เซมินารี
ยากอบ 3


ยากอบ 3

คำพูดที่เราเอ่ย

ภาพ
เยาวชนหญิงวัยรุ่นสามคนยิ้มและหัวเราะด้วยกัน

คำพูดที่เราเอ่ยมีพลัง ท่านนึกประสบการณ์ในชีวิตออกไหมที่ท่านรู้สึกได้ถึงพลังของคำพูดทั้งดีหรือไม่ดี? ในสาส์นของยากอบ เขาได้สอนความสำคัญของการควบคุมคำพูดของเรา บทเรียนนี้มุ่งหมายจะช่วยท่านประเมินคำที่ท่านพูดและคำพูดของท่านกำลังส่งผลกระทบต่อการพยายามเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร

พลังของคำพูด

ดูรูปภาพด้านล่างและนึกภาพการสนทนาที่บุคคลอาจจะกำลังมีอยู่ นึกถึงผลกระทบจากคำพูดที่เราได้ยินและใช้

ภาพ
แม่เถียงกับลูกชายวัยรุ่นขณะพวกเขายืนอยู่ในห้องครัว
ภาพ
เยาวชนหญิงกับแม่ของเธอน่าจะกำลังใช้แท็บเล็ตและพระคัมภีร์ศึกษาและสนทนากัน
  • คำพูดล่าสุดที่ท่านจำได้ว่ามีคนพูดเพื่อช่วยท่านหรือทำร้ายท่านคืออะไร?

  • คำพูดล่าสุดที่ท่านพูดกับบางคนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือให้กำลังใจพวกเขาคืออะไร?

พิจารณาว่าเร็วๆ นี้ท่านได้พูดอะไรหรือไม่ที่อาจส่งผลเสียต่อบางคน ขณะที่ท่านศึกษาคำสอนของยากอบ ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจพลังของคำพูดได้ดีขึ้น ใส่ใจความรู้สึก ความคิด และความประทับใจที่จูงใจท่านให้พูดเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ลิ้นเป็นเหมือน …

ยากอบได้เน้นย้ำพลังของคำที่เราได้ยินและพูดและเปรียบเทียบลิ้นกับหลายอย่าง อ่าน ยากอบ 3:2–12 เพื่อดูว่ายากอบเปรียบเทียบลิ้นกับอะไร วาดแสดงการเปรียบเทียบง่ายๆ ของยากอบหนึ่งหรือสองรูปลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน แล้วไตร่ตรองว่าคำพูดของเราเหมือนกับสิ่งที่ท่านกำลังวาดอย่างไร

อ่านรายการต่อไปนี้เพื่อดูว่าท่านเปรียบเทียบเหมือนกันหรือไม่

  • บัง‌เหียน​ใส่​ปาก​ม้า ยากอบ 3:2–3, 5 บัง‌เหียน​ใส่​ปาก​ม้า​ (ดู ข้อ 3) เป็นเหล็กชิ้นเล็กใส่ไว้ในปากม้าที่ผูกโยงกับบังเหียนเพื่อให้คนขี่ม้าบังคับทิศทางม้าได้

  • หางเสือ ยากอบ 3:4–5 หางเสือ (ดู ข้อ 4) ควบคุมทิศทางเรือซึ่งจะทำหน้าที่คัดท้ายหรือเลี้ยวเรือ

  • ไฟ ยากอบ 3:5–6 “ป่าใหญ่” หมายถึงป่าไม้ (ดู ข้อ 5 เชิงอรรถ b)

  • สัตว์ที่ไม่เชื่อง ยากอบ 3:7–8

  • พิษร้าย ยากอบ 3:8

  • บ่อน้ำพุและต้นมะเดื่อ ยากอบ 3:10–12

1. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • การเปรียบเทียบเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจพลังของคำพูดที่เราได้ยินและพูดได้ดีขึ้นอย่างไร?

  • ท่านจะเพิ่มการเปรียบเทียบอะไรอีกบ้างเพื่อพูดถึงผลกระทบของคำที่เราพูด?

