเชื่อมโยงกับอนาคต—กับความไม่รู้ที่เรายังไม่เคยประสบ
เราคิดว่าโธมัสเป็นคนที่เคยเดินทางและพูดคุยกับพระอาจารย์มาแล้ว และพระองค์ทรงเลือกเขา ในใจเราต้องการให้โธมัสหันไปมองอนาคตด้วยความมั่นใจในสิ่งที่มองไม่เห็น ณ เวลานั้น แทนที่จะพูดว่า “เห็นจึงจะเชื่อ” …
ศรัทธาให้ความเชื่อมั่นแก่เราในสิ่งที่มองไม่เห็น
สัปดาห์ต่อมา เหล่าสาวกมารวมกันอีกครั้งในบ้านหลังเดิมที่เยรูซาเล็ม คราวนี้โธมัสอยู่กับพวกเขา ประตูปิด แต่พระเยซูเสด็จมายืนท่ามกลางพวกเขาและตรัสว่า “สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลาย
“แล้วพระองค์ตรัสกับโธมัสว่า เอานิ้วของท่านแยงที่นี่ และดูที่มือของเรา ยื่นมือของท่านออกมาคลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยเลย แต่จงเชื่อ” (ยอห์น 20:26-27) …
“พระเยซูตรัสกับเขาว่าเพราะท่านเห็นเราท่านจึงเชื่อหรือ? คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข” ([ยอห์น] 20:29)
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญยิ่งบทหนึ่งของทุกยุคทุกสมัย โธมัสกล่าวว่า “เห็นจึงเชื่อ” แต่พระคริสต์ตรัสตอบว่า “เชื่อจึงเห็น” …
ตัวอย่างอันดีเลิศของศรัทธาน่าจะมาจากอัครสาวกเปาโลในสาส์นถึงชาวฮีบรู “[ศรัทธา] คือความมั่นใจในสิ่งที่หวังไว้ เป็นความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น” (ฮีบรู 11:1)
ข้อความดังกล่าวไม่ได้หมายถึงความรู้อันสมบูรณ์ แต่อธิบายว่าศรัทธาคือสิ่งที่ให้ความมั่นใจหรือความเชื่อมั่นแก่คนนั้นในสิ่งที่ยังอยู่ในอนาคต สิ่งเหล่านี้อาจจะดำรงอยู่ แต่โดยผ่านศรัทธาจึงจะรู้ว่าดำรงอยู่จริง ศรัทธาให้ความรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่มองไม่เห็นหรือพิสูจน์หลักฐานแน่ชัดไม่ได้
เห็นได้ว่าโธมัสสูญเสียความมั่นใจในอนาคต เขามองอดีต เขาต้องการหลักฐานพิสูจน์สิ่งที่เขาไม่เห็นในเวลานั้น คนที่สูญเสียหรือขาดศรัทธาจะมีชีวิตอยู่กับอดีต—สูญสิ้นความหวังสำหรับอนาคต การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตคนที่พบว่าศรัทธาอันยั่งยืนให้ความมั่นใจและความเชื่อมั่น
ชายที่เกิดมาตาบอดไม่สงสัย เขาเชื่อในพระผู้ช่วยให้รอด
ถ้าเรากลับไปดูยอห์นบทที่เก้า เราอ่านอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเยรูซาเล็ม ในเหตุการณ์นั้นชายที่เกิดมาตาบอดมองเห็น วันนั้นเป็นวันสะบาโต และพระเยซูทรงอยู่บริเวณพระวิหารเมื่อทอดพระเนตรเห็นชายตาบอด และเหล่าสาวกทูลถามพระองค์ว่า
“… พระอาจารย์ ใครทำบาป คนนี้หรือพ่อแม่ของเขา เขาถึงเกิดมาตาบอด?
