คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 23: ‘หาได้รับใช้น้อยไปกว่า’


บทที่ 23

“หาได้รับใช้น้อยไปกว่า”

“พวกเราส่วนใหญ่จะเป็นคนสงบเสงี่ยมไม่ค่อยมีใครรู้จักผู้ … ทำงานของเราโดยไม่ป่าวประกาศ กับท่านที่อาจพบว่า … ไม่มีคนสนใจ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ท่าน ‘หาได้รับใช้น้อยไปกว่า’ ผู้ร่วมงานที่คนสนใจมากที่สุดไม่”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ไม่เพียงเป็นผู้นำที่อุทิศตนและศาสดาพยากรณ์ที่คนรักเท่านั้น แต่คนรู้จักท่านเพราะวิธีรับใช้แบบเงียบๆ ของท่านด้วย ท่านรู้ว่าการรับใช้สำคัญในตัวมันเอง ไม่ว่าจะมีคนรับรู้หรือไม่ก็ตาม เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยพูดถึงท่านดังนี้ “ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นคนอ่อนโยน … เมื่อข้าพเจ้าตื่นนอนหลังจากวันที่เหนื่อยล้าและมอมแมมหลังจากทำงานมอบหมายกับท่านในอียิปต์ ข้าพเจ้าเห็นชายที่อ่อนน้อมถ่อมตนคนนี้นั่งขัด รองเท้าให้ข้าพเจ้าอย่างเงียบๆ งานที่ท่านหวังว่าจะทำให้เสร็จเรียบร้อยโดยไม่ให้ข้าพเจ้าเห็น”1

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสังเกตเห็นการรับใช้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนของประธานฮันเตอร์ครั้งแรกเมื่ออุทิศพระวิหารลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนียในปี 1956 หลายปีก่อนพวกท่านได้รับเรียกเป็นอัครสาวก ท่านเล่าว่า

“ข้าพเจ้า … เริ่มรู้จักประธานฮันเตอร์คราวที่ท่านรับใช้เป็นประธานสเตคแพซา-ดีนา แคลิฟอร์เนียและมีหน้าที่ประสานงานในระดับท้องที่เพื่อเตรียมอุทิศพระวิหารลอสแอนเจลิส (แคลิฟอร์เนีย) ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พิมพ์ตั๋ว งานมอบมายของท่านมหึมา ข้าพเจ้าเห็นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตั๋วซึ่งเป็นรหัสสี ตัวหนังสือปรา-ณีต และตัวเลขเรียงเป็นระเบียบที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็น ท่านยกความดีความชอบให้ผู้อื่นอย่างใจกว้างและไม่ให้ใช้ชื่อท่านมากเกินไปถึงแม้ท่านจะเป็นพลังผลักดันเบื้องหลังภารกิจสำคัญเหล่านี้”2

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. เฟาสท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสังเกตว่า “ท่านไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยอ ด้วยความเฉลียวฉลาดของท่าน ท่านจะนั่งอยู่ในหมู่พี่น้องของท่านและพูดน้อยมาก ท่านอยู่เงียบๆ กับตนเอง”3

ประธานฮันเตอร์เข้าใจว่าการรับใช้ทุกครั้งสำคัญในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะมีคนรับรู้หรือสังเกตเห็นหรือไม่ก็ตาม หลายสัปดาห์ก่อนประธานฮันเตอร์จะถึงแก่กรรม เพื่อนคนหนึ่งถามว่า “ประธานครับ ตำแหน่งหรือการเรียกใดสูงส่งที่สุดครับ—เพื่อนรักและไว้ใจได้ หรือศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า” หลังจากฟังคำถาม “ท่านประธานไตร่ตรองอย่างเงียบๆ ดูเหมือนจะหลายนาที จากนั้นก็จับมือเพื่อนมากุมไว้ และหันหน้ามองเขาตรงๆ น้ำตาไหลอาบแก้มที่บอบบางของท่าน และตอบว่า ‘ ทั้งสอง เป็นการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของความไว้วางใจ’”4

ผู้ชายและเด็กชายกับเบสบอล

คนมากมาย “ผู้ไม่ได้เป็นจุดสนใจ ผู้ไม่ได้รับความสนใจจากชาวโลก” ต่างให้การรับใช้ที่เปลี่ยนชีวิต

