คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 3: ความยากลำบาก—ส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความเจริญก้าวหน้านิรันดร์ของเรา


บทที่ 3

ความยากลำบาก—ส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความเจริญก้าวหน้านิรันดร์ของเรา

“เมื่อ [ความยุ่งยากของชีวิตมรรตัย] ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ขัดเกลาเรา สอนเรา และเป็นพรแก่เรา สิ่งเหล่านั้นสามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้เราเป็นคนดีขึ้น”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ค.ศ. 1980 เอ็ลเดอร์ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮัน-เตอร์ ซึ่งเวลานั้นเป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ได้เล่าเรื่องการไปร่วมกับฝูงชนเพื่อชมการแข่งเรือยาวในซามัวดังนี้ “ฝูงชนอยู่ที่ไม่ติดที่” ท่านกล่าว “และสายตาเกือบทุกคู่หันไปทางทะเลกำลังมองหา [เรือ] ที่ปรากฏลำแรก จู่ๆ ก็มีเสียงร้องตะโกนด้วยความตื่นเต้นจากฝูงชนขณะพวกเขามองเห็นเรือแต่ไกล เรือแต่ละลำมีฝีพายหน่วยก้านดีห้าสิบคนกำลังจ้วงพายตามจังหวะเพื่อบังคับเรือฝ่าคลื่นและน้ำที่เป็นฟองฝอย—นั่นเป็นภาพที่สวยงาม

“ไม่นานเราก็เห็นเรือและฝีพายเต็มตาขณะพวกเขาพายแข่งกันไปจนถึงเส้นชัย ถึงแม้ชายหน่วยก้านดีเหล่านี้จะพายด้วยกำลังของพวกเขา แต่น้ำหนักของเรือกับชายห้าสิบคนแล่นสวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก—แรงต้านของน้ำ

“เสียงโห่ร้องของฝูงชนดังสุดขีดเมื่อเรือยาวลำแรกข้ามเส้นชัย”

หลังจากการแข่งเรือ เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์เดินไปที่ท่าเทียบเรือและพูดกับฝีพายคนหนึ่ง เขาอธิบายว่าหัวของเรือยาว “ถูกสร้างให้ผ่านและเปิดทางน้ำเพื่อช่วยฝ่าแรงต้านที่ทำให้ความเร็วเรือลดลง เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าการออกแรงดึงพายสวนแรงต้านของน้ำก่อให้เกิดแรงที่ทำให้เรือเคลื่อนไปข้างหน้า แรงต้านทำให้เกิดทั้งการต่อต้านและการเคลื่อนไปข้างหน้า”1

เอ็ลเดอร์ฮันเตอร์ใช้การแข่งเรือในซามัวเกริ่นนำคำปราศรัยครั้งหนึ่งเกี่ยวกับจุดประสงค์ของความยากลำบาก ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวก ท่านพูดเกี่ยวกับความยากลำบากหลายครั้ง โดยให้คำแนะนำ ความหวัง และกำลังใจ ท่านพูดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้อดทนต่อโรคภัยที่คุกคามชีวิตและการทดลองอื่นๆ ท่านเป็นพยานด้วยความเชื่อมั่นว่าในยามทุกข์ยาก “พระเยซูคริต์ทรงมีเดชานุภาพในการแบ่งเบาภาระและทำให้ภาระอันหนักหน่วงของเราเบาลง”2

พระคริสต์ที่สระน้ำเบธซาธา

ในการทดลองของเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญเราแต่ละคนเหมือนทรงเชื้อเชิญชายที่สระน้ำเบธซาธาว่า “ท่านอยากจะหายเป็นปกติหรือเปล่า?” (ยอห์น 5:6)

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

ความยากลำบากเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความเจริญก้าวหน้านิรันดร์ของเรา

ข้าพเจ้าสังเกตว่าชีวิต—ทุกชีวิต—มีครบทั้งขึ้นและลง แท้จริงแล้วเราเห็นปีติและโทมนัสมากมายในโลก แผนมากมายที่เปลี่ยนไปและทิศทางใหม่ พรมากมายที่มักจะดูไม่เหมือนหรือรู้สึกไม่เหมือนว่าเป็นพร และพรไม่น้อยที่ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนอีกทั้งปรับปรุงความอดทนและศรัทธาของเรา เราทุกคนเคยมีประสบการณ์เหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า และข้าพเจ้าคิดว่าเราจะมีเสมอ …

… ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ผู้ทราบดีเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน ความผิดหวัง และสภาวการณ์เหนือการควบคุมของท่าน เขียนไว้ว่า

