“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ชื่นชมยินดีในการประสูติของพระเยซูคริสต์,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ชื่นชมยินดีในการประสูติของพระเยซูคริสต์
การประสูติอันน่าอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์เป็นเหตุการณ์อันรุ่งโรจน์ ผู้ส่งสารจากสวรรค์ร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า (ดู ลูกา 2:11–14) คนเลี้ยงแกะผู้อ่อนน้อมถ่อมตนนมัสการพระเยซูในคอกสัตว์ (ดู ลูกา 2:15–16) และนักปราชญ์ถวายเครื่องบรรณาการแด่พระองค์ (ดู มัทธิว 2:11) บทเรียนในหน่วยที่ 3 จะให้โอกาสท่านเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น การประสูติและพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ความยินดีอย่างยิ่ง … ถึงคนทั้งหลาย” (ลูกา 2:10) ท่านอาจชมวีดิทัศน์เรื่อง “The Nativity (การประสูติ)” (2:59) เพื่อช่วยกำหนดทิศทางในการศึกษาของท่าน
หมวดที่ 1
ความเข้าใจเกี่ยวกับพระบิดามารดาของพระเยซูคริสต์จะเพิ่มความมั่นใจให้ฉันในเดชานุภาพของพระองค์ที่จะช่วยฉันให้รอดได้อย่างไร?
พระเยซูคริสต์ทรงมีเอกลักษณ์เฉพาะในสิ่งที่พระองค์ได้รับจากกรรมพันธุ์ของพระบิดามารดาของพระองค์เช่นเดียวกับคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ท่านสืบทอดมาจากพ่อแม่ของท่าน ในพระคัมภีร์มอรมอน แอลมาพยากรณ์ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะ “ประสูติจากมารีย์ … นางเป็นหญิงพรหมจารี เป็นภาชนะอันมีค่าและเลือกสรรแล้ว … และ [นางจะ] ให้กำเนิดบุตรคนหนึ่ง, แท้จริงแล้ว, แม้พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 7:10) ลองนึกดูว่าพระบิดามารดาของพระผู้ช่วยให้รอดเชื่อมโยงกับความสามารถของพระองค์ในการทำการชดใช้เพื่อทุกคนอย่างไร
เราเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระบิดามารดาของพระผู้ช่วยให้รอดกับเดชานุภาพของพระองค์ในการช่วยให้รอดเมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลปรากฏต่อมารีย์และบอกเธอว่าเธอจะให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งที่จะมีชื่อว่าพระเยซู (ดู ลูกา 1:26–31)
เมื่อทูตสวรรค์ประกาศการประสูติของพระเยซูคริสต์แก่คนเลี้ยงแกะที่อยู่ใกล้เคียง เขาเรียกทารกนั้นว่าเป็น “พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่านคือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 2:11; ดู ลูกา 2:9–10 ด้วย) ความสามารถของพระเยซูคริสต์ในการเป็นพระผู้ช่วยให้รอดเกิดขึ้นได้เพราะพระองค์ประสูติจากพระบิดาที่เป็นอมตะ (พระบิดาบนสวรรค์) และมารดามรรตัย (มารีย์) เนื่องจากมารดามรรตัยของพระองค์ พระเยซูจึงทรงสามารถประสบความเจ็บปวด ความเศร้าโศก และการล่อลวงของความเป็นมรรตัยได้อย่างเต็มที่ (ดู ฮีบรู 4:15) ประสบการณ์ในความเป็นมรรตัยเหล่านี้ช่วยให้พระผู้ช่วยให้รอด “รู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:12) เนื่องจากพระบิดาผู้ทรงเป็นอมตะของพระองค์ พระเยซูจึงทรงสามารถแบกรับความท้าทายทั้งหมดของความเป็นมรรตัย
เนื่องจากมารดามรรตัยของพระองค์ พระเยซูจึงสิ้นพระชนม์ได้ เนื่องจากพระบิดาผู้เป็นอมตะของพระองค์ พระองค์จึงทรงชนะความตายได้
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน สอนว่า
พระพันธกิจ [ของพระเยซูคริสต์] คือการชดใช้ พระพันธกิจนั้นเป็นของพระองค์โดยเฉพาะ พระองค์ประสูติจากมารดามรรตัยและพระบิดาอมตะด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นองค์เดียวที่สามารถพลีพระชนม์ชีพโดยสมัครใจและรับคืนอีก ( (ดู ยอห์น 10:14–18) ผลอันรุ่งโรจน์ของการชดใช้ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ พระองค์ทรงนำเหล็กในออกจากความตายและทรงทำให้ความโศกเศร้าของหลุมศพเป็นเพียงชั่วคราว (“พระพันธกิจและศาสนกิจของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, มี.ค. 2013, 20)
หมวดที่ 2
การประสูติและพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์แสดงให้เห็นความรักที่พระองค์ทรงมีต่อฉันอย่างไร?