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

คนที่รับใช้อย่างเงียบๆ และไม่มีใครสังเกตเห็น “หาได้รับผู้คนใช้น้อยไปกว่า” คนที่ได้รับการสรรเสริญของโลกไม่

มีคนกล่าวถึงแม่ทัพโมโรไนที่กล้าหาญและอายุยังน้อยว่า “หากคนทั้งปวงได้เป็นแล้ว, และได้เป็น, และจะเป็นอยู่ตลอดไป, เหมือนกับโมโรไน, ดูเถิด, พลังนั้นของนรกจะสั่นสะเทือนตลอดกาล; แท้จริงแล้ว, มารจะไม่มีวันมีอำนาจเหนือใจลูกหลานมนุษย์.” (แอลมา 48:17)

นี่เป็นคำชมเชยสำหรับชายที่มีชื่อเสียงและเก่งกล้าสามารถ! ข้าพเจ้านึกคำสรรเสริญที่คนหนึ่งมีให้อีกคนหนึ่งที่ไพเราะกว่านี้ไม่ออก สองข้อต่อมาเป็นการกล่าวถึงฮีลามันกับพี่น้องของเขาผู้มีบทบาทเด่นชัดน้อยกว่าโมโรไน “บัดนี้ดูเถิด, ฮีลามันและพี่น้องท่านหาได้รับใช้ผู้คนน้อยไปกว่าโมโรไนไม่” (แอลมา 48:19)

อีกนัยหนึ่งคือ ถึงแม้ฮีลามันจะไม่โดดเด่นหรือไม่เป็นที่สนใจเท่าโมโรไน แต่ท่านรับใช้ นั่นคือท่านมีส่วนช่วยหรือมีประโยชน์เท่าๆ กับโมโรไน

เห็นได้ชัดว่าเราจะได้ประโยชน์มากจากการศึกษาชีวิตของแม่ทัพโมโรไน ท่านเป็นแบบอย่างของศรัทธา การรับใช้ การอุทิศตน คำมั่นสัญญา และคุณลักษณะตามชอบพระทัยพระเจ้าอีกมากมาย อย่างไรก็ดี แทนที่จะสนใจเฉพาะชายที่ยอดเยี่ยมคนนี้ ข้าพเจ้ากลับเลือกมองคนที่ไม่เป็นจุดสนใจ คนที่ไม่ได้รับความสนใจจากชาวโลก แต่เป็นคนดังที่พระคัมภีร์เขียน คือ “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” ไม่

ใช่ว่าเราทุกคนจะเป็นเหมือนโมโรไน คือได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนร่วมงานของเราทั้งวันทุกวัน พวกเราส่วนใหญ่จะเป็นคนสงบเสงี่ยมไม่ค่อยมีใครรู้จักผู้ไปๆ มาๆ และทำงานของเราโดยไม่มีการป่าวประกาศ กับท่านที่อาจพบ [เคยคิด] ว่าตนโดดเดี่ยว หรือน่าหวาดหวั่น หรือแค่ไม่มีคนสนใจ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ท่าน “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” ผู้ร่วมงานที่คนสนใจมากที่สุดไม่ ท่านเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของพระผู้เป็นเจ้าด้วย

ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาการทุ่มเทรับใช้อย่างเงียบๆ ของมารดาหรือบิดาในบ้านวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่มีค่าควร ลองนึกถึงครูสอนหลักคำสอนพระกิตติคุณ คณะนักร้องปฐมวัย ครูลูกเสือ และผู้เยี่ยมสอนของสมาคมสงเคราะห์ที่รับใช้และเป็นพรแก่คนหลายล้านคนแต่ชื่อของพวกเขาไม่เคยได้รับเสียงปรบมือชมเชยจากสาธารณชนหรือเป็นบทความเด่นในสื่อของประเทศ

คนที่ไม่มีใครเห็นหลายแสนคนทำให้โอกาสและความสุขของเราเกิดขึ้นได้ทุกวัน ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า พวกเขา “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า’ คนที่ชีวิตพวกเขาขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ไม่

จุดสนใจของประวัติศาสตร์และความสนใจร่วมสมัยมักจะเน้น คนหนึ่งคน ไม่ใช่ คนหลายคน บุคคลหนึ่งมักได้รับเลือกออกจากหมู่มิตรและพากันยกให้เป็นวีรบุรุษ ข้าพเจ้ายอมรับว่าความสนใจลักษณะนี้เป็นวิธีหนึ่งที่บอกให้รู้ว่าผู้คนชื่นชมหรือเห็นสิ่งใดมีค่า แต่บางครั้งการยกย่องเช่นนั้นไม่สมควรเกิดขึ้นหรืออาจเป็นการฉลองคุณค่าที่ไม่ถูกต้อง

