“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ทำตามแบบอย่างความว่านอนสอนง่ายของพระเยซูคริสต์,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ทำตามแบบอย่างความว่านอนสอนง่ายของพระเยซูคริสต์
ท่านนึกถึงคนในชีวิตท่านที่ “ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, เปี่ยมด้วยความรัก, เต็มใจยอมในสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงเห็นควรจะอุบัติแก่เขา, แม้ดังเด็กยินยอมต่อบิดาตน” ออกหรือไม่? (โมไซยาห์ 3:19) เราที่แสวงหาคุณลักษณะเหล่านี้สามารถมีคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ได้ทุกคน พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ ขณะที่ท่านศึกษา ให้พิจารณาความสำคัญของคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน “ชายหญิงผู้ถวายชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าจะพบว่าพระองค์ทรงสามารถรังสรรค์จากชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่พวกเขาจะทำได้” (“Jesus Christ—Gifts and Expectations,” Ensign, Dec. 1988, 4)
หมวดที่ 1
ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความอ่อนโยนจะเสริมพลังให้ฉันได้อย่างไร?
บางคนรู้สึกว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ พวกเขาอาจคิดว่าคนที่ถ่อมตนเป็นคนขี้กลัวและขี้ขลาด กระนั้น ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้บรรยายถึงพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความอ่อนโยน
ลองพิจารณาแบบอย่างความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และความองอาจของพระผู้ช่วยให้รอด: พระองค์ทรงประกาศพระอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพระองค์อย่างมั่นใจ แม้ในขณะที่พระชนม์ชีพของพระองค์ตกอยู่ในอันตราย (ดู ยอห์น 8:54–59); พระองค์ทรงชำระพระวิหารอย่างกล้าหาญเมื่อพระวิหารมีมลทิน (ดู มัทธิว 21:12–13; ยอห์น 2:14–17); พระองค์ทรงปกป้องผู้ถูกกดขี่อย่างกล้าหาญ (ดู ยอห์น 8:1–11; มาระโก 2:14–17); และพระองค์ไม่ทรงเกรงกลัวเมื่อเผชิญการกล่าวหาและการวิพากษ์วิจารณ์ (ดู มัทธิว 16:1–12; ลูกา 20:19–26)
ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้เกิดพลังและความเข้มแข็งส่วนบุคคลมากขึ้นได้อย่างไร? เราเรียนรู้ว่าความ “อ่อนน้อมถ่อมตนคือความสำนึกคุณว่าเราต้องพึ่งพาพระเจ้า—เข้าใจว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ตลอดเวลา
“… ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย [พระเยซูคริสต์] ทรงยอมรับเสมอว่าความเข้มแข็งของพระองค์เกิดขึ้นเนื่องจากการพึ่งพาพระบิดาของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า ‘เราจะทำสิ่งใดตามอำเภอใจไม่ได้ … เราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของพระบิดาผู้ทรงใช้เรามา’ (ยอห์น 5:30)” (Gospel Topics, “Humility,” topics.ChurchofJesusChrist.org)
การยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนของพระผู้ช่วยให้รอดเชื่อมโยงกับความอ่อนโยนของพระองค์ด้วย (ดู มัทธิว 11:29) เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
ความอ่อนโยนเป็นคุณลักษณะเด่นชัดของพระผู้ไถ่และจำแนกตามการตอบรับอย่างชอบธรรม ความว่าง่าย และการยับยั้งชั่งใจตนได้ดี …
พระผู้ไถ่ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6] ทรงทนทุกข์ สิ้นพระชนม์เพื่อ “ชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” [1 ยอห์น 1:9] ทรง ล้าง เท้าเปื้อนฝุ่นของเหล่าสาวกของพระองค์ [ยอห์น 13:4–5] ความอ่อนโยนเช่นนั้นเป็นลักษณะเด่นของพระเจ้าในฐานะผู้รับใช้และผู้นำ
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของการตอบรับอย่างชอบธรรมและความว่าง่ายขณะทรงทนทุกข์แสนสาหัสในเกทเสมนี
“เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว พระองค์ตรัสกับ [เหล่าสาวก] ว่า จงอธิษฐานเพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในการทดลอง
“แล้วพระองค์ … ทรงคุกเข่าลงอธิษฐานว่า
“ข้าแต่พระบิดา ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” [ลูกา 22:40–42]
ความอ่อนโยนของพระผู้ช่วยให้รอดในประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากและจำเป็นชั่วนิรันดร์แสดงให้เราแต่ละคนเห็นความสำคัญของการให้พระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้าอยู่เหนือปัญญาของเรา (“อ่อนโยนและใจนอบน้อม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 32–33)
หมวดที่ 2
การทำและรักษาพันธสัญญาจะช่วยให้ฉันทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?