“ความที่เป็นมนุษย์ เราอยากขับความเจ็บปวดทางกายและความปวดร้าวทางใจออกไปจากชีวิตเรา และอยากให้ตัวเราไร้กังวลและสบายใจอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราปิดประตูไม่ยอมรับความเศร้าโศกและความอาดูร เราอาจจะกีดกันเพื่อนที่ยอดเยี่ยมที่สุดและผู้มีพระคุณของเราออกไป ความทุกข์ทรมานจะทำให้ผู้คนเป็นวิสุทธิชนขณะพวกเขาเรียนรู้ความอดทน ความอดกลั้น และการควบคุมตนเอง” [Faith Precedes the Miracles (1972), 98]

ในข้อความดังกล่าว ประธานคิมบัลล์กล่าวถึงการปิดประตูไม่ยอมรับประสบการณ์บางอย่างในชีวิต … ประตูปิดเป็นประจำในชีวิตเรา และการปิดเหล่านั้นบางครั้งทำให้เกิดความเจ็บปวดและความปวดร้าวใจอย่างแท้จริง แต่ข้าพเจ้าเชื่อ แน่ ว่าที่ใดประตูเช่นนั้นปิดบานหนึ่ง จะมีอีกบานหนึ่งเปิด (และอาจจะเปิดมากกว่าหนึ่งบาน) พร้อมด้วยความหวังและพรในด้านอื่นของชีวิตที่เราอาจไม่พบในวิธีอื่น

… ไม่กี่ปีก่อน [ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์] กล่าวว่าชายหญิงทุกคน รวมทั้งคนที่ซื่อสัตย์และภักดีที่สุด จะพบความยากลำบากและความทุกข์ในชีวิตพวกเขาเพราะโจเซฟ สมิธกล่าวว่า “มนุษย์ต้องทนทุกข์เพื่อพวกเขาจะมาบนเขาไซอันและจะถูกยกให้สูงกว่าท้องฟ้า” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 247; ดู Conference Report, Oct. 1969, 57]

ประธานรอมนีย์กล่าวต่อจากนั้นว่า

“นี่มิได้หมายความว่าเราต้องการความทุกข์ทรมาน เราหลีกเลี่ยงสุดความสามารถ แต่เวลานี้เรารู้ และเราทุกคนรู้เมื่อเราได้รับเลือกให้มาสู่ความเป็นมรรตัย ว่าเราจะอยู่ที่นี่เพื่อรับการพิสูจน์ในเบ้าหลอมของความยากลำบากและความทุกข์ …

“[นอกจากนี้] แผนของพระบิดาเพื่อพิสูจน์ [และขัดเกลา] บุตรธิดาของพระองค์ไม่เว้นแม้แต่พระผู้ช่วยให้รอด ความทุกข์ทรมานที่พระองค์ทรงเลือกอดทน และซึ่งพระองค์ทรงอดทน เท่ากับความทุกข์ทรมานของชาย [และหญิงทุกแห่งหนรวมกัน พระองค์ตรัสขณะพระวรกายสั่นเทา พระโลหิตไหล และปรารถนาจะหลีกเลี่ยงถ้วยนั้นว่า] ‘เรารับส่วนและทำให้การเตรียมของเราเสร็จสิ้นเพื่อลูกหลานมนุษย์’ (คพ. 19:18–19)” (ใน Conference Report, Oct. 1969, p. 57)

เราทุกคนต้องทำให้ “การเตรียมของเราเสร็จสิ้นเพื่อลูกหลานมนุษย์” [คพ. 19:19] การเตรียมของพระคริสต์ต่างจากของเรามาก แต่เราทุกคนมีการเตรียมที่ต้องทำ ประตูต้องเปิด การเตรียมสำคัญเช่นนั้นมักจะเรียกร้องความเจ็บปวดบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดบางอย่างในเส้นทางชีวิต และการยินยอมบางอย่าง “แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน” [โมไซยาห์ 3:19] การทำให้การเตรียมอันศักดิ์สิทธิ์เสร็จสิ้นและการเปิดประตูซีเลสเชียลอาจนำเรา—แท้จริงแล้ว จะนำเราอย่างไม่ต้องสงสัย—ไปถึงโมงสุดท้ายของชีวิตมรรตัยของเรา3