เราต้องเลือกวีรบุรุษและแบบอย่างของเราอย่างฉลาดขณะขอบคุณผองเพื่อนและพลเมืองเหล่านั้นผู้ไม่มีชื่อเสียงแต่ “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” คนแบบโมโรไนในชีวิตเราไม่5

2

ในพระคัมภีร์ คนมากมายที่รับใช้ในเงาของคนอื่น ได้ทำคุณประโยชน์สำคัญมากมาย

บางทีท่านกับข้าพเจ้าน่าจะพิจารณาคนบางคนที่น่าสนใจจากพระคัมภีร์ที่ไม่ได้รับความสนใจแต่ได้พิสูจน์ตนผ่านเลนส์ยาวของประวัติศาสตร์ว่าเป็นวีรบุรุษอย่างแท้จริง

หลายคนที่อ่านเรื่องราวของนีไฟศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่แทบจะไม่นึกถึงบุตรชายที่กล้าหาญอีกคนหนึ่งของลีไฮ ชื่อของเขาคือแซม นีไฟเป็นคนมีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอน แต่แซมเล่า พระคัมภีร์มอรมอนเอ่ยชื่อแซมเพียงสิบครั้ง เมื่อลีไฮให้คำแนะนำและอวยพรลูกหลาน เขากล่าวกับแซมว่า

“ลูกและพงศ์พันธุ์ของลูก, เป็นสุขแล้ว; เพราะลูกจะรับแผ่นดินนั้นเป็นมรดกเช่นเดียวกับนีไฟน้องชายลูก. และพงศ์พันธุ์ของลูกจะนับเข้ากับพงศ์พันธุ์ของเขา; และลูกจะเป็นแม้เหมือนน้องชายลูก, และพงศ์พันธุ์ของลูกจะเป็นเสมือนหนึ่งพงศ์พันธุ์ของเขา; และลูกจะได้รับพรตลอดวันเวลาของลูก.” (2 นีไฟ 4:11)

โดยทั่วไปแล้วบทบาทของแซมคือสนับสนุนและช่วยเหลือน้องชายที่ได้รับการสรรเสริญมากกว่า และในที่สุดเขาได้รับพรเหมือนที่สัญญาไว้กับนีไฟและลูกหลานของท่าน ไม่มีสิ่งใดที่สัญญากับนีไฟแล้วแซมผู้ซื่อสัตย์จะไม่ได้รับ แต่เรารู้รายละเอียดน้อยมากเกี่ยวกับการรับใช้และการทำคุณประโยชน์ของแซม เขาเป็นคนที่แทบจะไม่มีใครรู้จักชีวิตเขา แต่เห็นได้ชัดว่าเขาเป็นผู้นำที่กำชัยชนะและเป็นผู้ชนะในบันทึกของนิรันดร

คนมากมายทำคุณประโยชน์ในวิธีที่ไม่มีใครแซ่ซ้องสรรเสริญ อิชมาเอลเดินทางกับครอบครัวของนีไฟโดยที่ตัวเขาเสียสละมาก ทนรับ “ความทุกข์, ความหิว, ความกระหาย, และความเหน็ดเหนื่อยมามาก” (1 นีไฟ 16:35) ต่อจากนั้นท่ามกลางความทุกข์ทั้งหมดนี้ เขาสิ้นชีวิตในแดนทุรกันดาร มีพวกเราไม่กี่คนเริ่มเข้าใจการเสียสละของชายคนนั้นในสมัยเริ่มแรกและในสภาพเหล่านั้น บางทีถ้าเราสำเหนียกและเข้าใจมากกว่านี้ เราคงจะอาลัยเหมือนธิดาของเขาในแดนทุรกันดาร สำหรับสิ่งที่ชายคนนี้มอบไว้ —และเสียสละ!—ทั้งนี้เพื่อเราจะได้มีพระคัมภีร์มอรมอนในปัจจุบัน

ชื่อและเรื่องราวที่น่าจดจำของชายหญิงผู้ “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” มีมากมายในพระคัมภีร์มอรมอน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ซาไรยาห์หรือเอบิชหญิงรับใช้ของราชินีชาวเล-มัน แต่ละคนทำคุณประโยชน์ที่ตามนุษย์ไม่รับรู้แต่พระเนตรของพระผู้เป็นเจ้ามองเห็น

