คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 12: กลับมากินเลี้ยงที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า


บทที่ 12

กลับมากินเลี้ยงที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า

“ยื่นมือช่วยเหลือคนแข็งขันน้อยและรับรู้ปีติที่จะมาถึงท่านและคนที่ท่านช่วย”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

วันหลังจากที่ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นประธานศาสนจักร ท่านกล่าวคำเชื้อเชิญที่เปี่ยมด้วยความรักนี้ไปถึงสมาชิกศาสนจักรที่มีส่วนร่วมอย่างไม่แข็งขัน

“ถึงท่านที่ล่วงละเมิดหรือขุ่นข้องหมองใจ เรากล่าวว่า กลับมาเถิด ถึงท่านที่เจ็บปวด ลำบาก และกลัว เรากล่าวว่า ขอให้เรายืนอยู่กับท่านและเช็ดน้ำตาของท่าน ถึงท่านที่สับสนและความเชื่อผิดๆ จู่โจมรอบด้าน เรากล่าวว่า จงมาหาพระผู้เป็นเจ้าของความจริงทั้งมวลและศาสนจักรของการเปิดเผยต่อเนื่อง กลับมาเถิด ยืนกับเรา ดำเนินต่อไป จงเชื่อ ทุกอย่างดี และทุกอย่างจะดี จงมากินเลี้ยงที่โต๊ะเสวยตรงหน้าท่านในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและพยายามติดตามพระเมษบาลผู้ประเสริฐผู้จัดเตรียมงานเลี้ยงนั้น จงมีความหวัง ใช้ศรัทธา รับ—และให้—จิตกุศล ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”1

ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของท่านในฐานะประธานศาสนจักรในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ประธานฮันเตอร์กล่าวว่าท่านรู้สึกว่าต้องเน้นเรื่องนี้ต่อไป “กลับมาเถิด” ท่านย้ำ “จงรับพระดำรัสเชื้อเชิญ [ของพระผู้ช่วยให้รอด] ‘จงตามเรามา’ … พระองค์ทรงเป็นหนทางแน่นอนหนทางเดียว พระองค์ทรงเป็นแสงสว่างของโลก”2

ตลอดชีวิตประธานฮันเตอร์ ท่านช่วยสมาชิกศาสนจักรจำนวนมากให้กลับมาแข็งขัน ท่านเล่าประสบการณ์เช่นนั้นจากช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นว่า

“อธิการวอร์ดของข้าพเจ้ามอบหมายให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้สอนประจำวอร์ดไปหาบรา-เดอร์คนหนึ่งที่คุยว่าเขาเป็นมัคนายกอายุมากที่สุดในศาสนจักร การสอนประจำบ้านคือการสอนประจำวอร์ดในสมัยนั้น ปัญหาของเขาคือเขาชอบเล่นกอล์ฟวันอาทิตย์ การพบเขากับภรรยาเดือนแล้วเดือนเล่าและไม่เห็นความก้าวหน้าทำให้ข้าพเจ้าท้อ แต่ในที่สุด เราก็พูดคำที่ตรงใจเขาและส่งผลให้เขาเกิดการตอบสนองบางอย่าง คำนั้นคือ พันธสัญญา เราถามเขาว่า ‘พันธสัญญาบัพติศมามีความหมายอะไรต่อคุณ’ สีหน้าของเขาเปลี่ยนไป และเป็นครั้งแรกที่เราเห็นเขาจริงจัง ในที่สุดเขามาชั้นเรียนของเรา เลิกเล่นกอล์ฟ และพาภรรยาไปพระวิหาร”3

พระคริสต์กับแกะ

“เราแต่ละคนควรอ่านอุปมาเรื่องแกะหายซ้ำหลายๆ ครั้ง … ข้าพเจ้าหวังว่าข่าวสารจากอุปมาเรื่องนี้จะประทับใจเราแต่ละคน”