“พระเยซูตรัสตอบว่า ไม่ใช่คนนี้หรือพ่อแม่ของเขาที่ทำบาป แต่เขาเกิดมาตาบอดเพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา
“เราต้องทำพระราชกิจของผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่ กลางคืนอันเป็นเวลาที่ไม่มีใครทำงานนั้นกำลังใกล้เข้ามา
“ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราก็เป็นความสว่างของโลก” (ยอห์น 9:2–5)
จากนั้นพระเยซูทรงบ้วนน้ำลายลงที่ดินและทรงเอาน้ำลายนั้นผสมกับดินของแผ่นดินโลกทำเป็นโคลน พระองค์ทรงทาตาของชายตาบอดด้วยโคลนนั้น และรับสั่งให้เขาไปล้างโคลนออกในสระสิโลอัม ถ้าชายคนนี้เป็นโธมัส เขาจะตามไปดังที่ได้รับบัญชาไหมหรือเขาจะถามคำถามว่า “จะได้อะไรจากการไปล้างในน้ำขุ่นคลั่กของสระสกปรกแห่งนั้น” หรือ “มีตัวยาอะไรในน้ำลายผสมกับดินของแผ่นดินโลก” นี่ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่สมเหตุสมผล แต่ถ้าชายตาบอดสงสัยและตั้งคำถาม เขาคงจะตาบอดอยู่อย่างนั้น เขามีศรัทธา เขาเชื่อและทำตามที่ได้รับบัญชา เขาไปล้างในสระและกลับมา เชื่อคือเห็น …
“คนที่ไม่เห็นแต่เชื่อก็เป็นสุข”
ชายตาบอดเชื่อและได้รับอนุญาตให้มองเห็น โธมัสไม่ยอมเชื่อจนกว่าจะได้เห็น โลกเต็มไปด้วยคนแบบโธมัส แต่มีมากมายเหมือนชายตาบอดที่เยรูซาเล็ม ผู้สอนศาสนาของศาสนจักรพบคนทั้งสองประเภทนี้ทุกวันขณะพวกเขานำข่าวสารไปสู่ชาวโลก ข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ … บางคนเชื่อ มีศรัทธา และรับบัพติศมา บางคนจะไม่ยอมรับเพราะพวกเขาไม่เห็นหรือไม่รู้สึก
ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดเป็นรูปธรรมว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ แต่หลายล้านคนมีความรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์ผ่านศรัทธานั้นซึ่งประกอบเป็นหลักฐานยืนยันสิ่งที่มองไม่เห็น หลายคนพูดกับผู้สอนศาสนาว่า “ฉันจะยอมรับบัพติศมาถ้าฉันเชื่อได้ว่าพระบิดาและพระบุตรเสด็จมาเยือนโจเซฟ สมิธ” สำหรับข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดเป็นรูปธรรม แต่กับคนที่พระวิญญาณทรงสัมผัสใจเขา ศรัทธาจะแทนที่หลักฐานของสิ่งที่มองไม่เห็น จงจำพระดำรัสของพระอาจารย์ที่ถูกตรึงกางเขนขณะทรงยืนต่อหน้าโธมัส
“คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข” ([ยอห์น] 20:29)
คนที่เชื่อผ่านศรัทธาจะเห็น
ข้าพเจ้าเพิ่มพยานของข้าพเจ้าเข้ากับประจักษ์พยานของผู้สอนศาสนาหลายพันคนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ พระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอดของโลก คนที่จะเชื่อผ่านศรัทธาจะทำให้เขามองเห็น10
4
การปฏิบัติตามศรัทธาทำให้เกิดประจักษ์พยานส่วนตัว
