1 ทิโมธี 3:1–7; ทิตัส 1:6–9
อธิการ: บุรุษผู้มี “ชื่อเสียงดี”
ท่านทราบหรือไม่ว่ามีอธิการรับใช้ศาสนจักรในสมัยของเปาโลด้วย? อธิการและประธานสาขาจะเป็นพรชีวิตท่านได้อย่างไร? ในจดหมายของเปาโลถึงทิโมธีและทิตัส เขาสรุปคุณสมบัติของบุรุษที่เรียกว่าอธิการ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจคุณลักษณะของอธิการและประธานสาขาได้ดีขึ้นและผู้รับใช้เหล่านี้ของพระเจ้าจะช่วยท่านในชีวิตได้อย่างไร
ท่านหันไปหาใคร?
สมมิตว่าท่านกำลังประสบปัญหาสำคัญในชีวิต อาจจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของท่าน ความท้าทายที่ท่านเผชิญอยู่ หรือนิสัยไม่ดีที่ท่านพยายามเปลี่ยน
-
ท่านหันไปขอคำแนะนำที่ไหนเมื่อท่านกำลังประสบปัญหาสำคัญ?
-
ท่านพูดคุยกับใครและเพราะเหตุใด?
อ่านข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง:
เยาวชนผู้ล้ำค่า … ท่านอยู่ตรงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจสำคัญที่สุดหลายอย่างที่ท่านจะทำในชีวิต โปรดปรึกษากับทั้งบิดามารดาและอธิการของท่านเกี่ยวกับการเลือกสำคัญๆ ที่รอท่านอยู่ ยอมให้อธิการเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาของท่าน
(เควนทิน แอล. คุก, “อธิการ—ผู้เลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 60)
ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้:
-
ท่านคิดว่าอธิการหรือประธานสาขาเป็นเพื่อนหรือที่ปรึกษาของท่านหรือไม่?
-
เมื่อท่านต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญหรือเมื่อท่านต้องการความช่วยเหลือทางวิญญาณ ท่านมีแนวโน้มจะขอคำแนะนำจากอธิการของท่านมากน้อยเพียงใด? เพราะเหตุใด?
-
การหันไปขอคำแนะนำจากอธิการหรือประธานสาขาจะช่วยท่านได้อย่างไร?
ขณะที่ท่านศึกษาบทเรียนนี้ ให้มองหาวิธีที่อธิการหรือประธานสาขาสามารถสนับสนุนท่านพร้อมกับความท้าทาย การตัดสินใจ และศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์
เปาโลสอนเกี่ยวกับคุณสมบัติของอธิการ
จดหมายของเปาโลที่รู้จักกันว่าคือ 1 ทิโมธี 2 ทิโมธี และทิตัสมักจะเรียกกันว่าสาส์นจากศิษยาภิบาลเพราะมีคำแนะนำของเปาโลถึงศิษยาภิบาลหรือผู้นำของศาสนจักร (pastor มาจากศัพท์ภาษาลาตินที่แปลว่าคนเลี้ยงแกะ ทิโมธีและทิตัสเป็นสหายที่เปาโลไว้ใจผู้เคยรับใช้กับเขาหลายครั้งตลอดการเดินทางเผยแผ่ศาสนาของเขา ในเวลานั้นทิโมธีรับใช้เป็นผู้นำศาสนจักรที่เอเฟซัส และทิตัสอยู่บนเกาะครีตที่กรีก
ในบรรดาความจริงมากมายที่เปาโลสอนในสาส์นที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ เขาได้ระบุคุณสมบัติหลายประการสำหรับบุรุษผู้ได้รับเรียกเป็นอธิการ อธิการคือบุรุษผู้ได้รับแต่งตั้งและวางมือมอบหน้าที่เป็นมหาปุโรหิตควบคุมดูแลวอร์ดหรือที่ประชุม เขามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานทางโลกและทางวิญญาณทั้งหมดของที่ประชุม ประธานสาขามีบทบาทคล้ายกัน พระเจ้าทรงเลือกอธิการผ่านฝ่ายประธานสเตคผู้กำลังแสวงหาการเปิดเผย ก่อนได้รับการเรียก อธิการได้รับอนุมัติโดยฝ่ายประธานสูงสุดว่ามีค่าควรและสามารถรับใช้
อ่าน 1 ทิโมธี 3:1–7 และ ทิตัส 1:6–9 เพื่อมองหาคุณสมบัติของอธิการ ค้นหาคุณลักษณะสามอย่างเหล่านี้ที่จะช่วยอธิการหรือประธานสาขานำทางและเป็นพรแก่ชีวิตท่าน
-
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของคุณลักษณะเหล่านี้อย่างไร? (ท่านอาจอ้างโยงข้อเหล่านี้กับ 1 เปโตร 2:25 เมื่อเปโตรกล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอดว่า “พระผู้เลี้ยงและผู้ดูแลวิญญาณจิต [ของพวกเรา]”)
-
การมีคุณลักษณะเหล่านี้จะช่วยให้อธิการหรือประธานสาขาช่วยท่านเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?