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้แบ่งปันดังนี้เมื่อท่านพูดถึงคำสอนอันทรงพลังของยากอบ:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ ถ่ายเมื่อเดือนมกราคมปี 2018

เห็นได้ชัดว่ายากอบไม่ได้หมายความว่าลิ้นของเราชั่ว ตลอดเวลา และใช่ว่า ทุกอย่าง ที่เราพูด “เต็มไปด้วยพิษร้ายถึงตาย” แต่เขาหมายความชัดเจนว่าอย่างน้อยบางสิ่งที่เราพูดสามารถบ่อนทำลาย แม้ถึงกับมีพิษร้ายแรง—และนั่นเป็นข้อกล่าวหาที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย! เสียงที่แสดงประจักษ์พยานอันลึกซึ้ง กล่าวคำสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้า และร้องเพลงสวดแห่งไซอัน สามารถเป็น เสียงเดียวกับที่ด่าและวิจารณ์ ทำให้อับอายและเสื่อมเสีย สร้างความเจ็บปวดและทำลายวิญญาณของตนเองและผู้อื่นในระหว่างนั้น …

… ขอให้เราพยายามเป็นชายหญิงที่ “ดีพร้อม“ ในด้านนี้เป็นอย่างน้อยตอนนี้—โดยไม่พูดให้ใครขุ่นเคือง หรือถ้าจะพูดแง่บวกมากขึ้นคือ พูดด้วยลิ้นใหม่ ลิ้นของเทพ คำพูดของเราเหมือนการกระทำของเรา คือควรเปี่ยมด้วยศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล … ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ด้วยคำพูดเช่นนั้น ที่พูดภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณ น้ำตาจะเหือดแห้ง ใจจะหายเจ็บ ชีวิตจะถูกยกขึ้น ความหวังจะกลับมา ความมั่นใจจะมีชัย

(ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 16, 20)

  • ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเปรียบเทียบของยากอบและคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์?

ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้คือ ผู้ติดตามพระผู้เป็นเจ้ามุ่งมั่นใช้ภาษาของตนเพื่อจุดประสงค์ที่ชอบธรรม ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ความชั่วร้าย

ใคร่ครวญสักครู่ว่าท่านเคยเห็นภาษาที่ใช้ทั้งดีและชั่วในสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างไร:

  • ในการส่งข้อความหรือโซเชียลมีเดีย

  • ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์

  • ที่โรงเรียนกับเพื่อนๆ ของท่าน

  • ในทีมหรือในสโมสร

  • ที่บ้านกับครอบครัวของท่าน

  • ท่านเคยมีประสบการณ์ใดบ้างที่แสดงตัวิย่างคำพูดที่มีผลอันทรงพลังต่อผู้คนไม่ว่าดีหรือชั่ว?

พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “คนดีพร้อม” (ยากอบ 3:2) และแบบอย่างของเราในทุกสิ่ง รวมถึงคำพูดที่พระองค์ตรัสด้วย ขณะนึกถึงสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระองค์ ให้จินตนาการว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงใช้คำพูดของพระองค์อย่างไรถ้าพระองค์อยู่ในสถานการณ์ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้

2. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • ท่านน่าจะสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างจินตนาการว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงใช้คำพูดอย่างไร กับท่านเห็นและได้ยินอะไรในสถานการณ์เหล่านี้ในปัจจุบัน?

ภาษาที่เราได้ยินและใช้

พระเจ้าทรงสอนเราผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ว่าเราควรพูดและไม่ควรพูดอะไร

ไตร่ตรองการสื่อสารของท่าน (ในรูปแบบต่างๆ: การส่งข้อความ โซเชียลมีเดีย การพูดคุยกับผู้อื่น และอื่นๆ) ขณะที่ท่านอ่าน 10 ข้อความต่อไปนี้ที่ดัดแปลงจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ([จุลสาร, 2011], 20–21) ประเมินภาษาของท่านโดยใช้ระดับคะแนน 1 ถึง 5 โดย 1 หมายถึง “ฉันต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก” และ 5 หมายถึง “ฉันทำได้ดีมาก”

  1. ฉันพยายามใช้ภาษาที่สะอาดและฉลาด

  2. ฉันใช้ภาษาที่ยกระดับจิตใจ ให้กำลังใจ และชื่นชม

  3. ฉันพูดถึงผู้อื่นในแง่บวกและดี

  4. ฉันไม่ดูถูกดูแคลนผู้อื่น แม้จะล้อเล่นก็ตาม

  5. ฉันพยายามหลีกเลี่ยงการนินทาทุกรูปแบบและหลีกเลี่ยงการพูดด้วยความโกรธ

  6. เมื่อถูกล่อลวงให้พูดแรงหรือพูดให้เจ็บใจ ฉันไม่พูดออกมา

  7. ฉันใช้พระนามพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ด้วยความคารวะและความเคารพ