เรามีพระคัมภีร์เพียงสิบสองข้อเกี่ยวกับชีวิตของโมไซยาห์ กษัตริย์ปกครองแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลาและบิดาของกษัตริย์เบ็นจามินผู้มีชื่อเสียง ทว่าการรับใช้ผู้คนของเขาจะขาดเสียมิได้ เขานำผู้คนโดย “การสั่งสอนและการพยากรณ์หลายประการ” และ “ได้รับคำแนะนำอยู่ตลอดเวลาโดยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (ออมไน 1:13) ลิมไฮ อมิวเล็ค และเพโฮรัน—ซึ่งคนหลังสุดเป็นมีจิตวิญญาณสูงส่ง เขาไม่กล่าวโทษเมื่อเขาถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม—เป็นตัวอย่างของคนที่รับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัวขณะที่คนอื่นๆ เป็นจุดสนใจ

นายทหารทีแอนคัมผู้สละชีวิต หรือเลโคนิอัสหัวหน้าผู้พิพากษาที่สอนผู้คนให้กลับใจในช่วงความท้าทายของชาวแกดิแอนทัน หรือออมเนอร์และฮิมไนซึ่งเป็นผู้สอนศาสนาที่ไม่ถูกกล่าวถึง เขาเหล่านั้น “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” คู่ของพวกเขาไม่ แต่พวกเขาก็ยังได้รับความสนใจในพระคัมภีร์น้อยมาก

เรารู้ไม่มากเกี่ยวกับชิบลันบุตรชายที่ซื่อสัตย์ของแอลมา ซึ่งเรื่องราวของเขาแทรกอยู่ระหว่างเรื่องราวของฮีลามันผู้นำในอนาคตกับโคริแอนทอนผู้ล่วงละเมิด แต่ที่สำคัญคือ ในพระคัมภีร์บรรยายว่าเขาเป็น “คนเที่ยงธรรม [ผู้] ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 63:2) นีไฟศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ผู้ถูกกล่าวถึงในหนังสือของฮีลามัน มีน้องชายชื่อลีไฮ ซึ่งดูเหมือนจะกล่าวถึงเขาเพียงผ่านๆ แต่บันทึกบอกไว้ว่าเขา “ไม่ได้ด้อยกว่า [นีไฟ] แม้แต่น้อยในเรื่องที่เกี่ยวกับความชอบธรรม.” [ฮี-ลามัน 11:19; ดู ข้อ 18ด้วย]6

เบ็นจามินกับโมไซยาห์

หลังจากเอบิช (ซ้าย) จับมือราชานีชาวเลมัน ราชินีก็ลุกจากพื้น (ดู แอลมา 19:15-29)

3

ถึงแม้ไม่มีใครรู้จักเราดี แต่เราสามารถให้การรับใช้อันสำคัญยิ่งในอาณาจักร

แน่นอนว่ามีแบบอย่างของบุคคลที่ได้รับใช้ในสมัยการประทานของเราเช่นกัน ออ-ลิเวอร์ แกรนเจอร์เป็นคนสงบเสงี่ยมและคอยช่วยเหลืองานในยุคสุดท้ายที่พระเจ้าทรงระลึกถึงเขาในภาค 117 ของหลักคำสอนและพันธสัญญา หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อออ-ลิเวอร์ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอถือวิสาสะทำให้ท่านคุ้นเคยกับชายที่สัตย์ซื่อในยุคแรก

ออลิเวอร์ แกรนเจอร์อายุแก่กว่าโจเซฟ สมิธสิบเอ็ดปี และมาจากเขตภาคเหนือของนิวยอร์กเหมือนท่านศาสดาพยากรณ์ เพราะเป็นหวัดรุนแรงเมื่ออายุสามสิบสามปี ออ-ลิเวอร์จึงสูญเสียการมองเห็นไปมาก แม้จะมองเห็นจำกัด แต่เขารับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาสามครั้ง เขาทำงานที่พระวิหารเคิร์ทแลนด์และรับใช้ในสภาสูงเคิร์ทแลนด์ด้วย