-
ท่านจะสรุปสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับอธิการและประธานสาขาว่าอย่างไร?
1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
-
ท่านสังเกตเห็นคุณสมบัติเหมือนพระคริสต์อะไรบ้างในอธิการหรือประธานสาขาของท่าน? คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้เขาเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าอย่างไร?
-
อธิการเคยช่วยหรือจะช่วยให้ท่านมาใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นและเพิ่มพลังศรัทธาของท่านได้อย่างไร?
ผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า
ท่านอาจทำเครื่องหมายคำหรือวลีใน 1 ทิโมธี 3:2 หรือ ทิตัส 1:7–9 ที่ระบุความรับผิดชอบของอธิการในการสอน
อธิการหรือประธานสาขาสามารถสอนได้หลายวิธี เช่น ในการประชุม ชั้นเรียน การสัมภาษณ์ส่วนตัว และแบบอย่างของเขา
2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
-
คำแนะนำหรือคำสอนของอธิการหรือประธานสาขาเคยเป็นพรแก่ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักอย่างไร?
-
พระเจ้าทรงดูแลและช่วยเหลือเราในด้านใดอีกบ้างผ่านอธิการและประธานสาขา?
อธิการสามารถช่วยให้เรากลับใจ
พระเจ้าทรงเรียกอธิการและประธานสาขาให้ช่วยเหลือและนำทางเราผ่านกระบวนการกลับใจเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเราทำบาปร้ายแรง
เอ็ลเดอร์ซี. สก็อตต์ โกรว์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า:
โดยการแต่งตั้งและการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม อธิการมีสิทธิ์รับการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับสมาชิกในวอร์ดของเขา รวมทั้งตัวท่าน
อธิการสามารถช่วยท่านผ่านกระบวนการกลับใจในวิธีที่บิดามารดาและผู้นำคนอื่นๆ ไม่สามารถช่วยได้ …
… ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า เขาจะเมตตาและเข้าใจขณะฟังท่าน จากนั้นเขาจะช่วยท่านผ่านกระบวนการกลับใจ เขาเป็นผู้ส่งสารแห่งความเมตตาของพระเจ้าเพื่อช่วยให้ท่านสะอาดผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
(ซี. สก็อตต์ โกรว์, “Why and What Do I Need to Confess to My Bishop?,” New Era, Oct. 2013, 28–29)
ใช้เวลาสักครู่เขียนจดหมาย อีเมล หรือข้อความสั้นๆ ให้อธิการหรือประธานสาขาของท่าน ท่านอาจขอบคุณเขาสำหรับการรับใช้ คำสอน และแบบอย่างของเขา รวมถึงวิธีที่เขาเคยช่วยเหลือท่าน ท่านอาจชี้ให้เห็นแบบอย่างเหมือนพระคริสต์ในตัวเขาที่ท่านสังเกตเห็นและชื่นชม ถ้าเป็นไปได้ ท่านจtขอพบเขาเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ยาก ข้อกังวลที่ท่านอาจมี หรือความช่วยเหลือในกระบวนการกลับใจ
เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?