  8. ฉันเอ่ยพระนามพระบิดาบนสวรรค์โดยใช้ภาษาที่มีความคารวะและความเคารพ

  9. ฉันไม่ใช้ภาษาหรือท่าทางหยาบโลนหรือหยาบคาย

  10. ฉันไม่เล่าเรื่องตลกหรือเรื่องผิดศีลธรรม

ลองคิดถึงภาษาที่ท่านเลือกใช้และไตร่ตรองว่าท่านจะทำอะไรให้ดีขึ้น

3. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:

  • หนึ่งหรือสองอย่างที่จะช่วยท่านเลือกใช้คำที่พูดและฟังอย่างระมัดระวังมากขึ้นคืออะไร?

  • ท่านต้องการปรับปรุงเป็นพิเศษในสถานการณ์ใดบ้าง?

  • กลยุทธ์ใดอาจจะช่วยได้?

  • ความพยายามของท่านอาจจะช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร?

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?

คำพูดของเราสะท้อนให้เห็นตัวตนของเราอย่างไร?

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต เอส. วูดแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนดังนี้:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการภาพสุดท้ายของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต เอส. วูดแห่งโควรัมที่สองของสาวกเจ็ดสิบ ปี 1999 ได้รับเรียกเป็นประธานพระวิหารบอสตัน แมสซาชูเซตส์ ปี 2009 ได้รับการปลดจากโควรัมที่สองของสาวกเจ็ดสิบเมื่อ 3 ตุลาคม ปี 2009 ที่การประชุมใหญ่สามัญ

คำพูดและการแสดงออกภายนอกของเราใช่ว่าจะไม่มีผลอะไรเลย เพราะทั้งสองอย่างสะท้อนตัวตนของเราและหล่อหลอมตัวตนที่เราจะเป็น …

สิ่งที่เราพูดและวิธีที่เราแสดงออกไม่เพียงเผยธาตุแท้ในตัวเราเท่านั้น แต่จะหล่อหลอมตัวเรา หล่อหลอมคนรอบข้างเรา และสุดท้ายหล่อหลอมทั้งสังคมของเรา ทุกวันเราแต่ละคนมีส่วนในการบดบังความสว่างหรือขับไล่ความมืดออกไป เราได้รับเรียกให้เชื้อเชิญความสว่างและเป็นความสว่างเพื่อชำระตัวเราให้บริสุทธิ์และจรรโลงใจผู้อื่น …

เมื่อเราพูดและทำ เราควรถามว่าคำพูดและการแสดงออกของเรามีแนวโน้มจะเชื้อเชิญอำนาจของสวรรค์เข้ามาในชีวิตเราและเชื้อเชิญให้ทุกคนมาหาพระคริสต์หรือไม่ เราต้องปฏิบัติต่อเรื่องศักดิ์สิทธิ์ด้วยความคารวะ เราจำเป็นต้องขจัดความไม่สุภาพและความลามก ความรุนแรงและการข่มขู่ ความเหยียดหยามและความเท็จออกจากการสนทนาของเรา ดังอัครสาวกเปโตรเขียน “แต่พระองค์ผู้ทรงเรียกพวกท่านนั้นบริสุทธิ์อย่างไร พวกท่านเองก็จงเป็นคนบริสุทธิ์ในชีวิตทุกด้านอย่างนั้น” [1 เปโตร 1:15] คำว่าชีวิตทุกด้านในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำทั้งสิ้นของเราด้วย

(ดู โรเบิร์ต เอส. วูด, “ลิ้นของเทพ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 102–104)

เราจะเปลี่ยนภาษาที่เราใช้และฟังให้ดีได้อย่างไร?

วีดิทัศน์เรื่อง “ชมรมต่อต้านคำสบถ” (4:56) ใน ChurchofJesusChrist.org, แสดงให้เห็นความพยายามของเยาวชนชายคนหนึ่งที่จะช่วยผู้อื่นหลีกเลี่ยงภาษาหยาบคาย

พิมพ์