เรามารับชีวิตมรรตัยเพื่อเผชิญแรงต้าน นั่นเป็นส่วนหนึ่งในแผนเพื่อความเจริญก้าวหน้านิรันดร์ของเรา หากไม่มีการล่อลวง ความเจ็บไข้ ความเจ็บปวด และโทมนัส คงจะไม่มีความดี คุณธรรม ความสำนึกคุณต่อความผาสุก หรือปีติ … เราต้องจำไว้ว่าแรงต้านแรงเดียวกันนั้นซึ่งขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของเราจะเปิดโอกาสให้เรามีชัยเช่นกัน4

2

ความยากลำบากในชีวิตมรรตัยของเราเป็นไปเพื่อการเติบโตและประสบการณ์ของเรา

เมื่อ [ความยุ่งยากของชีวิตมรรตัย] ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ขัดเกลาเรา สอนเรา และเป็นพรแก่เรา นั่นจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ทำให้เราสำนึกคุณมากขึ้น รักมากขึ้น เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นในยามยากลำบากของพวกเขา

ใช่ เราทุกคนมีช่วงเวลาที่ยาก ทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม แต่แม้ในเวลาสาหัสที่สุด ทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน ปัญหาและคำพยากรณ์เหล่านั้นไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากเป็นพรแก่คนชอบธรรมและช่วยคนที่ชอบธรรมน้อยกว่าให้มาสู่การกลับใจ พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา และพระคัมภีร์บอกเราว่าพระองค์ “ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” [ยอห์น 3:16]5

ลีไฮผู้ประสาทพรที่ยิ่งใหญ่ในพระคัมภีร์มอรมอนพูดให้กำลังใจเจคอบบุตรชายที่เกิดในแดนทุรกันดารในเวลาของความลำบากและการตรงกันข้าม ชีวิตของเจคอบไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคาด และไม่ได้เป็นไปตามวิถีของประสบการณ์ที่วางไว้ เขาประสบความทุกข์ยากและความล้มเหลว แต่ลีไฮสัญญาว่าความทุกข์เช่นนั้นจะอุทิศไว้เพื่อประโยชน์ของบุตรชาย (ดู 2 นีไฟ 2:2)

ต่อจากนั้นลีไฮเพิ่มถ้อยคำเหล่านี้ที่กลายเป็นคำสอนอมตะ

“เพราะจำเป็นต้อง, มีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง หาไม่แล้ว … ความชอบธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้, ไม่ทั้งความชั่วร้าย, ไม่ทั้งความบริสุทธิ์หรือความเศร้าหมอง, ไม่ทั้งดีหรือชั่ว” (2 นีไฟ 2:11)

ข้าพเจ้าได้รับการปลอบโยนอย่างมากตลอดหลายปีจากคำอธิบายดังกล่าวเกี่ยวกับความเจ็บปวดและความผิดหวังบางอย่างของชีวิต ข้าพเจ้าได้รับการปลอบโยนมากยิ่งขึ้นว่าชายหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เคยเผชิญกับการตรงกันข้ามเช่นนั้นเพื่อจะเข้าใจดีขึ้นถึงความแตกต่างระหว่างความชอบธรรมกับความชั่วร้าย ความบริสุทธิ์กับความเศร้าหมอง ความดีกับความชั่ว จากห้องขังที่มืดและชื้นของคุกลิเบอร์ตี้ ศาสดายากรณ์โจเซฟ สมิธเรียนรู้ว่าถ้าเราต้องประสบกับความยากลำบาก นั่นก็เพื่อการเติบโตและประสบการณ์ของเรา และในที่สุดจะเป็นไปเพื่อความดีของเรา (ดู คพ. 122:5-8)

ที่ใดประตูบานหนึ่งปิด อีกบานหนึ่งจะเปิด แม้สำหรับศาสดาพยากรณ์ในเรือนจำ เรามักไม่ฉลาดพอหรือไม่มีประสบการณ์มากพอจะตัดสินทางเข้าและทางออกที่เป็นไปได้ทั้งหมด คฤหาสน์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ให้ลูกที่รักแต่ละคนของพระองค์อาจมีเพียงห้องโถงและราวบันได พรมและม่านพิเศษที่พระองค์ประสงค์จะประทานแก่เราผ่านไปบนเส้นทางของเราเพื่อครอบครองคฤหาสน์แห่งนั้น …

ในเวลาต่างกันในชีวิตเรา อาจจะหลายครั้งในชีวิตเรา เราต้องยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สิ่งที่เราไม่รู้และทรงเห็นสิ่งที่เราไม่เห็น “เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของเจ้า และทางของพวกเจ้าก็ไม่ใช่ทางของเรา พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ” (อิสยาห์ 55:8)