ลองคิดดูสักครู่ว่าช่างน่าอัศจรรย์เพียงไรที่พระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสร้างโลกจะเสด็จมาบนแผ่นดินโลกเป็นทารกที่ช่วยพระองค์เองไม่ได้ ในนิมิต นีไฟเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการแสดงความรัก
ประธานแทด อาร์ คอลลิสเตอร์ อดีตประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญสอนเกี่ยวกับพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระเยซูคริสต์ว่า
พระผู้เป็นเจ้าพระบุตรทรงแลกพระนิเวศน์บนสวรรค์พร้อมอลงกรณ์ซีเลสเชียลทั้งหมดบนนั้นกับที่พักอาศัยบนแผ่นดินโลกพร้อมเครื่องประดับพื้นๆ ทั้งหมดที่นี่ … พระองค์ทรงแลกอำนาจการปกครองของพระผู้เป็นเจ้ากับการพึ่งพาอาศัยของทารก… นั่นเป็นการแลกมิติที่เทียบกันไม่ได้เลย … พระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่ พระผู้สร้างโลกนับไม่ถ้วน ไม่มีขอบเขตในคุณงามความดีและเดชานุภาพ เสด็จเข้ามาในโลกนี้ในผ้าอ้อมและรางหญ้า (The Infinite Atonement [2000], 64)
นีไฟเรียนรู้เกี่ยวกับพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระคริสต์มากกว่านั้นเมื่อเขาเห็นในนิมิตว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางผู้คนและทรงเยียวยาความทุกข์ของพวกเขา (ดู 1 นีไฟ 11:26–31)
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
เมื่อเราพูดถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์ เราใคร่ครวญตามสมควรเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น การประสูติของพระองค์สำคัญอย่างหาที่สุดมิได้เพราะสิ่งที่พระองค์จะทรงประสบและทนทุกข์ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงช่วยเราได้ดีขึ้น—ทั้งหมดบรรลุจุดสูงสุดในการตรึงกางเขนและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู แอลมา 7:11-12) แต่พระพันธกิจของพระองค์รวมถึงความงดงามแห่งการรับใช้ของพระองค์ ปาฏิหาริย์แห่งการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ การบรรเทาทุกข์ที่พระองค์ทรงนำมาให้ผู้ประสบความทุกข์ยาก และปีติที่พระองค์ทรงมอบให้—และยังคงมอบให้—ผู้ทุกข์โศก (“อยู่อย่างสันติ,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2015, 36)
พิจารณาแบบอย่างอันน่าอัศจรรย์ที่พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้ช่วยให้รอดให้แก่เรา อธิการริชาร์ด ซี. เอชลีย์ ผู้รับใช้ในฝ่ายอธิการควบคุมอธิบายว่า:
พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายต่อเราอย่างไร? ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระคริสต์ควรพาเราไปไกลกว่าความรู้สึกเกรงกลัวและความสำนึกคุณอย่างสุดซึ้ง ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระองค์ การได้รับเรียกให้เป็นตัวแทนของพระองค์และเป็นพยานถึงพระองค์ โอกาสสำคัญยิ่งของเราคือพยายามเลียนแบบพระองค์ …
เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด ความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราอาจเกิดขึ้นได้ผ่านการปฏิบัติต่อ “คนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้” [มัทธิว 25:40] เราต้องจำไว้ว่าไม่ว่าจะในช่วงชีวิตหรือการเรียกเฉพาะใดๆ ทุกคนเป็นลูกที่รักของพระผู้เป็นเจ้า และเรามีหน้าที่ปฏิบัติศาสนกิจแม้กับคนต่ำต้อยที่สุดและรับใช้พวกเขาดังที่พระอาจารย์จะทรงรับใช้พวกเขา (“The Condescension of God,” Ensign, Dec. 2001, 20, 21)