“บทที่ 16 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: น้อมรับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอด,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 16 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 16 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
น้อมรับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้อันยิ่งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอด
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานว่า “เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดและความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งหมดคือการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์” (“Testify of the Restoration,” New Era, Apr. 2017, 3) ขณะที่ท่านศึกษา ให้นึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทนทุกข์เพื่อบรรลุการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ พิจารณาด้วยว่าท่านจะแสดงความสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อท่านได้อย่างไร
หมวดที่ 1
เหตุใดฉันจึงต้องการการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด?
การตกของอาดัมและเอวาเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา ทำให้เรามีโอกาสมาแผ่นดินโลก ใช้สิทธิ์เสรี สร้างครอบครัว ประสบปีติ และเรียนรู้และเติบโต (ดู 2 นีไฟ 2:19–25)
แต่การก้าวไปข้างหน้านี้ก็ทำให้ก้าวลงต่ำเช่นกัน เนื่องจากการตก เราแต่ละคนจึงได้รับสภาพที่ตกเป็นมรดกและต้องตายทางวิญญาณและทางร่างกาย (ดู แอลมา 42:5–9, 14) เราไม่สามารถเอาชนะสภาพเหล่านี้ได้ด้วยความพยายามหรือความดีงามของเราเอง (ดู 2 นีไฟ 2:5, 8) ศาสดาพยากรณ์เจคอบสอนว่าหากปราศจาก “การชดใช้อันไม่มีขอบเขต” ของพระเจ้า เราจะ “ไม่ลุกขึ้นอีกต่อไป” และถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าตลอดกาล (ดู 2 นีไฟ 9:7–9)
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เราเอาชนะผลของการตกได้อย่างไร:
การไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการชดใช้การล่วงละเมิดของอาดัมและการตกของมนุษย์ที่เกิดขึ้นตามมา โดยเอาชนะสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากการตก—นั่นคือ ความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ ความตายตายทางร่างกายเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ความตายทางวิญญาณคือการแยกมนุษย์จากพระผู้เป็นเจ้า … การไถ่จากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณนี้มีผลต่อคนทั้งโลกโดยไม่มีเงื่อนไข
ด้านที่สองของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดคือการไถ่จากสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผลทางอ้อมจากการตก—นั่นคือบาปของเราเองซึ่งตรงข้ามกับการล่วงละเมิดของอาดัม …
เพราะเราต้องรับผิดชอบและทำการเลือก การไถ่จากบาปของเราเองจึงมีเงื่อนไข—เงื่อนไขในการสารภาพ ละทิ้งบาป และหันมาดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงื่อนไขในการกลับใจ [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43] (“การไถ่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 109–110)
หมวดที่ 2
การไตร่ตรองความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีและบนไม้กางเขนจะเพิ่มความกตัญญูของฉันต่อพระองค์ได้อย่างไร?
หลังจากเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายกับอัครสาวกและแนะนำศีลระลึกให้พวกเขา พระเยซูทรงพาพวกเขาไปที่สวนเกทเสมนี ที่นั่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนและทนทุกข์เพื่อบาปของเรา
หลังจากทนทุกข์กับความเจ็บปวดเกินจินตนาการในเกทเสมนี พระเยซูทรงถูกทรยศ “พระองค์ทรงถูกจับกุมและถูกประณามด้วยข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org) ขณะอยู่ในการจับกุมของผู้นำศาสนายิว พระผู้ช่วยให้รอดถูกเยาะเย้ย ถมน้ำลายรด ตบ และใส่ร้าย (ดู มัทธิว 26:47–68)
เพราะพวกเขาไม่มีอำนาจที่จะประหารพระเยซู ผู้นำชาวยิวจึงพาพระองค์ไปหาปีลาต ผู้ว่าราชการโรมัน ด้วยความกลัวประชาชน ปีลาตจึงตัดสินโทษพระเยซูให้สิ้นพระชนม์ด้วยการตรึงกางเขน ในการเตรียมตรึงกางเขน พระคริสต์ทรงถูกเฆี่ยนตี และถูกทหารโรมันเยาะเย้ยอย่างโหดเหี้ยม พวกเขาตอกตะปูที่พระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ และตรึงพระองค์บนไม้กางเขนระหว่างอาชญากรสองคน (ดู มัทธิว 27:11–38)
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า ขณะพระเยซูทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน “ความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและความเจ็บปวดอันไร้ความปรานีในเกทเสมนีกลับคืนมาอีกครั้ง” (“อำนาจการชำระให้บริสุทธิ์แห่งเกทเสมนี,” เลียโฮนา, เม.ย. 2011, 18) ผ่านไปประมาณหกชั่วโมง “พระเยซูก็ทรงร้องเสียงดังว่า เอโลอี เอโลอี ลามา สะบักธานี แปลว่า พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์?” (มาระโก 15:34)
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวเกี่ยวกับการร้องอันเจ็บปวดนี้ (หรือท่านอาจรับชม “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์” [2:28] แทนการอ่านข้อความนี้) :
การพลีพระชนม์ชีพอันสูงส่งของพระบุตรของพระองค์อาจสมบูรณ์ได้เท่าๆ กับเป็นการกระทำที่เต็มใจและเพียงลำพัง พระบิดาทรงถอนการปลอบประโลมของพระวิญญาณออกไปชั่วครู่จากพระเยซู ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากการประทับอยู่ของพระองค์ … เพื่อให้การชดใช้ของพระองค์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ [พระเยซูคริสต์] ต้องทรงรู้สึกว่าจะเป็นเช่นไรที่ต้องสิ้นพระชนม์ไม่เพียงทางพระวรกายเท่านั้นแต่ทางวิญญาณด้วย เพื่อจะทรงสัมผัสได้ว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จากไป ทิ้งให้รู้สึกอ้างว้างเดียวดาย น่าสลดใจ สิ้นหวังเพียงลำพัง …
… เพราะพระเยซูทรงดำเนินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยวยาวไกลเพียงลำพัง เรา ไม่ต้องทำเช่นนั้น (ดู “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107–108)
หมวดที่ 3
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อน้อมรับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้า?
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจและแสดงความสำนึกคุณต่อพระเจ้าสำหรับความทุกขเวทนาของพระองค์แทนท่าน แต่ท่านสามารถทำได้มากขึ้นเพื่อแสดงศรัทธาในความเป็นจริงของการชดใช้ของพระองค์เมื่อท่านเลือกกลับใจจากบาป (ท่านสามารถดูตัวอย่างได้ใน 3 นีไฟ 9:12–13, 21–22 ซึ่งพระเจ้าทรงเชื้อเชิญชาวนีไฟและชาวเลมันให้กลับใจก่อนที่พระองค์จะเสด็จเยือนพวกเขา)
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันพูดถึงของประทานแห่งการกลับใจจากพระเจ้าดังนี้:
มีคนมากมายถือว่าการกลับใจเป็นการลงโทษ—เป็นบางสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงยกเว้นในสภาวการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด แต่ความรู้สึกว่าต้องได้รับโทษนั้นมาจากซาตาน …
ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (“เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67)