ถ้าท่านมีเรื่องทุกข์ใจที่บ้านกับลูกที่หลงผิด ถ้าท่านประสบความผันผวนทางการเงินและความตึงเครียดทางอารมณ์ที่คุกคามครอบครัวและความสุขของท่าน ถ้าท่านต้องพบการสูญเสียชีวิตหรือสุขภาพ ขอให้สันติสุขมาสู่จิตวิญญาณท่าน เราจะไม่ถูกล่อลวงเกินกว่าที่เราจะต้านทานได้ [ดู 1 โครินธ์ 10:13; แอลมา 13:28; 34:39] ทางที่ไม่คาดคิดและความผิดหวังของเราเป็นทางตรงและแคบไปหาพระองค์6

โจเซฟ สมิธในคุก

เมื่อโจเซฟ สมิธอยู่ในคุกลิเบอร์ตี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อท่านว่าความยากลำบากจะให้ประสบการณ์แก่เราและเป็นไปเพื่อความดีของเรา

3

เรามีเหตุผลทุกอย่างที่จะมองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นแม้ในยามยากลำบาก

มีความยุ่งยากบางอย่างเสมอในชีวิตมรรตัย และจะมีตลอดเวลา แต่การรู้สิ่งที่เรารู้ และดำเนินชีวิตอย่างที่เราพึงดำเนิน ย่อมไม่มีช่องว่างและข้อแก้ตัวให้การมองโลกในแง่ร้ายและความสิ้นหวัง …

ในช่วงชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเห็นสงครามโลกสองครั้ง บวกสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และ [อื่นๆ อีกมาก] ข้าพเจ้าทำงานจนผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและหาทางไปเรียนนิติศาสตร์ขณะเริ่มครอบครัวเล็กๆ ไปพร้อมๆ กัน ข้าพเจ้าเคยเห็นตลาดหุ้นและเศรษฐกิจโลกผันผวน ข้าพเจ้าเคยเห็นทรราชและผู้เผด็จการบางคนหลงผิด ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนไม่น้อยทั่วโลก

ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านจะไม่เชื่อว่าความยุ่งยากทั้งหมดของโลกเกิดขึ้นเฉพาะในทศวรรษของท่าน หรือสถานการณ์ไม่เคยเลวร้ายกว่าที่ท่านเป็นอยู่ หรือจะไม่มีวันดีขึ้น ข้าพเจ้ารับรองกับท่านว่าสถานการณ์แย่ลงและ จะ ดีขึ้นเสมอ จะเป็นเช่นนั้นเสมอ—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราดำเนินชีวิตและรักพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเปิดโอกาสให้พระกิตติคุณเบ่งบานในชีวิตเรา …

ตรงกันข้ามกับที่บางคนอาจจะพูด ท่านมีเหตุผลทุกอย่างในโลกนี้ให้สุขใจ มองโลกในแง่ดี และมั่นใจ คนทุกรุ่นตั้งแต่กาลเริ่มต้นมีบางสิ่งที่ต้องเอาชนะและมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไข7

4

ถ้าเรามาหาพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงแบ่งเบาภาระของเราและทำให้ภาระอันหนักอึ้งของเราเบาลง

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30) …

… การให้ความช่วยเหลืออันน่าอัศจรรย์นี้โดยพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองไม่จำกัดเฉพาะชาวกาลิลีในสมัยของพระองค์เท่านั้น การขอให้แบกแอกที่พอเหมาะและยอมรับภาระที่เบาของพระองค์ไม่จำกัดเฉพะคนรุ่นก่อนเท่านั้น นี่เคยเป็นและเป็นคำขอร้องโดยทั่วไปถึงทุกคน ทุกเมือง ทุกประชาชาติ ชายหญิงและเด็กทุกคนทุกแห่งหน

ในช่วงที่เรายากแค้นแสนเข็ญเราต้องไม่มองข้ามคำตอบที่เชื่อถือได้เพื่อแก้ไขความห่วงใยและความกังวลของโลกเรา นี่คือคำสัญญาในเรื่องสันติสุขและความคุ้มครองส่วนตัว นี่คือพลังในการปลดบาปทุกยุคทุกสมัย เราเองต้องเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงครอบครองเดชานุภาพในการแบ่งเบาภาระของเราและทำให้ภาระอันหนักอึ้งของเราเบาลง เราเองต้องมาหาพระองค์และหยุดพักจากความเหน็ดเหนื่อยของเรา