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

อุปมาเรื่องแกะหายสอนเราให้ตามหาคนที่หายไป

ฝ่ายประธานสูงสุด [กล่าว] คำเชื้อเชิญที่สำคัญกับสมาชิกของศาสนจักร … ดังนี้

“ถึงท่านที่หยุดแข็งขันและถึงท่านที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ เรากล่าวว่า ‘กลับมาเถิด กลับมากินเลี้ยงที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า มาลิ้มรสผลอันหอมหวานน่าพึงใจของการเป็นมิตรกับวิสุทธิชนอีกครั้ง’

“เราเชื่อมั่นว่าหลายคนอยากกลับมา แต่รู้สึกเคอะเขินกับการทำเช่นนั้น เรารับรองกับท่านว่าท่านจะพบอ้อมแขนที่ต้อนรับท่านและมือที่ยินดีช่วยเหลือท่าน” (Ensign, Mar. 1986, p. 88.)

ข้าพเจ้าคิดว่าเราทุกคนประทับใจกับคำขอร้องอย่างใจกว้างนี้ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์แอลมากล่าวไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับพระดำรัสเชื้อเชิญจากพระเจ้า พระองค์ตรัสดังนี้

“ดูเถิด, พระองค์ทรงส่งคำเชิญมาถึงมนุษย์ทั้งปวง, เพราะพระพาหุแห่งพระเมตตายื่นมาให้พวกเขา, และพระองค์ตรัส : จงกลับใจ, และเราจะรับเจ้าไว้.

“แท้จริงแล้ว, พระองค์ตรัส : จงมาหาเราเถิดและเจ้าจะรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต; แท้จริงแล้ว, เจ้าจะกินและดื่มอาหารและน้ำแห่งชีวิตโดยเสรี;

“แท้จริงแล้ว, จงมาหาเราและจงนำเอางานแห่งความชอบธรรมออกมา” (แอลมา 5:33-35)

เราแต่ละคนควรอ่านอุปมาเรื่องแกะหายที่พบในลูกาบทที่สิบห้าซ้ำหลายๆ ครั้งโดยเริ่มจาก ข้อสี่

“ใครในพวกท่านที่มีแกะร้อยตัว และตัวหนึ่งหลงหายไป จะไม่ทิ้งเก้าสิบเก้าตัวนั้นไว้ที่กลางทุ่งหญ้า แล้วออกไปตามหาตัวที่หายไปนั้นจนกว่าจะพบหรือ?

“และเมื่อพบแล้วเขาจะยกขึ้นใส่บ่าแบกมาด้วยความชื่นชมยินดี

“เมื่อมาถึงบ้าน เขาก็เชิญมิตรสหายและเพื่อนบ้านให้มาพร้อมกัน แล้วพูดกับพวกเขาว่า มาร่วมยินดีกับข้าเพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว” [ลูกา 15:4–6] …

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้เปลี่ยนข้อความหนึ่งข้อในงานแปลของโจเซฟ สมิธ อ่านได้ว่า “ใครในพวกท่านที่มีแกะร้อยตัวและตัวหนึ่งหลงหายไป จะไม่ทิ้งเก้าสิบเก้าตัวนั้น แล้วออกไปในแดนทุรกันดารไปตามหาตัวที่หายไปนั้น จนกว่าจะพบหรือ?” (ปจส, ลูกา 15:4; เน้นตัวเอน)

การแปลข้อนี้บอกเป็นนัยว่าคนเลี้ยงแกะทิ้งฝูงแกะที่ปลอดภัยออกไปในแดนทุรกันดาร—นั่นคือ ออกไปในโลกตามหาคนที่หายไป หายไปจากอะไร หายไปจากฝูงที่มีความคุ้มครองและความปลอดภัย ข้าพเจ้าหวังว่าข่าวสารในอุปมาเรื่องนี้จะตราตรึงอยู่ในใจเราแต่ละคน4

2

พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราเป็นคนเลี้ยงแกะภายใต้การดูแลพระองค์และนำคนที่กำลังลำบากหรือหายไปกลับมา