เมื่อเป็นเด็กเรายอมรับสิ่งที่พ่อแม่หรือครูบอกเราเพราะความเชื่อมั่นที่เรามีในพวกท่าน เด็กชายตัวน้อยจะกระโดดจากที่สูงโดยไม่กลัวถ้าบิดาบอกเขาว่าจะรับเขาได้ เด็กน้อยมีศรัทธาว่าบิดาจะไม่ปล่อยให้เขาตก เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาเริ่มนึกถึงตนเอง ตั้งคำถามและมีความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นซึ่งไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรม ข้าพเจ้าเห็นใจเยาวชนชายและเยาวชนหญิงเมื่อความสงสัยตามประสาซื่อเข้ามาในความคิดพวกเขาและพวกเขาเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งใหญ่โตของการขจัดความสงสัย ความสงสัยเหล่านี้ขจัดได้ ถ้าพวกเขามีความปรารถนาที่จริงใจอยากรู้ความจริง โดยใช้ความพยายามทางศีลธรรม ทางวิญญาณ และจิตใจ พวกเขาจะออกจากความขัดแย้งเข้าสู่ศรัทธาที่มั่นคงขึ้น แรงกล้าขึ้น และกว้างขึ้นเพราะความพยายามดังกล่าว จากศรัทธาที่เรียบง่ายและเชื่อถือ ผ่านความสงสัยและความขัดแย้ง เปลี่ยนไปเป็นศรัทธาที่หนักแน่นมั่นคงซึ่งกลายเป็นประจักษ์พยาน11
นักศึกษาใช้เวลาหลายชั่วโมงในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาความจริง ถ้าพวกเขาจะทำสิ่งเดียวกันด้วยศรัทธา การสวดอ้อนวอน การให้อภัย ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความรัก พวกเขาจะพบประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์พระผู้ประทานหลักธรรมเหล่านี้12
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไม่เพียงเป็นพระกิตติคุณแห่งความเชื่อเท่านั้น แต่เป็นแผนแห่งการปฏิบัติด้วย … พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ “สังเกต” พระกิตติคุณของเรา แต่ตรัสให้ “ดำเนินชีวิต” ตามนั้น! พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ “สังเกตโครงสร้างและภาพที่สวยงามของพระกิตติคุณ” แต่ตรัสให้ “ไป ทำ ดู รู้สึก ให้ และเชื่อ!” …
การกระทำเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของประจักษ์พยานส่วนตัว พยานที่แน่นอนที่สุดคือพยานที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อชาวยิวท้าทายหลักคำสอนที่พระเยซูทรงสอนในพระวิหาร พระองค์ตรัสตอบว่า “… คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา” ต่อจากนั้นพระองค์ทรงเพิ่มประเด็นสำคัญเข้ากับประจักษ์พยานส่วนตัวดังนี้ “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง” (ยอห์น 7:16-17)
เราได้ยินข้อบังคับในคำประกาศนี้ของพระผู้ช่วยให้รอดไหม “ถ้าใครตั้งใจ ประพฤติ … คนนั้นจะ รู้!” ยอห์นเข้าใจความสำคัญของข้อบังคับนี้และเน้นความหมายของข้อบังคับดังกล่าวใน [สาส์น] ของเขา เขากล่าวว่า “ผู้ที่กล่าวว่าตนอยู่ในพระองค์ ผู้นั้นก็ควรดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์” (1 ยอห์น 2:6)
การเพียงแต่พูด ยอมรับ และเชื่อเท่านั้นไม่พอ สิ่งเหล่านั้นไม่สมบูรณ์จนกว่าสิ่งที่พวกเขาบอกแปรเปลี่ยนเป็นการดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้นทุกวัน นี่คือแหล่งที่ดีที่สุดของประจักษ์พยานส่วนตัว คนๆ นั้นรู้เพราะเขาประสบมาแล้ว เขาไม่ต้องพูดว่า “บราเดอร์โจนส์บอกว่าจริง และผมเชื่อเขา” เขาพูดได้ว่า “ผมได้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมนี้ในชีวิตผมเอง และผมรู้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวว่าได้ผล” ผมเคยรู้สึกถึงอิทธิพลดังกล่าว เคยทดสอบประโยชน์ของอิทธิพลนั้นมาแล้ว และรู้ว่าดี ผมเป็นพยานยืนยันความรู้ของผมเองได้ว่านี่เป็นหลักธรรมที่แท้จริง”