แน่นอนว่ามีข้อผูกมัดมาพร้อมสัญญาเช่นนั้น “จงเอาแอกของเราแบกไว้” พระองค์ทรงขอร้อง ในสมัยไบเบิลแอกเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยคนไถนา แอกทำให้พละกำลังของสัตว์ตัวที่สองเชื่อมประสานควบคู่ไปกับความพยายามของสัตว์ตัวแรก โดยแบ่งรับและลดการทำงานหนักของคันไถหรือเกวียน ภาระที่หนักเกินกำลังหรืออาจแบกเพียงลำพังไม่ไหว สัตว์สองตัวสามารถแบกได้อย่างสบายเท่าๆ กันด้วยการเทียมแอกร่วมกัน แอกของพระองค์เรียกร้องความพยายามมากและความตั้งใจ แต่สำหรับคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง แอกนั้นพอเหมาะและภาระก็เบา

เหตุใดจึงเผชิญภาระของชีวิตเพียงลำพัง พระคริสต์ทรงถาม หรือเหตุใดจึงเผชิญภาระเหล่านั้นด้วยความช่วยเหลือทางโลกซึ่งจะโงนเงนอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้แบกภาระหนัก แอกของพระคริสต์ เดชานุภาพและสันติสุขของการยืนเคียงข้างพระผู้เป็นเจ้าจะให้ความช่วยเหลือ สมดุล และความเข้มแข็งเพื่อเผชิญการท้าทายของเราและอดทนต่อภารกิจของเราที่นี่ในทุ่งดินแข็งของความเป็นมรรตัย

แท้จริงแล้วภาระส่วนตัวของชีวิตแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่เราทุกคนมีภาระนั้น … แน่นอนว่าโทมนัสบางอย่างเกิดขึ้นเพราะบาปของการที่โลกไม่ทำตามคำแนะนำของพระบิดาในสวรรค์ [ของเรา] ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ดูเหมือนไม่มีใครในพวกเราหลุดพ้นการท้าทายของชีวิต พระคริสต์ตรัสกับทุกคนว่า ตราบใดที่เราทุกคนต้องแบกภาระบางอย่างและเทียมแอกบางอย่าง เหตุใดจึงไม่แบกภาระและเทียมแอกของเรา คำสัญญาที่เราให้กับท่านคือ แอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา (ดู มัทธิว 11:28-30)8

เยาวชนชายยิ้ม

“สานุศิษย์ของพระคริสต์ทุกรุ่นได้รับเชิญ แท้จริงแล้วได้รับบัญชาให้เปี่ยมด้วยความเจิดจ้าอันบริบูรณ์ของความหวัง”

5

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายต้องไม่กลัวความยากลำบากของวันเวลาสุดท้าย

พระคัมภีร์ … ระบุว่าจะมีช่วงเวลาที่ทั้งโลกจะมีความยุ่งยากบางอย่าง เรารู้ว่าในสมัยการประทานของเราความไม่ชอบธรรมจะประจักษ์ชัด และจะก่อให้เกิดความยุ่งยาก ความเจ็บปวด และการลงโทษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตัดความไม่ชอบธรรมเหล่านั้นให้สั้นลงในเวลาอันเหมาะสมของพระองค์ แต่ภารกิจของเราคือดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่และซื่อสัตย์ ไม่กังวลเกินเหตุกับความโศกาอาดูรของโลกหรือเมื่อใดโลกจะถึงจุดจบ ภารกิจของเราคือมีพระกิตติคุณในชีวิตและเป็นแสงเจิดจ้า เป็นเมืองที่ตั้งบนเนินเขา ซึ่งสะท้อนความสวยงามของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ปีติ และความสุขซึ่งมักจะมาถึงทุกผู้ทุกวัยที่รักษาพระบัญญัติเสมอ

ในสมัยการประทานสุดท้ายนี้จะมีความยากลำบากใหญ่หลวง (ดู มัทธิว 24:21) เรารู้ว่าจะมีสงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม (ดู คพ. 45:26) และทั้งแผ่นดินโลกจะอยู่ในความโกลาหล (ดู คพ. 45:26) ทุกสมัยการประทานเคยมีเวลาที่น่ากลัวมาแล้ว แต่สมัยของเราจะมีภัยอันตรายจริงๆ รวมอยู่ด้วย (ดู 2 ทิโมธี 3:1) คนชั่วจะเจริญรุ่งเรือง (ดู 2 ทิโมธี 3:13) แต่คนชั่วเจริญรุ่งเรืองมาแล้วบ่อยมาก ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นและความชั่วช้าสามานย์จะมีมาก (ดู คพ. 45:27)