เราควรทำอะไรเพื่อช่วยคนหลงทางในแดนทุรกันดาร

เพราะสิ่งที่พระอาจารย์ตรัสไว้เกี่ยวกับการทิ้งเก้าสิบเก้าตัวแล้วออกไปตามหาตัวที่หายไปในแดนทุรกันดาร และเพราะคำเชื้อเชิญของฝ่ายประธานสูงสุดถึงคนที่หยุดแข็งขันหรือชอบวิพากษ์วิจารณ์ให้ “กลับมาเถิด” เราจึงเชื้อเชิญท่านให้มีส่วนร่วมในการช่วยจิตวิญญาณให้รอด จงยื่นมือช่วยเหลือคนแข็งขันน้อยและรับรู้ปีติที่จะมาถึงท่านและคนที่ท่านช่วยถ้าท่านและพวกเขาจะมีส่วนในการกล่าวเชื้อเชิญให้กลับมากินเลี้ยงที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า

พระเจ้า พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา ทรงคาดหวังให้เราเป็นคนเลี้ยงแกะภายใต้การดูแลของพระองค์และนำคนที่ลำบากหรือหายไปกลับมา เราบอกท่านไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร แต่เมื่อท่านมีส่วนร่วมและแสวงหาการดลใจ ความสำเร็จจะเกิดจากความพยายามในภาค … สเตค และวอร์ดของท่าน บางสเตคขานรับคำขอร้องก่อนหน้านี้และประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

เนื้อร้องของเพลงคุ้นหูประกอบด้วยคำขอร้องของพระผู้ช่วยให้รอด

จงฟัง! พระร้องเรียกสุดจิตใจ

วอนด้วยรักใคร่ในวันนี้

“ท่านจะมิตามหาแกะสูญหาย

หลงกรายจากคอกของเราหรือ?”

และเพลงสวดที่เราร้องบ่อยๆ เพลงนี้บอกว่าเราควรขานรับอย่างไร

“ให้เราเป็นผู้เลี้ยงแกะแท้จริง

ประทานรักลึกยิ่งแก่เรา

โปรดส่งเราไปในทะเลทราย

ตามหาแกะหายพเนจร”

(เพลงสวด, บทเพลงที่ 107)

ถ้าเราทำเช่นนี้ พรนิรันดร์จะมาถึงเรา5

การเสาะหาคนที่หายไป ดื้อดึง และหลงผิดเป็นกิจธุระของพระเจ้า … คำวิงวอนของแอลมาเป็นเครื่องเตือนใจเราอย่างดีถึงความศักดิ์สิทธิ์ของภารกิจดังกล่าว

“ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ประทานให้พวกข้าพระองค์เพื่อพวกข้าพระองค์จะมีความสำเร็จในการนำ [จิตวิญญาณ] มาหาพระองค์ในพระคริสต์อีก.

“ดูเถิด, ข้าแต่พระเจ้า, จิตวิญญาณพวกเขามีค่า.” (แอลมา 31:34–35)6

ผู้สอนศาสนาสอนครอบครัว

“ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ประทานให้พวกข้าพระองค์เพื่อพวกข้าพระองค์จะมีความสำเร็จในการนำ [จิตวิญญาณ] มาหาพระองค์ในพระคริสต์อีก. ดูเถิด, ข้าแต่พระเจ้า, จิตวิญญาณพวกเขามีค่า” (แอลมา 31:34-35)

3

วัตถุประสงค์ใหญ่ของเราคือช่วยผู้คนให้กลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

ตลอดหลายปีมานี้ศาสนจักรพยายามมากพอสมควรเพื่อนำคนที่แข็งขันน้อยกลับมา … และเราทำทั้งหมดนี้เพื่อจุดประสงค์ใดหรือ เพื่อช่วยจิตวิญญาณพี่น้องชายหญิงของเราให้รอดและดูว่าพวกเขาได้รับศาสนพิธีแห่งความสูงส่ง