เมื่อวิสุทธิชนส่วนใหญ่ถูกขับออกจากเคิร์ทแลนด์ โอไฮโฮ ศาสนจักรเหลือหนี้บางส่วนที่ยังไม่ได้ชำระ ออลิเวอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของโจเซฟ สมิธและฝ่ายประธานสูงสุดโดยกลับไปเคิร์ทแลนด์เพื่อจัดการกิจธุระของศาสนจักร พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาบันทึกเกี่ยวกับภารกิจนี้ว่า “ฉะนั้น, ให้เขาแข็งขันอย่างจริงจังเพื่อการไถ่ฝ่ายประธานสูงสุดแห่งศาสนจักรของเรา, พระเจ้าตรัส” (คพ. 117:13)

เขาทำงานมอบหมายนี้ด้วยการทำให้เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องพอใจจนคนหนึ่งในนั้นเขียนว่า “การบริหารของออลิเวอร์ แกรนเจอร์ในการจัดการกิจธุระที่ยังไม่แล้วเสร็จของคนที่ย้ายไปฟาร์เวสต์ ในการไถ่ถอนทรัพย์สินที่พวกเขาจำนองไว้ และยืนยันความซื่อสัตย์ของพวกเขาด้วยวิธีนั้น ถือว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง และทำให้ข้าพเจ้านับถือมากที่สุด และทุกคนระลึกถึงเขาด้วยความสำนึกคุณ” (Horace Kingsbury, ตามที่อ้างใน Joseph Smith, History of the Church, 3:174.)

ช่วงที่ออลิเวอร์อยู่ในเคิร์ทแลนด์ บางคนรวมทั้งสมาชิกที่ไม่พอใจศาสนจักร กำลังพยายามลดความน่าเชื่อของฝ่ายประธานสูงสุดและทำให้คนสงสัยความซื่อสัตย์ของพวกท่านโดยการเผยแพร่ข้อกล่าวหาเท็จ ออลิเวอร์ แกรนเจอร์ “ไถ่ฝ่ายประธานสูงสุด” โดยแท้ผ่านการรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของเขา … พระเจ้าตรัสถึงออลิเวอร์ แกรนเจอร์ว่า “ชื่อเขาจะมีอยู่ในความทรงจำอย่างมีเกียรติจากรุ่นสู่รุ่น, ตลอดกาลและตลอดไป.” (คพ. 117:12) “เราจะยกออลิเวอร์ผู้รับใช้ของเราขึ้น และทำให้เขามีชื่อเสียงเกริกก้องบนแผ่นดินโลก และในหมู่คนของเรา เพราะความซื่อตรงของจิตวิญญาณเขา” (History of the Church, 3:350)

เมื่อเขาสิ้นชีวิตในปี 1841 ถึงแม้จะมีวิสุทธิชนเพียงไม่กี่คนอยู่ในเขตเคิร์ทแลนด์ และแม้เพื่อนของวิสุทธิชนมีน้อยลง แต่คนจำนวนมากจากเมืองใกล้เคียงมาร่วมพิธีศพของออลิเวอร์ แกรนเจอร์

แม้ปัจจุบันมีคนรู้จักออลิเวอร์ แกรนเจอร์ไม่มากเท่าผู้นำรุ่นแรกๆของศาสนจักร แต่เขาเป็นคนยิ่งใหญ่และสำคัญในการรับใช้อาณาจักร และถึงแม้ไม่มีใครจดจำชื่อของเขานอกจากพระเจ้า แต่นั่นเป็นพรมากแล้วสำหรับเขา—หรือสำหรับเราทุกคน7

4

นีไฟเป็นแบบอย่างของการจดจำว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นแหล่งพลังและพรของเขา

ข้าพเจ้าคิดว่าเราควรตระหนักว่าอันตรายทางวิญญาณเกิดขึ้นได้กับคนที่เข้าใจผิดเรื่องการที่คนคนหนึ่งต้องเป็นจุดเด่นเสมอ พวกเขาอาจโลภความมีชื่อเสียงและด้วยเหตุนี้จึงลืมความสำคัญของการรับใช้ที่ให้

เราต้องไม่ยอมให้ตัวเราสนใจแต่แสงแวบเดียวของความนิยมชมชอบหรือมัวแต่ดึงความสนใจแทนที่จะลงแรงทำจริงโดยไม่บอกใครเพื่อดึงความสนพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า แม้ไม่ได้เป็นข่าวรับอรุณ ความจริงแล้วเสียงปรบมือและความสนใจอาจกลายเป็นจุดอ่อนทางวิญญาณของผู้มีพรสวรรค์มากที่สุดในบรรดาพวกเราได้