แน่นอนผลตามธรรมชาติของคำพยากรณ์ลักษณะนี้คือความกลัว และไม่ใช่ความกลัวเฉพาะกับคนรุ่นเยาว์เท่านั้น แต่เป็นความกลัวของคนทุกวัยผู้ไม่เข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจ

แต่ข้าพเจ้าต้องการเน้นว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเช่นนี้ และสิ่งนี้ไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า พระเยโฮวาห์ที่ยิ่งใหญ่ตรัสกับอิสราเอลสมัยโบราณดังนี้

“จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่ากลัวหรือครั่นคร้ามเขาเลย เพราะว่าผู้ที่ไปกับท่านคือพระยาเวห์พระเจ้าของท่าน พระองค์จะไม่ทรงปล่อยท่านให้ล้มเหลวหรือทอดทิ้งท่าน …

“ผู้ที่เสด็จไปข้างหน้าท่านคือพระยาเวห์ พระองค์สถิตอยู่กับท่าน พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้ท่านล้มเหลว หรือทอดทิ้งท่าน อย่ากลัวและอย่าขยาดเลย” (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:6, 8)

และกับท่าน คนรุ่นที่น่าพิศวงในอิสราเอลปัจจุบัน พระเจ้าตรัสดังนี้

“ฉะนั้น, อย่ากลัวเลย, เจ้าฝูงแกะน้อย; จงทำดีเถิด; ต่อให้แผ่นดินโลกและนรกรวมกันต่อต้านเจ้า, แต่หากเจ้าสร้างขึ้นบนศิลาของเรา, พวกเขาจะเอาชนะไม่ได้….

“จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว.” (คพ. 6:34, 36)

คำแนะนำเช่นนั้นมีอยู่ทั่วพระคัมภีร์สมัยปัจจุบันของเรา จงฟังคำรับรองที่ยอดเยี่ยมนี้: “อย่ากลัวเลย, เด็กน้อยทั้งหลาย, เพราะเจ้าเป็นของเรา, และเราชนะโลกแล้ว, และเจ้ามาจากคนเหล่านั้นที่พระบิดาของเราประทานให้เรา” (คพ. 50:41) “ตามจริงแล้ว เรากล่าวแก่เจ้า เพื่อนทั้งหลายของเรา, อย่ากลัวเลย, ให้ใจเจ้าสบาย; แท้จริงแล้ว, จงชื่นชมยินดีตลอดไป, และในทุกสิ่งจงน้อมขอบพระทัย” (คพ. 98:1)

ตามคำแนะนำที่ยอดเยี่ยมเช่นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเรามีหน้าที่ชื่นชมยินดีมากขึ้นอีกนิดและสิ้นหวังน้อยลงอีกหน่อย ขอบพระทัยสำหรับสิ่งที่เรามีและสำหรับจำนวนพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา และพูดน้อยลงสักนิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราอาจไม่มีหรือความวิตกกังวลที่อาจมากับช่วงเวลายุ่งยากในคนรุ่นนี้หรือรุ่นอื่น

เวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่และความตื่นเต้น

สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายนี่เป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่และความตื่นเต้น—ยุคสำคัญที่สุดยุคหนึ่งในการฟื้นฟูและด้วยเหตุนี้จึงเป็นยุคสำคัญที่สุดยุคหนึ่งในสมัยการประทานทั้งหมด เพราะเหตุนี้สมัยการประทานของเราจึงเป็นสมัยการประทานสำคัญที่สุดในสมัยการประทานทั้งหมด เราต้องมีศรัทธาและความหวัง คุณธรรมพื้นฐานอันสำคัญยิ่งทั้งสองของการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ เราต้องแสดงความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าต่อไป เพราะนั่นเป็นหลักธรรมข้อแรกในประมวลความเชื่อของเรา เราต้องเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีเดชานุภาพทั้งมวล พระองค์ทรงรักเรา และงานของพระองค์จะไม่ถูกขัดขวางหรือล้มเหลวในชีวิตเราแต่ละคนหรือในโลกทั่วไป …