ขณะที่ข้าพเจ้ารับใช้เป็นประธานสเตคในเขตลอสแอนเจลิส ข้าพเจ้ากับที่ปรึกษาขอให้อธิการเลือกสามีภรรยาสี่ถึงห้าคู่ที่ต้องการก้าวหน้ามากขึ้นในศาสนจักร บางคู่แข็งขันน้อย บางคู่เป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่—แต่พวกเขาได้รับการกระตุ้นให้มีความก้าวหน้าทางวิญญาณ เรานำพวกเขามารวมกันในชั้นเรียนสเตคและสอนพระกิตติคุณแก่พวกเขา แทนที่จะย้ำเรื่องพระวิหาร เรากลับเน้นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ ขั้นตอนการคัดเลือกอย่างรอบคอบของเราประสบความสำเร็จและคู่เหล่านี้ส่วนใหญ่กลับมาแข็งขันและไปพระวิหาร

ข้าพเจ้าขอเล่า [อีก] ประสบการณ์หนึ่ง … เรามีบราเดอร์คนหนึ่งในวอร์ดหนึ่งที่ไม่เข้าร่วมการประชุม ภรรยาของเขาไม่เป็นสมาชิก เธอไม่ค่อยเป็นมิตร ด้วยเหตุนี้เราจึงส่งผู้สอนประจำบ้านไปที่บ้านไม่ได้ อธิการไปหาบราเดอร์คนนี้โดยบอกเขาว่าบรา-เดอร์มีความสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดที่ต้องเพิ่มและขยาย บราเดอร์คนนั้นอธิบายปัญหาของเขากับภรรยาที่ไม่เป็นสมาชิกให้อธิการฟัง อธิการจึงพูดกับเธอ โดยเน้นเรื่องเดียวกัน—คือต้องขยายความสัมพันธ์กับพระเจ้า เธอยังไม่ยอมรับแต่มีความสุขที่ได้รู้ว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อในพระคริสต์ และด้วยเหตุนี้จึงต่อต้านน้อยลง

ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่คนที่ไปเยี่ยมบ้านยังคงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ครองกับพระเจ้า เธอเป็นมิตรในที่สุดและสุดท้ายก็ยอมมาชั้นเรียนสเตคกับสามีที่สมาชิกสภาสูงเป็นครูสอน เราเน้นพันธสัญญาที่คนๆ หนึ่งทำเมื่อรับบัพติศมาและพันธสัญญาอื่นๆ เธอเป็นสมาชิกของศาสนจักรในท้ายที่สุดและเขาเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่กระทำคุณประโยชน์ …

ข้าพเจ้าประทับใจข้อความหนึ่งในหน้าปกในของพระคัมภีร์มอรมอนที่พูดถึงจุดประสงค์ประการหนึ่งของหนังสือศักดิ์สิทธิ์นี้ “เพื่อพวกเขา [เชื้อสายอิสราเอลในยุคสุดท้าย] จะได้รู้จัก พันธสัญญาของพระเจ้า” (เพิ่มตัวเอน) นั่นคือสิ่งที่เราฝ่ายประธานสเตครู้สึกว่าต้องเน้นกับคนที่แข็งขันน้อย เราพยายามขอร้องพวกเขาให้นึกถึงพื้นฐานความสำคัญของพันธสัญญาที่พวกเขาทำไว้กับพระเจ้า แล้วสอนพวกเขาให้รู้ความสำคัญของพันธสัญญาบัพติศมาและพันธสัญญาเพิ่มเติมที่พวกเขาจะได้ทำซึ่งจะทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันฉันครอบครัวนิรันดร์7

จุดประสงค์โดยรวมของการดำเนินงานอย่างราบรื่นของศาสนจักรในระดับท้องที่คือทำให้แต่ละคนมีคุณสมบัติคู่ควรกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะทำได้โดยการให้พวกเขารับศาสนพิธีและทำพันธสัญญาในพระวิหารเท่านั้น8