คนมากมายมีประจักษ์พยานเช่นนั้นในชีวิตพวกเขา และไม่เห็นคุณค่า เมื่อเร็วๆ นี้หญิงสาวคนหนึ่งพูดว่า “ดิฉันไม่มีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณ ดิฉันอยากมี ดิฉันยอมรับคำสอนของพระกิตติคุณ ดิฉันรู้ว่าพระกิตติคุณเกิดผลในชีวิต ดิฉันเห็นพระกิตติคุณเกิดผลในชีวิตผู้อื่น ถ้าเพียงพระเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของดิฉันและประทานประจักษ์พยานแก่ดิฉัน ดิฉันคงจะเป็นคนมีความสุขที่สุดคนหนึ่งแน่นอน!” สิ่งที่หญิงสาวคนนี้ต้องการคือการแทรกแซงอันน่าอัศจรรย์ แต่เธอเคยเห็นปาฏิหาริย์ของพระกิตติคุณขยายและยกระดับชีวิตเธอมาแล้ว พระเจ้า ได้ทรง ตอบคำสวดอ้อนวอนของเธอแล้ว เธอมีประจักษ์พยาน แล้ว แต่เธอไม่รู้ว่าคืออะไร13
ในฐานะอัครสาวกที่ได้รับแต่งตั้งและพยานพิเศษของพระคริสต์ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานอันศักดิ์สิทธิ์ต่อท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง…ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ข้าพเจ้ารู้ถึงการดำรงอยู่จริงของพระคริสต์ประหนึ่งเห็นด้วยตาตนเองและได้ยินกับหู ข้าพเจ้ารู้เช่นกันว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงยืนยันความจริงของคำพยานดังกล่าวในใจทุกคนที่ฟังด้วยหูแห่งศรัทธา14
ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน
คำถาม
-
ประธานฮันเตอร์สอนว่า “สัมฤทธิผลสูงสุดของชีวิตคือพบพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์” (หัวข้อ 1) อะไรคือบทบาทของศรัทธาที่จะทำให้การแสวงหานั้นบรรลุผลสำเร็จ ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านพบพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์
-
ประธานฮันเตอร์กล่าวว่า “ภารกิจนี้ไม่ง่ายเลย” และ “งานหนักไม่เบา” ในการได้ความรู้เรื่องการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้า ท่านคิดว่าเหตุใดการทุ่มเทความพยายามจึงสำคัญต่อการได้ความรู้นั้น เหตุใดการรักษาพระบัญญัติจึงสำคัญต่อการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า
-
ในหัวข้อ 3 ประธานฮันเตอร์ใช้การเปรียบเทียบระหว่างโธมัสกับชายที่เกิดมาตาบอดเพื่อสอนว่าถ้าเราเชื่อ เราจะมองเห็นได้ ข้อคิดของประธานฮันเตอร์ในเรื่องเหล่านี้จะประยุกต์ใช้ในชีวิตท่านอย่างไร การใช้ศรัทธาทำให้ท่านมองเห็นได้อย่างไร
-
ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ที่ว่าการปฏิบัติตามศรัทธาของเราเป็นสิ่งสำคัญต่อการได้รับประจักษ์พยาน (ดู หัวข้อ 4) ท่านจะปฏิบัติตามศรัทธาของท่านด้วยวิธีใดได้บ้าง? ศรัทธาจะชนะความสงสัยได้อย่างไร การปฏิบัติตามศรัทธาช่วยให้ประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งขึ้นอย่างไร
ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง
ยอห์น 17:3; ฮีบรู 11:1–6; แอลมา 5:45–48; 30:40–41; 32:26–43; อีเธอร์ 12:4, 6–22; โมโรไน 10:4–5; คพ. 42:61
ความช่วยเหลือด้านการสอน
“ถามคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนหาคำตอบในพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดายุคสุดท้าย” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 62)