ถ้าจุดสนใจของประชานิยมตกกับท่านบางช่วงในชีวิต อาจจะดีถ้าท่านทำตามแบบอย่างของคนมีชื่อเสียงในพระคัมภีร์ นีไฟเป็นหนึ่งในแบบอย่างที่ยอดเยี่ยม หลังจากเขาเดินทางในแดนทุรกันดารกับครอบครัวจนถึงที่หมาย เจตคติของเขายังคงอยู่กับเรื่องสำคัญที่สุด เขากล่าวดังนี้

“และเมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะชื่นชมยินดี, ใจข้าพเจ้าครวญครางเพราะบาปของข้าพเจ้า; กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าได้วางใจผู้ใด.

“พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทรงเคยเป็นผู้สนับสนุนข้าพเจ้า; พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าผ่านความทุกข์ของข้าพเจ้าในแดนทุรกันดาร; และพระองค์ทรงปกปักรักษาข้าพเจ้าเหนือผืนน้ำแห่งห้วงลึกอันใหญ่หลวง.

“พระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้าเปี่ยมไปด้วยความรักของพระองค์, แม้จนจะเผาไหม้เนื้อหนังข้าพเจ้า.

“พระองค์ทรงทำให้ศัตรูข้าพเจ้าจำนน, เป็นเหตุให้พวกเขาครั่นคร้ามต่อหน้าข้าพเจ้า.” (2 นีไฟ 4:19-22)

การเป็นจุดสนใจไม่เคยทำให้นีไฟมองไม่เห็นแหล่งพลังและพรของเขา8

5

เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่เรารับใช้ เราจะไม่สนใจว่าเรารับใช้ตรงไหน

ในช่วงที่คนสนใจและมองเห็น อาจเป็นประโยชน์สำหรับเราเช่นกันถ้าจะตอบคำถามว่า เหตุใดเราจึงรับใช้ เมื่อเราเข้าใจว่าเหตุใด เราจะไม่สนใจว่าเรารับใช้ตรงไหน

ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์สอนหลักธรรมสำคัญยิ่งนี้ในชีวิตท่านเอง ที่การประชุมใหญ่สามัญในเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ได้รับการสนับสนุนเป็นประธานศาสนจักรหลังจากมรณกรรมของประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ ก่อนหน้านั้นประธานคลาร์กเคยรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งของประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์จากนั้นจึงเป็นที่ปรึกษาของประธานจอร์จ อัลเบิร์ต สมิธ ประธานแมคเคย์เคยเป็นที่ปรึกษาที่สองของประธานทั้งสอง

ระหว่างภาคสุดท้ายของการประชุมใหญ่เมื่อดำเนินกิจธุระของศาสนจักร บราเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์ได้รับเรียกให้อยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดและได้รับการสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่ง ประธาน เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์ได้รับการสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาที่สอง หลังจากการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของศาสนจักร ประธานแมคเคย์อธิบายสาเหตุที่ท่านเลือกที่ปรึกษาตามลำดับนั้น ท่านกล่าวดังนี้

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหลักธรรมชี้นำประการหนึ่งในการเลือกครั้งนี้คือการทำตามลำดับอาวุโสในสภา [อัครสาวกสิบสอง] ชายสองคนนี้นั่งอยู่ในตำแหน่งของพวกเขาในฝ่ายประธานในศาสนจักร และข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรทำตามลำดับอาวุโสเดิมในโควรัมใหม่ของฝ่ายประธานสูงสุด” (ใน Conference Report, 9 April 1951, p. 151.)

จากนั้นท่านก็ขอให้ประธานคลาร์กพูดต่อจากประธานแมคเคย์ คำกล่าวของประธานคลาร์กครั้งนี้กระชับแต่สอนบทเรียนอันทรงพลังยิ่ง “ในการรับใช้พระเจ้า ไม่สำคัญว่าท่านรับใช้ตรงไหนแต่สำคัญว่าท่านรับใช้อย่างไร ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คนหนึ่งรับตำแหน่งซึ่งคนนั้นได้รับเรียกตามสมควรแก่เวลา ตำแหน่งซึ่งเขาไม่แสวงหาทั้งไม่ปฏิเสธ ข้าพเจ้าปฏิญาณต่อประธานแมคแคย์และประธานริชาร์ดส์ว่าจะอุทิศตนรับใช้ด้วยความภักดีเต็มที่ในภารกิจที่อาจมาถึงข้าพเจ้าสุดพละกำลังและความสามารถของข้าพเจ้า และตราบเท่าที่พวกท่านจะเปิดทางให้ข้าพเจ้าปฏิบัติภารกิจเหล่านี้ แม้ข้าพเจ้าจะไม่ดีพอก็ตาม” (Ibid., p. 154.)

