“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ยอมรับพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2023)
“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณอันเป็นนิจของพระองค์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ยอมรับพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้
ลองนึกถึงเวลาที่ท่านประสบกับความท้าทายทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือจิตวิญญาณบางรูปแบบ ท่านจะหันไปขอความช่วยเหลือจากที่ใด? ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเป็นพยานว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาปลอบโยน เสริมกำลัง และเยียวยาเรา ขณะที่ท่านศึกษาคำพยากรณ์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ให้พิจารณาว่าพระเยซูคริสต์ พระเมสสิยาห์ สามารถช่วยท่านได้อย่างไร
หมวดที่ 1
การยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นพระเมสสิยาห์ทำให้ฉันได้รับการเยียวยาได้อย่างไร?
เฉกเช่นเราที่คอยดูการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า ผู้คนแห่งพันธสัญญาในพันธสัญญาเดิมก็รอคอยการเสด็จมาครั้งแรกของพระเมสสิยาห์ พระผู้ปลดปล่อย อย่างใจจดใจจ่อ ตามที่ศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมกล่าวว่าพระเมสสิยาห์จะเป็นลูกหลานของกษัตริย์ดาวิดและจะปลดปล่อยผู้คนของพระองค์ “ในภาคพันธสัญญาใหม่มีการเรียกพระเยซูว่าพระคริสต์, ซึ่งเป็นภาษากรีกมีความหมายเดียวกับ พระเมสสิยาห์”“คู่มือพระคัมภีร์, พระเมสสิยาห์”)
อิสยาห์เขียนคำพยากรณ์หลายเรื่องเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์และพระพันธกิจของพระองค์ (ดู อิสยาห์ 9:6; 7:14–15; 11:1–9; 35:5; 51:4–8; 52:9–10) .
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึง อิสยาห์ 61:1–3 ว่า “ข้อเหล่านั้นจะจัดอยู่ในกลุ่มข้อพระคัมภีร์ที่ไพเราะและมีความหมายที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความหมายที่แท้จริงของพระเมสสิยาห์” (Christ and the New Covenant [1997], 89)
ขณะที่คำพยากรณ์ดังกล่าวทำให้ชาวยิวมีความหวังและความคาดหวังเรื่องการปลดปล่อย ในสมัยพันธสัญญาใหม่หลายคน “มองหาแต่ผู้ปลดปล่อยจากอำนาจโรมันและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นของประชาชาติ” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระเมสสิยาห์”) เมื่อพระเยซูไม่เป็นไปตามความคาดหวังเหล่านี้ หลายคนจึงปฏิเสธการอ้างว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้เนิ่นนาน
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิบัติศาสนกิจ พระเยซูเสด็จกลับไปยังบ้านเกิดที่นาซาเร็ธและทรงเข้าร่วมธรรมศาลาในวันสะบาโต พระองค์ทรงยืนอ่านจากพระคัมภีร์ เปิดม้วนหนังสือและอ่านออกเสียง อิสยาห์ 61:1–2 จากนั้นพระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นสัมฤทธิผลแห่งคำพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์นี้ (ดู ลูกา 4:16–21) ทุกคนในที่นั้นอึ้ง เกรี้ยวโกรธ และพยายามจะฆ่าพระองค์ (ดู ลูกา 4:22–30)
.
เช่นเดียวกับชาวนาซาเร็ธ เราแต่ละคนต้องตัดสินใจว่าเราจะยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงลักษณะส่วนตัวของพระพันธกิจพระเมสสิยาห์ของพระเจ้าดังนี้:
พระองค์ทรงพระชนม์—ไม่เฉพาะเวลานั้น แต่เวลานี้ด้วย ไม่ใช่เพื่อบางคน แต่เพื่อทุกคน พระองค์เสด็จมาแล้วและยังเสด็จมาเพื่อเยียวยาคนชอกช้ำใจ ปลดปล่อยเชลย ทำให้คนตาบอดมองเห็น และปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ [ดู ลูกา 4:18] นั่นคือเราแต่ละคน สัญญาการไถ่ของพระองค์มีผลต่อเรา ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรือความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร (“โฮซันนาและฮาเลลูยา—พระเยซูคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูและอีสเตอร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 53)
หมวดที่ 2
พระเมสสิยาห์ทรงทำอะไรที่ทำให้พระองค์ทรงสามารถเยียวยาและช่วยฉันได้?
ท่านน่าจะรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวอย่างน้อยก็เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวด และท่านอาจเคยเห็นประสบการณ์เหล่านี้ในชีวิตของผู้อื่นรอบตัวท่าน พยายามจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงประสบกับความทุกข์ทรมาน ทั้งหมด ของมนุษย์—ความเจ็บปวดทางร่างกาย อารมณ์ และจิตวิญญาณ สำหรับทุกคนตลอดเวลา รวมทั้งท่านด้วย
อิสยาห์ 53 เป็นหนึ่งในการเปิดเผยที่ลึกซึ้งที่สุดในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์แทนเรา อันที่จริง เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าวว่านี่เป็น “การประกาศถึงชีวิต การสิ้นพระชนม์ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ที่ประเสริฐที่สุด ยาวนานที่สุด และไพเราะที่สุด”(Christ and the New Covenant [1997], 89)
เมื่อศาสดาพยากรณ์แอลมาผู้บุตรสั่งสอนชาวนีไฟ เขาได้บรรยายความกว้างและความลึกของการทนทุกข์ของพระเมสสิยาห์
ประธานจีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนดังนี้:
ในพระชนม์ชีพมรรตัย 33 ปีของพระองค์ [พระเยซูคริสต์] ทรงทนทุกข์กับการถูกปฏิเสธ การข่มเหง ความหิวโหยทางร่างกาย ความกระหาย และความเหน็ดเหนื่อย ความเดียวดาย การทำร้ายทางวาจาและทางร่างกาย และสุดท้ายการสิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวดด้วยน้ำมือของคนบาป ในสวนเกทเสมนีและบนกางเขนแห่งคัลวารี พระองค์ทรงรู้สึกถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ การล่อลวง ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพทั้งหมดของเรา
ไม่ว่าเราจะทนทุกข์อะไร พระองค์ทรงเป็นแหล่งของการเยียวยา ทุกคนที่ประสบกับการกระทำทารุณกรรม การสูญเสียอย่างใหญ่หลวง โรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้พิการ การถูกใส่ความ การข่มเหงรังแกอย่างโหดร้าย หรือความเสียหายทางวิญญาณอันเป็นผลจากบาปหรือความเข้าใจผิดในทุกรูปแบบจะสะอาดบริสุทธิ์ได้โดยพระผู้ไถ่ของโลก อย่างไรก็ตาม พระองค์จะไม่เสด็จมาหากไม่ได้รับเชิญ เราต้องมาหาพระองค์และยอมให้พระองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ (“ให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 86)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดพูดถึงวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือเราดังนี้:
เนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็บปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง บางครั้งเดชานุภาพของพระองค์เยียวยาความทุพพลภาพ แต่พระคัมภีร์และประสบการณ์ของเราสอนว่าบางครั้งพระองค์ทรงช่วยโดยประทานพละกำลังหรือความอดทนให้เราทนต่อความทุพพลภาพของเรา (ดู “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 62)