“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: วางใจให้พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้พิพากษาของเรา,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
วางใจให้พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์ผู้พิพากษาของเรา
จินตนาการดูว่าท่านอาจจะคิดหรือรู้สึกอะไร หากวันนี้ท่านได้รับเชิญให้ไปยังที่ประทับของพระเจ้า สักวันหนึ่ง “เราแต่ละคนจะยืนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อรับคำพิพากษาตามงานของเรา และความปรารถนาของใจเรา” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” ChurchofJesusChrist.org; ดู 2 นีไฟ 9:15 ด้วย) การที่เราจะรู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ในที่ประทับของพระผู้ช่วยให้รอดนั้น จะขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมตัวอย่างไร (ดู แอลมา 5:16–25) ขณะที่ท่านศึกษา ให้พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้รู้สึกสบายใจและมั่นใจ เมื่ออยู่ในที่ประทับของพระองค์ระหว่างการพิพากษาครั้งสุดท้าย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45)
หมวดที่ 1
เหตุใดฉันจึงสามารถวางใจให้พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้พิพากษาของฉัน?
ด้วยพระคุณลักษณะแห่งสวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์ เราจึงมั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงเป็น “ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม” (โมเสส 6:57) เมื่อถึงวันที่เราต้องไปยืนต่อพระพักตร์พระองค์เพื่อเล่าเรื่องราวของชีวิตเรา (ดู โรม 14:10–12) พระองค์จะทรงตัดสินได้อย่างสมบูรณ์แบบถึงระดับของรัศมีภาพที่เราคู่ควรจะได้รับ ในหนังสือสดุดีเขียนไว้ว่า “พระองค์จะทรงพิพากษาโลกด้วยความชอบธรรม พระองค์จะทรงตัดสินชาวประเทศทั้งหลายด้วยความเที่ยงธรรม” (สดุดี 9:8; ดู 96:13 ด้วย)
เมื่อพูดถึงคุณสมบัติในการเป็นองค์ผู้พิพากษาของพระเจ้า เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้:
พระเยซูคริสต์ทรงมีคุณความดี อย่างที่คนอื่นใดจะสามารถมีได้ พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า พระเยโฮวาห์ ก่อนพระองค์ประสูติในเบธเลเฮม พระบิดาผู้ทรงเป็นที่รักของพระองค์ไม่เพียงประทานพระวรกายอันเป็นวิญญาณแด่พระองค์ แต่พระเยซูทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ในเนื้อหนัง พระอาจารย์ของเราทรงดำเนินพระชนม์ชีพดีพร้อมปราศจากบาป และดังนั้นจึงอิสระจากข้อเรียกร้องของความยุติธรรม พระองค์ทรงดีพร้อมในคุณสมบัติทุกด้าน รวมถึงความรัก ความเมตตา ความอดทน การเชื่อฟัง การให้อภัย และพระจริยวัตรอันอ่อนน้อม …
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าด้วยความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดจนสุดจะจินตนาการในราคาอันมิอาจประมาณได้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะเป็นพระผู้ไถ่ของเรา พระผู้ทรงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยแทนเรา พระผู้ทรงเป็นผู้พิพากษาสูงสุดของเรา (“การชดใช้จะเป็นหลักประกันสันติและความสุขของท่านได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 53)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุดรัฐยูทาห์ กล่าวถึงตำแหน่งพิเศษของพระผู้ช่วยให้รอดในการพิพากษาเราดังนี้:
ความรอบรู้ของพระองค์ทำให้ทรงทราบทุกอย่างเกี่ยวกับการกระทำและความปรารถนาทั้งหมดของเรา ทั้งคนที่ไม่กลับใจหรือไม่เปลี่ยนแปลง และคนที่กลับใจหรือชอบธรรม ด้วยเหตุนี้ หลังการพิพากษา เราทุกคนจะสารภาพ “ว่าการพิพากษาของพระองค์เที่ยงธรรม” (โมไซยาห์ 16:1) (“แผนอันสำคัญยิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 96)
หมวดที่ 2
ฉันจะได้รับการพิพากษาอย่างไร?
การนึกถึงเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายอาจทำให้ทั้งรู้สึกหวั่นเกรงและหนักใจ บางครั้งเราอาจสงสัยว่าเราจะรู้สึกพร้อมรับการพิพากษาจากพระเจ้าหรือไม่ หนังสือวิวรณ์ให้ความจริงสำคัญเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะทรงพิพากษาเรา
ประธานฮาโรลด์ บี. ลีสอนดังนี้:
“หนังสือ” ที่พูดถึงคือ บันทึก [เกี่ยวกับงานของเรา] ซึ่งมีรักษาอยู่บนแผ่นดินโลก … หนังสือแห่งชีวิตเป็นบันทึกซึ่งมีรักษาอยู่ในสวรรค์ (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี [2000], 213)
ในนิมิตของอาณาจักรซีเลสเชียล ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเข้าใจการพิพากษาครั้งสุดท้ายอย่างลึกซึ้งมากขึ้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “เพราะเรา, พระเจ้า, จะพิพากษามนุษย์ทั้งปวงตามงานของพวกเขา, ตามความปรารถนาของใจพวกเขา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9; เน้นตัวเอน) ศาสดาพยากรณ์แอลมาสอนว่าเราจะยังต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของเรา (ดู แอลมา 12:14)
ประธานโอ๊คส์สอนว่าการพิพากษาครั้งสุดท้ายเป็นมากกว่าเพียงการประเมินความคิด คำพูด และการกระทำของเรา:
การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินความดีชั่วทั้งหมดที่เราทำไว้เท่านั้น แต่เป็นการยอมรับผลในบั้นปลายของการกระทำและความคิด—ที่เราเป็น … พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณไม่ได้เป็นรายการเงินฝากที่กำหนดให้ทำไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนที่แสดงให้เราเห็นวิธีเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2000, 47)
ท่านควรจำไว้ว่า ไม่ว่าเราจะเพียรพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างพากเพียรเพียงใด เราก็ไม่สามารถเป็นในสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ปรารถนาให้เราเป็นได้ หากปราศจากความช่วยเหลือของพระเจ้า โชคดีที่พระเยซูคริสต์ไม่เพียงเป็นองค์ผู้พิพากษาของเรา แต่ยังทรงเป็น “ผู้วิงวอนพระบิดา” แทนเราด้วย (หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:4; ดู 1 ยอห์น 2:1 ด้วย)
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าพระผู้วิงวอนแทนหมายถึง “ผู้พูดแทน” หรือ “ผู้ที่อ้อนวอนเพื่อผู้อื่น” (“Jesus the Christ—Our Master and More” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 2 ก.พ. 1992], 4, speeches.byu.edu) ในฐานะที่ทรงเป็นพระผู้วิงวอนแทนเรา พระเยซูคริสต์ทรง “รู้ความอ่อนแอของมนุษย์และรู้ว่าจะช่วยคนเหล่านั้นที่ถูกล่อลวงได้อย่างไร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:1) พระองค์จะทรงวิงวอนแทนอุดมการณ์ของเราและวิงวอนในนามของเราเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระองค์ (ดู โมโรไน 7:28; 2 นีไฟ 2:9; ฮีบรู 4:15–16)
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงบทบาทของพระเยซูคริสต์ในการเป็นพระผู้วิงวอนแทนเราไว้ดังนี้:
การที่พระคริสต์ทรงช่วยทูลพระบิดาแทนเราไม่ได้ขัดกับแผน พระเยซูคริสต์ … จะไม่ทรงสนับสนุนสิ่งใดนอกจากสิ่งที่พระบิดาทรงประสงค์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเชียร์และปรบพระหัตถ์ให้แก่ความสำเร็จของเรา
การช่วยทูลของพระคริสต์อย่างน้อยก็เตือนเราว่าพระองค์ทรงชำระบาปของเราและไม่มีใครถูกผลักไสจากพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (“ท่านจงเลือกเสียในวันนี้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 104–105)
ในการเปิดเผยที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟได้รับในปี 1831 นั้น พระเยซูคริสต์ทรงอธิบายบทบาทการชดใช้ของพระองค์ขณะที่ทรงวิงวอนแทนผู้ที่เชื่อในพระองค์
หมวดที่ 3
ฉันจะประเมินการเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้ายให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
ประธานโอ๊คส์สอนว่า “จุดประสงค์ของการพิพากษาครั้งสุดท้ายคือเพื่อพิจารณาว่าเราบรรลุสิ่งที่แอลมาเรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ’” (“การกลับใจทำให้สะอาด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 93) เราบรรลุการเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการกลับใจด้วยความจริงใจ
เมื่อครั้งแอลมาสอนผู้คนในเซราเฮมลา เขาถามคำถามกับหมู่ชน เพื่อให้พวกเขาประเมินสภาพทางใจของตนและดูว่าตนพร้อมสำหรับการพิพากษาของพระผู้ช่วยให้รอดมากน้อยเพียงใด (ดู แอลมา 5:14)
ขณะที่ท่านนึกถึงสิ่งที่ทำได้เพื่อเตรียมรับการพิพากษาครั้งสุดท้ายให้ดีขึ้น จงจำคำแนะนำอันชาญฉลาดต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แลร์รีย์ อาร์. ลอว์เร็นซ์แห่งสาวกเจ็ดสิบ:
พระวิญญาณจะแสดงให้เราเห็นความอ่อนแอของเรา แต่พระองค์จะทรงสามารถแสดงให้เราเห็นความเข้มแข็งของเราด้วย บางครั้งเราต้องทูลถามว่าอะไรที่เรากำลังทำได้อย่างถูกต้องเพื่อว่าพระเจ้าจะทรงหนุนใจและกระตุ้นเรา … พระองค์ทรงชื่นชมยินดีทุกครั้งที่เราก้าวไปข้างหน้า สำหรับพระองค์ ทิศทางของเราสำคัญกว่าความเร็วของเราเสมอ
พี่น้องทั้งหลาย จงยืนหยัด แต่อย่าท้อแท้ (“ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 35)