บทเรียนที่ประธานคลาร์กสอนบรรยายไว้ในบทกวีของเมด แม็คไกวร์ซึ่งกล่าวย้ำหลายครั้งดังนี้

“พระบิดา ข้าจะทำที่ใดวันนี้”

รักของข้าอบอุ่นล้นปรี่

จุดเล็กมากที่พระองค์ทรงชี้

พลางตรัส “ดูตรงนั้นที”

ข้าตอบเร็วรี่ “ไม่นะ ไม่ไป!

ไม่มีใครเห็นงานข้า

ไม่ว่าจะทำงานดีเพียงใด

ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของข้า”

พระดำรัสฟังดูไม่อึดอัด

ตรัสตอบข้าอย่างนุ่มนวล

“ลูกพ่อ สำรวจใจเจ้าสักที

เจ้าทำเพื่อคนเหล่านี้หรือเพื่อข้า

นาซาเร็ธเป็นเมืองเล็ก

กาลีลีก็เล็กเช่นกัน

[ดู Best-Loved Poems of the LDS People, comp. Jack M. Lyon and others (1996), 152.]

กษัตริย์เบ็นจามินประกาศว่า “ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าเพราะข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านแล้วว่าข้าพเจ้าใช้วันเวลาของข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ท่าน, ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะโอ้อวด, เพราะข้าพเจ้าอยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง. และดูเถิด, ข้าพเจ้าบอกท่านถึงเรื่องเหล่านี้เพื่อท่านจะเรียนรู้ปัญญา; เพื่อท่านจะเรียนรู้ว่าเมื่อท่านอยู่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่าน ท่านก็อยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่านนั่นเอง.” (โมไซยาห์ 2:16–17)9

สตรีรับใช้ในโรงงานเครื่องกระป๋อง

เรา “มีความสุขและประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิต” เมื่อ “ความสนใจของเราอยู่คู่กับการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยให้พวกเขาพบทาง”

6

เราควรรับใช้อย่างซื่อสัตย์และเงียบๆ โดยระวังเรื่องคำสรรเสริญของผู้อื่น

คนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิตคือคนที่ความสนใจของเขาอยู่คู่กับการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยให้พวกเขาพบทาง

ป้ายตรงทางข้ามรางรถไฟที่เตือนเราให้หยุด มอง และฟังจะเป็นเครื่องนำทางสำหรับเรา จงหยุดขณะที่เรารีบผ่านชีวิต จงมองหาทุกสิ่งที่สร้างมิตรไมตรี มีน้ำใจ และสุภาพที่เราสามารถทำได้ และช่วยเติมเต็มความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดของมนุษย์ จงฟังผู้อื่นและเรียนรู้จากความหวังและปัญหาของพวกเขาเพื่อเราจะสามารถเอื้อประโยชน์ในวิธีเล็กๆ น้อยๆ ต่อความสำเร็จและความสุขของพวกเขา10

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน กล่าวว่า … “การรับใช้เฉกเช่นพระคริสต์ทำให้สูงส่ง … พระเจ้าทรงสัญญาว่าคนที่สละชีวิตรับใช้ผู้อื่นจะพบตนเอง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธบอกเราว่าเราควร ‘ทำให้มากในช่วงชีวิตของเรา’ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ (คพ. 123:13)” (Ensign, Nov. 1989, pp. 5–6.)