ข้าพเจ้าสัญญากับท่านในพระนามของพระเจ้าผู้ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงคุ้มครองและทรงดูแลผู้คนของพระองค์เสมอ เราจะมีความยุ่งยากอย่างที่คนทุกรุ่นและทุกคนเคยมี แต่ด้วยพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านมีความหวัง สัญญา และคำรับรองทุกอย่าง พระเจ้าทรงมีเดชานุภาพเหนือวิสุทธิชนของพระองค์และจะทรงเตรียมสถานที่แห่งสันติสุข ความคุ้มครอง และความปลอดภัยให้ผู้คนของพระองค์เสมอ เมื่อเรามีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เราย่อมหวังโลกที่ดีกว่าได้—สำหรับตัวเรา และสำหรับมวลมนุษยชาติ ศาสดาพยากรณ์อีเธอร์สอนในสมัยโบราณ (และท่านรู้บางอย่างเกี่ยวกับความทุกข์ยาก) ดังนี้ “ดังนั้น, ผู้ใดที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าจะหวังได้อย่างแน่แท้เพื่อโลกที่ดีกว่านี้, แท้จริงแล้ว, แม้มีที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า, ซึ่งความหวังนี้มาจากศรัทธา, อันจะทำสมอให้จิตวิญญาณมนุษย์, ซึ่งจะทำให้พวกเขามั่นคงและแน่วแน่, ทำงานดีมากมายอยู่เสมอ, อันจะนำไปสู่การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า.” (อีเธอร์ 12:4)

สานุศิษย์ของพระคริสต์ทุกรุ่นได้รับเชิญ แท้จริงแล้วได้รับบัญชาให้เปี่ยมด้วยความเจิดจ้าอันบริบูรณ์ของความหวัง (ดู 2 นีไฟ 31:20)

พยายามขจัดความกลัว

ถ้าศรัทธาและความหวังของเรายึดมั่นอยู่กับพระคริสต์ คำสอน พระบัญญัติ และสัญญาของพระองค์ เมื่อนั้นเราย่อมสามารถพึ่งพาบางอย่างที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งและน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถแยกทะเลแดงและนำอิสราเอลยุคปัจจุบันไปถึงที่ซึ่ง “ไม่มีใครทำให้กลัวหรือทำร้าย” (เพลงสวด, 1985, บทเพลงที่ 17) ความกลัวซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้คนในวันที่ยุ่งยากเป็นอาวุธสำคัญในคลังสรรพาวุธที่ซาตานใช้ทำให้มนุษยชาติไม่มีความสุข คนที่กลัวย่อมสูญเสียพละกำลังสู้ศึกชีวิตในการต่อกรกับความชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้อำนาจของคนชั่วคนนั้นจึงพยายามทำให้เกิดความกลัวในใจมนุษย์เสมอ มนุษยชาติเผชิญความกลัวในทุกยุคทุกสมัย

ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าและผู้สืบตระกูลของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ เราต้องหาทางขจัดความกลัวออกจากบรรดาผู้คน คนขลาดและตาขาวจะทำงานของตนได้ไม่ดี และพวกเขาจะทำงานของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เลย วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีพันธ-กิจที่ได้รับมอบหมายจากเบื้องบนให้บรรลุสิ่งซึ่งจะต้องไม่สลายไปกับความกลัวและความวิตกกังวล

อัครสาวกของพระเจ้าในสมัยแรกเริ่มกล่าวดังนี้ “พระเจ้าประทานเคล็ดลับในการเอาชนะความกลัวผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธดังนี้ “หากเจ้าพร้อมเจ้าจะไม่กลัว” (คพ. 38:30) ข่าวสารอันล้ำเลิศดังกล่าวต้องย้ำวันนี้ในสเตคและวอร์ดทุกแห่ง” (เอ็ล-เดอร์จอห์น เอ. วิดโซ, ใน Conference Report, Apr. 1942, p. 33)

เราพร้อมยอมตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ เราพร้อมกำชัยชนะเหนือความปรารถนาทางกายของเราหรือไม่ เราพร้อมเชื่อฟังกฎที่ชอบธรรมหรือไม่ ถ้าเราสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้อย่างซื่อสัตย์ว่าพร้อม เราย่อมสั่งให้ความกลัวออกไปจากชีวิตเราได้ แน่นอนว่าระดับความกลัวในใจเราอาจวัดได้จากการเตรียมดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมของเรา—การดำเนินชีวิตในทางที่ควรเป็นลักษณะนิสัยของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนในทุกยุคทุกสมัย

สิทธิพิเศษ เกียรติ และความรับผิดชอบของการมีชีวิตอยู่ในยุคสุดท้าย

ข้าพเจ้าจะทิ้งท้ายด้วยข้อความสำคัญที่สุดตอนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยอ่านจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธผู้ประสบความยุ่งยากมากมายในชีวิตและผู้จ่ายราคาสูงสุดเพื่อชัยชนะของท่าน แต่ท่าน มีชัยชนะและท่านเป็นคนที่มีความสุข เอาจริงเอาจัง และมองโลกในแง่ดี คนที่รู้จักท่านรู้สึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของท่าน แม้ในยามมืดมิดที่สุด ท่านไม่หมดกำลังใจ หรืออยู่ในความสิ้นหวังนาน