ความพยายามของเรามุ่งเน้นเรื่องการทำพันธัญญาและศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณซึ่งมีผลต่อมวลมนุษยชาติ ต่อผู้ไม่เป็นสมาชิกผ่านงานเผยแผ่ศาสนา ต่อผู้แข็งขันน้อยผ่านการผูกมิตรและการทำให้แข็งขัน ต่อสมาชิกที่แข็งขันผ่านการมีส่วนร่วมและการรับใช้ในศาสนจักร และต่อผู้ที่ล่วงลับไปอยู่หลังม่านผ่านงานแห่งการไถ่คนตาย9

เรากำลังนำสมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรไปสู่วัตถุประสงค์เดียว นั่นคือให้ทุกคนได้รับศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณและทำพันธสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้กลับไปที่ประทับของพระองค์ นั่นคือวัตถุประสงค์ใหญ่ของเรา ศาสนพิธีและพันธสัญญาเป็นหนทางให้บรรลุสภาพอันสูงส่งนั้นที่จะนำเรากลับไปในที่ประทับของพระองค์อีกครั้ง …

จงจำจุดประสงค์นี้ไว้ นั่นคือ เชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์ …

ข้าพเจ้าเป็นพยาน พี่น้องทั้งหลาย ถึงความเป็นพระเจ้าและเดชานุภาพของพระองค์ในการช่วยคนที่จะหามาพระองค์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดให้รอด โดยผ่านศาสนพิธีและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ แต่ละคนจะสะอาด10

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประธานฮันเตอร์กระตุ้นให้สมาชิกศาสนจักรทุกคนอ่านอุปมาเรื่องแกะหายซ้ำหลายครั้ง (ดู หัวข้อ 1; ลูกา 15:4-7) ท่านได้รับข่าวสารอะไรบ้างจากอุปมาเรื่องนั้นและคำสอนอื่นในหัวข้อแรก พิจารณาว่าคำสอนเหล่านั้นจะนำทางท่านขณะท่านรับใช้ในศาสนจักรได้อย่างไร

  • เรามีความรับผิดชอบอะไรในฐานะผู้เลี้ยงแกะภายใต้การดูแลของพระเจ้า (ดู หัวข้อ 2) เราจะช่วยผู้คนให้กลับมาแข็งขันในศาสนจักรได้อย่างไร ท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) ได้รับพรอย่างไรจากคนที่ยื่นมือช่วยเหลือท่านเมื่อท่านกำลัง “ลำบากหรือหายไป”

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ที่ประธานฮันเตอร์เล่าไว้ในหัวข้อ 3 การเน้นเรื่องพันธสัญญาจะช่วยให้สมาชิกศาสนจักรกลับมาแข็งขันได้อย่างไร

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

เอเสเคียล 34:1–16; ลูกา 15:11–32; ยอห์น 10:1–16, 26–28; 13:35; 1 ยอห์น 1:7; โม-ไซยาห์ 18:8–10; ฮีลามัน 6:3; 3 นีไฟ 18:32; โมโรไน 6:4–6; คพ. 38:24

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

หลักธรรมคือความจริงที่ชี้นำการตัดสินใจและการกระทำ “ขณะที่ท่านอ่าน ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ข้อความนี้สอนหลักธรรมพระกิตติคุณข้อใด? ฉันจะนำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร?” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], 17)

อ้างอิง

  1. ใน เจย์ เอ็ม. ทอดด์, “President Howard W. Hunter: Fourteenth President of the Church,” Ensign, July 1994, 5.

  2. “Exceeding Great and Precious Promises,” Ensign, Nov. 1994, 8.

  3. “Make Us Thy True Undershepherds,” Ensign, Sept. 1986, 9.

  4. “Make Us Thy True Undershepherds,” 7–8.

  5. “Make Us Thy True Undershepherds,” 9.

  6. “The Mission of the Church” (ปราศรัยที่การสัมมนาผู้แทนเขต 30 มี.ค.1990), 4.

  7. “Make Us Thy True Undershepherds,” 8-9.

  8. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 218.

  9. The Teachings of Howard W. Hunter, 245–46.

  10. The Teachings of Howard W. Hunter, 218.