1 ทิโมธี 3:1 ชื่อตำแหน่งของอธิการมาจากข้อไหนในพันธสัญญาใหม่?
ตำแหน่งอธิการแปลงมาจากคำภาษากรีก episcopos—epi ซึ่งหมายถึง “เหนือ” และ scopos หมายถึง “ดู” หรือ “ดูแล” ดังนั้น episcopos หรืออธิการ คือผู้ดูแลฝูงแกะในฐานะผู้นำทางหรือผู้ดูแล
ทำไมฉันต้องไปสารภาพบาปกับอธิการ?
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
การล่วงละเมิดร้ายแรง เช่น การผิดศีลธรรม ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ถือกุญแจแห่งสิทธิอำนาจ เช่น อธิการหรือประธานสเตค เพื่อดำเนินกระบวนการกลับใจอย่างเงียบๆ จนแน่ใจว่าเสร็จสมบูรณ์และเหมาะสม
(ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “The Power of Righteousness,” Ensign, Nov. 1998, 69–70)
1 ทิโมธี 3:1 “งานที่ประเสริฐ” ของอธิการคืออะไร?
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความรับผิดชอบเบื้องต้นของอธิการว่า:
อธิการมีความรับผิดชอบหลักห้าอย่างในการควบคุมดูแลวอร์ด:
เป็นมหาปุโรหิตควบคุมในวอร์ด
เป็นประธานฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
เป็นผู้พิพากษาใหญ่
ประสานงานแห่งความรอดและความสูงส่ง รวมทั้งการดูแลคนขัดสน
และสอดส่องดูแลเรื่องบันทึก การเงิน และการใช้อาคารประชุม
ในบทบาทการเป็นมหาปุโรหิตผู้ควบคุม อธิการคือ “ผู้นำทางวิญญาณ” ของวอร์ด เขาเป็น “สานุศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์” …
อธิการมีบทบาทสำคัญที่สุดในการรับใช้เป็นผู้เลี้ยงแกะเพื่อนำทางอนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งหนุ่มสาวโสด ไปหาพระเยซูคริสต์
(เควนทิน แอล. คุก, “อธิการ—ผู้เลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 58)
ทิตัส 1:7 เปาโลหมายความถึงอะไรเมื่อเขาพูดว่า “อธิการต้องไม่มีข้อตำหนิ”
อธิการได้รับการเลือกจากพระเจ้าและต้องเป็นผู้มีอุปนิสัยสูงส่งทางศีลธรรมและมีค่าควร อย่างไรก็ตาม อธิการทุกคนไม่ดีพร้อมและจะทำผิดพลาดเป็นบางครั้งในระหว่างรับใช้
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้:
“ข้าพเจ้าเชื่อ”
ยอมรับข้อสงสัยและปัญหาของท่านอย่างจริงใจ แต่ก่อนอื่นและตลอดชั่วนิรันดรจงพัดไฟศรัทธาของท่านให้ลุกโชน เพราะสิ่งทั้งปวงย่อมเป็นไปได้กับคนที่เชื่อ
มีเมตตาต่อความอ่อนแอของมนุษย์—ทั้งของตัวท่านเองและคนที่รับใช้ร่วมกับท่านในศาสนจักรที่นำโดยมนุษย์ชายหญิงที่เป็นอาสาสมัคร ยกเว้นในกรณีของพระบุตรองค์เดียวที่ดีพร้อมผู้ถือกำเนิดจากพระองค์แล้ว คนไม่ดีพร้อมคือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานด้วย นั่นคงทำให้พระองค์หงุดหงิดพระทัยไม่น้อย แต่พระองค์ทรงรับมือกับเรื่องนี้ เราเองก็ควรทำเช่นนั้น และเมื่อท่านเห็นความไม่ดีพร้อม พึงระลึกว่าข้อจำกัดนั้น ไม่ อยู่ในความศักดิ์สิทธิ์ของงานนี้ … ดังนั้นจงอดทน มีเมตตา และให้อภัย
(ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94)