เมื่อท่านใคร่ครวญถึงชีวิตของตนเอง ท่านอาจสงสัยว่าท่านจะอ่อนน้อมถ่อมตนและอ่อนโยนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร โชคดีที่พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้เราเห็นวิธียอมต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระเยซูเสด็จไปหายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเพื่อรับศาสนพิธีบัพติศมา ตอนแรกยอห์นลังเลและพูดว่า “ข้าพระองค์ต้องการจะรับบัพติศมาจากพระองค์ ควรหรือที่พระองค์จะเสด็จมาหาข้าพระองค์?” พระเยซูตรัสกับยอห์นว่าสมควรที่พวกเขาจะ “ทำความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ” (ดู มัทธิว 3:13–17)
การยอมต่อศาสนพิธีบัพติศมาทำให้เราอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา เมื่อเราเดินบนเส้นทางนี้ เราพยายามรักษาพระบัญญัติและด้วยเหตุนี้จึงยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวเกี่ยวกับเส้นทางพันธสัญญาดังนี้
คำมั่นสัญญาของท่านว่าจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยทำพันธสัญญากับพระองค์และรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นจะเปิดประตูรับพรทางวิญญาณและสิทธิพิเศษทุกประการที่มีให้ชาย หญิง และเด็กทุกหนแห่ง (“ขณะที่เราเดินหน้าไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 7)
หมวดที่ 3
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตของฉัน?
ในพระคัมภีร์และทุกวันนี้ ผู้คนในพันธสัญญาของพระเจ้ามักจะหมายถึงเชื้อสายแห่งอิสราเอล ประธานเนลสันสอนว่า
ความหมายหนึ่งตามภาษาฮีบรูของคำว่า อิสราเอล คือ “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย” ด้วยเหตุนี้ชื่อ อิสราเอล จึงหมายถึงคนที่ เต็มใจ ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตตน แนวคิดนี้ปลุกจิตวิญญาณข้าพเจ้า!
คำว่า เต็มใจ สำคัญยิ่งต่อการตีความคำว่า อิสราเอล เราทุกคนมีสิทธิ์เสรีของตนเอง … เราจะเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตเราหรือไม่ก็ได้ เราจะเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลแรงกล้าที่สุดในชีวิตเราหรือไม่ก็ได้ …
ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านหรือไม่? ท่านจะยอมให้พระวจนะ พระบัญญัติ และพันธสัญญาของพระองค์มีอิทธิพลต่อสิ่งที่ท่านทำในแต่ละวันหรือไม่? ท่านจะยอมให้สุรเสียงของพระองค์มาก่อนเสียงอื่นหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำสำคัญกว่าความทะเยอทะยานอื่นทั้งหมดหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้ความประสงค์ของท่านถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่? (“ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 92–94)
จากพระคัมภีร์และชีวิตของสานุศิษย์ยุคปัจจุบัน เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และพรที่ได้รับเมื่อเราเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตเรา
ขณะที่ท่านนึกถึงความพยายามของท่านในการให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิต ให้พิจารณาประจักษ์พยานต่อไปนี้ของประธานบอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญ:
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่ามีพรมากมายรอเราอยู่เมื่อเราเต็มใจพูดกับพระบิดาเช่นกันว่า “ถึงกระนั้น ขอให้บังเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์” [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:44] และปรับความประสงค์ของเราให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า … นี่เป็นการทดสอบความเต็มใจให้เป็นไปตามพระประสงค์พระองค์ เมื่อเราทำเช่นนั้นได้เก่งขึ้น เราจะพบความสุขมากขึ้น มีความสามารถในการรับการเปิดเผยส่วนตัวมากขึ้น มีความสามารถในการรับใช้คนรอบข้างมากขึ้น ได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นในการเผชิญกับการทดลอง และมีอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์มากขึ้น (“Leaders Address Importance of Conversion at BYU Women’s Conference,” พ.ค. 9, 2017, ChurchofJesusChrist.org)