ท่านกล่าวเกี่ยวกับสมัยของเรา—ของท่านและของข้าพเจ้า—ว่าสมัยของเราคือช่วงเวลาที่ “บรรดาศาสดาพยากรณ์ ปุโรหิต และกษัตริย์ [ในอดีตกาล] พูดถึงด้วยความเบิกบานใจเป็นพิเศษ พวกท่านตั้งตาคอยวันที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความคาดหวังอันเปี่ยมปีติ พวกท่านร้องเพลง เขียน และพยากรณ์ถึงยุคสมัยของเรา … เราเป็นคนโปรดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้นำรัศมีภาพยุคสุดท้ายออกมา” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ, 199]

ช่างเป็นสิทธิพิเศษกระไรเช่นนี้! ช่างเป็นเกียรติกระไรเช่นนี้! ช่างเป็นความรับผิดชอบกระไรเช่นนี้! และช่างเป็นปีติกระไรเช่นนี้! เรามีเหตุผลทุกอย่างในกาลเวลาและนิรันดรให้ชื่นชมยินดีและขอบพระทัยสำหรับคุณภาพชีวิตของเราและคำสัญญาที่เราได้รับ9

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • การรู้ว่าความยากลำบากเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความก้าวหน้านิรันดร์ของเราช่วยเราได้อย่างไร (ดู หัวข้อ 1) ท่านคิดว่าเหตุใดความยากลำบากจึงเป็นส่วนจำเป็นของความเป็นมรรตัย

  • ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 2 เกี่ยวกับจุดประสงค์บางประการของความยากลำบาก ท่านเคยเห็นอย่างไรว่าความยากลำบากสามารถเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเรา เราจะมองความยากลำบากจากทัศนะนิรันดร์ของพระเจ้าได้อย่างไร

  • ตามที่ประธานฮันเตอร์สอน เหตุใดเราจึงมีเหตุผลให้สุขใจและมองโลกในแง่ดีแม้ในยามยากลำบาก (ดู หัวข้อ 3) เราจะมองโลกในแง่ดีมากขึ้นในช่วงเวลาเช่นนั้นได้อย่างไร เราจะยังมีพรอะไรบ้างแม้ในช่วงที่ยากลำบากแสนสาหัส

  • เรายอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้พระองค์ทรงแบกภาระของเราและทำให้ภาระอันหนักอึ้งของเราเบาลงอย่างไร (ดู หัวข้อ 4) การรับแอกของพระองค์ไว้กับเราหมายความว่าอย่างไร พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านในยามยากลำบากอย่างไร

  • ประธานฮันเตอร์สอนว่าความรู้สึกกลัวเกี่ยวกับความยากลำบากของวันเวลาสุดท้ายไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า (ดู หัวข้อ 5) การมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวเป็นอันตรายอย่างไร เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังและศรัทธาแทนที่จะอยู่ด้วยความกลัวได้อย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

ยอห์น 14:27; 16:33; ฮีบรู 4:14–16; 5:8–9; 1 นีไฟ 1:20; แอลมา 36:3; คพ. 58:2–4; 101:4–5; 121:7–8; 122:7–9

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“คนจำนวนมากพบว่าเวลาดีที่สุดในการศึกษาคือตอนเช้าหลังจากพักผ่อนตอนกลางคืน … บางคนชอบศึกษาในเวลาเงียบสงบหลังเลิกงานและเรื่องกลัดกลุ้มของวันนั้นผ่านพ้นไปแล้ว … บางทีสิ่งสำคัญกว่าเวลาของวันคือเวลาประจำที่กำหนดไว้ศึกษา” (ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “Reading the Scriptures,” Ensign, Nov. 1979, 64)

อ้างอิง

  1. “God Will Have a Tried People,” Ensign, May 1980, 24.

  2. “Come unto Me,” Ensign, Nov. 1990, 17–18.

  3. “The Golden Thread of Choice,” Ensign, Nov. 1987, 54.

  4. “God Will Have a Tried People,” 25–26.

  5. “An Anchor to the Souls of Men,” Ensign, Oct. 1993, 71.

  6. “The Opening and Closing of Doors,” 59–60.

  7. “An Anchor to the Souls of Men,” 70.

  8. “Come unto Me,” 17–18.

  9. “An Anchor to the Souls of Men,” 71–73.