ถ้าท่านรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ มากมายที่ท่านทำไม่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงมาก อย่าหวั่นไหว คนดีที่สุดส่วนใหญ่ที่เคยมีชีวิตอยู่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากเช่นกัน จงรับใช้และเติบโตอย่างซื่อสัตย์และสงบเสงี่ยม จงระวังเรื่องคำสรรเสริญของมนุษย์ พระเยซูตรัสไว้ในคำเทศนาบนภูเขาว่า

“จงระวัง อย่าทำศาสนกิจเพื่ออวดคนอื่น ถ้าทำอย่างนั้นท่านทั้งหลายจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์

“เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทำทานอย่าเป่าแตรข้างหน้าเหมือนพวกคนหน้าซื่อใจคดที่ทำในธรรมศาลาและตามถนน เพื่อให้คนสรรเสริญ เราบอกความจริงแก่พวกท่านว่า พวกเขาได้รับบำเหน็จของพวกเขาแล้ว

“แต่เมื่อท่านทำทาน อย่าให้มือซ้ายรู้การกระทำของมือขวา

“เพื่อว่าทานของท่านจะเป็นทานลับ และพระบิดาของท่านผู้ทรงเห็นในที่ลี้ลับ จะประทานบำเหน็จแก่ท่าน” (มัทธิว 6:1–4)

ขอให้พระบิดาในสวรรค์ของเราประทานบำเหน็จแก่ท่านเสมอ11

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประธานฮันเตอร์กำลังพยายามช่วยให้เราเข้าใจอะไรโดยเน้นว่าฮีลามันกับพี่น้องของเขา “หาได้รับใช้น้อยไปกว่า” แม่ทัพโมโรไนไม่ (ดู หัวข้อ 1) ความเข้าใจนี้จะช่วยท่านได้อย่างไร

  • ตัวอย่างจากพระคัมภีร์ในหัวข้อ 2 สอนอะไรเราได้บ้าง ตัวอย่างเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเราขณะที่เรารับใช้ได้อย่างไร ท่านได้รับพรอย่างไรจากคนที่รับใช้อย่างสงบเสงี่ยมไม่มีใครแซ่ซ้องสรรเสริญ

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องที่ประธานฮันเตอร์เล่าเกี่ยวกับออลิเวอร์ แกรนเจอร์ (ดู หัวข้อ 3) เหตุใดเราจึงไม่ควรห่วงเรื่องการได้รับยกย่องเมื่อเรารับใช้

  • “จุดสนใจของประชานิยม” หรือชื่อเสียงจะเป็นอันตรายได้อย่างไร (ดู หัวข้อ 4) แบบอย่างของนีไฟสอนอะไรท่านได้บ้างเกี่ยวกับวิธี “จดจ่อกับสิ่งสำคัญที่สุด”

  • ทบทวนเรื่องราวของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 5 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเจตคติและคำพูดของประธานคลาร์ก พิจารณาคำตอบของท่านต่อคำถามที่ว่า “เหตุใดฉันจึงรับใช้” เราจะพัฒนาเจตคติของการทำให้ดีที่สุดโดยไม่คำนึงว่าเรารับใช้ตรงไหนได้อย่างไร

  • ในหัวข้อ 6 ประธานฮันเตอร์กล่าวถึงสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “คนที่ยอมสละชีวิตตนรับใช้ผู้อื่นจะพบตนเอง” (ดู มัทธิว 10:39; 16:25) ข้อความนี้หมายความว่าอย่างไร ท่านพบว่าข้อความนี้เป็นความจริงอย่างไร การรับใช้ทำให้ท่านเกิดความสุขอย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

มัทธิว 6:2–7, 24; 20:25–28; ยากอบ 1:27; คพ. 76:5–7; 121:34–37

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ เมื่อท่านทำดังนี้ ความคิดของท่านจะกระจ่างชัดมากขึ้นและพลังแห่งความทรงจำจะเพิ่มขึ้น” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 17)

อ้างอิง

  1. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Meek and Lowly” (Brigham Young University devotional, Oct. 21, 1986), 8; speeches.byu.edu.

  2. โธมัส เอส. มอนสัน, “President Howard W. Hunter: A Man for All Seasons,” Ensign, Apr. 1995, 31.

  3. เจมส์ อี. เฟาสท์, “Howard W. Hunter: Man of God,” Ensign, Apr. 1995, 27.

  4. จอน เอ็ม. ฮันต์สแมน ซีเนียร์, “A Remarkable and Selfless Life,” Ensign, Apr. 1995, 24.

  5. “No Less Serviceable,” Ensign, Apr. 1992, 64–65.

  6. “No Less Serviceable,” 65.

  7. “No Less Serviceable,” 65–66.

  8. “No Less Serviceable,” 66.

  9. “No Less Serviceable,” 66-67.

  10. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 267.

  11. “No Less Serviceable,” 67.